ที่มา | นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2540 |
---|---|
ผู้เขียน | สนอง คลังพระศรี |
เผยแพร่ |
หลายคนมักจะตั้งคำถามเช่นนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฟังหมอลำมาก่อน ส่วนผู้ที่ชื่นชอบหรือคุ้นเคยเป็นอย่างดี อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะฟังจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่ง “หมอลำกลอน” ถ้าไม่ร้อง โอละนอ แทบจะบอกได้เลยว่า นั่นไม่ใช่หมอลำกลอน ซึ่งเท่ากับเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นคำถามนี้
อันที่จริงคำว่า “โอนอ” หรือ “โอ้ละนอ” นั้นก่อนให้เกิดความสับสนแก่ผู้ฟังมานานแล้ว เนื่องจากคำว่า “โอ” นั้น ทำนองลำบางประเภทออกเสียงว่า “โอย” เช่น
ลำยาว (ลำล่อง) ร้องขึ้นต้นว่า “โอย…ละนอ ฟ้าเอ๋ยฟ้าฮ้องส่วยผู้ใดซวยแฮ่งเสียตื่ม”
ลำเพลิน ร้องขึ้นต้นว่า “โอยละหนอหละพี่เอ๋ย” หรือ “โอ้โอ่ยนอชาย”
ดังนั้น หลายคนจึงเข้าใจผิด เพราะหยิบเอาเฉพาะคำว่า “โอย” มาตีความ โดยลืมฟังคำต่อไปคือคำว่า “ละนอ” มาต่อท้าย ก็เลยกลายเป็นว่าภาคอีสานนั้นแห้งแล้ง ถึงขนาดหมอลำต้องร้องโอดครวญเป็นภาษาเพลง ทั้ง ๆ ที่ “โอย” คำนี้ มาจากคำว่า “โอยละนอ” หรือ “โอนอ”
เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ชอบเอาภาษาส่วนกลางเข้าไปจับภาษาถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดจากการตีความได้ง่าย
คำว่า “โอละนอ” มาจากไหน
นิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง มักจะใช้คำว่า “โอละนอ” หรือ “โอนอ” เมื่อกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับความรักหรือการเกี้ยวพาราสี เช่น
ขูลูนางอั้ว
โอนอ ปานนี้นางแพงแก้ว เถิงปรางค์ผาสาท
แม่แจ่มเจ้า สิกุมให้บ่าวลาง แลนอ
และ
โอนอ ขูลูท้าว ผัวขวัญหลายชาติอวนเอย
บาหากละน้องไว้ ทางพี้บ่คนิง แลนอ
แดงนางไอ่
โอนอ แพงแสนสร้อย เสมอตาตนพี่ เฮียมเอย
พี่ก็คิดฮอดน้อง ประสงค์ตั้งแต่งไฟ
แสนสิไกลเหลือล้น บ่มีคนไปใส่ก็ตามถ้อน
ใจหากคึดฮอดน้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น
ท้าวก่ำกาดำ
โอนอ เจ้าอย่าได้ลวงพางข่อย เสียแฮงอ้ายนั้นเนอ เจ้าคำเอ๋ย
เมื่ออี่พี่จักขัดอยู่แท้ การเจ้าบอกไป อุ่นเอ๋ย
โอนอ คำไขน้อยสีไวซู่พี่ อี้เฮียมเอ๋ย
น้องอย่ามีใหม่ซ้อน ลืมอ้ายขาดขวัญ น้องเอ๋ย
พระเชตพล
โอนอ พี่หากคิดเถิงเจ้า สายคอบ่ฮู้สว่าง อวลเฮย
วิบากเป็นกำพร้า ยินค้อยคั่งทวง
พี่นี้เป็นดั่งชาลีท้าว กัณหาพลัดแม่ วันนั้น
ก็บ่ปานพี่พรากน้อง เดียวนี้ดุ่งมา พี่นา
