ตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ไทยสำเร็จ เพราะจอมพล ป. นายกฯ ปวดฟันคุด

เก้าอี้ ทำฟัน ยุคบุกเบิก ของ วงการ ทันตกรรมไทย ที่ พิพิธภัณฑสถาน วาจวิทยาวัฑฒน์ อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนทันตแพทย์ เกิดขึ้น เพราะ จอมพล ป. ปวดฟัน
เก้าอี้ทำฟันในยุคบุกเบิกของวงการทันตกรรมไทย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจาก https://db.sac.or.th)

ประวัติศาสตร์ทันตกรรมไทย ตั้ง “โรงเรียนทันตแพทย์” ในไทยสำเร็จ เพราะ จอมพล ป. นายกฯ ปวดฟัน !?

ปวดฟัน แม้จะไม่ใช่การเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตโดยตรง แต่ถ้าใครเคยปวดฟัน ย่อมรู้ซึ้งว่ามันทรมาน และน่ารำคาญเพียงใด แล้วในอดีตที่ยังไม่มีหรือไม่ค่อยมีทันตแพทย์หรือหมอฟัน ไม่มีแผนกทันตกรรม ไม่มีคลินิกหมอฟัน ปวดฟันขึ้นมาจะเป็นอย่างไร

มีเรื่องเล่าลือว่า โรงเรียนทันตแพทย์ แห่งแรกของไทยสามารถก่อตั้งได้ก็เพราะ จอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีปวดฟัน!

Advertisement

เรื่องราวนี้บันทึกอยู่ในหนังสือ “ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย” ดังนี้

ในยุคที่ทันตกรรมสมัยใหม่ยังไม่เจริญมากนัก การรักษาโรคฟันและการทำฟันปลอม เพื่อทดแทนฟันแท้ที่หายไปเป็นหน้าที่ของช่างทำฟัน ซึ่งสันนิษฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ช่างทำฟันเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและญี่ปุ่น จากหลักฐานบันทึกถึงการใช้ฟันปลอมอย่างชัดเจนในวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 วิชาช่างที่เกี่ยวกับการทำฟันปลอมนี้ได้สืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง และขยายเป็นการรักษาด้านอื่นที่เกี่ยวกับฟันด้วย

ร้านทำฟันของชาวจีนในย่านถนนเจริญกรุงสมัยก่อนมักจะมีการนำฟันที่ถอนออกมา ฟันปลอมชุดต่างๆ รวมทั้งครอบฟันทองที่ประดิษฐ์สำเร็จรูปแล้ว ตั้งแสดงไว้เพื่อชักชวนให้ผู้พบเห็นเกิดความเชื่อถือ นอกจากนั้นบางครั้งก็จะมีโอกาสได้พบเห็นการตีฆ้องร้องป่าวประกาศแสดงการถอนฟันในที่สาธารณะ แต่ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉบับแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ช่างทำฟันเหล่านี้ก็ค่อยๆ หมดบทบาทไป เพราะการรักษาโรคเกี่ยวกับทันตกรรมกลายเป็นหน้าที่ของทันตแพทย์ไปแล้ว ส่วนช่างทำฟันที่หลงเหลืออยู่ก็อาจรับจ้างทำฟันให้กับผู้คน โดยถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ (วาด แย้มประยูร) (ภาพจาก http://www.nabladigital.biz)

คณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยที่พัฒนามาเป็นสถาบันสำหรับฝึกสอนทันตแพทย์อย่างในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นมาได้โดยมี ศาสตราจารย์พันเอก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ (วาด แย้มประยูร) เป็นผู้บุกเบิก

ท่านเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสิราคิวส์ (Syracuse University) สหรัฐอเมริกาจนสำเร็จการศึกษา และเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้ไปศึกษาต่อในสาขาวิชาทันตแพทย์ จนสำเร็จปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (D.D.S.) จาก โรงเรียนทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ก่อนจะกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2469 โดยท่านได้จัดหาเก้าอี้ทำฟันที่ทันสมัย และเครื่องเอ็กซเรย์ฟันมาใช้ในโรงพยาบาลศิริราชด้วย

