“ห่าจก-ห่ากิ๋นตั๊บ” ส่องวัฒนธรรมคำด่าตระกูล “ห่า” จากเหนือจรดใต้ อดีตถึงปัจจุบัน

หญิงไทยวัย 14 ปี และชายไทย ในอดีต (ภาพจากหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม โดย ม.ปัลเลอกัวซ์)

เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวเมื่อนักวิชาการหรือผู้ศึกษาค้นคว้าด้านวัฒนธรรมประเภทต่างๆ มักบอกกันว่า “คำบริภาษผู้ที่ทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ” ประเด็นที่น่าคิดคือ ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยสำคัญอย่างไร ไฉนผู้ก่นด่าถึงเลือกคำนั้นมาใช้ และมีคำด่าปรากฏมากมาย แต่ที่ใช้กันโดยทั่วไปจนถึงวันนี้ก็มีมาก อาทิ คำด่าตระกูล “ห่า” ซึ่งพบว่ามีใช้กันหลายพื้นที่ หลายภูมิภาคตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยทีเดียว

“ภาษา” เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารความคิดและอารมณ์ความรู้สึก องค์ บรรจุน ผู้ศึกษาด้านวัฒนธรรมมอญอธิบายไว้อย่างน่าคิดทีเดียวว่า “ภาษาที่ดีต้องสื่อได้ทุกอารมณ์แม้กระทั่งอารมณ์โกรธ ฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นในการมีอยู่ของคำด่า แม้กระทั่งการเรียนรู้ภาษาอื่นในภายหลังที่ไม่ใช่ภาษาแม่ (Mother Tongue)”

หากจะกล่าวถึงคำ(ด่า)ที่ปรากฏมายาวนานและกลายเป็นคำด่าในปัจจุบัน คำตระกูล “ห่า” เป็นคำที่น่าสนใจทีเดียว คำว่าห่าในบันทึกสมัยโบราณปรากฏว่าใช้คำชื่อเรียก “โรค” ดังที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อธิบายคำว่า “ห่า” ซึ่งปรากฏใน สัพะพะจะนาพาสาไทย ของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ว่าให้ความเป็นภาษาอังกฤษว่า plague (ในปัจจุบันคำนี้หมายถึง โรคระบาด/ภัยพิบัติ/รังควาน)

ขณะที่ อักขราภิธาน ของหมอบรัดเล ระบุว่า “ความไข้ประจุบัน ตายเร็ว, เกิดมีชุมนัก เช่น ไข้ลงรากนั้น”

ส่วนคัมภีร์สรรพพจนานุโยค หรือพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย ของ แสมูเอ็ล เจ สมิท ให้ความหมายของ plague ว่า โรคห่าโรคร้ายนักอันมักจะติดคนให้ตายมากๆ ในคราวเดียวที่เปนนั้น ; ความร้ายเบียดเบียนคนเป็นอันมากเป็นคราวๆ ; โรคปัตยุบัน ; กาฬโรค (พิมพ์ตามต้นฉบับ)

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มองว่า จากตัวอย่างในพจนานุกรมข้างต้นนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า คำว่า “ห่า” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 หมายถึงโรคระบาดด้วยเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นโรคใดนั้นก็สุดแล้วแต่ว่าช่วงนั้นโรคอะไรระบาด โดยคำว่า “ห่า” ในความหมายว่า “โรคระบาด” ปรากฏมาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างช้า ดังปรากฏประกาศห้ามเรือจากซัวเถา วันที่ 24 เมษายน ร.ศ. 116 ที่กล่าวว่า กาฬโรค(โรคห่า)

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล สรุปไว้ว่า

“เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ศัพท์คำว่า ‘อหิวาตกโรค’ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หรือคำว่า ‘ห่า’ ในพงศาวดารเหนือซึ่งมีอายุเก่าไปถึงครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ย่อมหมายถึงโรคระบาดชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งจะไประบุว่าเป็นโรคใดก็ไม่ได้…”

เมื่อมาถึงสมัยปัจจุบัน คำว่า “ห่า” กลับกลายเป็นคำหนึ่งในตระกูล “คำด่า” โดยปรากฏอย่างหลากหลายแทบทุกบริบททั้งในภาคเหนือและภาคใต้ โดยคำว่า “ห่า” สามารถเป็นคำด่าด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องผสมรวมกับคำอื่น หรือจะนำคำว่า “ห่า” ไปผสมกับวลีคำด่าอื่นก็ได้เช่นกัน ดังเช่นมีผู้รวบรวมข้อมูลไว้ว่า คำ “อีห่าฟัด” หรือ “ไอ้ห่าฟัด” รวมไปถึงคำตระกูล “ห่า” ทั้งหลาย ที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในอักขราภิธานศรับท์ เช่น “ห่าจิก” “ห่าราก” “ห่ากิน” ก็มีคนชนบทรุ่นเก่าๆ ยังใช้กันอยู่

