เผยแพร่ | |
---|
“ห่าลงปีมะโรง” อหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปีมโรงโทศก จุลศักราช 1182 ตรงกับ พ.ศ. 2363 เกิดเหตุโรคระบาดครั้งใหญ่ในสยาม เนื่องมาจาก “อหิวาตกโรค” ที่ทำให้มีคนล้มตายไปกว่า 30,000 คน ศพเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง ลอยอยู่เต็มแม่น้ำลำคลอง!
อหิวาตกโรค (Cholera) คือ โรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำและอาเจียนทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต มีพาหะคือแมลงวัน โดยเชื้อโรคมักอยู่ในน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน
อหิวาตกโรคหรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคห่า” หรือ “โรคไข้ป่วงใหญ่” ปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “เมื่อเดือน 7 ปีมโรงโทศกนั้น อหิวาตกะโรค หรือที่เรียกในเวลานั้นว่า ไข้ป่วงใหญ่ เริ่มมาเกิดขึ้นเปนคราวใหญ่ที่ผู้คนเปนอันตรายมาก…”
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายถึงเหตุร้ายก่อนโรคจะระบาดว่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) มีแสงเพลิงติดอยู่ในอากาศ เรียกว่า “ธุมเพลิง” และหลังจากนั้นอหิวาตกโรคก็ระบาดเข้าสู่สยาม
สันนิษฐานว่าระบาดขึ้นที่เกาะหมาก ปีนัง ก่อน จากนั้นระบาดเข้ามาทางหัวเมืองตะวันตก เรื่อยเข้ามาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จนชาวเมืองสมุทราปราการล้มตายจำนวนมาก ชาวบ้านบ้างก็อพยพหนีมากรุงเทพฯ หนีไปเมืองอื่นบ้าง จากนั้นจึงเริ่มระบาดที่กรุงเทพเมื่อ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2363
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า อหิวาตกโรคครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดเท่าที่คนสมัยนั้นจำได้ ไม่เคยมีครั้งใดที่มีผู้คนล้มตายมากอย่างครั้งนี้ สภาพบ้านเมืองก็เต็มไปด้วยศพ ตั้งแต่ในวัดไปจนถึงแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านหนีออกจากบ้าน กลายเป็นเมืองร้าง ไม่มีผู้คน ดังในพงศาวดาร ความว่า
“…คนตายทั้งชายทั้งหญิง ศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าแลศาลาดินในวัดสระเกษ วัดบางลำภู วัดบพิตรภิมุข วัดประทุมคงคา แลวัดอื่น ๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ ด้วยอาเกียรณ์ไปด้วยทรากศพ...”
เหตุการณ์เลวร้ายมากกว่าครั้งไหน ๆ จนรัชกาลที่ 2 มีรับสั่งให้ตั้ง “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” คล้ายกับพิธีตรุษ ประกอบพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน จากนั้นอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุออกแห่รอบพระนคร โดยมีพระราชาคณะและพระสงฆ์ในขบวนสวดพระปริตรประพรมน้ำพระปริตรไปในขบวนแห่นั้นด้วย
“…ยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่งคืน 1 แล้วเชิญพระแก้วมรกฎแลพระบรมธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะไปในกระบวนแห่โปรยทรายประน้ำพระปริตทั้งทางบกทางเรือ…”
รัชกาลที่ 2 ก็ทรงศีล ทรงสละพระราชทรัพย์ ซื้อชีวิตสัตว์สี่เท้าสองเท้า ปล่อยนักโทษ (เว้นแต่ข้าศึกชาวพม่า) และห้ามราษฎรทำปาณาติบาต ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทรงศีลหรือถือศีลตามความสมัครใจ และมีพระบรมราชานุญาตให้ละเว้นกิจการงานราชการที่ไม่จำเป็นลงชั่วคราว โดยมีรับสั่งให้คนเหล่านั้นกลับไปบำรุงดูแลครอบครัวของตน ความว่า
“…ประเพณีสัตวทั้งหลาย ไภยมาถึงก็ย่อมรักชีวิตร บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เปนที่รักเหมือนกันทั่วไป จะได้ไปรักษาพยาบาลกัน…”
แต่ผลของการทำพิธีกลับไม่ได้ทำให้โรคหาย ราษฎรและพระภิกษุที่เข้าร่วมกระบวนแห่ และหามพระพุทธรูปก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาบ้านแล้วตายก็มีมาก ในการระบาดครั้งต่อไปจึงยกเลิกการกระทำพระราชพิธีนี้เสีย พงศาวดารระบุว่า โรคนี้ชอบที่โสโครกโสมมคนตายมาก คนที่บ้านเรือนสะอาดก็ตายน้อย (นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ และคณะ, 2556)
อหิวาตกโรคระบาดอยู่ราว 15 วัน ครั้นเมื่อถึงแรม 7 ค่ำ เดือน 7 ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2363 อหิวาตกโรคก็เริ่มซาลงไป เมื่อสำรวจคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงแล้วมีประมาณ 30,000 คน ผู้หญิงตายมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ใน 3 ต่อจากนั้นเมื่อการระบาดที่กรุงเทพฯ สงบแล้ว จึงได้ระบาดต่อไปทางเหนือ
อ้างอิง :
พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ 2. พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, จากเว็บไซต์ห้องสมุดวชิรญาณ
นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ และคณะ. รอยเวลา เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ. สำนักพิมพ์สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2563