เผยแพร่ |
---|
การแบ่งประเภทดนตรี และจัดแบ่งกลุ่มชนิดดนตรีนั้นเป็นประเด็นดราม่ากันมาแล้วหลายครั้งหลายครา ไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีให้เห็นกันเสมอ สำหรับไทย หากย้อนกลับไปเมื่อต้นทศวรรษ 2500 ก็เคยมีดราม่าการจัดแบ่งประเภทระหว่างนักร้องเพลงผู้ดี นักร้องเพลงตลาด และคำวิจารณ์เพลงลูกทุ่งที่ออกอากาศว่า “บ้าๆ บอๆ”
ก่อนหน้านี้เคยมีบทความ “กำเนิดคำว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ และเพลงลูกทุ่ง ‘เพลงแรก’ ของไทย” บอกเล่ากำเนิดของคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ดังข้อความว่า เมื่อพ.ศ. 2507 จำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการบันเทิงของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 นำเอา “เพลงตลาด” มาออกอากาศทางสถานีได้ตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” (ชื่อรายการมีผู้ให้ข้อมูลอีกแบบ จะกล่าวต่อไปในเนื้อหา) และมีใช้ตามต่อเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน
คลิกอ่านเพิ่มเติม : กำเนิดคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” และเพลงลูกทุ่ง “เพลงแรก”ของไทย
ขณะที่ “เพลงลูกทุ่ง” นั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจัดงาน “กึ่งศตวรรษเพลงลุกทุ่งไทย” ในปี 2532 ผู้รู้ลงความเห็นไว้ว่า เพลงลูกทุ่งก่อกำเนิดเมื่อปี 2481 คํารณ สัมบุณณานนท์ เป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกแห่งยุค ผู้ขับร้องเพลง “โอ้สาวชาวไร่” ครูเหม เวชกร เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง
เมื่อมาถึง พ.ศ. 2498 นักร้องที่ไม่เคยจัดแบ่งประเภทจึงเริ่มแบ่งกันมากขึ้น ดังที่นคร ถนอมทรัพย์ (หรือ กุง กาดิน) นักร้องใหม่ในยุคนั้นเล่าไว้ว่า “นักร้องสมัยนั้น ไม่มีคำว่า ‘ลูกทุ่ง’ แนวใครก็แนวใคร อย่างเช่น คำรณ (สัมบุณณานนท์) ร้องเพลงจะออกมาในแนวชีวิตแบบกระเทาะเปลือกสังคม ชีวิตชนชั้นกรรมาชน หรือไอ้เสือ ไอ้สาง งั้นก็เพลงโห่ เพลงพวกนี้จะไม่เรียกว่า ‘ลูกทุ่ง’ แต่ถือว่าเป็น ‘นักร้องเพลงชีวิต’”
นคร แสดงความคิดเห็นว่า ผู้ที่จัดแบ่งประเภทนักร้องน่าจะเป็น “ป.วรานนท์” ซึ่งเวลานั้นเป็นนักจัดรายการชื่อดัง ป.วรานนท์ เรียกนักร้องประเภท คำรณ, สมยศ (ทัศนพันธุ์) พยงค์ (มุกดา) ว่าเป็น “นักร้องตลาด” เป็น “เพลงตลาด” ซึ่งนคร แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า โดยเจตนาแล้วก็ไม่ได้หมายถึงต่ำต้อย มันกว้างขวาง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาก คือฟังกันได้ เข้าถึงชาวตลาด ชาวบ้าน
ส่วนแนวสุเทพ วงศ์กำแหง และชรินทร์ นันทนาคร เรียกว่า “เพลงผู้ดี”
นคร ถนอมทรัพย์ อดีตรองหัวหน้าวงจุฬารัตน์ เล่าไว้ว่า
