หมอธรรม : กิตติศัพท์ที่ผีต้องขยาด! ในชุมชนอีสาน

หมอธรรม สมศักดิ์ บัวเลิง จังหวัดร้อยเอ็ด หมอพื้นบ้าน
พ่อหมอธรรมสมศักดิ์ บัวเลิง อายุ 70 ปี (เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2555) บ้านดงเค็ง ตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด นั่งอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ชาวอีสานเรียกว่า “หน้าคอง” คอยทำหน้าที่รักษาปัดเป่าให้คนในชุมชน ที่ถูกกระทำจากสิ่งเหนือธรรมชาติ

หมอธรรม : กิตติศัพท์ที่ผีต้องขยาด! ในชุมชนอีสาน

สังคมอีสานมี หมอพื้นบ้าน ซึ่งในหลายพื้นที่มีแยกย่อยประเภทลงไป เช่น “หมอธรรม” ในชุมชนอยู่มากมาย คุณสมบัติของหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือเป็นพระภิกษุ ที่มีความชำนาญในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ชาวบ้านในชุมชนให้การเคารพนับถือ ได้ผ่านการสั่งสมความรู้ภูมิปัญญา และร่ำเรียนเวทมนต์พุทธเวทย์และไสยเวทย์มายาวนาน

การที่จะได้เป็นหมอพื้นบ้านนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นได้ง่ายๆ และไม่ใช่จะเป็นกันได้ทุกคน เพราะผู้ที่จะเป็นนั้นต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องรักษาโรคนั้นๆ ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม รักษาศีล มีเมตตา ฯลฯ ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการรักษาจากบรรพบุรุษในวงศ์ตระกูล เช่น จากปู่ พ่อ หรือตา เป็นต้น หรืออาจจะเป็นการสืบทอดจากคนรู้จักในชุมชนก็ได้ และสิ่งที่สำคัญของผู้ที่เป็น “หมอธรรม” ต้องถือข้อคะลำ (ข้อห้าม) ให้ได้ เช่น ไม่ผิดลูกเมียคนอื่น ไม่รับประทานอาหารในงานศพ ไม่รับประทานรกของโคกระบือ ไม่รับประทานอาหารที่เหลือจากผู้อื่น เป็นต้น

Advertisement

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 9 ได้ให้ความหมายของ หมอพื้นบ้าน คือ คนที่ทำหน้าที่รักษาความเจ็บไข้ของคนในสังคมในชุมชน มีความรู้และวิธีการรักษาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโรคจากสมุฏฐานของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือการรักษาโรคด้วยการใช้วิธีการทางไสยศาสตร์ เช่น การเป่า การเข้าทรง ฯลฯ ผสมผสานกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการรักษา

และประการสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ของผู้เป็นหมอกับคนไข้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หมอพื้นบ้านจะมีความเป็นมิตรหรือความเป็นกันเองกับคนไข้มากกว่าหมอ หรือแพทย์แผนใหม่ในปัจจุบัน โดยแยกประเภทของหมอพื้นบ้านได้เป็น 8 ประเภทดังนี้

  1. หมอดู หรือ หมอมอ

2. หมอจ้ำ หรือ เฒ่าจ้ำ

3. หมอสูด หรือ หมอทำขวัญ

4. หมอธรรม

5. หมอตำแย

6. หมอยาฮากไม้ หรือ หมอสมุนไพร

7. หมอเป่า หรือ หมอมนต์

8. หมอลำผีฟ้าและนางเทียม

ในการแยกประเภทของหมอพื้นบ้านนี้ ได้แยกตามวิธีการรักษาของหมอ ซึ่งมีวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน

หมอธรรม (พ่อธรรม, พ่อฮักษา) คือ ผู้ที่เรียนคาถาอาคมทางพุทธเวทย์และไสยเวทย์ ปฏิบัติตัวอยู่ในคุณธรรมจริยธรรม มีศีลมีธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายสูงอายุ หรือเป็นพระภิกษุ สามารถถือข้อคะลำ (ข้อห้าม) ได้อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ผิดลูกเมียคนอื่น ไม่กินรกของโคกระบือ ไม่กินงู ไม่รับประทานอาหารที่เหลือจากผู้อื่น และเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ สามารถขจัดปัดเป่าผีร้ายได้ทุกประเภท เช่น ผีปอบ ผีแม่หม้าย ผีกระสือ ฯลฯ

หมอธรรม สมศักดิ์ บัวเลิง บ้านดงเค็ง ตำบล ป่าสังข์ อำเภอ จตุรพักตรพิมาน จังหวัด ร้อยเอ็ด
พ่อหมอธรรมสมศักดิ์ บัวเลิง อายุ 70 ปี (เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2555) บ้านดงเค็ง ตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด นั่งอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ชาวอีสานเรียกว่า “หน้าคอง” คอยทำหน้าที่รักษาปัดเป่าให้คนในชุมชน ที่ถูกกระทำจากสิ่งเหนือธรรมชาติ