ในสมัยนั้น ประเทศสยามยังไม่มีโรงเรียนทันตแพทย์อย่างเป็นทางการ มีเพียงโรงเรียนทันตแพทย์ทหารบกซึ่งอยู่ในโรงเรียนแพทย์ทหารบก ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรทันตแพทย์สำหรับการทหาร ดำเนินการโดยทหารเสนารักษ์ที่ไปช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป และมีโอกาสได้รับการอบรมดูงานทันตกรรมระหว่างสงคราม แต่โรงเรียนทันตแพทย์ทหารบกผลิตทันตแพทย์ได้รุ่นเดียวราว 10 คน ก็ล้มเลิกไป

หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ซึ่งเรียนจบทันตแพทย์มา ได้มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างโรงเรียนสำหรับฝึกสอนทันตแพทย์ จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้น ในจุฬากรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2471 แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการปรับปรุงเรื่องสายการแพทย์ในกองทัพบก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์จึงถูกขอตัวจากคณะแพทยศาสตร์ฯ ไปรับราชการกับกองทัพบก ในตำแหน่งหัวหน้าอายุรแพทย์กองเสนารักษ์ จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ และได้เลื่อนตำแหน่งจนเป็นหัวหน้าอายุรแพทย์กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ใน พ.ศ. 2476 และเป็นผู้บังคับกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ใน พ.ศ. 2478 ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก

ในช่วงนี้ เริ่มมีนักเรียนที่จบทันตแพทย์จากต่างประเทศที่ได้เข้ามารับราชการในกองเสนารักษ์ ได้แก่นายแพทย์สี สิริสิงห ซึ่งได้ทุนจากเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระยศในขณะนั้น) ไปศึกษาวิชาทันตแพทย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เช่นเดียวกับหลวงวาจฯ มารับราชการ เป็นพลทหารในตำแหน่งทันตแพทย์ เมื่อ พ.ศ. 2476 และ ร.อ. ภักดี ศรลัมภ์ ซึ่งจบทันตแพทย์จากประเทศฟิลิปปินส์เข้ามารับราชการใน พ.ศ. 2479

ความพยายามที่จะผลักดันให้มีโรงเรียนทันตแพทย์ก็ยังไม่หมดไป ใน พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2479 หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ได้ติดต่อกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ.จี. เอลลิส (A.G. Elis) อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อการจัดตั้งโรงเรียน ทันตแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จทั้งสองครั้ง

จนกระทั่ง พ.ศ. 2481 ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์สำหรับราชการทหารขึ้นไป และครั้งนี้ก็ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ในกรมแพทย์ทหารบก

ผู้ใหญ่ในคณะทันตแพทย์เล่ากันมาว่า สาเหตุที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นชอบที่จะให้ตั้งโรงเรียนทันตแพทย์นั้น มีเหตุเนื่องมาจากจอมพล ป. เกิดปวดฟันขึ้นมาอย่างหนักจนไม่สามารถจะทำอะไรได้

พันเอก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์จึงตามนายแพทย์สี สิริสิงห (ขณะนั้นมียศชั้นนายสิบ) มาช่วยผ่าฟันคุดให้จอมพล ป. เมื่อหายจากอาการปวดแล้วก็เห็นความสำคัญของสุขภาพฟันในหมู่ทหาร จึงยอมอนุมัติเรื่องการสร้างโรงเรียนทันตแพทย์ในกรมแพทย์ทหารบก ส่วนนายแพทย์สีได้เลื่อนยศเป็นนายร้อย

เพื่อให้การศึกษาวิชาทางทันตกรรมไม่ได้จำกัดวงอยู่ในกองทัพเพียงอย่างเดียว พันเอกหลวง วาจวิทยาวัฑฒน์ จึงได้ร่วมกับพระยาอารีดรุณพรรค ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้มีแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ขึ้น

เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้รักษาฟันในยุคแรกๆ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจาก https://db.sac.or.th)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้อนุมัติให้ตั้งแผนกทันตแพทย์ศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์เป็นคณบดีคนแรกของแผนก และได้เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 นับเป็นจุดเริ่มต้นของคณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย, หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ, เมษายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อครั้งแรก 27 ธันวาคม 2562