ตำนานนักสู้ “เตียง ศิริขันธ์” จากครูหนุ่มไฟแรง สู่สี่เสืออีสาน ขุนพลหนุ่มแห่งภูพาน

(ซ้าย) เตียง ศิริขันธ์ (ขวา) ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

เตียง ศิริขันธ์ คืออีกหนึ่งตำนานนักสู้ จากครูหนุ่มไฟแรง สู่สี่เสืออีสาน ขุนพลหนุ่มแห่งภูพาน…แต่ทำไมต้องถูก “เก็บ”?

ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มต้นมีผู้แทนราษฎร ที่เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในปี 2480 … จำนวนผู้แทนหลายยุคหลายสมัยมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน แต่หากจะพยายามนับผู้แทนที่ปฏิบัติหน้าที่สมเป็นผู้แทนจริง ๆ ตามปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย ที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือพรรคพวก ไม่แน่นักว่าจะมีพอให้นับครบนิ้วมือหรือไม่

เส้นทางสายประชาธิปไตยในระยะแรกเริ่ม แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคและกลเกม แต่ก็ก่อให้เกิดนักสู้จำนวนหนึ่ง ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจมืด คำว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง” ยังเป็นคำที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งเข้าใจและแปลความหมายออก ยอม “ก้มหัวเป็นงัวงาน” ของประชาชน

เตียง ศิริขันธ์ นักการเมืองจากที่ราบสูง เป็นอีกคนหนึ่งที่ประวัติศาสตร์นักการเมืองไทยควรบันทึกไว้เป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่เข้าใจ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง เป็นกลุ่มคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสกลนครคนนี้ หากมองให้ลึกลงไปเราจะเห็นเส้นทางชีวิตที่เป็นเส้นเดียวกับ ปรีดี พนมยงค์ วีรบุรุษของใครหลายคน แม้ในตอนท้ายของชีวิตจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก คือปรีดี พนมยงค์ “หนีรอด” จากการตามล่า และมีบทสรุปที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ แต่ เตียง ศิริขันธ์ กลับพบจุดจบอย่างโหดร้าย และมีบทสรุปที่แผ่วเบาเต็มที

เตียง ศิริขันธ์ มีแนวความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน เจ้าตัวยอมรับว่า มีความคิดที่เป็นแบบ “สังคมนิยม” ซึ่งคงจะเป็นที่รับรู้ของคนโดยทั่วไป ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่การเมืองแล้ว

จากเหตุการณ์ที่ถูกจับในข้อหากระทำการฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ในปี 2478 ขณะนั้นยังรับราชการเป็นครูอยู่ที่อุดร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เองน่าจะเป็นจุดหักเหที่นำ เตียง ศิริขันธ์ เข้าสู่การเมือง ไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต และไปสู่จุดจบของชีวิตในที่สุดด้วยวัยเพียง 43 ปี และเพียง 15 ปี บนเส้นทางสายการเมือง

เตียง ศิริขันธ์

ก่อนจะเป็นตำนานนักสู้

เตียง ศิริขันธ์ เป็นชาวสกลนครโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 บิดาคือ นายฮ้อยบุดดี เป็นหัวหน้ากองคาราวานรับซื้อวัวควายไปขายที่เมืองมะละแหม่งและย่างกุ้ง ประเทศพม่า ภายหลังได้เป็นขุนนิเทศพานิช มารดาคือ นางอ้ม ศิริขันธ์ มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน

ครอบครัวศิริขันธ์เป็นครอบครัวที่จัดว่ามีฐานะดี เตียง ศิริขันธ์ จึงได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ คือเริ่มต้นเรียนหนังสือชั้นต้นระดับ ป.1 ถึง ม.3 ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำมณฑลในระดับ ม.4 ถึง ม.6 ซึ่ง เตียง ศิริขันธ์ ได้ไปอาศัยอยู่บ้านนายร้อยตำรวจเอก ขุนรักษ์นิกร (เกิด ตราชู) บุตรเขยของ ขุนศรีธนานนท์ (เลื่อน สิงห์สุวรรณ) เพื่อนสนิทของนายฮ้อยบุดดี

ที่นี่เองที่ เตียง ศิริขันธ์ ได้รู้จักกับ สวาสดิ์ และสวัสดิ์ ตราชู สองพี่น้องที่ภายหลังคือมิตรร่วมรบคนสำคัญในงานเสรีไทย

