หมอลำกลอนอีสาน เป็นทั้ง “กระบอกเสียง” ให้ภาครัฐ และพร้อมเป็น “เครื่องด่า” !?

การแสดง หมอลำ หมอลำกลอน
ภาพประกอบเนื้อหา - การแสดงหมอลำ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2528)

หมอลำ เป็นอาชีพที่มีบทบาทและความสำคัญสูงในสังคมอีสาน โดยเฉพาะ “หมอลำกลอน” ซึ่งเป็นศิลปินหมอลำที่ชาวอีสานให้การยอมรับมาทุกยุคทุกสมัย เพราะกลอนลำที่หมอลำถ่ายทอดมักอุดมไปด้วยเนื้อหาที่แสดงถึงภูมิปัญญาและความรู้ ประกอบกับความบันเทิงจากการสอดแทรกมุกตลก มีท่วงทำนองและจังหวะลีลาที่สร้างความเพลิดเพลิน จึงสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังเสมอมา

บ่อยครั้งทีเดียวที่ หมอลำ สื่อสารแนวคิด ค่านิยม และทัศนคติที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางสังคมและการเมืองของชาวอีสาน หมอลำกลอนหลายท่านมักหยิบยกประเด็นทางการเมืองและสังคมมาเล่าในกลอนลำ โดยเฉพาะยุคพัฒนาประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เพราะสภาพสังคมที่เอื้อให้การกล่าวถึงประเด็นทางการเมืองทำได้ง่ายกว่าสมัยระบอบเก่า มีกลอนลำจำนวนมากที่สื่อถึงแนวคิดทางการเมืองของตัวหมอลำเอง แสดงออกเป็นหัวข้อกว้าง ๆ ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับระบอบการปกครอง และสถานการณ์บ้านเมือง ดังตัวอย่างกลอนลำของหมอลำบุญเพ็ง วงษ์โคกสูง ที่กล่าวถึงความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย สถาบันหลักของชาติ และแนวคิดชาตินิยม ดังนี้

“…คนไทยเฮาสู่คนเป็นเจ้าของประเทศ อาณาจักรขอบเขตเฮาแม่นเสรี รัฐบาลเฮามีปกครองบ่าวไพร่ ราษฎรเป็นใหญ่เท่าท่อเที่ยมกัน มีอยู่สามสถาบันไทยถือยึดหยั่ง พวกหมู่เฮากะจั่งได้มาอยู่ดี เพราะอาศัยสามัคคีของคนร่วมชาติ เฮารักษาเอกราชมาได้ยืนยาว เป็นนำเพราะคนเฮากลมเกลียวเหนียวแน่น เมืองไทยเฮาหมอแผ่นพื้นพสุธา ได้อยู่กินกันมาจักเหิงจักหุ่น บ่เคยตกเป็นฝุ่นข้าทาสชาติใด อยู่ตลอดปลอดภัยมาจนป่านนี้…”

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดเพียงจากตัวหมอลำกลอนไปยังประชาชนเท่านั้น เพราะหลายครั้งหมอลำมีสถานะเป็นสื่อกลางผู้ส่งสาส์นทางการเมืองผ่านกลอนลำด้วยบทบาทที่ต่างออกไป คือ ส่งนโยบายรัฐไปยังประชาชน และส่งแนวคิดจากประชาชนไปสู่ภาครัฐ ด้วย

การสื่อนโยบายของรัฐไปสู่ประชาชน เกิดจากหน่วยงานรัฐใช้หมอลำเป็นสื่อพื้นบ้านเพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลหรือหน่วยราชการไปยังประชาชน มีจุดประสงค์สำคัญ คือ เพื่อรณรงค์หรือส่งเสริมเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ และเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการรัฐให้ประชาชนได้ทราบ เรียกง่าย ๆ ว่าใช้ประโยชน์จากความนิยมหมอลำของคนอีสานให้เป็นประโยชน์

ยกตัวอย่างกลอนลำของหมอลำสมาน หงษา ที่ช่วยภาครัฐประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในเขตเลือกตั้งจังหวัดอุบลราชธานีให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 ตัวอย่างกลอนลำ ดังนี้

