สืบสาวกําเนิดหอสมุดแห่งชาติ : หนังสือกับความเป็นชาติ

หอพระสมุดฯ แห่งเก่า (ศาลาสหัยสมาคม) ก่อนย้ายไปที่ถนนหน้าพระธาตุ

บทความนี้คัดย่อจาก “สืบสาวกำเนิดหอสมุดแห่งชาติ : หนังสือกับความเป็นชาติ” (ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2547) ที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ แปลเก็บความจาก Patrick Jory “Books and the Nation : The Making of Thailand’s National Library” Journal of Southeast Asian Studies 31 : 2 (September 2000), p.351-373 [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

สืบสาวกำเนิดหอสมุดแห่งชาติ : หนังสือกับความเป็นชาติ

การศึกษาถึงการเปลี่ยนผ่านของรัฐไทยจากพุทธอาณาจักรมาสู่รัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นเรื่องที่นักวิชาการทั้งไทยและเทศให้ความสนใจศึกษากันอย่างมาก ที่ผ่านมานักวิชาการเลือกศึกษาถึงการประดิษฐ์สร้างสถาบันต่างๆ ที่เป็นหัวใจของรัฐชาติไทยสมัยใหม่ หรือศึกษาเทคโนโลยีแบบอาณานิคมบางประการซึ่งมีส่วนสร้างชาติที่กำลังก่อตัวขึ้นในจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปกครองในระบบเทศาภิบาล, การสถาปนากองทัพสมัยใหม่, การจัดการศึกษามวลชน, กำเนิดของสำนึกร่วมเกี่ยวกับเรื่องดินแดนของชาติไทย, ความสำคัญของภาษาไทยในการสร้างเอกภาพแห่งชาติ, แผนที่, การสำรวจสำมะโนประชากร หรือพิพิธภัณฑ์

ทว่ามีอยู่สถาบันหนึ่งซึ่งยังคงได้รับความสนใจศึกษาค่อนข้างน้อย หากมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างมโนทัศน์ของความเป็นชาติไทย สถาบันนั้นก็คือ หอสมุด

เริ่มจากต้นทศวรรษ 2420 หอสมุดมีลักษณะเป็นสโมสรสำหรับเหล่าขุนนาง และถูกทำให้กลายเป็นสถาบันที่เป็นทางการของรัฐเมื่อ พ.ศ. 2448 ในชื่อว่า “หอพระสมุดสำหรับพระนคร” ซึ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเป็นหอสมุดแห่งชาติเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

การก่อตั้งหอพระสมุดฯ ของไทยเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ 3 ประการในช่วงนั้น ได้ แก่ หนึ่ง ภัยจากลัทธิอาณานิคมที่แผ่เข้ามาคุกคามประเทศและอำนาจของผู้ปกครอง สอง ปฏิกิริยาโต้ตอบกับภัยคุกคามดังกล่าวของราชสำนักไทยโดยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ผลลัพธ์ก็คือ มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางพร้อมกับทำลายอำนาจของบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่น สาม ในยุคของลัทธิล่าอาณานิคมได้เกิดความกระตือรือร้นที่จะผลิตองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น อันนำไปสู่การก่อตั้งสมาคมวิชาการอย่าง É’cole Française d’ Extrême Orient (EFEO) ใน พ.ศ. 2441 และ Burma Research Society (BRS) ใน พ.ศ. 2452

แม้รัฐไทยจะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม ก็พยายามที่จะสถาปนาอำนาจของศูนย์กลางเหนือความรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในราชอาณาจักร มีการตั้งสมาคมวิชาการในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสองสมาคมข้างต้น คือสยามสมาคม ทว่าในทางปฏิบัติสถาบันที่ทำหน้าที่แบบเดียวกับสมาคมวิชาการในประเทศมหาอำนาจกลับเป็นหอพระสมุดฯ มากกว่า เพราะสยามสมาคมผลิตงานเป็นภาษาอังกฤษ และผู้ที่มีบทบาทหลักก็คือชาวยุโรป ในขณะที่หอพระสมุดนั้นรับใช้ชนชั้นนำไทยโดยตรง และมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ที่เรียกกันว่า ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม “ไทย” อย่างที่สยามสมาคมในระยะนั้นไม่อาจเทียบได้

ในบทความนี้จะสืบสาวให้เห็นถึงพัฒนาการของความคิดเกี่ยวกับหอสมุดแห่งชาติระหว่างทศวรรษ 2420 ถึงต้นทศวรรษ 2440 นอกจากนั้นจะสำรวจตรวจสอบบทบาทของหอสมุดในการรวมศูนย์ รวบรวมและเก็บรักษาหนังสือของอาณาจักร พิจารณาการจัดจำแนกหมวดหมู่หนังสือที่สะสมรวบรวมไว้ออกเป็นหมวดหมู่ความรู้ใหม่ๆ และสุดท้ายดูการแพร่กระจายหนังสือที่เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ไทย” “วรรณกรรมไทย” และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวกับชาติไทยออกสู่สาธารณะผ่านการจัดพิมพ์ของหอสมุด

พัฒนาการความคิดเกี่ยวกับห้องสมุดในสยาม เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 24

