ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง “หมอลำ” ได้รับความนิยมมายาวนาน ถึงยุคปัจจุบันก็ยังถือว่ามีพัฒนาการผสมผสานเข้ากับดนตรีร่วมสมัยและได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่น แต่หากพูดถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม ในเนื้อร้อง “หมอลำ” มักมีคำหรือสัญลักษณ์เกี่ยวกับ “เพศ” จำนวนมาก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้คนจดจำวัฒนธรรมนี้ และชาวบ้านทั่วไปก็ชื่นชอบมาก แต่ชาวเมืองมองว่าหยาบโลน บางครั้งก็ถึงขั้น “ไม่ชอบ” ด้วยซ้ำ
แถบอีสานคุ้นเคยกับการ “ลำ” หรือการร้องรูปแบบหนึ่งเป็นอย่างดี ในทางภาษา ผู้ที่ลำจนชำนาญแล้วจะถูกเรียกว่า “หมอลำ” ที่มาของการลำเชื่อกันว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด หนังสือ “การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน” ของกรมศิลปากรอธิบายโดยสันนิษฐานว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักมีการขับร้อง และผูกเนื้อหาให้เข้ากับภาษาของแต่ละกลุ่ม
นิคม วงเวียน บุคลากรจากวิทยาลัยครูสุรินทร์ บรรยายเนื้อเพลงพื้นเมืองของอีสานว่า โดยรวมแล้วจะเรียกว่า “กลอนลำ” มีทั้งกลอนที่แต่งไว้ในวรรณคดีพื้นเมือง กลอนที่แต่งใหม่ และกลอนที่หมอลำคิดขึ้นเองขณะลำ ส่วนใหญ่แล้ว กลอนลำมักจะใช้เนื้อความจากเรื่องในวรรณคดี ศาสนา ประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกคติธรรม ธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และสภาพทางท้องถิ่นเอาไว้
ขณะเดียวกัน กลอนลำมักสะท้อนความคิดของผู้แต่งด้วย การศึกษาวรรณคดีในเชิงจิตวิทยาโดย วนิดา ลิขิตกัณทิมา พบว่า ผลงานวรรณคดีสะท้อนจิตใต้สำนึก บุคลิกภาพ และบทบาทของผู้แต่ง โดยปรากฏออกมาในลักษณะทางตรง และทางอ้อมผ่านสัญลักษณ์
พื้นฐานของสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องการเกิด ความอุดมสมบูรณ์ มักมีเรื่อง “เพศ” และ “อวัยวะเพศ” ปรากฏอยู่ กวีหรือผู้แต่งจะสอดแทรกคำ ข้อความ พฤติกรรม เครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศ
นิคม วงเวียน ศึกษารวบรวมคำและข้อความในกลอนลำ ผลการศึกษาพบว่ามีคำเกี่ยวกับเพศมากมาย แบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความหมายถึงอวัยวะเพศ และกลุ่มที่หมายถึงเพศสัมพันธ์ลักษณะต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 หมวดคือความหมายโดยตรง และโดยอ้อม (หรือเชิงเปรียบเทียบ) ซึ่งโดยสัดส่วนแล้วมักใช้คำหรือกลุ่มคำที่มีความหมายโดยนัย
1. ความหมายโดยตรง
– อวัยวะเพศชาย
“โคยเคียวบักหำด่าง”
“เดี๋ยวจับสองขากะดอดำ”
ฯลฯ
– อวัยวะเพศหญิง
“เหลียวเบิ่งสองง่ามก้นหง้วมหงีมาเทียมยืน”
“หรือบ่เคยบ่ตุ้มสิของุ้มหว่างโมม”
“บาดห่าเต๊ะก้นโท้ยโหง่ยลงสาดังตึ้ง”
“นอนมเจ้าให้เขาบายแล้วไป่”
“มันผัดใหล้สิแจ้งฝูงแมงหมี่มาตอมหี”
ฯลฯ
– แสดงอาการเพศสัมพันธ์
“คันแม่นคึกอยากสี้ เห็นเขาแต่งตัวงาม”
“มีบาดเด้ง บาดฮ่อน อันนั้นแนวเดียว”
“มีบาดหญ้ม บาดเหลียว มันก็แสนยาก”
ฯลฯ
2. ความหมายโดยอ้อม หรือเชิงเปรียบเทียบ
– อวัยวะเพศชาย
“บักโปงลาง พี่สิโหญ้น เมือก้ำฝ่ายอุดร”
“แมงหมี่ปัดป่ายตุ้มกุมกล้วยหน่วยสลึง”
“พี่สีปาดหมากแว้ ไป่ไว้ให้แหญ่ฮู”
“บั้งน้ำเฮี่ยขอเลียท้ายล่าม”
“บาดห่ากำด้ามพร้า สิเห็นหน้าบ่าวพี่ชาย”
“เพิ่นผู้วงหัวเจ้ย หลดเงยคอก่งด่ง”
– อวัยวะเพศหญิง
“ตายนำโง่นเซ้าเง้า เต้าขี้ตุ่มหมากตูมไถ
ตายนำขวยแมงซอน บ่อนฮูจินาอ้น
ตายนำฮูแข้ฮูกะแตใต้ฮูบ่าง
ตายนำกกเหมียดก่าง บ่อนเป็นหัวน้ำย้อย
ฮ้อยช้างกะนี้แหม่นหล่มบึง”
“เจ้าตากต้านลอนตาลคือซิต่ง”
“รักษาโนนนาเฮื้อ แปลงดีๆ ไว้ถ้าพี่”
“คันหมอเคนได้แต่ซุเนื้อขาวๆ”
“หนองและนอ น้องบวกน้อย ฮอยอ้ายหยั่งผู้เดียว”
ฯลฯ
– แสดงอาการมีเพศสัมพันธ์
“อยากลองไปในห้องสองคนเบิ่งเดพี่ คือสิเถิงชั้นฟ้าเวลาเข้าสู่เตียง”
“สิให้หวังโคะโยะ ใส่ผู้ใด๋สิคือน้อง”