ต่อมาก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ จนได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) เมื่ออายุได้ 18 ปี จากนั้นก็ได้เข้าเรียนต่อเป็นนิสิตรุ่นแรกในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับประโยคครูมัธยม (ป.ม.) เพราะขณะนั้นยังไม่เปิดสอนถึงระดับปริญญา

ที่นี่เองเป็นที่ให้ เตียง ศิริขันธ์ ได้มีโอกาสศึกษาตำรับตำราต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ ทั้งที่เป็นวิชาประวัติศาสตร์และทฤษฎีการเมือง จนบังเกิดความนิยมแนวความคิดแบบ “สังคมนิยม” ขึ้นมา เพราะแนวความคิดนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มากในขณะนั้น เตียง ศิริขันธ์ จบการศึกษาในชั้นประโยคครูมัธยมประมาณปี 2472 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี

ครูหนุ่มไฟแรง

เมื่อเรียนจบแล้ว เตียง ศิริขันธ์ เริ่มชีวิตครูที่โรงเรียนหอวัง ต่อมาย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี และโรงเรียนฝึกหัดครูที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลในปี 2477 ขณะนั้นมี ม.ล.มานิจ ชุมสาย เป็นอาจารย์ใหญ่

ด้วยความเป็นครูหนุ่มไฟแรง ลูกศิษย์ของ “ครูเตียง” เล่าให้ฟังว่า ครูเตียงได้ “อัดฉีดความเป็นธรรม ความเป็นประชาธิปไตยให้แก่นักเรียน”

ขณะนั้นประเทศสยามเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 2 ปี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่มากของสังคมไทย แต่สำหรับ เตียง ศิริขันธ์ ซึ่งไม่ใช่ “นักเรียนนอก” ก็ได้ศึกษาทำความเข้าใจกับระบบนี้มาเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้พยายามนำมาปลูกฝังลูกศิษย์ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลง ให้มีความเข้าใจในระบอบการปกครองใหม่นี้

ระหว่างนี้ เตียง ศิริขันธ์ คงจะมีบทบาทในการเผยแพร่แนวความคิดทางการเมืองของตนเองไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะแนวคิดสังคมนิยม จึงทำให้ถูกจับในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังกลับจากสอนหนังสือที่อุดรธานีได้เพียงปีเศษ

ถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์

วันที่ 9 กรกฎาคม 2478 เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับในข้อหาฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476 เป็นการเริ่มต้นใช้กฎหมาย “คอมมิวนิสต์” เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง และคำนี้ก็ยังคงใช้ “ได้ผล” ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ที่น่าแปลกก็คือ ขณะนั้น เตียง ศิริขันธ์ ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ทำไมจึงถูกจับในข้อหาดังกล่าว ในเรื่องนี้ วิสุทธิ์ บุษยกุล ได้บันทึกไว้ในบทความเรื่อง “รำลึกถึงครูเตียง” ในหนังสือ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลฎพาน เตียง ศิริขันธ์ ผู้นำเสรีไทยภาคอีสาน ว่า

“ในระยะนั้นมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในจังหวัดอุดร มีการแจกใบปลิวตามตลาดและที่อื่น ๆ ทั่วทั้งเมือง แม้แต่ที่เสาธงของโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลเองก็มีคนแอบไปชักธงแดงตราค้อนกับเคียวขึ้นยอดเสาในเวลากลางคืน นายเตียง ศิริขันธ์ นายญวง เอี่ยมศิลา และนายปั่น แก้วมาตย์ ครูสามคนของโรงเรียนถูกจับในข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกส่งตัวมาดำเนินคดีในกรุงเทพฯ เป็นเวลาร่วมปีเต็ม ศาลพิพากษายกฟ้องนายเตียง และนายปั่น ส่วนนายญวง เอี่ยมศิลา ถูกศาลตัดสินพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี”

แต่เบื้องลึกในเรื่องนี้ สวัสดิ์ ตราชู ได้เล่าไว้ในการเสวนาเรื่องชีวิตและบทบาททางการเมืองของขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์ ที่สถาบันราชภัฏสกลนครว่า