ในปี พ.ศ. 2424 มีการตั้งหอสมุดวชิรญาณ (และมาทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ 3 ปีถัดจากนั้น) การก่อตั้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก และกิจการของหอสมุดในช่วงแรกก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าความคิดเรื่องห้องสมุดยังเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีการเก็บรวบรวมหนังสือของราชสำนักไว้ที่พระราชวังหรือวัดหลวง และการเก็บรวบรวมเป็นส่วนตัวของบุคคลต่างๆ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้มีหน้าที่แบบเดียวกับห้องสมุดในความหมายที่เข้าใจในปัจจุบัน หากเป็นการเลือกสรรงานมาเก็บรักษาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา

จนเมื่อถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ทัศนะเกี่ยวกับห้องสมุดในสังคมสยามจะมีความกว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น โดยมุ่งเก็บรวบรวมงานเขียนอย่างหลากหลายที่พบในราชอาณาจักรทั้งหมด ความรู้ที่เก็บในหอไตรคือธรรมะ แต่ความรู้ที่เก็บในห้องสมุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และศาสตร์ต่างๆ ของอาณาจักร

สิ่งที่เป็นรากฐานของการตั้งห้องสมุดก็คือ ความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในบรรดาชนชั้นนำสยามเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ หน้าที่หลักของห้องสมุดคือ การ “เสริมสร้าง” และ เพิ่มพูน” ความรู้ สิ่งนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ จากความคิดเรื่องการเรียนรู้แบบดั้งเดิมที่ครอบงำอยู่ในสังคมไทย ที่มุ่งเข้าใจธรรมะซึ่งมีความหมายเท่ากับความจริง หรือธรรมชาติของสรรพสิ่ง

ในความคิดทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้บรรลุความเข้าใจถึงสัจจะทั้งมวลหมดสิ้นแล้ว ความรู้จึงมีที่สิ้นสุด ความคิดนี้ถูกสะท้อนออกในการเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่บรรจุธรรมะทั้งมวลไว้ บทบาทของกษัตริย์และผู้ปกครองไทยโบราณตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารก็คือการสั่งให้มีการคัดลอกพระไตรปิฎกและบรรดาอรรถกถา การสังคายนาที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 1 แท้จริงแล้วก็คือ การขจัดเนื้อความที่ถูกมองว่าบกพร่องผิดพลาด เพื่อจะทำให้พระไตรปิฎกกลับไปอยู่ในสถานะที่บริสุทธิ์ตามเดิม

ความรู้อื่นๆ นอกจากคัมภีร์ศาสนา เช่น ตำราโหราศาสตร์, ยา, คาถาอาคม, กฎหมาย และการทหารก็มีลักษณะคล้ายกัน ความรู้ในแต่ละเรื่องดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์แน่นอนตายตัวแล้วโดยการค้นพบของบรรดาครูบาอาจารย์ตั้งแต่อดีตกาล องค์ความรู้จึงไม่สามารถถูกปรับปรุง การส่งผ่านความรู้ไม่ว่าจะผ่านการคัดลอกต้นฉบับ หรือผ่านระบบความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์ จึงเน้นไปที่การรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงแท้ดังเดิมของความรู้นั้น

ยกตัวอย่าง กฎหมายไทยโบราณที่เรียกกันว่าธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มต้นด้วย การระบุไว้ว่า “…คำภีรพระธรรมสาตรอันพระมโนสารฤาษีกล่าวในต้น ด้วยมคธภาษาอันปรำปราจารยนำสืบกันมา…” แน่นอนว่าในทางปฏิบัติได้มีการเติมแต่ง ละทิ้ง และเปลี่ยนแปลงตัวต้นฉบับอยู่เสมอๆ หากการเปลี่ยนแปลงนั้นก็สามารถถูกอธิบายว่าเป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูความรู้นั้นให้กลับไปสู่ความดั้งเดิมที่สมบูรณ์ตามแบบที่ครูบาอาจารย์ท่านแรกได้วางไว้

อย่างไรก็ตามผลของการติดต่อสัมพันธ์กับความรู้ต่างชาติต่างภาษาทั้งในและนอกประเทศในกลางพุทธศตวรรษที่ 24 เริ่มมีการมองว่าความรู้เป็นสิ่งที่สามารถสะสมเพิ่มพูนได้ ความรู้สึกที่ว่านี้สัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างเอกภาพทางการเมืองของรัฐไทยในขณะนั้น ซึ่งอำนาจรัฐส่วนกลางได้สัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นกับความรู้พื้นเมืองหลากหลายประเภท ตั้งแต่ตำนานและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัตรปฏิบัติทางศาสนาของท้องถิ่น หนังสือใหม่ๆ ทั้งที่เป็นตัวเขียนและงานพิมพ์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ต่างจากคัมภีร์ศาสนาที่มีปริมาณคงที่ เนื่องจากถือกันว่าหนังสือเป็นที่บรรจุความรู้หรือเป็นแม้กระทั่งสัญลักษณ์ของความรู้ ห้องสมุดอันเป็นศูนย์กลางในการเก็บสะสมหนังสือซึ่งค่อยๆ ขยายตัวขึ้น อย่างต่อเนื่องก็ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการสะสมความรู้ไปด้วย

ในขณะที่ศูนย์กลางของการเล่าเรียนพุทธศาสนาคือ ธรรมะ ความคิดในการเรียนรู้แบบใหม่หันไปเน้นที่ความสามารถในการอ่าน เขียน และวิชาหนังสือ รัชกาลที่ 5 ทรงสนับสนุนการเรียนรู้แบบใหม่นี้โดยการปฏิรูปการศึกษา ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานให้แก่นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2427 ที่ตรัสว่า “วิชาหนังสือเป็นวิชาอันประเสริฐ”

