เผยแพร่ |
---|
รู้จัก วง เครื่องบิน (Khruangbin) วงจากสหรัฐอเมริกา หยิบดนตรีหมอลำ-ลูกทุ่ง(ในไทย)ยุค 60-70s และดนตรีพื้นเมืองเอเชีย มาทำใหม่
วัฒนธรรมดนตรี “หมอลำ” นิยมแพร่หลายในหลายพื้นที่ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาการของดนตรีท้องถิ่นของเอเชียเมื่อมาถึงยุคดิจิทัล อิทธิพลจากเทคโนโลยีด้านการสื่อสารส่งผลให้วัฒนธรรมเหล่านี้แพร่กระจายไปสู่ทวีปอื่นๆ บรรดาคนดนตรีในตะวันตกยังหยิบวัฒนธรรมเหล่านี้ไปประยุกต์และผสมผสานกับดนตรีในท้องถิ่นของพวกเขาจนได้สำเนียงโทนเสียงที่น่าสนใจอีกแบบ
ทศวรรษที่ผ่านมา วง The Paradise Bangkok International Band วงดนตรีที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักดนตรีชาวไทยสร้างสรรค์ผลงานโดยผสมองค์ประกอบของดนตรีหมอลำ ดนตรีพื้นบ้านท้องถิ่นในไทย เมื่อมีโอกาสไปแสดงในเทศกาลดนตรี หรืองานต่างๆ ในต่างประเทศถึงทำให้เห็นว่า กลิ่นอายดนตรี “หมอลำ-ลูกทุ่ง” จนถึงดนตรีพื้นบ้านในเอเชียสไตล์ย้อนยุค เมื่อนำมาผสมกับดนตรีสากลร่วมสมัยก็ได้กระแสตอบรับที่ดีทั้งจากฝั่งตะวันตกและฝั่งไทย
อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “หมอลำ” หรือดนตรีท้องถิ่นในแถบอาเซียนในปี 2563 คือสถิติศิลปินที่มียอด “สตรีม” (จำนวนครั้งที่เข้าชม) ในเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube) ประเทศไทยมากที่สุดในปี 2563 อ้างอิงจากเว็บจัดอันดับอย่าง ChartMasters ศิลปินที่มียอดสตรีมใน “ยูทูบ ประเทศไทย” มากที่สุดอันดับแรกคือ “มนต์แคน แก่นคูน” ที่ 976 ล้านครั้ง ตัวเลขมากกว่าศิลปินระดับอินเตอร์อย่าง BLACKPINK (ยอดสตรีม 749 ล้านครั้ง) หากยึดถือสถิติยอดการรับชมเนื้อหาในเว็บไซต์วิดีโอแถวหน้าของโลกจากแหล่งข้อมูลนี้ สิ่งหนึ่งที่พอจะสะท้อนออกมาผ่านตัวเลขคือ แนวเพลงสไตล์ท้องถิ่นยังได้รับความนิยมอย่างมากในไทย
เมื่อขยายภาพกว้างไปกว่านั้นในตลาดดนตรีระดับสากล เมื่อพูดถึงดนตรีร่วมสมัยกระแสหลัก ดนตรีจากฝั่งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรย่อมเป็นกลุ่มที่ครองตลาดส่วนใหญ่ ใช้คำว่า “มหาอำนาจ” ทางวัฒนธรรมก็คงไม่ห่างไกลมากนัก ส่วนใหญ่แล้วดนตรีจากฝั่งนั้นมักสร้างสรรค์จากวัตถุดิบของตัวเอง แต่ในยุคดิจิทัล กลุ่มคนดนตรีจากฝั่งตะวันตกเริ่มสร้างสรรค์ผลงานดนตรีโดยใช้วัตถุดิบจากเอเชียบ้างแล้ว
น่าสนใจว่าวัตถุดิบจากท้องถิ่นในเอเชียที่วงดนตรีจากมหาอำนาจทางวัฒนธรรม(ดนตรี)คือสไตล์หมอลำ ลูกทุ่ง ดนตรีพื้นบ้านเอเชียในยุค 60-80s คนดนตรีตะวันตกที่หยิบวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้ ปรากฏกลุ่มหนึ่งที่ทำงานออกมาได้น่าจับตาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาใช้ชื่อวงว่า “Khruangbin” (“เครื่องบิน” ในภาษาไทย)
แค่ชื่อวงเครื่องบินก็บ่งบอกแล้วว่า ใช้วัตถุดิบ(ทางภาษา)มาจากไทย วงนี้มีถิ่นกำเนิดในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาเริ่มผลิตผลงานจนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา วงเครื่องบินเป็นวง 3 ชิ้น (เบส, กีตาร์, กลอง) เล่นเพลงบรรเลงโดยไม่มีนักร้องนำเป็นสมาชิก สมาชิกประกอบด้วย ลอร่า ลี (เบส), มาร์ค สเปียร์ (กีตาร์) และโดนัลด์ จอห์นสัน (กลอง)
ลองเปิดผลงานเพลงของกลุ่มนี้สัก 2-3 ชิ้น รับประกันว่าต้องนึกถึงกลิ่นเพลงหมอลำ-ลูกทุ่งในเอเชียบ้างไม่มากก็น้อย พวกเขาอธิบายว่า ได้รับอิทธิพลจากดนตรีหลากหลายแขนง ตั้งแต่ โซล-แจ๊ซซ์ (ดนตรีที่ชาวอเมริกันคุ้นเคยอยู่แล้ว) ไปจนถึงดนตรีพื้นเมืองของหลายประเทศ (World Music) อาทิ อัฟกัน, อินเดีย, อิหร่าน, เอเชียฟังก์ และซุค (Zouk หมายถึงดนตรีแถบแคริบเบียน) และแน่นอนว่า มีหมอลำและลูกทุ่ง(ในไทย)ยุค 60-70s