“เถิงพอดีคิดฮอดอ้ายญามสิเข้ากะบ่อนนอน”
“ไผเดนอสิมาเป็นแฟนน้อง บุญยังนางสิได้กล่อม”
“พี่บ่มีคู่ซ้อน นอนกลิ้งแม่นกล่อมสอง”
“ผู้บ่าวไปโคมผัดว่าสิฮ้อง บอกให้ฮ้องมึงเป็นหญังบ่ฮ้อง เอ็นเข้าท้องกูฮ้องบ่ได้”
ฯลฯ
คำในเนื้อกลอนลำในตัวอย่างข้างต้นเป็นเรื่องที่ชาวบ้านกระทำเป็นปกติโดยชอบใจ อันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยหนึ่งชาวเมือง หรือกลุ่มที่การศึกษาสูงมักมองในแง่หยาบโลนลามก
ประเด็นความเห็นต่างต่อวัฒนธรรมนี้ นิคม วงเวียน มองว่า สังคมที่มีสมาชิกอยู่ร่วมกัน สังคมเป็นปัจจัยที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน อาทิ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และความต้องการทางเพศ ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องมีระเบียบ มีการควบคุมสมาชิก ซึ่งสิ่งที่นำมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมคือ กลวิธี หรือกลไกทางวัฒนธรรม ยุทธวิธีอย่างหนึ่งที่ใช้ควบคุมสังคมคือ กลอุบายควบคุมพฤติกรรม และความนึกคิดของผู้อื่นจากการสื่อความหมายต่างๆ
ในที่นี้ ความตลกขบขันหรือเอาเรื่องมาล้อเลียนเป็นการสื่อความหมายอีกวิธีหนึ่ง เรื่องตลกขบขันสามารถลดอำนาจความต้องการของบุคคลลง และทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดผ่อนคลาย ในอีกด้านหนึ่ง หากมองในมุมเชิงจิตวิทยา การใช้ถ้อยคำทางเพศเป็นการสร้างเหตุการณ์ที่ตนเองสมใจขึ้น เป็นเครื่องมือการผ่อนคลายความตึงเครียดชั่วครู่ การใช้คำที่เกี่ยวกับทางเพศอาจพิจารณาในแง่พฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งเกิดจากความคับข้องใจได้อีกเช่นกัน นิคม มองว่า
“การนำเรื่องเพศซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของคนเรามากล่าวในทำนองเป็นเรื่องขบขันจึงเป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สังคมมองเรื่องเพศเป็นเรื่องไร้สาระ หรืออย่างน้อยก็ลดความสำคัญของเรื่องนี้ลง”
เมื่อวรรณกรรมพื้นบ้านเป็นเรื่องขบขันเกี่ยวกับเรื่องเพศเสียมาก ข้อมูลการสำรวจนี้สะท้อนว่าศิลปินใช้กลวิธีนี้เป็นเครื่องช่วยควบคุมสังคมทางหนึ่ง และใช้แพร่หลายทั้งเจตนา และโดยไม่เจตนา การนำเรื่องเพศมากล่าวทำนองเชิงตลกเป็นกลวิธีที่ช่วยให้สังคมมองเรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ตึงเครียด หรืออย่างน้อยก็ลดความสำคัญของเรื่องนี้ลง ในสังคมระดับชาวบ้านเองก็ถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาที่รับรู้ได้โดยไม่รังเกียจ การใช้คำและภาษาโดยตรงสะท้อนให้เห็นลักษณะพฤติกรรมการสื่อสารของชาวบ้านที่ไม่นิยมกล่าวอ้อมค้อม
ในทางความเชื่อหรือคติที่สืบทอดกันมา การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษก็มักทำตามคำสั่งเสียให้จัดหมอลำที่มีชื่อมาแสดง ซึ่งกลุ่มหมอลำนี้ก็มีฝีปากจัดจ้านกล้าแกร่งในการใช้คำทางเพศอย่างโชกโชน
นอกจากเรื่องรสนิยมและวิถีชาวบ้านแล้ว ความเชื่อเรื่องผีก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่น่าจะเชื่อมโยงกับคติการใช้คำเรื่องเพศ จากตัวอย่างการเซ่นสรวงผีที่เป็นเจ้าน้ำก่อนจับปลาบึกในแม่น้ำโขง ซึ่งต้องพูดด่ากันเกี่ยวกับเรื่องเพศให้หยาบโลน โดยเชื่อว่าเจ้าจะโปรดปรานและทำให้จับปลาได้มาก ในพิธีก็มีบทร้องและบทด่าเกี่ยวกับเรื่องเพศมากมาย
อ่านเพิ่มเติม :
- หมอลำกลอนอีสาน เป็นทั้ง “กระบอกเสียง” ให้ภาครัฐ และพร้อมเป็น “เครื่องด่า” !?
- ทองมาก จันทะลือ หมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมือง และได้เป็นทั้งสส.-ศิลปินแห่งชาติ
- หมอลำพื้นบ้านวิจารณ์การเมือง จาก “ทองมาก จันทะลือ” ส.ส.หมอลำ ถึง “พรศักดิ์ ส่องแสง”
อ้างอิง :
นิคม วงเวียน. “เพศในกลอนลำ,”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2528)
กรมศิลปากร. การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, 2521, น. 84
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2562