วิชาการความรู้แบบใหม่นี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างออกไปจากการเรียนรู้ศาสนาด้วย เนื่องจากการรู้หนังสือกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยเฉพาะการขยายตัวของระบบราชการในทศวรรษ 2420 ถึง 2430 จำต้องอาศัยเสมียนที่รู้หนังสือจำนวนมาก และการปฏิรูปการศึกษาในสมัยเดียวกันซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะผลิตคนมารับราชการ ก็ได้เน้นย้ำถึงการรู้หนังสือมากยิ่งขึ้น มิใช่เพื่ออ่านคัมภีร์ศาสนาแต่เพื่อสมรรถนะในงานราชการ

สัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์

การสถาปนาห้องสมุดขึ้นในสยาม ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมตะวันตกที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมรู้หนังสือ อารยธรรม และรัฐชาติสมัยใหม่เข้าด้วยกัน หนังสือเริ่มถูกมองจากชนชั้นนำไทยว่าเป็นสมบัติสำคัญของชาติ หน้าที่สำคัญของห้องสมดจึงเป็นการแสดงให้ชาติอื่นได้เห็นว่าชาติไทยก็สามารถถูกนับเนื่องเข้ากับชาติอื่นๆ ว่ามีหนังสือสะสมอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก

ในพิธีเปิดหอพระสมุดสำหรับพระนครใน พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้เหตุผลในการตั้งหอพระสมุดฯ นี้ขึ้นมาว่า

มหานครอันรุ่งเรืองในนานาประเทศย่อมมีหอสมุดสำหรับเมืองเปนที่ส่ำสมแลเก็บรักษาบรรดาหนังสือ ซึ่งเปนวิทยาสมบัติสำหรับชนชาตินั้นๆ นับเปนสิ่งสำคัญในรัฐบาลอย่าง 1 แลหอสมุดเช่นนั้นยังหาได้จัดขึ้นในสยามประเทศนี้ไม่ หอสมุดนี้จะเปนคุณเกิดประโยชน์ แลเปนเกียรติยศแก่บ้านเมือง

พอจะสันนิษฐานได้ว่าเกียรติยศดังกล่าวหมายถึงการยอมรับนับถือจากประเทศเจ้าอาณานิคม

ความเกี่ยวเนื่องระหว่างหนังสือ ห้องสมุด และความเป็นชาติถูกเน้นอีกในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 6 ในพิธีเปิดที่ทำการหอสมุดแห่งใหม่ใน พ.ศ. 2460 ตอนหนึ่งความ ว่า

ข้าพเจ้ามีน้ำใจรักใคร่ในวรรณคดี และกิจการอันเนื่องด้วยหอพระสมุดฯ เพราะรู้สึกว่าเป็นสง่าอันสำคัญแลเป็นหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของชาติอันเป็นที่รักของเราที่เป็นคนไทย ชาติใดไม่มีหนังสือ ไม่มีตำนานนับว่าเป็นเหมือนคนป่า ที่จริงชาติเรามีหนังสือมานานแล้ว แลมีตำนานเป็นอันมาก แต่หากกระจัดกระจายไม่ได้รวมอยู่แห่งเดียวกัน ชาวต่างประเทศบางคนจึงถึงแก่เคยกล่าวว่า ชาติไทยไม่มีหนังสือ ไม่มีตำนาน ข้อนี้เป็นข้อที่ข้าพเจ้าแลท่านทั้งหลายโดยมาก เคยรู้สึกเจ็บใจมานานแล้วเพราะไม่พอที่จะให้เขาว่าได้เลย เหตุนี้จึงได้พยายามจัดตั้งหอพระสมุดฯ ขึ้นเป็นหลักฐานให้แลเห็นพยานปรากฏเพื่อชาวต่างประเทศที่มีอยู่แล้วในกรุงสยามก็ดี ฤๅที่จะมาใหม่ก็ดี ได้แลเห็นเป็นพยานหลักฐานว่า กรุงสยามไม่ใช่เมืองป่า ได้เจริญมาแล้ว มีหนังสือแลตำนานอยู่แล้วเป็นอันมาก สมควรแก่ที่เจริญแล้วทุกประการ

พระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่างหนังสือ ห้องสมุด และระดับความ “ศิวิไลซ์” ของประเทศ

…………

หนังสือ (รวมทั้งศิลาจารึกและซากโบราณวัตถุ โบราณสถาน) ได้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความมีตัวตนจริงของอดีตของชาติ จึงมีคุณค่าอย่างสูงต่อชาติที่ศิวิไลซ์ การขาดไร้ซึ่งหนังสือมีความหมายเท่ากับการขาดประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ และเท่ากับขาดความ “ศิวิไลซ์”

ในช่วงเวลานั้นเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นในหมู่ชนชั้นนำไทย ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีการให้ความชอบธรรมกับการล่าเมืองขึ้น ว่าเป็น “ภารกิจเพื่อสร้างความศิวิไลซ์” ถ้าหนังสือเป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ การดำรงอยู่ของห้องสมุดก็เป็นสิ่งที่สามารถที่จะช่วยคัดค้านโต้แย้งกับข้ออ้างของนักล่าเมืองขึ้นทั้งหลายได้

