ชาวสยามเชื่อ “ฟันดำ” ถึงจะดี เพราะอะไรถึงเปลี่ยนรสนิยมเป็นฟันขาว?

การแต่งกายสตรีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ถูกต้องตามรัฐนิยมในสมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ "วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์" กรมศิลปากร)

“ฟัน” อาวุธคู่กายสำหรับเอาชีวิตรอดของมนุษย์ ใช้ได้ทั้งกัด (ต่อสู้) หรือบดเคี้ยวอาหาร (ดำรงชีวิต) ภาพลักษณ์ของฟันที่เราคุ้นเคยกันดี คือจะต้องเรียงสวยและมีสีขาว แต่ในอดีตทัศนคติเรื่องสีฟันของคนไทยต่างออกไป

ฟันต้องดำ! ถึงจะดี?

ย้อนกลับไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวสยามจะนิยมฟันสีดำ ชิงชังฟันสีขาว จากบันทึกของนิโกลาส แชรแวส ชาวฝรั่งเศสระบุว่า “สิ่งที่ผู้หญิงสยามไม่อาจทนดูพวกเราได้ ก็คือตรงที่พวกเรามีฟันขาว เพราะพวกนางเชื่อกันว่า ภูตผีปิศาจเท่านั้นมีฟันขาว และเป็นเรื่องที่น่าอับอายที่มนุษย์จะมีฟันขาวเหมือนสัตว์เดรัจฉาน”

ตั้งแต่ในวัยเด็กเป็นต้นมา ชาวสยามจึงขัดฟันให้มีสีดำสนิทโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อเคลือบฟันด้านหน้า มีลักษณะเหมือนชาวอินเดีย นอกจากนี้ การเคี้ยวหมากก็เป็นอีกวิธีที่ทำฟันเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีนิล เห็นได้จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ เรื่องผลในการกินหมาก

“ครานี้เพราะหมากและพลูทำให้เขละ หรือน้ำหมากเป็นสีแดงเพราะมีปูนแดงป้ายไปในจีบพลูด้วย เมื่อเช่นนั้นก็ละยางและสีให้ติดริมฝีปากและฟันผู้เคี้ยว ที่ปากนั้นบ้วนน้ำหมากเลยออกมา และยางหมากจับก็ลอกได้ แต่ฟันนั้นจับกรังที่ละเล็กละน้อยจนเป็นสีดำ เพราะฉะนั้นคนที่พอใจสะอ้านกายก็ย้อมฟันให้ดำ โดยเหตุที่ถ้าไม่ทำเช่นนั้นเสียแล้ว น้ำหมากของหมากพลูที่ผสมปูนเขละอยู่ตามฟันขาว ทำให้ไม่น่าดู เหมือนคนสามัญ จับเฟอะอยู่”

ชาวสยามยุคนั้นเชื่อว่าการมีฟันสีดำหรือสีนิล เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความแข็งแรงและความสวยงามของฟัน เห็นได้จากกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้ง ที่ชมฟันผู้หญิงว่า “พิศฟันรันเรียงเรียบ เป็นระเบียบเปรียบแสงนิล” และบทชมโฉมนางสีดาที่ว่า “พิศทนต์ดังนิลอันเรียบราย”

จากข้อความของกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก และบทชมโฉมนางสีจากเรื่องรามเกียรติชี้ ให้เห็นว่าฟันงามในทรรศนะของผู้ประพันธ์นั้นต้องสีออกไปทางดำ

สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคแห่งการเปิดรับสิ่งใหม่ ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ส่งผลให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศจำนวนมาก เป็นเหตุให้สยามต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความศิวิไลซ์ การรับวัฒนธรรมจากตะวันตกได้ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวสยามบางกลุ่มเริ่มเปลี่ยนไป เช่น กษัตริย์ ราชวงศ์ และชนชั้นสูง

หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเยือนยุโรปครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2440 ทัศนคติเรื่องสีฟันของพระองค์ก็ได้เปลี่ยนไป