“ถ้าเราเอาคำ 2 คำนี้มาพิจารณากัน เป็นเรื่องเสียความรู้สึกมาก เป็นการแบ่งชั้นไปเลย โดยเจตนาอาจไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพราะไม่รู้จะเรียกอะไร คำว่า ‘ลูกทุ่ง’ ก็ยังไม่มี แต่พอตอนหลัง พอมีคำว่า ‘ลูกทุ่ง’ นี้ยิ่งเสียความรู้สึกไปอีก”
เมื่อเขาสู่ช่วง 2500 เป็นต้นมา (ดังที่กล่าวข้างต้น) นักร้องลูกทุ่งขนานแท้และดั้งเดิมทยอยเกิดขึ้น กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการเพลงไทยสากล ประเภทเพลงตลาด
ครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ เล่าว่า ในช่วงปี 2500-2503 ทูล ทองใจ โด่งดังอย่างมาก คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนกรุงหรือชนบท เสียงของเขาเข้าถึงทุกซอกทุกมุม แผ่นเสียงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงทำให้เกิดประโยชน์ขัดกันขึ้นระหว่างนักทำแผ่นเสียงของบริษัทต่างๆ
เลิศชาย คชยุทธ เล่าถึงสถานการณ์ช่วงนั้นว่า “บริษัทที่มิสามารถดึงตัวทูล ทองใจ มาทำประโยชน์ได้ก็เริ่มตั้งข้อรังเกียจ ระยะนี้เองได้เกิดการแบ่งแยกนักร้องขึ้นโดยคนกลุ่มนั้นอย่างเห็นเจตนาได้ชัด จึงมีการแบ่งแยกนักร้องออกมาเป็น 2 ประเภท คือ นักร้องเพลงผู้ดี นักร้องเพลงตลาด มีการเหยียดหยามว่านักร้องเพลงตลาดต่ำช้า มีการแอนตี้กันขึ้นโดยที่คนกลุ่มนั้นได้ขยายวงกว้างไปยังสถานีวิทยุต่างๆ มีการปิดประตูนักร้องเพลงตลาด สถานีวิทยุหลายๆ สถานีพลอยเป็นไปด้วย เพราะสำคัญตัวผิดว่า ‘ตัวเป็นผู้ดีเหมือนคนอื่นๆ'”
ขณะที่ครูมงคล เล่าไว้ว่า
“นักร้องคนใดที่ตัวหาประโยชน์ไม่ได้ก็เขี่ยไปเป็นนักร้องตลาดหมด ยกย่องกลุ่มพวกของตนว่าสูงกว่า เป็นผู้ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใดนักร้องเพลงตลาดอย่างทูล ทองใจ, สุรพล สมบัติเจริญ, ชาย เมืองสิงห์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ กลับอยู่ในความนิยมของประชาชนส่วนมาก ตอนนี้แหละสนุกกันใหญ่ จึงได้เกิดสถานีขึ้นมามากมายเหมือนดอกเห็ด เพราะอะไร? เพราะทนความเรียกร้องจากประชาชนไม่ได้ จึงได้มีสถานีอีกมากมายเปิดเพลงของนักร้องตลาดขึ้นเพื่อตามใจประชาชนส่วนใหญ่ สถานีเหล่านี้หาผู้อุปถัมภ์รายการได้ง่าย เพราะสปอนเซอร์ก็ย่อมหวังประโยชน์ ต้องการให้ผลการโฆษณาเข้าไปถึงคนทุกซอกทุกมุม”
ส่วนคำว่า นักร้องลูกทุ่งนั้น ดังที่กล่าวข้างต้นมีผู้เข้าใจในเวลาต่อมา แต่ช่วงเวลานั้นคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ยังไม่อุบัติ มีแต่พระเอกลูกทุ่ง, ชีวิตลูกทุ่ง กระทั่งมาถึงในปี 2507 ดังที่เกริ่นมาแล้ว
สำหรับจำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการบันเทิงของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 นั้น เลิศชาย คชยุทธ ให้ข้อมูลอีกด้านว่า ชื่อรายการที่ตั้งใช้ชื่อ “ลูกทุ่งกรุงไทย” ออกอากาศทุกวันจันทร์เว้นจันทร์ เวลา 6 โมงเย็น แต่กว่ารายการจะได้แพร่ภาพและเสียงก็เล่นเอาผู้เกี่ยวข้องแทบหมดกำลังใจกันไปตามๆ กัน