รัชกาลที่ 5 ยังทรงแสดงความเสียใจต่อความขาดแคลนหนังสือของประเทศไทย โดยพระองค์แลเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการศึกสงครามในอดีต ซึ่งทำให้หนังสือเก่าสาบสูญไปเป็นอันมาก ประกอบกับ “ในกาลปางก่อน ความใส่ใจในการที่จะเรียบเรียงหนังสือมีน้อยกว่าประเทศอื่น มักจะรู้แล้วจำไว้เล่าต่อกันไป…ไม่เป็นชาติที่ชอบแต่งหนังสือ” ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมอบหมายให้หอพระสมุดฯ มีหน้าที่เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการสะสมรวบรวมหนังสือ คือจะต้อง “ช่วยอุดหนุนวิชาแต่งหนังสือไทย” ด้วย ต่อมาภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 หน้าที่นี้ได้ถูกมอบหมายให้แก่วรรณคดีสโมสร

หอพระสมุดฯ แห่งใหม่ บนนถนนหน้าพระธาตุ

รวมศูนย์หนังสือ เข้าสู่ส่วนกลาง

การเรียนรู้แบบใหม่ต้องการหนังสือหลากหลายประเภท และการรวมศูนย์หนังสือในประเทศเข้ามาไว้ในที่เดียวกันเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของการตั้งหอสมุดแห่งใหม่ รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังกิจการดังกล่าว ทรงบริจาคหนังสือของราชวงศ์ที่สะสมไว้และบริจาคเงินจำนวนหนึ่งสำหรับการบูรณะตึกหอสมุดแห่งใหม่ รวมทั้งจัดงานเทศกาลฉลองเนื่องในพิธีเปิดหอสมุดแห่งใหม่อย่างเป็นทางการด้วย

ก้าวย่างที่สำคัญที่สุดในกระบวนการรวมศูนย์ความรู้ที่มีการเขียนกันขึ้นมาในประเทศไทยทั้งมวลจึงได้แก่การรวมหอสมุดทั้ง 3 เข้าไว้ด้วยกันใน พ.ศ. 2448 หอสมุดวชิรญาณ หอพระมณเฑียรธรรม และหอพุทธศาสนสังคหะ (ที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา) เป็นหอสมุดเดียวกันชื่อ “หอพระสมุดสำหรับพระนคร” โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ภายใต้กระทรวงธรรมการ เริ่มจากยุคนี้เองที่กล่าวได้ว่า หอสมุดมีสถานะของการเป็นหอสมุด “แห่งชาติ”

หอพระมณเฑียรธรรมก่อตั้งขึ้นโดยรัชกาลที่ 1 เพียง 1 ปีภายหลังพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 2326) ใช้เป็นที่เก็บรวบรวมพระไตรปิฎกฉบับหลวง ต่อมาจึงขยายไปสู่การวบรวมฉบับมอญ สิงหล และหนังสืออื่นเนื่องในทางพุทธศาสนาด้วย สำหรับหอพุทธศาสนสังคหะก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2443 ด้วยความตั้งใจให้เป็นที่เก็บงานเขียนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งหมดไว้ในที่เดียวกัน

…………

การรวบรวมคัมภีร์ศาสนา การสำรวจความเชื่อในท้องถิ่นต่างๆ และการเสด็จประพาสเพื่อสังเกตความเชื่อทางศาสนาของคนในท้องถิ่น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ราชสำนักกำลังแสวงหาความรู้เกี่ยวกับความเชื่อที่มีอยู่อย่างหลากหลายในประเทศ และเนื่องจากศาสนามีบทบาทสำคัญในเขตชนบท ความรู้เหล่านี้ก็ยังมีความสำคัญสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อราชสำนักพยายามกระชับอำนาจการปกครองเหนือส่วนต่างๆ ในราชอาณาจักร

มโนทัศน์ใหม่ที่ถือห้องสมุดเป็นคลังเก็บรวบรวมความรู้ของทุกส่วนภายในราชอาณาจักรโดยไม่จำกัดเนื้อหา แสดงให้เห็นว่าความรู้พุทธศาสนาถูกทำให้มีความสำคัญเป็นรอง เป็นเพียงแค่ความรู้หมวดหนึ่งภายใต้โครงร่างของความรู้ที่กว้างขวางกว่านั้น ในขณะที่หอพระมณเฑียรธรรมเป็นศูนย์กลางของความรู้พุทธศาสนาในอาณาจักรไทยโบราณ หอพระสมุดสำหรับพระนครกลายเป็นศูนย์กลางความรู้ชนิดใหม่ ซึ่งได้มาจากหนังสือตลอดทั่วราชอาณาจักร

ในฐานะศูนย์กลางความรู้แห่งใหม่ หอพระสมุดฯ ถูกบริหารจัดการโดยผู้ทรงความรู้กลุ่มใหม่แทนที่กลุ่มเดิม บทบาทของพระสงฆ์ อาลักษณ์ โหร พราหมณ์ ราชบัณฑิต ถูกบดบังโดยกลุ่มคนกลุ่มใหม่ คือพวกขุนนางและเจ้านายซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงในรัฐบาลสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คือกลุ่มบุคคลเดียวกับที่รับผิดชอบในการปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่ในขณะนั้น ตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดฯ จะมีการเปลี่ยนทุกปี ฉะนั้นพอถึง พ.ศ. 2448 มีเจ้านาย 21 พระองค์ที่ได้เคยครองตำแหน่งดังกล่าว ดังนั้นหอสมุดจึงเป็นสถาบันที่อยู่ในความสนใจและดำเนินการโดยราชสำนักอย่างแท้จริง