จุดเปลี่ยนแปลงของ“ฟัน”จากดำเป็นขาว

ดังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาของพระองค์เอง ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เป็นฉบับแรก ( 7 เมษายน พุทธศักราช 2440)

“ได้ลงมือเอาถ่านถูฟัน มันเค็ม ๆ คลื่นไส้ ต้องเอาทั้งดุ้นเข้าถูพอบาง ๆ ออกไปได้ แลเห็นขาวซีกเดียว อยู่ข้างจะเบื่อเต็มที พรุ่งนี้หมอรับจะจัดการ ลืมตัวจะเรียกกินหมากร่ำไป ตั้งแต่แม่เล็กไปแล้ว ได้กิน 2 คำเท่านั้น”

ทรงกล่าวถึงการขัดพระทนต์อีกครั้ง ในวันรุ่งขึ้น

“พระการใหญ่ในเรื่องขัดฟัน ประดักประเดิดเต็มที วันนี้เกือบจะว่าถูกยังค่ำได้ ต้องสำเร็จกันด้วยมีด พอหินปูนหมดข้างนอก แต่ยังเขรอะขระน่าเกลียด ฉันเห็นอัศจรรย์ ที่หินปูนเข้าใจว่าน้อย พอขูดเข้าแล้ว ฟันเล็กลงเป็นกอง”

คาดการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่งเริ่มมาขัดพระทนต์ให้ขาวตามแบบฝรั่ง เมื่อเสด็จไปยุโรปครั้งแรก เพื่อปรับตัวให้เป็นไปตามอารยประเทศ ที่จะเสด็จไปเยือน

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าชนชั้นนำของสยามนั้นนิยมฟันขาวเพราะรัชกาลที่ 6 ประกาศไว้ชัดเจนว่า “ทรงนิยมฟันขาวและชังคนฟันดำ”

ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถือเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องสีฟันอย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลได้ออกประกาศชักชวน (เชิงบังคับ) ให้เลิกกินหมาก ออกเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2482 คณะรัฐมนตรีมีมติว่า ให้กระทรวง ทบวง กรม แนะนำชักชวนข้าราชการเลิกรับประทานหมาก

ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน มีประกาศชักชวนข้าราชการกระทรวงกลาโหมให้เลิกกินหมาก มีการชี้แจงโทษของการกินหมาก เช่น สมัยนี้ฟันดำกลับกลายเป็นสิ่งไม่เจริญตา อารยะชนในประเทศต่าง ๆ เห็นว่าการกินหมากไม่เป็นกิจประเพณีที่เหมาะสมเลย หมากไม่ได้เพิ่มความงามประการใดให้แก่วงหน้า แต่กลับทำให้หน้ากร้านและดูแก่เกินอายุอีกด้วย

เรื่องของฟันขาวฟันดำอย่างในปัจจุบันนั้นมีจุดเริ่มต้นในสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็จริง แต่กว่าจะจูงใจผู้คนให้หันมามีฟันขาวได้ก็ล่วงเลยมาจนถึงยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

แม้ในระยะแรกเรื่องของสีฟันจะอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของสยาม เมื่อเวลาผ่านไปความนิยมได้กระจายสู่คนกลุ่มอื่น ดังจะเห็นได้จากเมื่อชาวสยามเราฉีกยิ้ม ริมฝีปากจะค่อย ๆ ยกตัวขึ้น ให้ฟันแทรกออกมา เพื่อให้เห็นฟันสีขาวที่ตัดกับปากสีชมพูแดง อันถือเป็นเสน่ห์บนใบหน้า ฉะนั้นจะฟันดำหรือฟันขาวก็คือฟันเราชาวสยาม


อ้างอิง :

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. จดหมายเหตุลาลูแบร์. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505.

วิริยา ศิวะยานนท์ และ ทวีวัฒน์ ปุญฑริกวิวัฒน์. บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของคนไทยในทรรศนะของชาวตะวันตก สมัยอยุธยา – พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2523.

อเนก นาวิกมูล. อยู่อย่างชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562