“ปีนั้นดูเหมือนมีการเลือกนางสาวประจำจังหวัด นางสาวสุบิน บ้านหมู่มั่น ได้เป็นนางงามคนแรกของเมืองอุดร บรรดาข้าราชการกลัดมันทั้งหลายต่างก็จ้องมองนางงามคนนั้น นายเตียงพานักเรียนไปพักแรมที่บ้านหมู่มั่น ก็เห็นนางสาวสุบินมาปรนนิบัติตลอดเวลา 3 คืน ครั้นเสร็จจากนั้น ร.ต.ท. สมบูรณ์ เอนกเวียง ก็หมายมั่นปั้นมือเหมือนกัน คือต้องการแย่งนางสาวสุบิน ฝ่ายนางสาวสุบินไม่เล่นด้วย มาชอบนายเตียง ตอนนั้นพวกญวนทิ้งใบปลิวตามตลาด ร.ต.ท.สมบูรณ์ก็เลยหาเรื่องจับ หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แท้จริงเป็นเรื่องชู้สาวกัน…”

ผลของการต่อสู้คดี เตียง ศิริขันธ์ ต่อสู้คดีด้วยตัวเอง โดยอาศัยความรู้จากการอ่านตำรา โดยยอมรับต่อศาลว่ามีความคิดเป็นสังคมนิยม แต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และไม่เคยเผยแพร่ลัทธินี้ในทางใด ๆ เตียง ศิริขันธ์ ต้องอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์ให้ศาลฟัง จนหลุดคดีมาได้

ก่อนหน้านี้เพียงปีเดียว พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476 ก็เป็นเหตุให้ ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปก่อนแล้ว แม้จะประกาศว่าเป็นการไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส แต่ก็รู้กันดีว่า ผลของการเดินทางออกนอกประเทศครั้งนั้นมาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ถูกท้วงติงว่าเป็นแนวคิดของคอมมิวนิสต์

แต่ภายในปีเดียว ปรีดี พนมยงค์ ก็พิสูจน์ตัวเองได้ และกลับมารับตำแหน่งทางการเมืองได้อีก เหมือนกับกรณีของ เตียง ศิริขันธ์

การที่ เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับครั้งนี้ ทำให้ต้องหันเหชีวิตเข้าสู่ถนนสายการเมือง ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่และเป็นผู้ที่ยึดถือแนว “ลัทธิปรีดี” อย่างเหนียวแน่นชัดเจน

เตียง ศิริขันธ์

เข้าสู่การเมือง

ตั้งแต่ครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เตียง ศิริขันธ์ ยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งยังชื่นชมแนวความคิดของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่มีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือคนจน จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ เตียง ศิริขันธ์ ได้มีส่วนร่วมกับแนวความคิดของปรีดีอีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา

หลังจากที่ต้องพัวพันกับคดีคอมมิวนิสต์อยู่เป็นปี เตียง ศิริขันธ์ จึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพข้าราชการในปี 2478 มาทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ บทความในระยะ นี้ได้สะท้อนแนวคิดแบบเสรีนิยม คือเป็นเรื่องของเสรีภาพและสิทธิเท่าเทียม

เตียง ศิริขันธ์ เริ่มโจมตีรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านบทความในหนังสือและงานแปล เช่น หนังสือ มุสตาฟา เคมาล ปาซา ซึ่งบรรยายประวัติประธานาธิบดีเผด็จการของตุรกี โดยกล่าวถึงการดำเนินงานทางการเมือง และวิธีการกุมอำนาจไว้อย่างละเอียด ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการของ จอมพล ป. นอกจากนี้ยังมีหนังสือชื่อ หัวใจปฏิวัติในฝรั่งเศส เรียบเรียงร่วมกับ จำรัส สุขุมวัฒนะ และงานแปลเรื่อง เอมิล ของ ฌอง ฌาค รุสโซ

จนถึงปี 2480 ประเทศสยามได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงครั้งแรก เตียง ศิริขันธ์ จึงโดดเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนชาวสกลนครติดต่อกันทุกครั้ง

บทบาททางการเมืองในนาม “สี่เสืออีสาน”

เตียง ศิริขันธ์ มีบทบาททางการเมืองที่เด่นชัดเป็น “ดาวสภา” และประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “ลัทธิพิบูลสงคราม” โดยรวมกลุ่มกับเพื่อนผู้แทนชาวอีสานที่เป็นศิษย์ของ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม และถวิล อุดล ส.ส.จากร้อยเอ็ด ทั้งสี่ทำงานร่วมมือกันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

