ด่าแบบจีน “เก๋าเจ้ง-บ่มิไก๊” ถึง “เฮงซวย-ฮวนนั้ง” ส่องความเป็นมาคำจีนสยามเชิงดูถูก

ภาพประกอบเนื้อหา - การโต้เถียงกันโดยใช้คำที่เอ่ยถึงสัตว์ประเภทสุนัข

ภาษาไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือสื่อสารปฏิสัมพันธ์อันสำคัญของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนแง่มุมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอารมณ์ ภาษาที่ใช้สื่อสารในยามอารมณ์ขุ่นเคืองก็ต้องปรากฏเป็น “คำด่า” ออกมาไม่มากก็น้อย ในบรรดาการประดิษฐ์คำด่าอันมากมายของมนุษย์นั้น ย่อมมีคำด่าภาษาจีนรวมอยู่ด้วย

เชื่อว่าคำด่าภาษาจีนทั้งในอดีตและที่แปรรูปหรือผสมปนเปกันมาสู่ยุคปัจจุบันคงมีมากมายมหาศาล ในที่นี้คงต้องหยิบยกคำซึ่งได้ยินบ่อยๆ และคุ้นหูอันดับต้นๆ มายกตัวอย่างกันเพื่อให้เห็นภาพคำยืมภาษาจีนในสยามซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระจกสะท้อนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนได้เป็นอย่างดี

คนโบราณ “ด่า” กันด้วยคำไหน? ดูคำด่าเจ็บแสบของยุค และคำด่าอมตะที่ใช้ถึงทุกวันนี้

เก๋าเจ้ง

ในสมัยนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูกันแล้ว แต่เชื่อว่าสำหรับบางกลุ่มคำนี้ต้องเป็นที่คุ้นเคยอย่างดี จากการศึกษาของวรศักดิ์ มหัทธโนบล นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ได้ให้คำอธิบายถึงคำนี้ไว้ว่าจัดอยู่ในกลุ่ม “คำด่าหรือคำหยาบที่ไม่ค่อยจะได้ใช้กัน หากไม่เหลืออดจริงๆ”

คำว่า “เก๋าเจ้ง” เป็นคำจีนแต้จิ๋ว ขณะที่จีนกลางจะออกเสียงว่า “โก๋วจ่ง” (gouzhong) “เก๋า” หมายถึง สุนัข ส่วน “เจ้ง” มีหลายความหมายตามบริบท หมายถึงได้ทั้ง เมล็ดพันธุ์ ประเภท ชนิด

ความหมายของ “เจ้ง” ในภาพกว้างจึงครอบคลุมความเป็นแก่น หรือธาตุแท้ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อมารวมกับคำว่า “เก๋า” เจ้ง พอจะแปลได้ว่า ชาติกำเนิด ความหมายเมื่อรวมกันเป็น “เก๋าเจ้ง” แปลตรงๆ ก็หมายความว่า “ชาติหมา”

ถึงแม้สุนัข ในสมัยใหม่จะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักน่าเอ็นดูและเป็นเพื่อนสนิทของมนุษย์ไปแล้ว แต่หากย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านี้ สังคมจีนและอีกหลายพื้นที่มอง “หมา” ในแง่ลบ วรศักดิ์ มองว่า จีนเป็นสังคมที่ยากจน แม้จะรักหมาเป็นพื้นฐานแต่ก็ไม่มีศักยภาพจะเลี้ยง การเลี้ยงหมาในสังคมจีนปรากฏในเฉพาะกลุ่มคนผู้ดีหรือชนชั้นสูงเท่านั้น

ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนมีฐานะและเลี้ยงหมาไว้ อาจเลี้ยงไว้ด้วยวัตถุประสงค์เช่นไว้ใช้งาน หรือเป็นอาหาร หาใช่เป็นการเลี้ยงแบบสัตว์เลี้ยง ขณะเดียวกันอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็ห็นว่า การเลี้ยงหมาเป็นสัตว์เลี้ยงถือเป็นกิจกรรมของพวกกระฎุมพี ตามมุมมองของวรศักดิ์ แล้วเชื่อว่า มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้การกินเนื้อหมาเป็นเรื่องปกติในสังคมจีน

