หมอลำพื้นบ้านวิจารณ์การเมือง จาก “ทองมาก จันทะลือ” ส.ส.หมอลำ ถึง “พรศักดิ์ ส่องแสง”

ภาพประกอบเนื้อหา - การแสดงหมอลำ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2528)

หมอลำ ถือได้ว่าเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคอีสานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแต่หมอลำก็ยังคงเอกลักษณ์การแสดง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ นอกจากจะเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวอีสานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมอลำสามารถแสดงได้ทุกที่ ทุกเวลา แสดงง่ายที่สุดก็หมอลำ 1 คน หมอแคน 1 คน

หลายครั้งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของชาวอีสานกับอำนาจรัฐ มีหมอลำเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอในฐานะกระบอกเสียงในการปลุกระดมต่อสู้ต่อการกดขี่ของอำนาจอันไม่ชอบธรรม เช่น กรณีกบฏผีบุญ (พ.ศ. 2444-45) กรณีหมอลำน้อยชาดา บ้านเชียงเหียน (พ.ศ. 2479) กรณีหมอลำโสภา พลตรี บ้านสาวะถี (พ.ศ. 2483) กรณีหมอธรรมศิลา วงศ์สิน (พ.ศ. 2502) ส่วนมากล้วนแล้วแต่เป็นหมอลำทั้งสิ้น หากเราจะกล่าวว่า “ปัญญาชนชาวอีสาน” นอกจากพระสงฆ์แล้วก็คงเป็นหมอลำ หมอธรรมเห็นจะไม่ผิดมากนัก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 มีกลอนลำที่สะท้อนเรื่องราวของการเมือง

อยู่บ่อยครั้ง หมอลำใช้เวทีของตนเองในงานวัด งานบุญของชุมชน เป็นพื้นที่เสียดสี วิพากษ์ วิจารณ์นักการเมืองหรือผู้ปกครองได้อย่างแยบยล เมื่อรู้สึกคั่งค้างในหัวใจถึงสาเหตุความยากจนข้นแค้นของเพื่อนร่วมภาค โดยส่วนใหญ่จะแต่งกลอนลำออกมาในแนว “เพื่อชีวิต” เน้นการกล่อมเกลาจิตใจและต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องสอดแทรกคติธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ผ่านเรื่องราววรรณคดีต่างๆ และนอกจากนี้ยังปะปนความรู้ในแนวประวัติศาสตร์เพื่อให้เนื้อหาในกลอนลำนั้นหนักแน่นยิ่งขึ้นอีกด้วย

หมอลำทองมาก จันทะลือ ถือได้ว่าเป็นหมอลำฝีปากเอกและมีไหวพริบปฏิภาณเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็น ส.ส. หมอลำคนเดียวของประเทศไทย ซึ่งใน พ.ศ. 2512 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดอุบลราชธานี ในนามของผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีโอกาสร่วมงานกับ ส.ส. สำคัญในภาคอีสาน เช่น นายจำลอง ดาวเรือง นายเลียง ไชยกาล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส. หลายท่านเหล่านี้ ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวอีสาน ในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อการพัฒนาภูมิภาคแห่งนี้ให้เจริญขึ้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทองมาก จันทะลือ หมอลำผู้ได้เป็นส.ส. และหมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมือง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หมอลำทองมาก จันทะลือ ถือเป็นหมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมืองมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหรือแจกข้าวของ ดังตัวอย่างที่ยกมาดังนี้

มาสมัยเดียวนี้เต็มทีแสนโหด
โพดอุบาทว์หลายเล่ห์เหลี่ยมกล
นายทุนหาของล้อหลงกลน้ออีพ่อ
ห่อของขวัญให้แล้วเขากะได้ดอกเสียง
พวกนายทุนเขาละเว้าจั่งซี้
มันละแม่นความเขา
เฮาละเป็นคนเอาของ
เขาละเป็นคนเอาสิทธิหมู่เฮาเห็นบ้อ

จะเห็นว่ากลอนลำ เป็นการชี้ให้เห็นว่าสิ่งของเงินทองของนักการเมืองในสมัยนั้น นำมาให้เป็นการซื้อเสียง ทำให้เราขาดสิทธิ์ในการเลือกคนที่มีนโยบายเข้าไปทำงาน แต่หากพิจารณาอีกแง่มุมจะเห็นว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการพัฒนาประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่รู้ว่านโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อตนเองโดยตรง

หมอลำเคน ดาเหลา เป็นหมอลำอีกท่านที่ได้ใช้กลอนลำในการตอบโต้รัฐบาลในสมัยนั้นอย่างดุเด็ดในประเด็นของการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลของนิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยในเหตุการณ์ ทหารได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชน กลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลา เป็นอีกกลอนลำที่วิพากษ์ความไม่เป็นธรรมในอำนาจรัฐเผด็จการ มองประชาชนเป็นศัตรูที่ต้องทำลาย ดังกลอนลำจุดเสื่อมบาทาชน ที่ว่า