“โดยนายทองอินทร์พี่ใหญ่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า นายถวิล อุดล เจ้าระเบียบเป็นเลขาธิการ นายจำลองซึ่งเข้ากับคนได้ทุกชั้น (ถ้าใช้ภาษาปากก็ต้องเรียกว่า “นักเลง”) ทำหน้าที่เป็นปฏิคม ส่วนนายเตียงเป็นเสนาธิการ วางแผนการดำเนินงานของคณะ” (วิสุทธิ์ บุษยกุล, วีรชนนักประชาธิปไตยฯ, สุพจน์ ด่านตระกูล บรรณาธิการ)

บุคคลทั้งสี่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเดินตามแนวทางของปรีดี ในการร่วมกันคัดค้านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. ผ่านกระทู้ถาม การเสนอร่างพระราชบัญญัติ จนได้รับขนานนามว่าเป็น “สี่เสืออีสาน”

งานผู้แทนของ เตียง ศิริขันธ์ นอกจากจะช่วยพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดสกลนครแล้ว หน้าที่ผู้แทนในเวลาเพียงหนึ่งปี ในฐานะฝ่ายค้านยังโดดเด่นจนปรากฏว่า รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 2 ปี 2481 ปรากฏว่า จังหวัดสกลนครนำหน้ามาที่ 1 เรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงบทบาททางการเมือง และได้รับคำชมเชยมากในสภา (อภิสิทธิ์ กิจเจริญสิน, “รำลึกถึงขุนพลภูพานฯ” จากหนังสือ จากยอดโดมถึงภูพาน : บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย, 2544)

ต่อมากลุ่ม “สี่เสืออีสาน” ก็ได้เป็นหัวหอกในการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นในนามพรรคสหชีพ ในปี 2489 โดยมีนโยบายเด่นในเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร ในรูปแบบของสหกรณ์

บทบาทหน้าที่ของผู้แทน “แบบเตียง ศิริขันธ์” คือไม่เคยทอดทิ้งประชาชน วิสุทธิ์ บุษยกุล เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “เมื่อข้าพเจ้าทำงานกับครูเตียง ศิริขันธ์” ว่า

“เมื่อหมดสมัยประชุม คุณครูเตียงจะกลับมาสกลนคร และอยู่ในจังหวัดเกือบตลอดเวลา จะออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนราษฎรทุกหนทุกแห่ง เริ่มจากในตัวจังหวัด และจะออกไปนอกเมือง พาหนะที่ใช้เมื่อออกไปจากตัวเมืองมักจะเป็นม้า…”

การขี่ม้าไปในทางทุรกันดาร ฟังดูคล้ายจะเป็นเรื่องสนุกผจญภัย แต่ถ้าหากทราบว่า เตียง ศิริขันธ์ นั้นประสาทที่บังคับกล้ามเนื้อที่ขาข้างซ้ายทำงานไม่ปรกติ จนต้องเดินเขยก ครั้งหนึ่งเมื่อผิงไฟ เกิดไฟไหม้ขาโดยไม่รู้สึกตัว อาการนี้แม้จะสร้างความไม่สะดวกได้ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานในพื้นที่แต่อย่างใด เพราะลูกศิษย์ของครูเตียงยืนยันว่า ครูเตียงขี่ม้าเก่ง ควบม้าได้เร็วพอสมควร นี่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่า เหตุใด เตียง ศิริขันธ์ จึงได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของชาวสกลนครทุกสมัย

ผู้นำเสรีไทยสายอีสาน รหัสลับ “พลูโต”

เมื่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกลงทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ทางฝ่าย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จึงได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อทำการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ

เตียง ศิริขันธ์ ได้รับมอบหมายจากปรีดี ให้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นในภาคอีสาน โดยเตียงเองรับหน้าที่เป็นแม่ทัพแห่งกองทัพพลเรือน (ท.พ.ร.) ร่วมกับเสืออีสานที่เหลือคือ จำลอง ดาวเรือง เป็นหัวหน้าค่ายบ้านซาดนาคู ซึ่งขณะนั้นอยู่ในเขตอำเภอกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม… ต่อมาค่ายนี้ถือเป็นค่ายใหญ่ และได้จัดสร้างสนามบินขึ้นเป็นแห่งแรกของกองทัพเสรีไทยสายอีสาน ส่วนทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และถวิล อุดล เป็นหัวหน้าหน่วยเสรีไทยในจังหวัดของตนเองคือ อุบลราชธานีและร้อยเอ็ด