วรศักดิ์ วิเคราะห์ว่า การใช้คำ “เก๋าเจ้ง” ในสังคมไทยมีเงื่อนไขบางประการมากำหนด คนไทยไม่ค่อยใช้คำว่า “เก๋าเจ้ง” ด่าทอกันเอง นอกจากเป็นเพียงการล้อเล่นในเพื่อน แต่คนไทยจะใช้คำนี้อย่างจริงจังเฉพาะกับคนจีนที่ทะเลาะด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด แต่อย่างน้อยก็คือการสื่อสารถึงอารมณ์ของตนไปถึงคนเชื้อสายจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคู่ตรงข้าม

พฤติกรรมที่เข้าข่ายถูกด่าว่า “เก๋าเจ้ง” ก็ต้องเป็นสิ่งที่เหลืออดเหลือทน สำหรับในจีน พฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นเรื่องคิดไม่ซื่อของฝ่ายหนึ่งต่อฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการคิดไม่ซื่อสำหรับคนจีนถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสามีต่อภรรยา บุตรต่อบุพการี หรือเพื่อนต่อเพื่อน แต่พฤติกรรมที่ “เก๋าเจ้ง” อย่างเต็มปากเต็มคำนั้น วรศักดิ์ อธิบายว่า “คือพฤติกรรมคิดไม่ซื่อของชนชั้นปกครองต่อราษฎรจนถูกจับได้คาหนังคาเขา”

คำที่เชื่อมโยงกับ “เก๋าเจ้ง” อีกคำคือ “เก๋าเจี๊ยะ” เป็นคำแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงว่า “โก่วสือ (goushi)” เจี๊ยะ แปลว่า กิน เมื่อรวมกับคำว่า เก๋า ที่แปลว่าหมา ก็ย่อมหมายความว่า “หมากิน”

หากกล่าวอย่างรวบรัด คำนี้คือการเปรียบภาวะเสียเงินเสียทองหรือทรัพย์สินใดให้การฉ้อราษฎรบังหลวง เปรียบดัง ที่เสียไปนี้ไม่ต่างกับเสียอาหารให้หมากิน ซึ่งอาจแฝงความหมายเหยียดหยาม แม้ว่าผู้ให้เต็มอกเต็มใจให้ก็ตาม

“ไอ้ลูกหมา-ไอ้ห้าร้อย” เผยคำด่าภาษาจีนในบริบทไทย คนจีนฟังแล้ว “ไม่เจ็บ”

บ่มิไก๊

วรศักดิ์ อธิบายว่า คำนี้ก็เป็นคำจีนแต้จิ๋ว แต่ปรากฏในหมู่จีนแคะหรือฮากกาด้วย (ออกเสียงว่า หม่อมักไก๊) แปลว่า “ไม่มีอะไร” แต่หากความหมายเดียวกันนี้ในคำจีนกลาง จะใช้คำว่า “เหมยเสินเมอ” (meishenme)

ในรายละเอียดในเชิงภาษาแล้ว มีข้อมูลบางประการที่สลับซับซ้อนอยู่ แต่หากกล่าวโดยย่อในเชิงความหมายในไทย ทุกวันนี้ บ่มิไก๊ อันเป็นคำจีนสยาม หมายความมากกว่า “ไม่มีอะไร” ในคำจีน บางครั้งอาจตีความหมายถึง เรื่องราวที่ดูเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ที่จริงแล้วกลับ “บ่มิไก๊” หรือในกรณีบุคคล บางคนวางท่าว่ามีทีเด็ด แต่เมื่อแสดงออกมาแล้วกลับ บ่มิไก๊ คือไม่สมกับที่วางท่า

เฮงซวย

คำนี้เป็นภาษาพูดติดปาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายว่าหมายถึง เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น “คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย”

ในคำอธิบายฉบับราชบัณฑิตยสถานกำกับที่มาของคำว่า ในภาษาจีน คำว่า “เฮง” แปลว่า โชคดี “ซวย” แปลว่า เคราะห์ร้าย เฮงซวย ว่า ไม่แน่นอน”

ขณะที่พิชณี โสตถิโยธิน บรรยายในบทความเรื่อง “คำยืมภาษาจีนแต้จิ๋วในภาษาไทย: ปรากฏการณ์ที่วงศัพท์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความหมาย” ในวารสารจีนศึกษา ฉบับที่ 5 ปีที่ 5 พ.ศ. 2555 ว่า คำว่า เฮงซวย ภาษาจีนแต้จิ๋วหมายถึง “โชคไม่ดี” จัดว่าอยู่ในวงศัพท์ความเชื่อ และเป็นวงศัพท์คุณลักษณะ พิชณี อธิบายว่า “เมื่อภาษาไทยยืมมาใช้เกิดการย้ายที่ความหมายจากวงศัพท์ความเชื่อไปยังวงศัพท์คุณลักษณะ”