สาเหตุของเรื่องนี้ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เขียนเล่าในนิตยสารดารารัฐ ฉบับที่ 10 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ว่า สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ห้ามเพลงตลาด-เพลงชีวิต เปิดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เพราะเสน่ห์ โกมารชุน ชลอ ไตรตรองสอน เขียนร้องเอง เนื้อความเชิงต่อต้านรัฐบาล ร้องที่ไหน ตำรวจจับที่นั่น อีกเพลงหนึ่งคือเพลงของ ชาญ เย็นแข ฝ่ายตรงข้ามนำไปเปิดวิจารณ์ด่ารัฐบาล เพลงประเภทนี้จึงถูกห้ามออกอากาศ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ปากคำนักร้องเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย โด่งดังแค่ไหนหลังลือจอมพล ป. สั่งห้ามออกอากาศ
เวลาต่อมา ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ข้อห้ามต่างๆ ค่อยคลี่คลายบ้าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2507 ไทยทีวีช่อง 4 โดยความคิดของ ท้วม ทรนง เห็นว่าเพลงประเภทนี้ถ้าจะลองนำมาออกทีวีบ้างคงแปลกดี (ขณะนั้นทีวีมี 2 ช่อง คือช่อง 4 และ 7) จึงเสนอคุณจำนง รังสิกุล และได้รับเห็นดีด้วย แต่กำชับให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้จัดคอยควบคุม คัดเพลงและนักร้องที่เห็นว่าสมควรมาลองทำ ตั้งชื่อรายการให้ว่า “เพลงชาวบ้าน” นัดหนึ่งคัดนักร้องได้ 3 ราย คือ พร ภิรมย์, ผ่องศรี วรนุช และทูล ทองใจ
ด้วยความที่ไม่เคยออกทีวีมาก่อน จึงถูกผู้ชมตำหนิมากมาย ตั้งข้อสังเกตรังเกียจ บ้างหาว่าจัดไม่เข้าท่า ข้อเขียนของประกอบ เล่าเหตุการณ์ต่อมาว่า
“เหตุการณ์ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม 2507 เป็นเดือนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ้น ผมได้นำนโยบายนี้ขึ้นเสนอฝ่ายจัดรายการใหม่ คุณจำนง รังสิกุลเองก็กลัวจะไปไม่รอด ผมก็ยังยืนยันเจตนาเดิมว่า จะขอต่อสู้ให้ได้รับความนิยมให้ได้ เป็นอันตกลง จึงเริ่มให้ผมได้มีโอกาสจัดรายการประเภทนี้ขึ้นใหม่ในเดือนต่อไป
โดยตั้งชื่อรายการอย่างเก๋ไก๋ว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ จำได้ว่าวงแรกที่ได้มาร่วมรายการนี้คือวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล เพราะก่อนจะมีรายการได้ไปติดต่อกับชาย เมืองสิงห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของวงดนตรีจุฬารัตน์ ที่ใต้ถุนสะพานพุทธ…”
นคร ถนอมทรัพย์ ที่เป็นรองหัวหน้าวงจุฬารัตน์ เล่าว่า ตอนนั้นครูมงคล หัวหน้าวงจุฬารัตน์ ไปต่างจังหวัด วงจุฬารัตน์มีกฎว่า “ใครดังแล้วจะปลีกตัวไปร้องส่วนตัวไม่ได้ ดังแล้วห้ามแยกตัว ถ้าไปก็ไปทั้งวง” เลยปฏิเสธไป ต่อมาก็ได้รับติดต่อใหม่ จึงแก้ปัญหายอมให้ชาย เมืองสิงห์ ไปร้องและมีนักร้องคนอื่นในวงอีก 2-3 คนไปร้อง ให้ทุกคนได้ร้องเพลงมาร์ชจุฬารัตน์ อันเป็นเพลงหมู่ให้เป็นไปตามกฎ