ส่วนเสรีไทยสายอีสานหน่วยแรกที่ เตียง ศิริขันธ์ จัดตั้งขึ้นคือที่บ้านโนนหอม นอกจากนั้นยังมีค่ายย่อยแยกออกไปอีก คือที่บ้านเต่างอย และบ้านตาดภูวง ซึ่งเป็นหน่วยเล็กแต่ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นหน่วยที่มีวิทยุติดต่อกับกองกำลัง 136 ในอินเดียได้

แม้ว่าเสรีไทยสายอีสานจะไม่มีวีรกรรมถึงขั้นรบพุ่งกับกองทัพญี่ปุ่น แต่ก็มีส่วนสำคัญในการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของเสรีไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การดำเนินงานส่งนาย จำกัด พลางกูร ไปประเทศจีน เพื่อดำเนินการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรนอกประเทศ และภายหลังสมาชิกเสรีไทยก็ได้กลายเป็นกำลังสนับสนุนการดําเนินงานทางการเมืองของปรีดีในหลายโอกาสต่อมา

คู่ปรับจอมพล ป.

ในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้าน เตียง ศิริขันธ์ มีส่วนในการอภิปรายคัดค้านแนวคิดของรัฐบาลในการย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่ไปที่เพชรบูรณ์ และการสร้างพุทธมณฑล เป็นผลให้รัฐบาล จอมพล ป. แพ้โหวตจนต้องลาออก ภายหลังสงครามเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ เตียง ศิริขันธ์ จึงได้เป็นรัฐมนตรี 3 ครั้ง

ครั้งแรก เป็นรัฐมนตรีลอย ในสมัยของนายทวี บุญยเกตุ

ครั้งที่ 2 เป็นรัฐมนตรีลอย ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่อมารัฐบาลชุดนี้มีการปรับคณะรัฐมนตรีอีก 5 ครั้ง ครั้งแรกได้เป็น รมต.สั่งราชการแทน รมต.พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ปรับครั้งที่ 2 ได้เป็น รมต.สั่งราชการแทน รมต.ศึกษาฯ

ครั้งที่ 3 เป็นรัฐมนตรีลอย ในคณะรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ต่อมาได้ลาออกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2490 เพื่อเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในฐานะรองตัวแทนในการเจรจาข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

จนเมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2490 โดยการนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม คณะรัฐประหารได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ กลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เป็นอยู่ได้ไม่นานก็ถูก “จี้” ให้ออกจากตำแหน่ง แล้วจึงเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง

ในระหว่างที่ นายควง อภัยวงศ์ ยังเป็นนายกฯ อยู่นั้น ก็ได้มอบ “อำนาจพิเศษ” ให้แก่คณะรัฐประหารในการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะนักการเมืองสายปรีดี แน่นอนว่า สี่เสืออีสานก็อยู่ในบัญชีดำนี้ เช่นกัน

เตียง ศิริขันธ์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าพรรคมหาชนรัฐให้กับปรีดี แต่ทั้งคู่ก็หนีรอดจากการจับกุมไปได้ ปรีดี พนมยงค์ นั้นหนีรอดอย่างหวุดหวิดจากการยิงถล่มทำเนียบท่าช้าง ก่อนจะเล็ดลอดไปนอกประเทศ ส่วน เตียง ศิริขันธ์ หนีขึ้นเทือกเขาภูพาน ทางฝ่ายรัฐบาล ได้ส่ง พ.ต.อ.หลวงพิชิต ธุรการ ไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โดยใช้กำลังทหาร 5 กองพันจาก 5 จังหวัด ร่วมกับกำลังตำรวจตามล่าอยู่ 2 เดือน ก็ไม่พบ ด้วยความชำนาญพื้นที่ และการช่วยเหลือจากชาวบ้าน ทำให้ เตียง ศิริขันธ์ รอดพ้นจากการตามล่าของฝ่ายเจ้าหน้าที่ไปได้ จนได้รับฉายาว่า “ขุนพลภูพาน”

เตียง ศิริขันธ์ (กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับกันเนอร์ (Gunner) (ซ้าย) และสไมเลย์ (Smiley) (ขวา) ทหารอังกฤษ ขณะปฏิบัติงานเสรีไทย