ส่วนวรศักดิ์ มหัทธโนบล อธิบายว่า ความหมายตามคำจีนหมายถึง ไม่อยู่กับร่องกับรอย เอาแน่เอานอนไม่ได้ ส่วนการแปลตามความหมายที่คนไทยเข้าใจคือ ความเจริญที่เสื่อมถอย คนจีนแต้จิ๋วใช้คำว่า เฮงซวย ในแง่เป็นผู้ทำลายสิ่งดีๆ ที่คนปกติถือปฏิบัติกัน จนทำให้ตนเองหรือสังคมเดือดร้อน

“อ้ายลูก 3 พ่อ” คำด่าสุดเจ็บแสบจากสามก๊ก ที่เตียวหุยด่าได้ดีจนโลกจำ

ฮวนนั้ง

ตามความเห็นของวรศักดิ์ คำนี้เป็นคำที่มีความหมายล่อแหลมต่อการเข้าใจผิด และความหมายไม่สู้ดีนัก คำนี้เป็นคำแต้จิ๋ว อันที่จริงฮวน จะออกเสียงว่า ฮวง แต่เพี้ยนมาเป็น ฮวน ส่วนจีนกลางออกเสียงว่า ฟานเหญิน (fanren)

“นั้ง” แปลว่า มนุษย์ “ฮวน” มีความหมายค่อนข้างกว้าง สำหรับในเบื้องต้นแปลว่า ครั้ง รอบ เที่ยว เป็นลักษณนาม เช่น หลายเที่ยว หลายรอย ต้องการเน้นถึงจำนวนครั้งว่ามีจำนวนมาก หากคำไทยคือคำว่า หลายครั้งหลายหน เทียวไปเทียวมา นั่นเอง ซึ่งหากเทียบกับคำไทยแล้ว มักจะสื่อไปในทางความรู้สึกว่าสิ้นเปลือง

ฮวน ในอีกบริบทหนึ่ง หมายถึง การผ่านการกระทำ คิด ใช้ ซ้ำๆหรือแบบหนักหน่วง ใช้สมองอย่างหนัก ใช้คนแทบไม่ได้หยุด ในเชิงการสื่อความหมายจึงหมายถึง สิ่งที่ยากต่อการบรรลุหรือสื่อไปถึง อีกความหมายของคำนี้จึงหมายถึง สิ่งที่แตกต่างออกไป และมักหมายถึงชาวต่างชาติ ในกรณีนี้ คำ “ฮวนนั้ง” จึงแปลว่า คนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม

เมื่อคนจีนใช้คำว่า “ฮวนนั้ง” นานเข้า “คนต่างชาติ” จึงเริ่มถูกบีบแคบเข้ามาว่าหมายถึงคนที่อยู่นอกวัฒนธรรมของตัวเอง ท่ามกลางสังคมที่ถือว่าตัวเองมีอารยธรรมสูงกว่ากลุ่มอื่น คำ “ฮวนนั้ง” ของจีน จึงหมายถึง ป่าเถื่อน ไปในที่สุด

วรศักดิ์ อธิบายว่า ทัศนะของคนจีนที่มองคนอื่นเป็น “ฮวนนั้ง” ก็รวมถึงคนในสยาม คนจีนจำนวนหนึ่งดูถูกวัฒนธรรมไทยและเรียกคนไทยว่า ฮวนนั้ง หรือพวกป่าเถื่อน แต่ในยุคหลังทัศนะนี้เริ่มลดลงมาก

ฮวนนั้ง อีกกลุ่มในสายตาจีนคือนักล่าอาณานิคม หรือพวกฝรั่ง แต่ถือว่าเป็นทัศนะที่ผิดพลาดในเวลานั้น หากมองในเชิงลึกว่า ฝรั่งก้าวหน้ากว่าจีนหลายเรื่อง


อ้างอิง:

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. คำจีนสยาม ภาพสะท้อนปฏิสัมพันธ์ไทย-จีน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2555.

“คำศัพท์ “เฮงซวย” มาจากไหน? อิทธิพลจีนย้ายถิ่น สู่คำติดปากในไทยจนถึงวันนี้”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 26 มิถุนายน 2562. เข้าถึงเมื่อ 14 เมษายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_34647>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2563