ฟังเจ้าฟังบุบผังดอกเป้า
แต่ก่อนใช้ความเว้าชี้แจ่งหลักฐาน
ใช้หนังสือเป็นการเสนอคัดค้าน
เดี๋ยวนี้ไปทางด้านถือเท้าเป็นผล
ถือเอาบาทาชนถือขาถือแข้ง
ใช้กับคำปากเว้าเป็นข้อสำนวน
เรียกว่าเดินขบวนขับมารกวนไพร่
ชนะฮอดปืนใหญ่รถเกาะรถถัง
เป็นมหากำลังมวลชนเข้าสู้
เป็นศัตรูกับด้านรัฐบาลทรราชย์
จนว่าออกจากบ้านตีนเท้าไล่หนี
ในการเดินขบวนนี้มีประโยชน์มหาศาล
ม้างคนพาลหนีเมืองแต่ธรรมนูญไว้
เป็นประชาธิปไตยนำขาหรือเท้าวีรชนของชาติ

หมอลำสุทธิสมพงษ์ สะท้านอาจ เป็นหมอลำอีกคนหนึ่งที่มีกลอนลำวิจารณ์การเมืองที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ในระบบการเมือง ซึ่งกลอนลำได้บันทึกทรรศนะในฐานะประชาชนเอาไว้อีกด้วย ดังความว่า

ฟังเด้อไท้ประชาไทยน้อยใหญ่
การเมืองไทยสู่มื้อเป็นแท้อย่างใด
เฮาทุกคนกะได้ยินทั่วกันหมด
ว่าสภาถูกยุบเหตุผลหลายข้อ
กำลังรอการตั้งเอาผู้แทนชุดใหม่
สิเลือกเอาผุได๋สังมาหลายกะด้อสมัครเข้าแข่งกัน
เดี๋ยวนี้มันใกล้หม่อมาเถิง
สี่เมษาเลือกกันวันนี้

วันที่ 4 เมษายน ที่ได้กล่าวถึงเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 13 การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาหลายประการทั้งการเมืองและการเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนทั่วประเทศ โดยให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปีเดียวกัน

ในยุคต่อมาหลัง หมอลำเดชา นิตะอินทร์ เป็นหมอลำที่มีปฏิภาณในการลำตลก โปกฮา แทรกสาระความรู้อย่างแนบเนียน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กลวิธีการนำเสนอของหมอลำเดชานี้แตกต่างจากหมอลำรุ่นก่อน เพราะไม่ได้วิจารณ์การเมืองโดยตรง แต่วิจารณ์ในลักษณะของการอุปมาอุปไมย โดยใช้ความฝันของตัวเองสร้างบทบาทของนักการเมืองขึ้นมา โดยกล่าวถึงบทบาทของตนเองหากได้รับการเลือกตั้ง เข้าไปในสภาจะทำตัวอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างกลอนลำที่ได้รับความนิยมก็เช่น ชุดเยี่ยมยมพิบาล ประกอบไปด้วยกลอนลำ เยี่ยมยมพิบาล โรคระบาด สมัครผู้แทน เงินผ่อน และแว่นวิเศษ มีกลอนลำที่สะท้อนให้เห็นภาพการเมืองในช่วง พ.ศ. 2520-38 ได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างกลอนลำสมัครผู้แทน ความว่า

คันแม่นเจ้าอยากได้งบประมาณ
เอาไปสร้างสะพานสร้างสิมสร้างโบสถ์
ผมสิขอโลดบ่ยากพอแป
คันได้มาเบิ่งแหมจักล้านสองล้าน
ผมสิบ่ให้ผ่านเถิงป้าเถิงลุง
สิเอาไว้เลี้ยงพุงของผมวับแวบ
ถ้าแนวใด๋มันแซ่บ มันม่วน
มันยิน ผมกะสิหากินตามใจผมมัก
คันมันยังบ่คักเถิงอกเถิงใจ
สิหนีจากเมืองไทยไปฮอดเมืองนอก
ขี่เรือบินนั้นออกไปเมริกา
เบิดเงินแล้วจั่งสิมาพาลเจ้าอีกต่อ

หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ผ่านไป ประชาธิปไตยของไทยมีพัฒนาการเป็นอย่างมาก ผู้แทนราษฎรมีความสำคัญ แต่การกระจายอำนาจของรัฐและการดูแลของ ส.ส. ลงสู่ชุมชนยังน้อย ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่ พรศักดิ์ ส่องแสง ส่งสัญญาณผ่านกลอนลำ “ผู้ทวงผู้แทน” และ “เอิ้นหาผู้แทน” ซึ่งเป็นการกระจายข้อมูลจากพื้นที่ว่าไม่ได้รับการดูแลจากนโยบายที่เคยเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง

กลอนลำนี้เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจว่าการเมืองก่อน พ.ศ. 2540 ผู้แทนราษฎรและนโยบายรัฐไม่ค่อยมีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจหรือการทำมาหากินให้กับชาวอีสานมากนัก กลอนลำจึงเน้นที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพื่อการเรียกร้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