ขุนพลภูพาน

ขณะที่หลบหนีอยู่บนภูพานนั้น เตียง ศิริขันธ์ ก็ได้ระดมพรรคพวกอดีตเสรีไทยเตรียมกำลังหมายที่จะยกพลบุกกรุงเทพฯ เพื่อต่อต้านรัฐประหาร แต่แล้ว ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ปราศรัยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงจากสิงคโปร์ ห้ามมิให้พลพรรคกระทำการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร การเตรียมการต่อต้านรัฐประหารจึงต้องล้มเลิกไปในที่สุด ทางด้าน เตียง ศิริขันธ์ หลบหนีอยู่บนภูพานไม่นานก็ต้องยอมมอบตัวกับทางการ

ในเหตุการณ์ที่ทางการบังคับขู่เข็ญราษฎรจนทำให้ขุนพลภูพานต้องยอมออกจากป่ามามอบตัวครั้งนี้ สวัสดิ์ ตราชู ได้เขียนถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ในหนังสือ ลับสุดยอด เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทย กับขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์ อย่างละเอียดว่า

“จึงได้ใช้วิธีการทารุณราษฎร บังคับให้ราษฎรบอกเบาะแสแหล่งที่นายเตียงหลบซ่อน ถึงแม้จะถูกซ้อมอย่างทารุณ เบียดเบียนทรัพย์สินอย่างไร ราษฎรก็หาได้บอกความจริงไม่ เพราะราษฎรจังหวัดสกลนครเขาเลื่อมใสศรัทธารักใคร่นายเตียงมาก ถึงขนาดยอมตายแทนนายเตียงได้ว่างั้นเถอะ เช่น นายจันทร์ คอลาย ถูกซ้อมจวนเจียน จะตายจนแขนขากลายเป็นอัมพาต ทุพพลภาพก็ยังไม่ยอมบอกความจริง กำนันละเอียด กำนันเขียน ก็ถูกซ้อมจนสะบักสะบอม ทั้งยังข้าวก็ถูกเผา วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ก็ถูกยิง ถูกฆ่าแกงกินโดยพลการ ก็ยังไม่มีผู้ใดให้ความจริง…”

ในที่สุดขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์ ก็ไม่สามารถอดทนดูราษฎรถูกทารุณต่อไปได้ จึงติดต่อขอมอบตัวสู้คดี ท้ายที่สุดศาลยกฟ้อง ทำให้ เตียง ศิริขันธ์ กลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง ตำนานของนักสู้ภูพานไม่ได้จบลงที่ เตียง ศิริขันธ์ เท่านั้น ในเวลาต่อมาภูพานยังได้สร้างตำนานของนักสู้อีกหลายต่อหลายคน รวมถึง จิตร ภูมิศักดิ์ นักต่อสู้คนสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สามัญชน

กบฏวังหลวง บทอวสานของสี่เสืออีสาน

26 กุมภาพันธ์ 2492 ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มผู้สนับสนุนได้จัดตั้ง “ขบวนการประชาธิปไตย” ขึ้น โดยชื่อมีความหมายถึงการต่อต้านระบบเผด็จการที่เป็นอยู่ แต่การก่อการครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และยังส่งผลไปสู่การยุติบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ และเสรีไทยอย่างสิ้นเชิง ภายหลังเรียกการก่อการครั้งนี้ว่า “กบฏวังหลวง”

สามในสี่เสืออีสานถูกจับกุม ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และจำลอง ดาวเรือง ถูกจับขณะกินอาหารอยู่ที่เนติบัณฑิตยสภา ถวิล อุดล ถูกจับขณะเดินทางไปขอประกันตัว ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ที่สันติบาล

โชคดีที่ขณะก่อการนั้น เตียง ศิริขันธ์ อยู่ที่สกลนคร จึงรอดจากการ “ถูกเก็บ” ได้อย่างหวุดหวิด เพียงแต่ถูกจับตัวมาสอบสวน และปล่อยตัวไป แต่เพื่อนทั้งสามรวมกับนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งหนีรอดไปที่ปีนังได้ แต่ถูกโทรเลขลวงให้กลับมา จนถูกจับที่ดอนเมือง เหตุการณ์จับกุมครั้งนี้นำไปสู่คดี “สังหารโหดอดีต 4 รัฐมนตรี” อย่างโหดร้าย

