ปากคำนักร้อง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เพลงดังแค่ไหน หลังลือ จอมพล ป. สั่งห้ามออกอากาศ

จอมะล ป. พิบูลสงคราม กลิ่นโคลนสาบควาย
(ซ้าย) ชาญ เย็นแข ภาพบนแผ่นเสียงเพลงค่าน้ำนม (ขวา) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหา บรรยากาศทุ่งนาในเอเชีย

“กลิ่นโคลนสาบควาย” เป็นอีกหนึ่งเพลงลูกทุ่งอมตะ จากผลงานการแต่งของครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดยชาญ เย็นแข บันทึกเสียงไว้เมื่อ พ.ศ. 2497 ได้รับความนิยมและขายดี แต่มีเสียงเล่าลือว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำในสมัยนั้นสั่งห้ามออกอากาศ

เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งเพลงที่สร้างชื่อให้ชาญ เย็นแข ที่ขับร้องเพลงค่าน้ำนม ขณะที่เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ได้รับรางวัลเพลงเกียรติยศ ในฐานะเพลงรากฐานของเพลงลูกทุ่ง จากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2532

Advertisement

สำหรับเหตุการณ์ถูก “สั่งห้าม” นั้น ชาญ เย็นแข ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้บ้างในตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2527 ปรากฏในหนังสือ “ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน” เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“แผ่นเสียงเพลงกลิ่นโคลนสาบควายเป็นแผ่นที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น เหมือนกับสมัยนี้ที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้องเพลงสาวนาสั่งแฟน เพราะว่าสมัยก่อนเพลงไหนดัง ทางโรงหนังเกือบทุกโรงจะต้องซื้อไปเปิด โรงละ 2-3 แผ่น ถึงขนาดทางร้านต้องขึ้นราคาจาก 17 บาท มาเป็น 30-40 บาท เพราะมันขายดีมาก บริษัทเรียกตัวผมไปรับรางวัล ครูไพบูลย์ได้ 5,000 บาท ผมได้ 3,000 บาท เฉพาะเพลงกลิ่นโคลนสาบควายเพลงเดียว…

…ที่รัฐบาลห้ามเปิดเพลงนี้ เข้าใจว่าเพราะเนื้อเพลงมันคล้ายๆ ยุให้ชาวนากระด้างกระเดื่อง แบ่งชั้นวรรณะ ซึ่งจริงๆ แล้วผมว่ามันไม่เกี่ยว มันอยู่ที่ผู้มีอํานาจมากกว่า เพราะพอดังขึ้นมาก็ไม่ให้เผยแพร่อยู่พักหนึ่ง พอสิ้นรัฐบาลชุดนั้นก็เปิดได้ ทีนี้การที่เพลงจะไปถึงผู้ฟังได้ในสมัยนั้นมันไม่ต้องไป อ้อนวอนวิทยุเขาเปิดเหมือนสมัยนี้ เพราะฉะนั้นพอยิ่งห้ามก็เลยยิ่งทําให้แผ่นขายดี…

…ครูไพบูลย์แต่งเพลงนี้ได้กินใจมาก เพลงในแนวชีวิตละเอียดอ่อน ต้องครูไพบูลย์แต่ง ผมรับรองว่าในกรุงรัตนโกสินทร์หาใครแต่งได้เท่าครูไพบูลย์ ไม่มีอีกแล้ว ทุกวันนี้ผมร้องเพลงตามห้องอาหาร ยังมีคนขอให้ร้องทุกคืน”

ด้านไพบูลย์ บุตรขัน ผู้เขียนเพลง เคยให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ ททท. ประมาณช่วง พ.ศ. 2512-2513 หลังผ่านไป 6-7 ปีตั้งแต่การบันทึกเสียงเมื่อ พ.ศ. 2496 กุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ถามว่า ที่บอกว่าอย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดังตาสี ตรงนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกแค้นเคืองแทนชาวหรือไม่ คำตอบของครูไพบูลย์ มีว่า

“ไม่เจ็บแค้นหรอกครับ มันเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ ผมใส่ความรู้สึกว่า ผมเป็นชาวนาคนหนึ่ง เมื่อสังคมทั่วไปยอมรับว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติแล้วก็ควรเหลียวแลบ้าง ความรู้สึกนี้ก็ทำให้อยากจะเป็นตัวแทนของชาวนา และเราก็เห็นจริงว่า ชาวนามีความสำคัญจริง อันนี้ผมเก็บมาจากคำพูดของผู้นำชาติขณะนั้นคือ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านได้กล่าวออกมาว่า ชาวนามีความสำคัญต่อประเทศชาติมากในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลัง ควรทำนุบำรุง ผมเก็บเอาคำนี้มาเขียน” 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เพลงหายไปจากหน้าปัดวิทยุนั้น ครูไพบูลย์ไม่ได้มองว่า ถูกห้ามเปิด แต่เชื่อว่าเข้าใจผิดกัน

“เรื่องที่ว่ามีการห้ามเปิด ไม่ใช่ห้ามเปิดเพราะว่ามีผลกระทบกระเทียบอะไรหรอก ห้ามเพราะเข้าใจผิดกันครับ ขอเรียนให้ทราบเสียเลย คือทางกรมโฆษณาการก็มีเพลงของกรมเปิดใช้อยู่เยอะแยะเพราะทางกรมก็มีวงดนตรีประจำอยู่ มีคนขอเพลงนี้ไป ทางกรมก็นำไปเปิด ทีนี้เจ้าหน้าที่ว่า เพลงของเราก็มี ก็ไม่ควรจะเปิด เลยเข้าใจผิดกันว่า ห้าม ไม่ได้ห้าม เพราะสถานีอื่นก็ยังเปิดกันทั่วไป ความจริงผู้ใหญ่ก็ชอบครับ”

ชาญ เย็นแข ยังได้เล่าว่า หลังแผ่นเสียงออกอากาศ 3 วัน ครูไพบูลย์เรียกเขาไปบ้าน กระซิบบอกว่า “เราไปเขียนชื่อปู่ท่านนายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี ปู่ท่านชื่อ สี ถ้าชื่ออื่นก็ไม่มีปัญหา…”

ลาวัลย์ โชตามระ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์เขียนบทความ “ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง ‘ประวัติการณ์'” บรรยายว่า “เพียงในเวลา 7 วัน แผ่นเสียง ดี.ซี.เจ ตราค้างคาว ซึ่งอัดเพลงนี้จำหน่ายในราคาเงินสดแผ่นละ 15 บาทนั้น ขายได้ถึง 5,000 แผ่น”

ที่ขายได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากโรงหนังพากันซื้อแผ่นเสียงไปโรงละหลายแผ่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) (เลิศชาย คชยุทธ). ไพบูลย์ บุตรขัน อัจฉริยะ คีตกวีลูกทุ่งผู้อาภัพภาคสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : งานดี, 2560

ปฐวพล วราณุรังษี. “หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้น พระคุณ… (ใครหนอ?),” ใน ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2562