“ไอ้ลูกหมา-ไอ้ห้าร้อย” เผยคำด่าภาษาจีนในบริบทไทย คนจีนฟังแล้ว “ไม่เจ็บ”

แฟ้มภาพ นักกิจกรรมต่อต้านจีนชาวไต้หวันมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงไทเป เมื่อ 9 สิงหาคม 2012 (AFP PHOTO / Mandy Cheng)

จะว่าไป คำด่า ในแต่ละภาษามีที่มาที่ไปแตกต่างกัน บางครั้งคำด่าภาษาจีนเมื่อแปลมาอยู่ในบริบทไทยแล้ว คนจีนฟังกลับ “ไม่เจ็บ” อย่างเช่นคำ “ไอ้ลูกหมา” หรือ “ห้าร้อย”

คอลัมน์ “ความทรงจำ” ของหลวงเมือง ในศิลปวัฒนธรรม พูดถึงเรื่อง คำด่า นี้ไว้ว่า

“…พูดถึงเรื่องจีนที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีคนจีนรู้จักกันบอกว่า เรื่องจีนที่หนังสือพิมพ์บางฉบับลงพิมพ์นั้น เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองในเมืองไทย ชื่อพระเจ้าฮ่องเต้และขุนนางตงฉินกังฉินก็ตั้งขึ้นเองทั้งนั้น แล้วเขาได้อธิบายว่าคำด่าในเรื่องก็เป็นคำที่คนจีนไม่ใช้ด่ากัน ถึงด่าก็ไม่เจ็บ เช่น

ฝ่ายซิหยูนายทหารเอกได้ฟังซุ่นกี่แม่ทัพฮวนว่าดังนั้นจึงตวาดว่า ‘ไอ้เก๋าเกี๊ย…วันนี้ถึงเวลาที่เอ็งจะต้องลงไปเฝ้าเงี่ยมล่ออ๋องแล้ว’ คำว่าเก๋าเกี๊ย แปลว่าลูกสุนัข คนจีนเขาไม่นำมาใช้ด่ากัน

นอกจากนี้ยังมีคำด่าอื่นๆ ที่ใช้ด่าในหมู่ผู้พูดภาษาไทยเท่านั้น ใช้ในภาษาจีนก็ไม่เจ็บ เช่น ฮุดเอ่งผู้มีพลังดุจพญาช้างสารจึงร้องด่าว่า ‘ไอ้โง่วแปะ…’ คำนี้แปลว่า ‘ห้าร้อย’ ด่าคนจีนแบบนี้เขาไม่เจ็บ เว้นแต่จะเป็นคนไทย

เคยมีคนไทยกับฝรั่งทะเลาะกัน เขาเล่าว่า ฝรั่งเดินชนคนไทยที่รูปร่างผอมสะโอดสะองกระเด็นไปแทบจะล้ม คนไทยนั้นโกรธมาก ด่าฝรั่งหลายคำ ฝรั่งก็ก้มศีรษะรับอย่างผู้สำนึกผิด ฝรั่งนั้นมีคนไทยเป็นล่ามมาด้วย ก่อนที่จะจบเรื่องคนไทยที่ถูกฝรั่งชนด่าฝรั่งว่า ‘เอ็งไม่มีน้ำยา’

ฝรั่งหันไปมองล่าม ล่ามแปลให้ฟังว่า

‘เขาว่ายู…เอ๊ะอะไรหว่า…อ้อ…โน แฮฟ วอเตอร์ เมดดิซิน’

ฝรั่งได้ฟังก็ก้มศีรษะคล้ายคำนับ ร้องว่า ‘โอ…เอยๆๆ’