วันเกิดเหตุ พ.ต.อ. หลวงพิชิตธุรการ คนเดียวกับที่ตามล่า เตียง ศิริขันธ์ บนภูพาน กับตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง ได้นำอดีต 4 รัฐมนตรีขึ้นรถไปโดยอ้างว่า เป็นการย้ายที่คุมขัง ระหว่างทางปรากฏรถของอดีต 4 รัฐมนตรี ถูกลอบโจมตี เป็นผลให้อดีต 4 รัฐมนตรีถูกสังหารทั้งหมด

แม้การสูญเสียครั้งนี้ทำให้ เตียง ศิริขันธ์ ขาดเพื่อนร่วมรบไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ เตียง ศิริขันธ์ หันหลังให้กับการเมือง ตรงกันข้าม เตียง ศิริขันธ์ ยังคงได้รับเลือกเป็น ส.ส.อีกสองสมัย แต่แน่นอนว่า บทบาททางการเมืองไม่ได้โด่ดเด่นเหมือนเมื่อครั้งยังมีสี่เสืออีสานอยู่กันครบหน้า

เตียง ศิริขันธ์ (สวมแว่นที่สามจากซ้ายยกแขนเท้ากับยางอะไหล่รถ)

อวสานขุนพลภูพาน “เผ่า” เก็บ “เตียง” ทำไม?

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2495 เวลาบ่ายสอง ขณะที่ เตียง ศิริขันธ์ เข้าประชุมสภานิติบัญญัตินัดพิเศษ ที่บ้านมนังคศิลาอยู่ ก็ถูก พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เชิญตัวไปพบ จากนั้นก็หายสาบสูญไป คดีนี้มารื้อฟื้นอีกครั้งเมื่อ “เผ่า” หมดอำนาจไปแล้ว โดยมี พล.ต.อ. ไสว ไสวแสนยากร ดำเนินการสะสางคดีนี้

รายละเอียดปรากฏในคำพิพากษาคดีย่างสด นายเตียง ศิริขันธ์ กับพวก (20 ตุลาคม 2502) คำพิพากษาระบุว่า ระหว่างคืนวันที่ 13 ต่อเนื่องถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2495 นายเตียง ศิริขันธ์ นายชาญ บุนนาค นายเล็ก บุนนาค นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ ถูกสังหารอย่างทารุณ จนถึงแก่ความตาย แล้วนำศพไปเผาเพื่อทำลายหลักฐาน

ข้อที่น่าสังเกตคือ เหตุใด “ทางการ” จึงต้องการกำจัด เตียง ศิริขันธ์ ในระยะเวลาห่างจากการกำจัด 4 รัฐมนตรีถึง 3 ปี ทั้งที่เวลานั้นบทบาททางการเมืองของ เตียง ศิริขันธ์ ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร พรรคสหชีพก็ลดบทบาทลงไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีไทยก็ถูกกำจัดอย่างต่อเนื่อง หาก เตียง ศิริขันธ์ อยู่ในบัญชีดำของรัฐบาล ทำไมจึงต้องรอเวลาถึง 3 ปี? ทำไมจึงเปิดโอกาสให้ เตียง ศิริขันธ์ กลับมาเป็น ส.ส.ได้อีก?

แม้ เตียง ศิริขันธ์ โดยส่วนตัวนั้นถือเป็นญาติห่าง ๆ กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ แต่ก็คงไม่มีส่วนผ่อนหนักผ่อนเบาในกรณีนี้ได้ ทางด้านพรรคสหชีพก็เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล แม้จะยังไม่ค่อย “ลงตัว” กันนัก

ส่วนพี่น้องบุนนาคนั้นก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องบาดหมางกับจอมพล ป. ในอดีต คือนายเล็ก นายชาญ บุนนาค (และนายน้อย บุนนาค ซึ่งไม่ได้ถูกฆาตกรรมในครั้งนี้) เคยทำงานอยู่ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ขณะนั้นมี พันโท เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้อำนวยการ 3 พี่น้องบังเอิญขับรถสวนกับรถของจอมพล ป. ในวันที่ฝนตก น้ำจึงกระเซ็นเข้าไปในรถของทั้งสองฝ่าย แล้วพากันร้องเฮฮาประสาคนหนุ่ม

