ทองมาก จันทะลือ หมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมือง และได้เป็นทั้งสส.-ศิลปินแห่งชาติ

หมอลำ ทองมาก จันทะลือ
หมอลำทองมาก จันทะลือ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2513 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับมีนาคม 2562)

“ทองมาก จันทะลือ” หมอลำ รุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา และได้เป็นทั้งสส.-ศิลปินแห่งชาติ

หมอลำ ถือได้ว่าเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคอีสานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแต่หมอลำก็ยังคงเอกลักษณ์การแสดง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ นอกจากจะเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวอีสานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมอลำสามารถแสดงได้ทุกที่ ทุกเวลา แสดงง่ายที่สุดก็หมอลำ 1 คน หมอแคน 1 คน

หลายครั้งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของชาวอีสานกับอำนาจรัฐ มีหมอลำเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอในฐานะกระบอกเสียงในการปลุกระดมต่อสู้ต่อการกดขี่ของอำนาจอันไม่ชอบธรรม เช่น กรณีกบฏผีบุญ (พ.ศ. 2444-45) กรณีหมอลำน้อยชาดา บ้านเชียงเหียน (พ.ศ. 2479) กรณีหมอลำโสภา พลตรี บ้านสาวะถี (พ.ศ. 2483) กรณีหมอธรรมศิลา วงศ์สิน (พ.ศ. 2502) ส่วนมากล้วนแล้วแต่เป็นหมอลำทั้งสิ้น หากเราจะกล่าวว่า “ปัญญาชนชาวอีสาน” นอกจากพระสงฆ์แล้วก็คงเป็นหมอลำ หมอธรรมเห็นจะไม่ผิดมากนัก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 มีกลอนลำที่สะท้อนเรื่องราวของการเมืองอยู่บ่อยครั้ง หมอลำใช้เวทีของตนเองในงานวัด งานบุญของชุมชน เป็นพื้นที่เสียดสี วิพากษ์ วิจารณ์นักการเมืองหรือผู้ปกครองได้อย่างแยบยล เมื่อรู้สึกคั่งค้างในหัวใจถึงสาเหตุความยากจนข้นแค้นของเพื่อนร่วมภาค โดยส่วนใหญ่จะแต่งกลอนลำออกมาในแนว “เพื่อชีวิต” เน้นการกล่อมเกลาจิตใจและต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องสอดแทรกคติธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ผ่านเรื่องราววรรณคดีต่างๆ และนอกจากนี้ยังปะปนความรู้ในแนวประวัติศาสตร์เพื่อให้เนื้อหาในกลอนลำนั้นหนักแน่นยิ่งขึ้นอีกด้วย

หมอลำทองมาก จันทะลือ ถือได้ว่าเป็นหมอลำฝีปากเอกและมีไหวพริบปฏิภาณเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็น สส. หมอลำคนเดียวของประเทศไทย ซึ่งใน พ.ศ. 2512 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดอุบลราชธานี ในนามของผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีโอกาสร่วมงานกับ สส. สำคัญในภาคอีสาน เช่น นายจำลอง ดาวเรือง นายเลียง ไชยกาล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ สส. หลายท่านเหล่านี้ ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวอีสาน ในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อการพัฒนาภูมิภาคแห่งนี้ให้เจริญขึ้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทองมาก จันทะลือ ถือเป็นหมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมืองมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหรือแจกข้าวของ ดังตัวอย่างที่ยกมาดังนี้

มาสมัยเดียวนี้เต็มทีแสนโหด โพดอุบาทว์หลายเล่ห์เหลี่ยมกล

นายทุนหาของล้อหลงกลน้ออีพ่อ ห่อของขวัญให้แล้วเขากะได้ดอกเสียง

พวกนายทุนเขาละเว้าจั่งซี้ มันละแม่นความเขา

เฮาละเป็นคนเอาของ เขาละเป็นคนเอาสิทธิหมู่เฮาเห็นบ้อ

จะเห็นว่ากลอนลำ เป็นการชี้ให้เห็นว่าสิ่งของเงินทองของนักการเมืองในสมัยนั้น นำมาให้เป็นการซื้อเสียง ทำให้เราขาดสิทธิ์ในการเลือกคนที่มีนโยบายเข้าไปทำงาน แต่หากพิจารณาอีกแง่มุมจะเห็นว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการพัฒนาประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่รู้ว่านโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อตนเองโดยตรง…

[หมอลำทองมาก จันทะลือ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี 2529 ถือเป็นหมอลำคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ หมอลำทองมาก จันทะลือ เสียชีวิตเมื่อปีพ.ศ. 2554]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หมอลำพื้นบ้าน วิจารณ์การเมือง” เขียนโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2564