“…จั่งขอเตือนพี่น้องของร้องให้ช่วยกัน 24 กรกฎาว่านั้นให้ไปเลือกเอาคนดี ไปหลายคนกะหลายเสียงช่วยกันดึงไว้ ดึงประชาธิปไตยดึงคนดีเข้าไปในสภาให้คุ้มค่า สิได้พัฒนาเมืองอุบลถิ่นบ้านเจริญขึ้นกว่าหลัง ให้สมชื่อเพิ่มตั้งคำว่า “เมืองอุบล” ให้ดอกบัวบานงามเฮื่อฮองใสจ้า สิบ่มีเวลาเศร้าครับเฮาเอาใจใส่ เลือกคนดีพรรคการเมืองดี อุดมการณ์นั้นใช้ได้เด้อเจ้าจั่งค่อยเอา…”

ส่วนการสื่อแนวคิดจากประชาชนไปสู่ภาครัฐ ในฐานะที่หมอลำคือประชาชนอีสานคนหนึ่งที่เข้าใจปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว หมอลำจึงมักเป็นปากเสียงให้ประชาชนในการสะท้อนและตีแผ่ปัญหาสังคมให้รัฐหรือส่วนราชการรับรู้ โดยสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ฟังที่ประกอบด้วยคนจากหลายกลุ่มอาชีพที่มาชมมหรสพของพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแต่ประชาชนทั่วไป ยังมีกลุ่มผู้นำชุมชน ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จะเห็นจากกลอนลำของหมอลำสาคร ศิริบรรพต ที่กล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น (อย่างดุเดือด) เพื่อสื่อสารไปยังภาครัฐ ดังนี้

“…การปกครองต้องมีการบริหารแบ่งงานตามขั้น ให้เป็นไปตามชั้นโครงการก้าวผ่าน ให้เสร็จตามโครงการระยะยาวระยะสั้นตามชั้นงบประมาณ แต่บ่แม่นจั่งซั่นตามเห็นกัน มันเป็นการบริหารกินส่วนตัวทั้งนั้น เลยเป็นคอรัปชั่นบังหลวงฉ้อราษฎร์ ฟาดกันอิ่มแอ่แห่แปะท้องสิแตกตาย ครับฉิบหายงบนี้แล้วเพิ่มภาษี ขยี้ปวงชนป่งขนบ่มีได้ มันมิใช่บริหารบริแหกแตกไส้เป็นภัยร้อนแผ่นดิน”

หมอลำสุทธิพงษ์ สะท้านอาจ เป็นอีกท่านที่ขับกลอนลำเสียดสีนักการเมืองที่ขาดความรู้ สื่อว่าการเลือกคนโง่ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมนำความอับอายมาสู่ท้องถิ่น ดังปรากฏในกลอนลำนี้

“…ตัวผู้แทนสำคัญกว่าเงินเบี้ยบาท ไปทำงานเพื่อชาติบ่แม่นไปขายของ เลือกไปแล้วอยากอายได้ผู้แทนขี้โง่ ว่าบัดใดเขาโห่ความรู้บ่มี…”

กล่าวได้ว่าบทบาทของ หมอลำกลอน ทั้งการเป็นสื่อบุคคลและสื่อสารให้หน่วยงานรัฐจะมีเนื้อหาภายใต้นโยบายที่เกี่ยวข้อง ส่วนบทบาทการสื่อสารไปยังหน่วยราชการจะเกิดจากความคาดหวังของประชาชนและภาวะปัญหาทางสังคม โดยมีหมอลำเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่า ขณะที่การสื่อสารโดยตรงระหว่างตัวหมอลำกับประชาชนจะเปิดกว้างกว่า เพราะเป็นการสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกัน

บทบาทเหล่านี้เกิดจากการรับอิทธิพลทางความคิดจาก 2 ทาง คือ จากกลุ่มนักวิชาการหรือภาครัฐเองที่เผยแพร่ความรู้ทางการเมืองไปสู่ภาคประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้ง หนังสือพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์ ฯลฯ และอิทธิพลจากสภาพสังคม ณ ช่วงเวลานั้น เกิดเป็นกลอนลำที่มีการแสดงออกแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการนำเสนอปัญหา รวมถึงแสดงความคาดหวังเพื่อแก้ไขสิ่งไม่พึงประสงค์ในสังคมนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เสงี่ยม บึงไสย์. (2532). บทบาทของลำกลอนในด้านการเมือง. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยคดีศึกษา). มหาสารคาม: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2565