นคร ถนอมทรัพย์ ยังให้ข้อมูลโต้แย้งอีกด้านว่า “รายการลูกทุ่งกรุงไทยออกอากาศทางทีวีช่อง 4 ก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม 2507 เล็กน้อย ไม่น่าใช่วันที่ 11 กรกฎาคม 2507 ตามที่จำนง รังสิกุล ให้ข้อมูล
อย่างไรก็ตาม การนำเอาเพลงตลาดหรือเพลงชีวิต ซึ่งกลายชื่อมาเป็นเพลงลูกทุ่งในครั้งนั้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่พอใจอย่างรุนแรงจากคนกลุ่มหนึ่ง ประกอบ ไชยพิพัฒน์ บันทึกไว้ว่า
“พอออกนัดแรก เอาอีกแล้ว ผู้ชมเล่นงานผมเสียย่ำแย่ ทั้งทางจดหมายและโทรศัพท์ หาว่าช่อง 4 เอาเพลงบ้าๆ บอๆ มาออก บ้างก็ด่าผมขุดโคตรก็มี ปู่ย่าตายายผมอยู่ในหลุม ขุดผมขึ้นมาบรรเลงหมด สารพัดจะบรรยาย คุณจำนง รังสิกุล เรียกผมไปปรึกษาว่า จะเอายังไงดี จะถอยหรือจะสู้ ผมยังยืนยันเจตนาเดิม คือขอสู้ต่อไป เป็นอันตกลง”
ประกอบ ไชยพิพัฒน์ กัดฟันสู้ จัดรายการต่อไปดังเดิมท่ามกลางเสียงสาบแช่งจากผู้รังเกียจเพลงลูกทุ่ง แต่ในเบื้องต้น รายการได้สำรวจข้อบกพร่อง เชิญนักร้องสำคัญมาพบกันครั้งละประมาณ 4 คน และคัดเลือกเพลงที่เหมาะสมไปออก แล้วผสมนักร้องเริ่มใหม่บ้างเพื่อส่งเสริม อาทิ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, เพชร พนมรุ้ง, พจน์ พนาวัลย์, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, สังข์ทอง สีใส, ชินกร ไกรลาศ, พนม นพพร ขณะนั้นนักร้องดังกล่าวนี้ยังไม่มีวงเป็นของตนเอง ยังเป็นนักร้องในสังกัดวงดนตรีอื่นมาก่อน
จนเมื่อย่างเข้าเดือนที่ 6 ประชาชนเริ่มยอมรับ เริ่มมีคนกล่าวขวัญถึงรายการ ความนิยมเริ่มแทรกซึมไปตามวงดนตรีต่างๆ เริ่มเรียกวงของตัวเองว่า วงดนตรีลูกทุ่ง และนักร้องยอดนิยมเรียกตัวเองว่า เป็น “นักร้องเพลงลูกทุ่ง” ได้เต็มปาก
ในปี 2507 ไม่ใช่มีเพียงนักร้องลูกทุ่งได้ออกทีวี แต่ยังเป็นปีแรกที่นักร้องและเพลงลูกทุ่งติดอันดับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง ช่อทิพย์รวงทอง โดยสมยศ ทัศนพันธ์ พยงค์ มุกดา ประพันธ์คำร้องและทำนอง ปีต่อมา ทูล ทองใจ ได้รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง นางรอง
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เพลงลูกทุ่งก็เข้าสู่ความนิยมของประชาชนทุกวงการ ข้อรังเกียจของกลุ่มคนที่เรียกว่า “ผู้ดี” ลดน้อยลงตามลำดับ
อ้างอิง:
เลิศชาย คชยุทธ. “ด่าเพลงลูกทุ่ง ‘บ้าๆ บอๆ’ จุฬารัตน์ ออกทีวีครั้งแรก สมยศ ทัศนพันธ์ คว้าแผ่นเสียงทองคำ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2537.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 8 เมษายน พ.ศ. 2563