ส่วนคำด่าในภาษาแบบทางเหนือของประเทศไทยก็สามารถพบคำว่า “ห่า” ได้หลายจุด ดังเช่นตัวอย่างในเว็บไซต์ อาทิ

“ห่ากิ๋นตั๊บ ง่าวสุ๊ดหัวสุ๊ดตี๋นบ่อมีปั๋ญญาหาเงิน…มีก่ากู้…บ่าปันต๋าย…บ่าง่าว… บ่ะฮ่ากิ๋นตั๊บ กิ๊นไต๋ บะลูกค่ำ ลูกงำ…ตำเฮาะ ตำวายตายพาย ตายกั๊ดบ่าจ๊าดหมา อีแห่น…ซากต๋าย สิบหล๊วกคิงเขา แลกง่าวฮาอันเดว ยังบ่าเอาน่ะบะ จ๋าเหลือ…อิ่วอก อิ่พาย ตุ่มปิ๊ดติดคอ บ่าฮ่า บ่าวอก บ่าปันต๋าย…บ่าหน้ามุ่ม…” — จาก www.cm108.com (อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2558)

จากการสอบถามผู้ใช้ภาษาท้องถิ่นทางเหนือ คำว่า “ห่ากิ๋นตั๊บ” หากแปลตรงตัวหมายถึง “ไอ้ห่ากินตับ” คำว่า “ห่า-ห้า” ใช้ในบริบทตามที่อธิบายข้างต้นในกรณีการเสริมแรง สำหรับคำว่า “กิ๋นตั๊บ” แปลตรงตัวว่า “กินตับ”

จากการสอบถามผู้ใช้ภาษาเหนือแล้ว พบว่า คำว่า “ห่า” ในทางเหนือ ในทาง “ปฏิบัติ” (ใช้งาน) คล้ายกับคำว่า “เหี้ย” ในหมู่คนทั่วไป กล่าวคือ คำว่า “เหี้ย” สื่อถึงคำด่าโดยตัวของมันเองก็ได้ หรือหากไปผสานรวมกับวลีอื่น ก็สามารถเสริมแรงให้คำด่าสื่อสารอารมณ์รุนแรงขึ้นได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าด่าว่า “บ่าวอก” คือด่าคนที่ชอบโกหกเหมือนลิงหลอกเจ้า หากเติม “ห่า-ห้า” ไปเป็น “บ่าห้าวอก” จะแบบเพิ่มอรรถรสในการด่าขึ้นไปอีก

ส่วนคำด่าของคนใต้ จากคำบอกเล่าขององค์ บรรจุน ระบุถึงคำว่า ห่าจก หมายถึง “ตะกละ” — www.muanglung.com

ในทางภาษาแล้ว คำด่า อาจไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม “ภาษา” ในแง่มุม “ความสวยงาม” แต่จากการปรากฏตัวและการใช้งานที่พบว่ามีอยู่ในทุกชนชาติและมีมายาวนาน ในแง่หนึ่ง “คำด่า” ย่อมสะท้อนถึง “ค่านิยม-ทัศนคติ-คุณค่า” ที่คนแต่ละยุคสมัย แต่ละพื้นที่ ในแต่ละชุมชนมีต่อสิ่งหนึ่ง บางครั้งคำด่าในวัฒนธรรมหนึ่ง เมื่อใช้ในอีกวัฒนธรรม ผู้ฟังอาจไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังถูกด่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“คนโบราณเค้าด่ากันอย่างไร ดูคำด่าเจ็บแสบของยุค และคำด่าอมตะที่ใช้ถึงวันนี้”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561. เข้าถึงเมื่อ 26 มีนาคม 2564. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_21664>

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. “อหิวาตกโรค = โรคระบาด, ห่า = โรคระบาด ดังนั้นโควิดของเรา = โรคห่าของพระเจ้าอู่ทอง”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ.2563. เข้าถึงเมื่อ 26 มีนาคม 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_47392>

วิภา จิรภาไพศาล. “โรคระบาดในวรรณกรรม “โรคห่า” ในพระอภัยมณี และเรื่องนาฏกรรมรัฐในอดีต”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ.2563. เข้าถึงเมื่อ 26 มีนาคม 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_51007>

องค์ บรรจุน. “วัฒนธรรมคำด่า” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2564