สะสมรวบรวม และเก็บรักษา

ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ราชสำนักเกิดความสนใจ ที่จะบำรุงรักษาความรู้ที่ครอบคลุมถึงความรู้ทั้งมวลที่มีการเขียนกันไว้ โดยเฉพาะที่เป็นหนังสือใบลานหรือสมุดข่อยมากกว่าที่จะจำกัดแค่คัมภีร์ศาสนา หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับราชอาณาจักรเป็นงานที่หอพระสมุดฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกที่จะเสาะแสวงหามาเก็บไว้

การเก็บรักษาหนังสือของประเทศเป็นความสนใจพิเศษของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ทรงทุ่มเทพระราชกำลังของพระองค์หลังออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. 2485 มาพัฒนากิจการของหอพระสมุดฯ ทรงนิพนธ์เรื่อง ตำนานหอพระสมุด ไว้เมื่อ พ.ศ. 2460 ความตอนหนึ่งว่า

หนังสือเก่าซึ่งยังไม่ได้พิมพ์มีอยู่ในเมืองไทยเปนอันมาก หนังสือเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เปนอันตรายร่อยหรอลงไปทุกที ด้วยไฟไหม้บ้าง ถูกฝนผุบ้าง ปลวกกัดบ้าง มีผู้ซื้อหาพาไปเสียต่างประเทศบ้าง หนังสือเหล่านี้เปนสมบัติของชาติแลจะหาที่อื่นไม่ได้ นอกจากในเมืองไทย ควรรีบขวนขวายรวบรวมหนังสืออันเป็นสมบัติของชาติไทย มารักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครก่อนหนังสือจำพวกอื่น

…ความก้าวหน้าของหอสมุดวชิรญาณตลอดช่วงทศวรรษ 2430 เกิดขึ้นพร้อมกับความสำเร็จในการปฏิรูปการปกครอง ที่รัฐส่วนกลางสามารถมีอำนาจควบคุมโดยตรงเหนือการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเก็บรวบรวมหนังสือมาให้แก่หอสมุดเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ยังคงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ดังพบว่าหลังจากมีการตั้งหอสมุดสำหรับพระนครใน พ.ศ. 2448 ไม่นาน มีประกาศของหอพระสมุดฯ แจ้งไปยังเทศาภิบาล ว่าหอพระสมุดฯ ประสงค์จะรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฏก แลสมุดหนังสือไทยทั้งปวง จึงขอเชิญชวนคนที่มีหนังสือเหล่านี้ให้บริจาค ให้ยืมมาคัดลอกหรือขายให้หอพระสมุดฯ มีการกำชับให้ทางเทศาภิบาลชี้แจงคำประกาศนี้ให้ทราบทั่วไปตามหัวเมืองด้วย ทั้งยังมีกรณีที่หอพระสมุดฯ ขอให้ทางวัดส่งหนังสือที่สะสมรวบรวมไว้มาให้ด้วย

…พนักงานหอพระสมุดฯ ถูกขอร้องให้ช่วยหาหนังสือในเวลาที่ว่างจากงานราชการ สำหรับการซื้อขาย ก็มีการบอกกล่าวกับเจ้าของหนังสือว่าทางหอพระสมุดฯ ยินดีจ่ายค่าหนังสือให้อย่างสมราคา ถึงกระนั้นเจ้าของหนังสือบางคนก็ยังปฏิเสธที่จะขาย หรือไม่ก็ตั้งราคาขายที่แพงเกินไป ทว่าท้ายที่สุดเมื่อทราบกันอย่างกว้างขวางว่าทางหอพระสมุดฯ ยินดีที่จะเสนอราคาอย่างงาม เพื่อซื้อหนังสือมาเก็บรักษา บรรดาเจ้าของหนังสือทั้งสามัญชนและขุนนางต่างเริ่มนำหนังสือในครอบครองออกมาขาย เริ่มเกิดอาชีพนายหน้าค้าหนังสือที่จะไปกว้านซื้อหนังสือจากทั่วราชอาณาจักร เพื่อนำมาขายต่อให้หอพระสมุดฯ หรือนักสะสมชาวตะวันตก…

นายหน้าเหล่านี้ถูกตั้งข้อสงสัยจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่พระองค์ก็ชี้ให้เห็นว่าถ้าไปกดดันคนเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดความหวาดหวั่นจนไม่กล้าเอาหนังสือมาขายให้แก่หอพระสมุดฯ ดังนั้นจึงเป็นนโยบายของหอพระสมุดฯ ที่จะไม่ถามถึงแหล่งที่มาของหนังสือที่มีผู้นำมาขาย

…สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพต้องทรงต่อสู้ทั้งกับนักสะสมหนังสือชาวตะวันออกและชาวไทย ที่พระองค์ทรงเรียกว่า “พวกเล่นหนังสือเก่า” (พระองค์ทรงแสดงความไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน) นักสะสมเอกชนเหล่านี้พร้อมจะเสนอราคาสูง สำหรับหนังสือประเภทที่มีรูปภาพประกอบงดงามหรือรูปเล่มสวยสะดุดตา พระองค์ทรงกังวลใจกับสถานการณ์ที่หนังสือจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตกไปอยู่ในความครอบครองของชาวต่างประเทศและถูกนำออกไปจากราชอาณาจักร ในการเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2472 พระองค์ทรงพบหนังสือไทยจำนวนมากปรากฏอยู่ในห้องสมุดกรุงลอนดอนและเบอร์ลินโดยเฉพาะไตรภูมิฉบับหลวงเขียนเมื่อครั้งกรุงธนบุรีที่ถูกซื้อไปจากเมืองไทยในราคา 1,000 บาท