คำด่าที่ถือว่ารุนแรงหยาบช้าสาหัสที่สุดในหมู่คนไทย คือ ‘ด่าแม่’ ซึ่งมิใช่หมายถึงการใช้วาจาหยาบช้าต่อคุณแม่บังเกิดเกล้า แต่เป็นศัพท์ที่มีใช้เฉพาะ แม้แต่ครูอาจารย์ผู้เข้มขลังด้วยไสยเวทวิทยาคมก็ห้ามด่าแม่ ท่านว่าเครื่องรางของขลังที่วิเศษต่างๆ เสื่อมหมด คำด่าแม่ทำให้ผู้ด่าถูกฆ่าได้ ทำให้ความยั้งคิดต่างๆ สูญสิ้นไปจากหัวใจคนที่อดทนที่สุดได้

แต่ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าคนไทยไปด่าแม่ฝรั่งไม่ว่าจะเป็นคนสำคัญขนาดไหน ถ้าพี่แกรู้คำแปลแล้วคงไม่โกรธแต่คงคิดว่า ‘เป็นไปได้อย่างไร’ ข้าพเจ้าว่ามาตรฐานของชนแต่ละเผ่าย่อมไม่เหมือนกัน เราควรทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราและพวกเรากันเอง พยายามที่จะไม่เหยียบตาปลาของท่านผู้อื่น แม้เขาจะยื่นเท้าของเขามาขวางทางเดินของเราก็ตาม

หนังฝรั่งเรื่องหนึ่งพระเอกพานางเอกไปดูการแข่งม้าที่สนามของพวกผู้ดีเพื่อให้จดจำกิริยามรรยาทของชนเหล่านั้นไว้ กลับปรากฏว่าพระเอกเจ๊งอย่างหมดรูป เพราะนางเอกตะโกนเชียร์ม้าตัวที่เจ้าหล่อนแทงไว้ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นผู้ดีอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ดีที่ไปดูการแข่งม้าวันนั้นลมจับกันหลายคน นางเอกก็ซึมไปเพราะรู้ว่าการเป็นผู้ดีนั้นมิใช่ของง่าย

ในหนังสือแบบเรียนสมัยโบราณ ข้าพเจ้าอ่านแล้วจำได้ท่อนหนึ่งว่า

“เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย
หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดสี
จะอับอายขายหน้าทั้งตาปี
ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล”

เมื่อข้าพเจ้ายังเล็กๆ มีคนใกล้ๆ บ้านซึ่งเป็นสาวแล้ว ข้าพเจ้าเรียกเขาว่าพี่ เขาจะไปไหนมักชวนข้าพเจ้าไปเป็นเพื่อนเสมอ วันหนึ่งเขาชวนไปที่ร้านถ่ายรูป สมัยนั้นรูปถ่ายโหลละไม่กี่สตางค์ ตามฝาผนังบ้านของคนเรามักติดรูปถ่ายตั้งแต่ขนาด 2 นิ้วขึ้นไปไว้แทบเต็ม มีการให้รูปถ่ายกันและกันเพื่อเป็นที่ระลึก เมื่อพี่คนนี้ไปรับรูปถ่ายที่ร้าน ยืนมองๆ อยู่ครู่หนึ่ง ก็ขว้างลงบนกระจกหลังตู้แล้วถามช่างถ่ายรูปด้วยเสียงอันดังว่า

‘ทำไมรูปอั๊วเป็นยังงี้’

ช่างถ่ายรูปซึ่งคุ้นเคยกับพวกเราเป็นอันดีหยิบรูปที่แกถ่ายเองขึ้นมามอง แล้ววางลงบนหลังตู้ พูดค่อยๆ ว่า

‘ก็หน้าลื้อมังเป็งยังงี้’

มีเพื่อนที่อายุน้อยกว่าข้าพเจ้าราวๆ 70 ปีถามว่า

‘คำว่า หา เป็นภาษาอะไร มาจากไหน ได้ยินคุณยายพูดกับคุณตา แล้วคุณตาก็ร้องว่า หา…หา ถ้าของหายแล้วหาของก็พอเข้าใจ แต่คำว่าหาเฉยๆ คืออะไรไม่รู้’ “

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

“เจรจาวิทยา(2)” คอลัมน์ ความทรงจำ โดย หลวงเมือง ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561