ดูวิธีอุดฟัน, ถอนฟัน และฝังโลหะกับฟัน เมื่อ 2,000 ปีแล้ว จากหลักฐานที่ปางมะผ้า

ตัวอย่างฟันที่สำรวจพบจากถ้ำผีแมน ที่ได้รับการตกแต่งด้วยการฝังโลหะ

การศึกษาวิจัยของโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูง ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สำรวจพบฟันจำนวนมากกว่า 800 ซี่ ในถ้ำผีแมน ที่มีการฝังศพในโลงไม้ขนาดใหญ่กว่า 60 ถ้ำ จากการคำนวณอายุด้วยคาร์บอน 14 คาดว่าคนในยุควัฒนธรรมโลงไม้หรือถ้ำผีแมนนี้ น่าจะมีอายุประมาณ 2,080+60 ปีขึ้นไป ในจำนวนฟันที่พบทั้งหมดนี้มีฟันจำนวน 8 ซี่ จาก 5 ถ้ำ ที่ได้รับการตกแต่งด้วยการเจาะรูขนาด 2 มิลลิเมตร และมีการฝังโลหะเข้าไปแทนที่ โดยฟันแต่ละซี่มีรอยเจาะตั้งแต่ 2-4 รู ฟันทุกซี่เป็นฟันแท้ และเป็นฟันหน้าบน

จากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (scanning electron microscope) พบว่าวัสดุที่เป็นโลหะที่อยู่ในฟันนั้นมี 2 ลักษณะ คือโลหะที่มันวาว และโลหะผิวเรียบแต่ไม่มันวาว การศึกษาจากรูที่โลหะหลุดออกไปพบว่ารูที่เจาะมีลักษณะกลม ผิวค่อนข้างเรียบ ลึกเข้าไปในเคลือบฟันและชั้นของเนื้อฟันประมาณ 2 มิลลิเมตร การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีด้วย Energy Dispersive Spectroscopy พบว่าโลหะผิวเรียบแต่ไม่มันวาว มีส่วนประกอบของเงินเป็นส่วนประกอบหลัก แต่โลหะชิ้นที่มันวาว มีส่วนประกอบของเงินและทองเป็นหลัก ระหว่างชิ้นโลหะและผิวฟัน มีสารยึดติดระหว่างโลหะกับผิวฟัน ที่มีความหนาประมาณ 200-300 ไมครอน สารที่ใช้ยึดติดโลหะกับฟันนั้น ประกอบด้วยแคลเซียม ออกซิเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส อะลูมิเนียม และแมกนีเซียม

ยังไม่เคยมีรายงานว่าพบการตกแต่งฟันโดยการเจาะฟันแล้วอุดด้วยโลหะในลักษณะเช่นนี้ในภูมิภาคนี้มาก่อน แต่ได้มีรายงานการแต่งฟันในกะโหลกมนุษย์ที่ขุดพบในประเทศไทย โดย ท.ญ.จุติศรี แสงวิเชียร ในวิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2521 ว่ามีการถอนฟันหน้าบางซี่ และการฝนฟันหน้าบน การถอนฟันหน้าบางซี่นั้นพบในสมัยหินใหม่ (บ้านเก่า กาญจนบุรี) สมัยโลหะ (ลพบุรี) และสมัยทวารวดี (ทับหลวง นครปฐม) ส่วนการฝนฟันหน้าบนนั้นพบในสมัยหินใหม่ (บ้านเก่า กาญจนบุรี) สมัยทวารวดี (ทับหลวง นครปฐม) และสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาตอนต้น (อุทัยธานี) นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงประเทศไทยก็มีรายงานพบ “ฟันทอง” ของเผ่าหมานในพม่า จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์2547 ซึ่งเป็นการเจาะฟันแต่เพียงตื้นๆ หลายรูแล้วนำแผ่นทองมาแปะติดทับ ส่วนในทวีปอเมริกานั้น พบการเจาะฟันเป็นรูขนาดใหญ่ประมาณ 5 มิลลิเมตร แล้วฝังด้วยหยกในพวกมายัน

การสำรวจพบการเจาะฟันแล้วอุดด้วยโลหะทำให้มีคำถามที่เกิดขึ้นคือ

1. ใครเป็นคนทำ เป็นช่างทำฟัน ช่างฝีมือ หรือเป็นพวกพ่อมด หมอผี

2. ใครเป็นเจ้าของฟัน บุคคลสำคัญ พ่อมด หมอผี หรือคนทั่วไป ชายหรือหญิง

3. วิธีการเจาะฟัน การทำเม็ดโลหะ และการใช้สารยึดติดโลหะกับฟันทำอย่างไร

4. ทำเพื่ออะไร เป็นพิธีกรรม หรือเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว

5. วัฒนธรรมนี้มีที่มาจากไหน เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือรับมาจากที่อื่น

ได้มีผู้เสนอข้อคิดเห็นในการประชุมว่า การเจาะฟันในลักษณะเช่นนี้ อาจจะเป็นการลงโทษได้หรือไม่ เพราะขบวนการในการเจาะน่าจะเจ็บปวด ผู้วิจัยเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะดูจะเป็นการลงทุนที่สูงเกินไปทั้งด้านวัสดุที่เป็นเงินหรือทอง ซึ่งเป็นของมีค่า และวิธีการเจาะที่ต้องอาศัยฝีมือพอสมควร ถ้าจะต้องการลงโทษให้เจ็บปวดทรมานก็มีวิธีการที่ง่ายและเจ็บปวดกว่านี้มากมายนัก เช่น การถอนฟันสดๆ ก็เป็นวิธีที่น่าสยดสยองไม่น้อย เมื่อถอนไปแล้วก็เป็นการ “พิการ” ถาวร ที่ทุกคนจะเห็นได้เมื่อพูดคุยหรือยิ้ม เหมือนการสักใบหน้านักโทษประหารที่เห็นในหนังจีนกำลังภายใน

ส่วนการเจาะฟันในลักษณะนี้นั้น เป็นการเจาะลึกเข้าไปในฟัน ประมาณ 2 มิลลิเมตร ซึ่งทะลุส่วนของเคลือบฟัน (enamel) และบางส่วนของเนื้อฟัน (dentin) แต่ไม่ถึงส่วนของโพรงประสาทฟัน การเจาะเข้าไปถึงเนื้อฟันเช่นนี้คาดว่าน่าจะทำให้เกิดการเสียวฟันได้ แต่ไม่น่าจะทำให้เกิดการปวดฟัน ส่วนวิธีการเจาะซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการใช้สว่านคันธนูนั้น อาจจะทำให้รู้สึกสั่นสะเทือน เหมือนการกรอฟันด้วยระบบสายพานหัวกรอฟันความเร็วต่ำที่ใช้ในคลินิกทันตกรรมเมื่อ 40-50 ปีก่อน ถ้าหัวกรอไม่คม และใช้แรงกดมากขณะกรอ หรือไม่มีการใช้น้ำขณะกรอฟัน ก็อาจทำให้เกิดความร้อนสูง เสียวฟัน หรือเกิดฟันร้าวได้ ผู้วิจัยคิดว่าผู้เจาะฟันน่าจะเป็นช่างฝีมือ จากการสำรวจผิวฟันก็ไม่พบรอยโรคของฟันผุ และวัสดุที่ใช้อุดก็มีรูปร่าง ขนาด และลักษณะใกล้เคียงกันทุกซี่ ทำให้เข้าใจว่าไม่น่าจะเป็นการอุดฟันเพื่อการรักษาฟันผุเหมือนการอุดฟันด้วยอะมัลกัมในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือความทนทาน เหนียวแน่นของวัสดุที่ใช้ในการยึดติดโลหะกับฟัน ที่สามารถอยู่ยงคงกระพันมาได้ถึง 2,000 กว่าปี สามารถทนต่อสภาวะความเป็นกรด เป็นด่างในช่องปาก และสภาพแวดล้อมภายนอกเมื่อเจ้าของฟันเสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลานับพันปี ขนาดเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทันตแพทย์ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถยึดครอบฟันได้นานเกิน 10 ปีเลย

ตกแต่งฟันเพื่อความงามด้วยการ “ฝังเพชร” ของคนในปัจจุบัน

ในปัจจุบันมีการตกแต่งฟันเพื่อความสวยงามด้วยการ “ฝังเพชร” ถ้าดูแบบผิวเผินก็อาจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการฝังโลหะของคนโบราณที่ปางมะผ้า แต่แท้จริงแล้วเป็นการ “โปะ” ด้วยวัสดุอุดที่เหมือนฟันแล้วจึงฝังเพชรลงบนวัสดุอุดอีกที วิธีนี้จึงไม่มีการกรอฟันและไม่เจ็บ แต่จะทำให้ฟันมีขนาดหนากว่าปกติ

ท่านคงเห็นแล้วว่าวัฒนธรรมเรื่อง “ความงาม” นั้นมีมาแล้วตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน!

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2562