“หนังสือแปลก”

ในบรรดาหนังสือจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาสู่หอพระสมุดฯ มีหนังสืออยู่ประเภทหนึ่งซึ่งเจ้าพนักงานหอสมุดระบุว่าเป็น “หนังสือแปลกแปลก” หอพระสมุดฯ มีความสนใจมากเป็นพิเศษกับหนังสือประเภทนี้

ดูเหมือนว่าหนังสือที่ถูกจัดเป็นหนังสือแปลกจะมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ บรรดางานที่เขียนโดยพวกเจ้านาย และขุนนางในอดีต และถูกค้นพบโดยความอุตสาหะของหอพระสมุดฯ เนื้อหาของหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชิ้นหนึ่ง ที่ค้นพบโดยพนักงานหอพระสมุดฯ อันเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก ก็คือ พงศาวดารอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งไปพบขณะที่ยายแก่คนหนึ่งกำลังจะเอาไปเผาไฟรวมกับเอกสารอื่นๆ พระยาปริยัติธรรมธาดาได้ขออ่านดูก่อนพบว่าเป็นหนังสือพงศาวดารตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นฉบับที่เก่าแก่กว่าฉบับอื่นๆ ที่พบมาทั้งหมด

ยังมีหนังสือแปลกที่ได้มาจากทางวังหน้า เป็นบันทึกประวัติศาสตร์สมัยต้นราชวงศ์จักรีชิ้นหนึ่ง ก็คือจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งบันทึกความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าจากสายตาของฝ่ายหลัง หนังสือ “แปลก” อีกจำนวนมากถูกค้นพบที่เพชรบุรีซึ่งเป็นเมืองสำคัญแต่เดิม สรุปแล้ว “ความแปลก” ของงานในประเภทแรกนี้ก็เนื่องจากว่ามันเพิ่งถูกค้นพบใหม่และช่วยเห็นมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง

หนังสือประเภทที่สองที่ถูกจัดว่าเป็นหนังสือแปลกคือ หนังสือใบลาน ซึ่งมักเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยแก่พนักงานหอพระสมุดฯ เช่น การบรรยายถึงพิธีกรรมแปลกๆ คาถาอาคม ลายแทง อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังสือใบลานถูกมองด้วยความเคลือบแคลง เป็นเพราะในชนบทหนังสือใบลานถูกใช้เป็นการเฉพาะสำหรับงานประเภทวรรณกรรมศาสนา ซึ่งถูกมองว่าล้าหลังในสายตาราชสำนัก

ในขณะที่หนังสือใบลานถูกใช้มาเป็นเวลานานในราชสำนัก (สำหรับงานนิพนธ์ทางศาสนา) เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มันเริ่มถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ พ.ศ. 2436 อาจจะเป็นปีที่เป็นหลักหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการพิมพ์ไตรปิฏกฉบับหลวงลงบนกระดาษเป็นครั้งแรก ฉบับก่อนหน้านั้นทั้งหมดถูกจารลงบนใบลาน เมื่อการพิมพ์ขยายตัวอย่างรวดเร็วหนังสือใบลานกลายเป็นสัญลักษณ์ของอดีต เป็นอดีตของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม หรือเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ รวมทั้งเป็นอดีตเกี่ยวกับความรู้อันลี้ลับ ความล้าหลังของท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการลุกฮือขึ้นของท้องถิ่น (คำทำนายถึงยุคพระศรีอาริย์ที่ถูกจารลงบนใบลานและอ่านไปทั่วภูมิภาค อันมีบทบาทสำคัญในการปลุกปั่นให้เกิดการลุกฮือของขบวนการผู้มีบุญในภาคอีสานสมัยรัชกาลที่ 5)

หนังสือทั้งสองประเภทถูกจัดเป็นหนังสือแปลกก็เพราะมันบรรจุความรู้ที่ราชสำนักไม่คุ้นเคย หนังสือแปลกประเภทแรกช่วยเสนอข้อไขให้แก่ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองที่หายไป ส่วนหนังสือแปลกประเภทที่สอง เช่น วรรณกรรมศาสนา ก็ได้เผยให้เห็นความมั่งคั่งของข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เต็มไปด้วยผู้คนอาศัยอยู่

จำแนกความรู้

กิจกรรมที่น่าสนใจที่สุดประการหนึ่งของหอพระสมุดฯ คือการจัดจำแนกความรู้ออกเป็นหมวดหมู่ให้กับหนังสือจำนวนมหาศาล ที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในความครอบครอง สำหรับหมวดที่เป็นหนังสือต่างประเทศ เริ่มแรกได้มอบหมายให้กับบรรณารักษ์ชาวตะวันตก มิสเตอร์ชาร์ลส์ สไวสตรัป (C. Sveistrup) ให้จัดทำรายชื่อหนังสือของหอสมุดวชิรญาณออกมาในปี พ.ศ. 2435 ขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า Catalogue of the Books of the Royal Vajirajan Library by Order of H.R.H. Krom Hmun Damrong Rachanuphap โดยจำแนกหมวดหมู่ความรู้ตามมาตรฐานตะวันตก โดยแบ่งออกเป็น อาทิ แพทยศาสตร์ ปรัชญาธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์การเมืองและสถิติ การเงินและการพาณิชย์ การทหาร นาวิกศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดีบริสุทธิ์ โบราณคดี วิศวกรรมศาสตร์ การค้าและอุตสาหกรรม เทววิทยา เป็นต้น

