กำเนิดคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” และเพลงลูกทุ่ง “เพลงแรก”ของไทย

(ภาพจาก https://www.matichon.co.th )

เมื่อ พ.ศ. 2507 จำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการบันเทิงของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 นำเอา “เพลงตลาด” มาออกอากาศทางสถานีได้ตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และมีใช้ตามต่อเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน

จำนง รังสิกุล เมื่อครั้งเป็นผู้อ่านข่าววิทยุบีบีซี ประเทศอังกฤษ (ภาพจากhttps://www.matichonweekly.com)

แล้วก่อนหน้านั้น เราเรียก “เพลงลูกทุ่ง” ว่าเพลงอะไรกัน?

นคร ถนอมทรัพย์ (หรือ กุง กาดิน) ผู้อาวุโสในวงการผู้เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักจัดรายการวิทยุ อธิบายเรื่องนี้ว่า [1] “นักร้องสมัยนั้น ไม่มีคำว่า ลูกทุ่ง แนวใครก็แนวใคร อย่างเช่น คำรณ [สัมบุรานนท์] ร้องเพลงจะออกมาในแนวชีวิตแบบกระเทาะเปลือกสังคม ชีวิตชนชั้นกรรมาชน หรือไอ้เสือ ไอ้สาง งั้นก็เพลงโห่ เพลงพวกนี้จะไม่เรียกว่า ลูกทุ่ง แต่ถือว่าเป็น นักร้องเพลงชีวิต...

พ.ศ. 2498 ผู้ที่แบ่งประเภทนักร้องนั้เข้าใจว่าเป็น ป.วรานนท์ ตอนนั้นเขาเป็นนักจัดรายการชื่อดัง เขาเรียกนักร้องประเภท คำรณ [สัมบุรานนท์] สมยศ [ทัศนพันธุ์] พยงค์ [มุกดา] ว่าเป็น นักร้องตลาด เพลงตลาด โดยเจตนาเขาก็ไม่ได้หมายถึงต่ำต้อยอะไร มันกว้างขวาง ได้รับความนิยมย่างแพร่หลายมาก คือฟังกันได้ จะเข้าถึงชาวตลาด ชาวบ้าน…

ส่วนแนวของสุเทพ วงศ์กำแหงและ ชรินทร์ นันทนาคร นั้น เขาเรียกว้า เพลงผู้ดี แต่ถ้าเราเอาคำ 2 คำนี้มาพิจารณากัน เป็นเรื่องเสียความรู้สึกมาก เป็นการแบ่งชั้นไปเลย โดยเจตนาอาจไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพราะไม่รู้จะเรียกอะไร คำว่า “ลูกทุ่ง” ก็ยังไม่มี [เน้นโดยผู้เขียน]

สรุปได้ว่าก่อนเรียกว่า เพลงลูกทุ่ง เพลงชนิดนี้คือ เพลงชีวิต, เพลงตลาด

เหม เวชกร

ใน พ.ศ. 2532 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจัดงาน “กึ่งศตวรรษเพลงลุกทุ่งไทย” โดยนับจาก พ.ศ. 2481 ที่มีถือว่ามีเพลงลูกทุ่งเพลงแรกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและบันทุกไว้เป็นหลักฐาน คือ เพลง โอ้สาวชาวไร่” ซึ่งครูเหม เวชกร ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง เพื่อให้ คํารณ สัมบุณณานนท์ ขับร้อง เป็นเพลงประกอบการแสดงละครวิทยุ ซึ่งมีเนื้อร้องว่า

เพลง โอ้เจ้าสาวชาวไร่ [2]

โอ้เจ้าสาวเอ๋ย เจ้าสาวชาวไร่ ไปไหนกันหนอ ตัดผมกันคอ ดูละออสำอางตา ทุ่งกว้างร้างไกล จะเหลียวไปไหน วิเวกครวญหา วันนี้บุญตา พบเจ้าแม่นา ลงมาสู่ดิน

ทุ่งกว้างร้างแรม จะพากันแย้ม ชื่นแช่มไปสิ้น โฉมตรูยุพิน เยี่ยมถิ่นสุขา วันนี้ฤกษ์ดี เป็นศรีนักหนา เมื่อได้พบตา พบขวัญวิญญา พบเจ้าแม่นา ของท้องทุ่งเอย

โอ้เจ้าสาวน้อย ชะม้อยแล้วเลย เห็นแล้วทําเฉย เหมือนว่าไม่เคย แกล้งจะทําให้ช้ำทรวง พวกเราทั้งหลายเหมือนไม้ในกลวง กิ่งแห้งใบร่วงกิ่งเฉาเหงาง่วง พอพบเจ้าดวงกิ่งร่วงก็คลาย

โอ้เจ้าสาวศรี อย่ามีแหนงหน่าย เลือกฉันเอาไว้ เป็นเพื่อนร่วมตาย อยู่ข้างกายสักคน ตัวฉันคนยาก หวังฝากตัวตน แม้จิตใจจน แม้ว่าหน้ามน เมตตาสักคน พอได้รอดตาย


เชิงอรรถ

[1] นคร ถอนมทรัพย์ (เรื่อง). กองบรรณาธิการ (ถอดความ), “ความเป็นมาของเพลงลุกทุ่ง,” ใน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย, สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมห่งชาติ, กันยายน 2532

[2] “เพลงเกียรติศ,” ใน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย, สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมห่งชาติ, กันยายน 2532


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 3 เมษายน 2563