มาร์ก สเปียร์ มือกีตาร์ของวง “เครื่องบิน” ให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้รับอิทธิพลโทนเสียงแบบนี้จากบล็อก (Blog) เกี่ยวกับดนตรีหมอลำและลูกทุ่งยุค 60-70s ซึ่งเขาบังเอิญเปิดขึ้นมา เว็บไซต์ที่เขาค้นพบรวบรวมเพลงท้องถิ่นไทยเอาไว้ มาร์ก เล่าอีกว่า เมื่อได้ฟังแล้วก็หยุดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ออกแบบผลงานของเขาให้เหมือนกับแนวนี้แบบสมบูรณ์ เขานำสไตล์ดนตรีที่ชอบมาดัดแปลงประยุกต์เข้ากับสไตล์อื่นๆ จนกลายเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ
โดนัลด์ จอห์นสัน มือกลองของวงอธิบายว่า ดนตรีหมอลำ-ลูกทุ่ง(ในไทย) ยุค 60-70s ชวนให้นึกถึงกลิ่นดนตรีฟังก์แบบอเมริกันในยุคเดียวกัน (แน่นอนว่า ต่างได้รับอิทธิพลจากกันและกัน ดนตรีสากลร่วมสมัยในไทยก็ได้รับอิทธิพลจากดนตรีอเมริกันไม่น้อย) ศิลปินฟังก์สไตล์อเมริกันที่เขานึกถึงเมื่อได้ยินดนตรีสากลพื้นถิ่นในไทยคือ เจมส์ บราวน์ ซึ่งมีสำเนียงแบบเอเชีย
มาร์ก เป็นสมาชิกหลักที่ขับเคลื่อนดนตรีของวง เขามีอิทธิพลทางดนตรีที่หลากหลาย มาร์กและโดนัลด์ จอห์นสัน เคยเล่นดนตรีกอสเปลในโบสถ์มาก่อน ส่วนลอร่า ลี มือเบสหญิงของวงมีภูมิหลังเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ทำงานในพิพิธภัณฑ์
เมื่อลองฟังผลงานช่วงต้นๆ ของวง “กรูฟ” (Groove) หรือโครงสร้างจังหวะพื้นฐานของเพลงส่วนใหญ่เป็นสไตล์ “หมอลำ-ลูกทุ่ง” แบบเอเชียชัดเจน (ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ใช่โทนสำเนียงแบบหมอลำ “สมัยใหม่” ที่ได้ยินกัน อิทธิพลหลักของ “วงเครื่องบิน” มาจากสไตล์หมอลำ-ลูกทุ่ง “ยุค 60-70s” ดังที่กล่าวแล้วว่า ดนตรีหมอลำ-ลูกทุ่งในไทยช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากดนตรีตะวันตกแบบเฉพาะทางอย่างเช่น ฟังก์ เข้ามาผสมผสานด้วย)
ส่วนท่วงทำนองมีโทนผสมผสานระหว่างสำเนียงแบบเพลงร่วมสมัยฝั่งตะวันตก เอเชีย และมีสำเนียงตะวันออกกลางปนบ้างในบางชิ้น
อัลบั้มแรกของวงเผยแพร่เมื่อปี 2015 ในชื่อชุด Universe Smiles Upon You ดนตรีจากสตูดิโออัลบั้มของพวกเขาใกล้เคียงกับสไตล์ “เวิลด์ มิวสิก” ซึ่งผสมผสานกลิ่นอายดนตรีท้องถิ่นหลายแขนงโดยมีรากฐานโครงสร้างบางอย่างอ้างอิงกับสไตล์ “หมอลำ-ลูกทุ่ง” ในยุค 60-70s
ผลงานภายหลังของวงดังเช่นในอัลบั้มที่ 2 ซึ่งเผยแพร่ในปี 2018 ใช้ชื่อ Con Todo El Mundo ยังผสมผสานดนตรีพื้นถิ่นจากฝั่งตะวันออกกลางมาผสมด้วย อาทิ ดนตรีอิหร่านก่อนหน้าการปฏิวัติในยุค 70s ซึ่งเป็นช่วงที่ดนตรีอิหร่านรับวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกเข้ามาผสมกันมากขึ้น
ในปี 2020 วงยังออกอัลบั้มที่ 3 ชื่อ Mordechai เป็นสตูดิโออัลบั้มล่าสุดของพวกเขา
อัปเดต 2022 : ปี 2021 วงออกอีพี (EP) ชื่อ Texas Sun และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพิ่งปล่อยอีพีชื่อ Texas Moon ร่วมงานกับนักร้องนาม ลีออน บริดจ์ส (Leon Bridges)
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร?
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมหมอลำต้องร้อง “โอละนอ” ค้นหาที่มาคำนี้มาจากไหน
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : กำเนิดคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” และเพลงลูกทุ่ง “เพลงแรก”ของไทย
- คลิกอ่านเพิ่มเติม : ดราม่าแบ่งกลุ่ม “นักร้องเพลงผู้ดี” ในอดีต เหยียดเพลงตลาด คนด่าเพลงลูกทุ่ง “บ้าๆ บอๆ”
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2564