กระทั่งเมื่อช่วงหลัง พ.ศ. 2544 มีกลอนลำที่เกี่ยวกับกองทุนเงินล้านออกมามากมาย เช่น ตลกอีสาน วุ่นวายย้อนเงินล้าน นำแสดงโดย ลุงแนบ ลำล่อง ลำล่องติดหนี้เงินล้านของ บุญมี ศรีอุบล โดยเนื้อหาส่วนมากเน้นไปที่การได้เงินทุนเข้ามาหมุนเวียนในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ทำให้มีเงินทุนในการสร้างธุรกิจขนาดย่อมให้เกิดขึ้น ดังความของกลอนลำกองทุนเงินล้านของ สมถวิล เวียงอุบล ที่ว่า

บาดนี้ฟังเอาเด้อพี่น้อง
เรื่องกองทุนหมู่บ้าน
งบประมาณล้านละหมู่
หรือว่าหมู่ละล้านขอนำท่านทั่วตำบล
ประโยชน์มีหลายล้น
ซ่อยกันเบิ่งกันแยง
สร้างกองทุนให้แข็งแรง
บ่ผ่อนเพเซล้ม
สร้างสังคมให้คงมั่น
ความขยันพร้อมสัตย์ซื่อ
มือต้องขาวสะอาดเกลี้ยง
เพียงพร้อมตนเจ้าของ
นโยบายเพื่อปากท้อง
ของหมู่ประชาชน
ไล่ความจนให้มันหนี
อย่าให้มีเข้ามาใกล้

จนเมื่อใน พ.ศ. 2553 สินไชยน้อย ภูมิมาลา เผยแพร่กลอนลำทักษิณถูกกลั่นแกล้ง กลอนลำคิดถึงทักษิณ และ พรศักดิ์ ส่องแสง กลอนลำเสื้อแดง 5 มิถุนายน 2554 ในงานสืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

เมื่อสำรวจดูปรากฏว่ามีเนื้อหาในเชิงการสร้างนโยบายที่ลงถึงประชาชน จะเห็นว่าหลายครั้งหมอลำที่ได้เสนอแนวคิดของความเท่าเทียมเอาไว้ในกลอนลำอีกด้วย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หมอลำส้มโป๊ะ เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้กลอนลำประท้วงวิจารณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และใช้ภาษาอย่างดุเด็ด ซึ่งชาวอีสานเรียกกันว่า “ลำป้อย”

หากมองลักษณะกลอนลำที่สัมพันธ์กับการเมืองจะเห็นว่าหมอลำสะท้อนภาพของคนรากหญ้า ที่เรียกร้องความเท่าเทียมในเชิงนโยบายและการกดขี่จากอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ พร้อมกันนั้นหากนโยบายนั้นส่งเสริมและพัฒนา หมอลำก็พร้อมที่จะแต่งกลอนลำประชาสัมพันธ์อยู่เสมอมา

เมื่อนำกลอนลำเกี่ยวกับการเมืองมาเรียงลำดับเหตุการณ์ จะเห็นว่าการเรียกร้องของกลอนลำเน้นที่การเรียกร้องประชาธิปไตยและผลประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้นกับประชาชนมากกว่า เนื้อหาของการเลือกตั้งในอดีต โดยเฉพาะการแสดงทรรศนะการเมืองในเชิงการสร้างความเท่าเทียม เห็นความสำคัญของนโยบายที่ลงถึงคนรากหญ้าและการขยายความเจริญในเชิงฐานเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภูมิภาค ที่เรียกว่าอีสานให้มากยิ่งขึ้น…

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ฟังฝรั่งหยิบหมอลำ-ลูกทุ่ง(ในไทย)ยุค 60-70s และดนตรีพื้นเมืองเอเชีย มาผลิตใหม่

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร?

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “หมอลำพื้นบ้าน วิจารณ์การเมือง” เขียนโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2562 เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 19 ตุลาคม 2564 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ


เอกสารอ้างอิง

บัณฑิตวงศ์ ทองกลม. 2539. ชีวิตและผลงานของหมอลำทองมาก จันทะลือ (หมอลำถูทา). ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ไทยคดีศึกษา เน้นมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ลำกลอน ทักษิณถูกกลั่นแกล้ง. (12 กุมภาพันธ์ 2553). www.youtube.com. เรียกใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=JSRRRS495MQ&t=189s.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน 2488-2544. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2546.

เสงี่ยม บึงไสย์. บทบาทของลำกลอนในด้านการเมือง. ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

หมอลำเดชา เยี่ยมยมพิบาล โรคระบาด สมัครผู้แทน เงินผ่อน. (วันที่ 23 กันยายน 2557). คน มักม่วน. เข้าถึงได้จาก www.youtube.com : https://www.youtube.com/watch?v=M76W6rV3DYk&t=2681s.

โอสถ บุตรมารศรี. 2538. ภาพสะท้อนของสังคมอีสานจากกลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลา. ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ไทยคดีศึกษา เน้นมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.