ผู้เขียน | กัญญารัตน์ อรน้อม |
---|---|
เผยแพร่ |
ถุงยางอนามัย (condom) คืออุปกรณ์หรือภาชนะที่ใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ของผู้หญิงและสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเช่น ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น
ถุงยางอนามัย ที่เก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้คิดค้นการใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้ผ้าลินินมาหุ้มปลายองคชาติและย้อมสีผ้าลินินคนละสีเพื่อบ่งบอกสถานะทางสังคม แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้สวมใส่ถุงยางครั้งแรก
ก่อนศตวรรษที่ 15 ญี่ปุ่นและจีนในอดีตมีการใช้ถุงยางอนามัย ทำจากกระดองเต่าและกระดาษทาน้ำมันหรือไส้แกะ
การใช้ “ถุงยางอนามัย” ครั้งแรกเกิดขึ้นในยุโรปช่วง ค.ศ. 1564 โดย Gabrielle Falloppia (นักกายวิภาคศาสตร์ชาวอิตาลี) ในช่วงนั้นได้เกิดโรคซิฟิลิสกำลังระบาดเป็นอย่างหนัก เขาจึงได้แนะนำให้เอาถุงผ้าลินินไปชุบน้ำเกลือก่อนมาหุ้มบริเวณปลายอวัยวะเพศชาย มีผู้ทดลองทั้งหมด 1,100 คน ผลสรุปคือไม่มีใครติดโรคเลย
ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 17 ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ กองทัพของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ติดโรคซิฟิลิสอย่างรุนแรง พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ทรงให้กองทัพฯ แจกจ่ายปลอกที่ทำมาจากไส้ปลา, ไส้แกะหรือไส้วัวให้กับเหล่าทหาร และทำให้ประชาชนเริ่มหันมาใช้ถุงยางอนามัยกันมากยิ่งขึ้น
Charles Goodyear (เป็นวิศวกรการผลิตและนักเคมีชาวอเมริกัน) ได้ค้นพบการทำถุงยางรูปแบบใหม่โดยทำให้ยางคงรูปและมีความยืดหยุ่นสูงในศตวรรษที่ 19 ช่วง ค.ศ.1839 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
การนำเข้าถุงยางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเกิดขึ้น ค.ศ. 1974 จุดประสงค์หลักการใช้ถุงยางในเริ่มแรกคือคุมกำเนิดลดประชากร แต่ในภายหลังถุงยางได้นำมาใช้เพราะโรคเอชไอวี(เอดส์) ได้ระบาดหนัก
ช่วง ค.ศ. 1985 เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และมีการใช้ถุงยางมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของถุงยางอนามัยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือเหตุผลที่นำมาใช้แก้ปัญหาทั้งเรื่องการป้องกันโรคและการคุมกำเนิดเพื่อลดจำนวนประชากรหรือลดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในยุคปัจจุบัน อีกทั้งการพัฒนาคุณภาพของถุงยางอนามัยมีความสอดคล้องในเรื่ององค์ความรู้และวัตถุดิบของแต่ละยุคที่นำมาประยุกต์ใช้ มีการลองผิดลองถูกเพื่อที่จะพัฒนาเป็นถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพอย่างปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
H Youssef MRCOG. (1992). The history of the condom. Journal of the Royal Society of Medicine, (4), 226-228. สืบค้นจาก https://journals.sagepub.com/doi/epdf/10.1177/014107689308600415
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2566