แต่สำหรับการแบ่งหมวดหมู่หนังสือของไทยเองเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยจัดแบ่งออกเป็น 3 แผนก กว้างๆ คือ แผนกหนังสือพระศาสนา แผนกหนังสือต่างประเทศ และแผนกหนังสือไทย ปัญหาหลักของการแบ่งแบบนี้ก็คือ หนังสือเก่าที่มีอยู่ในห้องสมุดส่วนใหญ่ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาทั้งสิ้น ทำให้แผนกพระศาสนาใหญ่เกินกว่าอีก 2 แผนกมาก ดังนั้นระบบจัดแบ่งที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ในภายหลัง จึงยึดเอาภาษาเป็นเกณฑ์ หนังสือที่เขียนในภาษาบาลีจะอยู่ในแผนกหนังสือพระศาสนา ที่เขียนในภาษาไทยอยู่แผนกหนังสือไทย และที่เขียนในภาษาอื่นที่เหลือทั้งหมดจะอยู่ในหมวดหนังสือต่างประเทศ

………..

จัดพิมพ์หนังสือ ว่าด้วยวิชาความรู้

ในขณะที่การรวบรวมหนังสือทั่วราชอาณาจักรมาไว้ที่ส่วนกลางเป็นความจดจ่อมุ่งมั่นของพนักงานหอพระสมุดฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 พอมาถึงรัชกาลที่ 6 หอพระสมุดฯ ได้มาเกี่ยวข้องกับกิจการอีกประการหนึ่ง คือการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ

เกณฑ์ในการคัดเลือกงานที่จะตีพิมพ์ของหอพระสมุดฯ คืองานนั้นควรเกี่ยวด้วย “วิชาความรู้” มากกว่าที่จะเป็นหนังสือธรรมดาสามัญที่ราษฎรนิยมชมชอบ ในทางปฏิบัติงานดังกล่าวได้แก่บรรดาวรรณคดีและประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองและงานแปลทางพุทธศาสนา เช่น วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา เวสสันดรชาดก ฯลฯ หรือประชุมพงศาวดาร (ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2451 และกลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการเขียนประวัติศาสตร์ไทย)

นโยบายการจัดพิมพ์หนังสือของหอพระสมุดฯ มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่งานเหล่านี้ให้กว้างขวางออกไป งานพิมพ์ของหอพระสมุดฯ ส่วนใหญ่ในทศวรรษ 2420-2430 ปรากฏในหนังสือพิมพ์วชิรญาณ ซึ่งเป็นวารสารที่ออกโดยหอพระสมุดฯ อันเป็นเวทีให้บรรดาสมาชิกของหอพระสมุดฯ เขียนเรื่องราวความรู้หรือวรรณคดี ประวัติศาสตร์ นิทาน รวมสุภาษิตคำพังเพย วิทยาศาสตร์ ศาสนา กิจกรรม เศรษฐกิจและการพาณิชย์ ข่าวต่างประเทศและท้องถิ่น และงานแปลจากภาษายุโรป

นอกจากการพิมพ์วารสาร หอพระสมุดฯ ก็เริ่มพิมพ์งานประวัติศาสตร์และวรรณคดีฉบับสมบูรณ์ด้วยงบประมาณของตนเอง แต่เนื่องจากงบประมาณจำกัด หอพระสมุดฯ จึงอนุญาตให้โรงพิมพ์เอกชนเข้ามาช่วยจัดพิมพ์ โดยมีสัญญาว่าต้องมอบหนังสือร้อยละ 20 ของจำนวนพิมพ์ให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดฯ

อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ที่สุดของการจัดพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือของหอพระสมุดฯ ทำผ่านระบบการพิมพ์แจกเป็นหนังสืองานศพ การพิมพ์หนังสืองานศพแจกนี้ยังประโยชน์แก่ทั้งเจ้าภาพผู้จัดพิมพ์และหอพระสมุดฯ เอง สำหรับเจ้าภาพผู้ให้ทุนทรัพย์อุดหนุนการพิมพ์ก็ถือเป็นการทำทานแบบหนึ่ง สำหรับหอพระสมุดฯ หนังสืองานศพช่วยให้หนังสือดีๆ ทั้งหลายได้พิมพ์เผยแพร่ออกไปได้มาก…

ประโยชน์ที่ตกแก่หอพระสมุดฯ อีกประการหนึ่งคือ หนังสืองานศพจำนวนหนึ่งจะถูกยกให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดฯ ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะนำออกจำหน่ายเพื่อหารายได้ กับอีกส่วนหนึ่งก็ได้จัดส่งไปเป็นหนังสือแลกเปลี่ยนกับสถาบันวิชาการต่างประเทศ

………..

ประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ฉบับมาตรฐาน (หอพระสมุดฯ)

ด้วยอำนาจของการพิมพ์บวกกับตราประทับรับรองโดยหอพระสมุดฯ หนังสือที่จัดพิมพ์โดยการชำระสอบทานของหอพระสมุดฯ ได้สร้างมาตรฐานอันน่าเชื่อถือให้กับงานเหล่านั้น จากที่ก่อนหน้านี้อาจจะมีต้นฉบับที่แตกต่างกันอยู่เป็นร้อยเป็นพันสำหรับงานเรื่องหนึ่งๆ และแต่ละชิ้นก็แตกต่างจากชิ้นอื่นๆ ทั้งในแง่ภาษา รูปแบบการประพันธ์ ซึ่งผันแปรไปตามความต้องการของผู้แต่งและผู้ฟังในแต่ละท้องถิ่น

ถึงขณะนี้ “หนังสือฉบับหอพระสมุดฯ” ได้สร้างให้เกิดฉบับมาตรฐานขึ้นมาสำนวนหนึ่ง และเบียดขับกีดกันสำนวนอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น สำนวนเวสสันดร ชาดกเป็นจำนวนร้อยสำนวนที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ถูกมองข้ามและไม่ถูกนำมารวมไว้ในมหาเวสสันดรชาดก ฉบับที่หอพระสมุดฯ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2454 ดังนั้นงานที่ถูกพิมพ์โดยหอพระสมุดฯ ว่าเป็น “วรรณคดีไทย” จึงมาจากวรรณคดีของราชสำนักเกือบทั้งสิ้น

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในงานที่ตีพิมพ์โดยหอพระสมุดฯ คือคำนำ ซึ่งส่วนใหญ่เขียนโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในคำนำจะมีการอธิบายให้ผู้อ่านทราบถึงแบบแผนของการเขียน ผู้แต่งและวันเวลาที่แต่ง เหตุผลเบื้องหลังการแต่ง ที่มาของต้นฉบับ เหตุผลในการจัดพิมพ์ คุณค่าของงาน ฯลฯ คำนำเหล่านี้หลายชิ้นได้กลายเป็นงาน “คลาสสิค” ในตัวของมันเอง ถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกในฉบับตีพิมพ์ต่อๆ มา ผ่านคำนำเหล่านี้เองที่หอพระสมุดฯ ได้นิยามให้ผู้อ่านทราบถึงตำแหน่งแห่งที่ของงานเขียนนั้นๆ ภายในโลกใบใหม่ของ “วรรณคดีไทย” หรือ “ประวัติศาสตร์ไทย”

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับงานตีพิมพ์ของหอพระสมุดฯ คือ การถอดต้นฉบับตัวเขียนอื่นออกเป็นตัวเขียนไทย ซึ่งเป็นการยกสถานะความเป็น “ไทย” สำหรับงานเหล่านั้นให้สูงขึ้น ตัวเขียนที่ไม่ใช่ตัวอักษรไทยที่สำคัญอันหนึ่งคือ อักษรขอม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้กันมานานในแถบภาคกลางและภาคใต้ในงานเขียนทางศาสนา โดยข้อเท็จจริงแล้วงานส่วนใหญ่ที่ถูกหอพระสมุดฯ จัดให้เป็น “วรรณคดีไทย” และ “ประวัติศาสตร์ไทย” เดิมก็ถูกเขียนด้วยอักษรขอม แน่นอนว่าย่อมเป็นการไม่เหมาะสมที่จะพิมพ์ประวัติศาสตร์และวรรณคดี “ไทย” โดยใช้ตัวอักษรขอมที่นับวันจะถูกมองจากราชสำนักว่าเป็นตัวอักษร “ต่างประเทศ” จนมีความพยายามจากราชสำนักที่จะใช้อักษรไทยมาแทนที่

ใน พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ทรงสั่งให้พิมพ์คู่มือหนังสือสวดมนต์ฉบับมาตรฐานโดยใช้อักษรไทยเป็นครั้งแรก พิมพ์แจกจ่ายไปยังวัดทั่วประเทศจำนวน 1 หมื่นฉบับ ในคำนำมีคำอธิบายว่าจะอ่านภาษาบาลีที่เขียนด้วยอักษรไทยได้อย่างไร (เนื่องจากไม่มีการใช้อักษรไทยแปลบาลีมาก่อนหน้านี้) หลักหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในกระบวนการ “สร้างความเป็นไทย” ให้กับระบบการเขียน คือการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่เขียนด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2436

………..

สรุป

การก่อตั้งหอพระสมุดฯ ในกลางพุทธศตวรรษที่ 24 เกิดขึ้นท่ามกลางทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปของราชสำนักไทย ในเรื่องความสำคัญของความรู้ประเภทต่างๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงอันเดียวกับที่ผลักดันให้มีการจัดระบบการศึกษาสมัยใหม่ และความรู้ใหม่นี้มีเพื่อรับใช้มโนทัศน์เรื่องรัฐชาติที่กำลังก่อตัวขึ้น

ในยุคที่วาทกรรมเรื่อง “ความศิวิไลซ์” กำลังแพร่หลาย หอพระสมุดฯ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ที่จะแสดงให้มหาอำนาจอาณานิคมเห็นว่าสยามก็เป็นประเทศศิวิไลซ์ ที่มีจารีตทางวรรณคดีและประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ อย่างที่ประเทศศิวิไลซ์ประเทศหนึ่งควรจะมี หอสมุดถูกมองจากกษัตริย์และปัญญาชนราชสำนักว่า เป็นสถาบันสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของรัฐสมัยใหม่ และยังสัมพันธ์กับการที่ชนชั้นนำต้องการสงวนรักษามรดกทางวรรณคดีของชาติ ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว

หอพระสมุดฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างมาตรฐานของความรู้ผ่านการตีพิมพ์ และด้วยงานที่สะสมรวบรวมไว้อย่างไพศาลก็ทำให้ปัญญาชนชั้นนำอย่างรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และคนอื่นๆ สามารถที่จะนำมาผลิตงานที่กลายเป็นที่ยอมรับกันว่าได้แสดงออกถึง ซึ่งประวัติศาสตร์ วรรณคดีและวัฒนธรรมของชาติ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565