สังคมอีสานเป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อคนในชุมชนเกิดเจ็บป่วยด้วยการถูกกระทำจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ชาวบ้านเรียกว่าถูกผีกระทำ เช่น โดนผีปอบเข้ามาสิง  ในร่าง โดนผีซ่อนหรืออีสานเรียกว่าผีเสี่ยง และโดนผีหลอกขณะไปทุ่งนาเวลากลางคืน เป็นต้น ผู้ป่วยที่ถูกผีกระทำจะมาให้ “หมอธรรม” รักษา ด้วยการรดน้ำมนต์ ผูกข้อต่อแขน หรือรับวัตถุมงคลเพื่อป้องกันภยันตรายจากการกระทำของผีให้หายเป็นปกติ

เมื่อหายเป็นอาการปกติแล้ว ผู้ที่มารักษาจะมา “ปงคาย” คือการถวายเครื่องบูชาค่าครูด้วย ขันธ์ 5, ขันธ์ 8, เงิน 1 สลึง, ผ้าผืนแพรวา 1 ผืน, เงินป่งคายที่สูงที่สุดพบว่าเป็นเงินเพียง 24 บาทเท่านั้น (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 9)

ผู้ป่วยที่หายเป็นปกติแล้วต้องมาปงคาย ถ้าไม่มาถือเป็นการทำผิดครู ผู้เป็นหมอและครอบครัวจะเดือดร้อนต่างๆ นานา ผู้เป็นหมอธรรมต้องปงคายเองถึงจะหายเป็นปกติ และผู้เป็นหมอจะเรียกเงินค่าครูที่แพงกว่านั้นไม่ได้ เพราะจะผิดครูอีกเช่นกัน

หลวงพ่อ พระครูสิริธรรมโกวิท กำลัง ประพรมน้ำมนต์ ใน พิธีไล่ผีปอบ
หลวงพ่อพระครูสิริธรรมโกวิท หรือที่ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อญาคูทอง เจ้าคณะอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังประพรมน้ำมนต์ใส่ก้อนกรวด ในพิธีไล่ผีปอบให้ชาวบ้านในชุมชน (ภาพจาก พระอรรถพล อัตถพโล)

เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา คนในชุมชนที่ให้การเคารพนับถือหมอธรรม จะนำขันธ์ดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา ‘ขึ้นของรักษา’ (อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครองตัวเอง) กับหมอธรรมที่บ้าน ให้หมอธรรมผูกข้อต่อแขน รดน้ำมนต์ให้เพื่อความเป็นสิริมงคล บอกกล่าวให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข

คนที่มาคารวะนั้นเรียกว่า “ลูกเผิ่งลูกเทียน” ชาวอีสานจะให้ความสำคัญมากไม่ว่าจะทำมาหากินไปมีครอบครัวอยู่ถิ่นไกล เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาต้องกลับบ้านเพื่อเคารพ หมอธรรม ที่เป็นเหมือนตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองตนเองและคนในครอบครัว เมื่อถึงออกพรรษาก็กลับมาคารวะหมอธรรมอีกครั้งหนึ่ง

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าหมอธรรม คือ ผู้ทำหน้าที่รักษาคนในชุมชนที่โดนกระทำจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดนผีเข้าหรือโดนผีหลอก มักจะให้หมอธรรมทำการรักษา หรือปัดเป่าให้หาย ด้วยการรดน้ำมนต์ ผูกข้อต่อแขน ฯลฯ เมื่อหายเป็นปกติแล้ว ก็จะมาปงคาย (การถวายเครื่องบูชาค่าครู) ถือเป็นการตอบแทนค่ารักษาแก่หมอธรรม

ผู้ที่เป็นหมอธรรมจะไม่เรียกค่ารักษาที่เกินกว่ากำหนด เพราะจะถือว่าเป็นการผิดครู อีกประการหนึ่งผู้ที่เป็นหมอธรรมต้องมีจรรยาบรรณของหมอ ต้องรักษาโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ จากผู้ป่วยอีกด้วย

หมอธรรม พ่อธรรมยู้ บ้านขวาว อำเภอ เขื่องใน จังหวัด อุบลราชธานี กำลังนั่ง บริกรรมคาถา
พ่อธรรมยู้ บ้านขวาว อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี กำลังนั่งบริกรรมคาถาให้ ‘ลูกเผิ่งลูกเทียน’ มาคารวะในช่วงเข้าพรรษาอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชาที่ชาวอีสานเรียกว่า “หน้าคอง” (ภาพจาก คุณณัฐพงศ์ มั่นคง)

สิ่งนี้เองที่ทำให้คนในชุมชนเคารพนับถือเป็น “ปราชญ์” ของชาวบ้าน และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมอีสาน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประเพณีอีสาน ฉบับ ส.ธรรมภักดี. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. , ม.ป.ป.

ปฐมพงศ์ ลิ้มเจริญ. หมอธรรม : ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และเครือข่ายทางสังคมในภาคอีสาน. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต. สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2558.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 9. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2560