ต่อมาจึงมีรถตำรวจเรียกให้หยุดและขอดูใบขับขี่ และตำหนิว่า ทำกิริยาไม่เหมาะสม ต่อมาถูกนำตัวไปที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จอมพล ป. ถามว่า ทำไมแสดงกิริยาเช่นนั้น ไม่รู้หรือว่าเป็นผู้บังคับบัญชา นายน้อยตอบว่า ไม่รู้ว่าเป็นใคร เท่านั้น จอมพล ป. ถึงกับถอดเสื้อออกท้าชก นายน้อยไม่สู้ ภายหลังจึงถูกจับไปขังและไล่ออกจากงาน

ต่อมาทั้งสามพี่น้องจึงไปทำงานใหม่คืออัดเสียงภาพยนตร์ หนังเรื่องแรกที่ได้ทำคือ “พระเจ้าช้างเผือก” จึงเป็นเหตุให้ทั้งสามรู้จักและสนิทสนมกับนายปรีดี ในเวลาต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทั้ง 3 จึงได้เข้าร่วมงานกับเสรีไทย

แม้การฆาตกรรมสองพี่น้องตระกูลบุนนาคจะถูกมองว่า เป็นการกำจัดเสรีไทย ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ก็ไม่ควรตัดประเด็นการ “ชำระบัญชีเก่า”

อีกสองคนที่เหลือแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ นายสง่า ประจักษ์วงศ์ เป็นคนขับรถของ เตียง ศิริขันธ์ ส่วน นายผ่อง เขียววิจิตร ทำงานที่เดียวกับพี่น้องตระกูลบุนนาค สองคนนี้เพียงแต่อยู่ในเหตุการณ์ ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการฆ่าปิดปากมากกว่าเรื่องการเมือง

ก่อนจะมีการสังหาร เตียง ศิริขันธ์ นั้น รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495 ซึ่ง เตียง ศิริขันธ์ ก็เคยถูกจับกุมในข้อหานี้มาก่อนแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงในการ “เก็บ” เตียง ศิริขันธ์

ต้องไม่ลืมพิจารณาเบื้องหลังความสำเร็จของ อ.ตร. เผ่า ว่าส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของซีไอเอ ผู้ที่ไม่เคยเลิกหวาดระแวงปรีดี ก่อนหน้ากรณีเก็บ เตียง ศิริขันธ์ เพียงเดือนเดียว กลุ่มผู้สนับสนุนปรีดีได้ก่อการที่เรียกว่า “ขบวนการกู้ชาติ” ผลก็คือถูกจับกุมในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 การก่อการครั้งนี้ เตียง ศิริขันธ์ มีส่วนช่วยเหลืออย่างลับ ๆ เนื่องจากอยู่ในสายตา อ.ตร. เผ่า ตลอด จึง “กระดิกตัวไม่ได้”

แต่ เตียง ศิริขันธ์ ก็รอดจากกรณีนี้ไปได้อีก แล้วอยู่ ๆ ก็ถูก “เก็บเงียบ” ไม่มีข้อหา ไม่มีการจับกุม แต่เป็นการ “อุ้ม”

ดังนั้น นอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ประเด็นที่ไม่ควรตัดทิ้งจนเป็นเหตุให้ต้อง “อุ้ม” กัน คือมีการ “พูดขัดใจ” กันระหว่าง เตียง ศิริขันธ์ กับ พล.ต.อ. เผ่า หลายครั้งในการประชุมร่วมกัน เช่น กรณีที่ เตียง ศิริขันธ์ ยืนยันที่จะ “นับถือพระคนละองค์” กับ พล.ต.อ. เผ่า ทางฝ่าย “เผ่า” เองก็เคยชี้หน้านายเตียง และกลุ่มพรรคสหชีพว่า “…นี่ความเห็นของพวกหลวงประดิษฐ์นี่…”

ดังนั้น เหตุผลในการที่ต้องกำจัด เตียง ศิริขันธ์ ก็อาจเป็นเพราะ พล.ต.อ.เผ่า ต้องการควบคุมพรรคสหชีพให้ได้ทั้งหมด ด้วยการกำจัดผู้นำที่ยังนับถือ “ลัทธิปรีดี” อยู่ให้หมดไป หรือไม่ก็ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพียงเพราะ “พูดขัดใจ” เท่านั้น!

ภายใต้ดวงอาทิตย์ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทย “อุ้ม” ไม่ได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เตียง ศิริขันธ์ ทำไมต้องถูก ‘เก็บ'” เขียนโดยปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563