ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
ในสมัยก่อนต้นไม้ที่นำมาทำกระดาษคือ ต้นสา ทางภาคเหนือนิยมทำกันเรียกว่า กระดาษสา อีกชนิดหนึ่งคือ ต้นข่อย กระดาษาที่ได้จาก “ต้นข่อย” นั้น นำมาทำเป็น “สมุดไทย” ที่ใช้เขียนตัวอักษรและเขียนภาพ เช่นภาพพระมาลัยหรือทศชาติชาดก เป็นต้น
สมุดไทย มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ไม่มีการเย็บเล่มเหมือนหนังสือในปัจจุบัน เพียงแต่ใช้กระดาษยาวเพียงแผ่นเดียว แล้วพับกลับไปมา จะให้หนังสือมีขนาดหนาหรือบางก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยทั่วไปแล้วหนังสือ “สมุดไทย” มีอยู่สองแบบคือ สมุดไทยดำ กับสมุดไทยขาว เพราะเรียกตามสีของสมุด
นอกจากนี้ยังมีกระดาษแผ่นบางๆ ไม่ได้ทำเป็นรูปเล่ม เรียกว่า กระดาษเพลา ทางเหนือเรียกว่า กระดาษน้ำโท้ง
ส่วนขั้นตอนการทำกระดาษนั้น ถ้าทำจากเปลือกต้นข่อย เลือกใช้กิ่งข่อยที่ไม่แก่ ต้องลอกเปลือกในขณะที่กิ่งยังสดอยู่ หรือกิ่งข่อยนั้นแห้ง จะลอกเปลือกไม่ได้ ต้องนำไปลนไฟก่อนถึงจะลอกได้
ถ้าใช้เปลือกสาจะต้องเลือกต้นสาขนาดใหญ่แล้วโค่นต้นสาทั้งต้น ถึงจะลอกเปลือกออกได้ แต่ต้องปอกสีเขียวที่ผิวชั้นนอกก่อน ถึงจะได้เนื้อไม้ที่ใช้ทำกระดาษ
เมื่อได้เปลือกไม้แล้ว นำไปแช่น้ำประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้เปลือกไม้เปื่อย ต่อด้วยการบีบเปลือกไม้ให้แห้งแล้วฉีกเป็นฝอยๆ จากนั้นก็นำไปนึึ่ง เมื่อนึ่งจนสุกแล้วแต่ว่าเปลือกไม้นั้นยังไม่เปื่อยพอ ต้องนำไปแช่น้ำด่างจากปูนขาว ประมาณ 1 วัน จะทำให้เปลือกไม้นั้นเปื่อย จะบี้เปลือกไม้ได้ง่ายขึ้น
แช่น้ำด่างแล้ว ต้องนำไปล้างน้ำในน้ำที่ไหลตลอดเวลา ล้างจนหมดด่าง แล้วบีบให้แห้ง นำไปทุบให้ละเอียด เพื่อทำเป็นเยื่อกระดาษ พร้อมที่จะไปทำกระดาษ
จากนั้นนำเยื่อกระดาษที่ปั้นเป็นก้อนมาละลายน้ำในครุ ตีเยื่อไม้ให้ปนกับน้ำ แล้วเทลงบนพะแนง (แบบที่ทำแผ่นกระดาษ) พะแนงนั้นต้องอยู่ในน้ำ แล้วเกลี่ยเยื่อไม้ให้เสมอกัน ก่อนที่จะนำพะแนงขึ้นจากน้ำจะต้องพรมน้ำให้ทั่วก่อน และต้องยกให้ได้ระดับเสมอกัน เพื่อให้กระดาษมีความหนาเท่ากันหมด
ยกพะแนงขึ้นจากน้ำ นำไปพิงตามแนวนอนในลักษณะเอียง ใช้ไม้ซางคลึงเยื่อไม้เพื่อให้กระดาษเรียบและรีดน้ำออกมา ตากแดดไว้จนแห้งสนิท แล้วลอกออกมากลายเป็นกระดาษแผ่นบางๆ เรียกว่า กระดาษเพลา
ต่อไปนำกระดาษเพลาทำเป็นรูปเล่ม แล้วเลือกว่าต้องการสมุดดำหรือสมุดขาว ขั้นตอนนี้เรียกว่าการลบ ถ้าต้องการสมุดขาว นำแป้งเปียกไปผสมกับน้ำปูนขาวแล้วกวนให้สุกถึงจะทาบบนกระดาษได้ ถ้าเป็นสมุดดำ นำแป้งเปียกที่ผสมเขม่าไฟ หรือกาบมะพร้าวที่เผาไฟแล้วผสมกับน้ำปูนขาวด้วย
ตากแห้งแล้วขัดกระดาษให้เรียบและขึ้นมันด้วยหิน ซึ่งหินจะต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง จากนั้นก็นำกระดาษไปพับเพื่อทำสมุด ส่วนขนาดขึ้นอยู่กับหน้าสมุดที่จะทำ รวมไปถึงจำนวนหน้าที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้
ส่วนเครื่องมือที่ใช้เขียนก็หาได้ตามปากกา ทำจากไม้หรือขนไก่ แล้วนำไปบากให้เป็นร่องเพื่อให้น้ำหมึกเดินได้ ส่วนดินสอขาวก็มาจากหินดินสอ
ส่วนน้ำหมึกหาได้จากธรรมชาติ
น้ำหมึกสีดำ ทำจากเขม่าไฟบดละเอียด ผสมกับกาวยางมะขวิด, น้ำหมึกสีขาว ทำจากเปลือกหอยมุกฝนหรือบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำยางมะขวิด, น้ำหมึกสีแดง ทำมาจากชาดผสมกับกาวยางมะขวิด, น้ำหมึกสีทอง น้ำหมึกชนิดนี้ต้องเขียนด้วยกาวจากยางไม้ แล้วนำทองคำเปลวปิดบนกาว ถึงจะได้สีทองที่เงางาม
ปัจจุบัน การทำสมุดจากต้นข่อยเลิกทำไปแล้ว ส่วนกระดาษสายังมีการผลิตอยู่ นอกจากใช้เขียนแล้ว กระดาษสายังเป็นวัสดุในการทำงานหัตถกรรม ที่สำคัญกระดาษสายังมีประโยชน์ในการอนุรักษ์หนังสือเก่า เพราะกระดาษสานั้นไม่มีกรดและด่างที่จะทำลายต้นฉบับและใช้ผนึกกระดาษเก่าได้ดี เพราะกระดาษสามีเยื่ออยู่ในตัว จึงทำให้มีความเหนียว ทนทาน
อ่านเพิ่มเติม :
- “กระดาษกับคนเรา ของคู่กัน” มากกว่าจดบันทึก คือวัฒนธรรมที่สืบต่ออย่างบรรจง
- สืบสาวกําเนิดหอสมุดแห่งชาติ : หนังสือกับความเป็นชาติ
อ้างอิง :
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. หนังสือสมุดไทย. จากหนังสือพระบฏและสมุดภาพไทย กรมศิลปากร. 2527
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 13
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2561