แม้แต่ประเพณีเกี่ยวกับความรัก เช่นประเพณีเกี้ยวสาวลงข่วง ก็ใช้คำว่า “โอนอ” นำหน้าบทพูด ที่เรียกว่า “คำผญา” เช่น
(ชาย) โอนอ อันว่าสุดที่ทางไกลล้ำ เดินทางมาถามข่าว
สุดที่คอยล่ำเยี่ยม หาน้องก็บ่เห็น อุ่นเอย
เจ้าก็นอนในห้อง แจเฮือนคอยถ้าพี่
แสนสิคิดฮอดน้อง นอนแล้วหากต่าวฝัน
(หญิง) โอนออ้ายเอย แนวหญิงนี้ คือกันกับดอกท่ม
ครันว่าอ้ายบ่หักไม้หมิ้น ดวงดั้วบ่หล่นลง ได้แล้ว
น้องนี้แนวนามเชื้อ สกุลญิงยศต่ำ
ญิงหากสุขอยู่ย้อน บุญสร้างพร่ำผัว
ต่อมาเมื่อภาษาพูดและภาษาวรรณกรรมถูกพัฒนามาเป็นภาษาเพลง คำว่า “โอนอ” ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบเพลง ดังคำ “ขับโคลง” ของหนุมาน ในนิทานเรื่องพระลักษณ์-พระราม (รามเกียรติ์) สำนวนเก่าของอีสานที่ว่า
“โอนอ มาเสียดายโพธิ์ศรีต้นลังกาบานแบ่ง เพื่อนเด
ง่าหากโปดจากต้นบ่มีเอื้อต่อลำ แลนอ
โอนอ มาเสียดายบุปผาต้นลังกาหอมอ่อน เพื่อนเด
บัดนี้ กาบฮ่วนแล้วใบซิเยี้ยมล่ำคอย นี้เด
โอนอ เมื่อก่อนกี้งูหากคาบกินกบ เดนอ
เทื่อนี้ บ่มีดาวอยู่อ้อมดูเส้าหม่นหมอง แลนา
เมื่อนั้น หุลละมานท้าวขับสาส์นแล้วอย่า
เนือด ๆ ฟ้อนบาท้าวอ่านโคง”
ดังนั้นคำว่า “โอนอ” หรือ “โอละนอ” จึงกลายเป็นธรรมเนียมการเกริ่นนำขึ้นเพลงเฉพาะกลุ่มภาษาตระกูลลาวล้านช้าง เช่น ไทยภาคอีสาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เลยไปจนถึงเขตมณฑลยูนนาน ตอนใต้ประเทศจีน เช่น
ขับทุ้มหลวงพระบาง (ประเทศลาว)
“โอ้นอ โอ้นอ น้องเอย หนอน้องนอ ตูมดอกนอเดือนเต้า
เมียบ่หนี อกสินวลสิไลแล้ว บ่หนีทางพระเนอน้อง
สิคึดต่อ อ้ายตายนำเด้อ น้องเอย…”
ขับงึ่ม (ประเทศลาว)
“โอนอ มาอิดูโตนเด อกสิเพแตกแลง คำแพงเอย
อันแม่นว่า บ่แม่นหน่ายหลดตั้งแก้งแปลงล้อมพระนาง คิงบางเอย…
บัดนี้เจ้าผู้ก้อนน้ำล้าง ฮูปฮางเสมอเขียน
ขอเป็นดาวเดือนเพ็งแต่งลงยามสิย้อย
อันแม่นว่าสาธุเนอขอให้เป็นของข้อยบัวผันไคแน พี่น้องเอย
คันได้เป็นแท้ ๆ ตนน้องก็บ่แหนงสังแล้ว…”
ขับขึ้นเมืองลา (มณฑลยูนนาน)
“โอยแหละโอยนอ นางเอยนางเอย” หรือ “โอย โอยนอ ชายเอยชาย”
ขับปุลาง (มณฑลยูนนาน)
“โอ่ยนอ…”
ลำสาละวัน (ประเทศลาว)
“โอนอ จิตระวังใจระเว อกสิเพแตกแล่ง โอ…โอย แพงนางเอย
โอนอ น้องหล่ากะวิงน้องอยู่บ่แล้ว แก้วอยู่หว่างใจอ้ายนา”
ลำผญา (อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร)
“โอนอ มักไถด้ำหรือไถคน นาโนนหรือนาต่ำ แม่ซิตำฮากไม้ไถบักอ้ายซิรับรอง”
ทำไมหมอลำต้อง “โอ้ละนอ”
จากกลอนลำและคำขับทั้งหมด พอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมหมอลำต้อง “โอละนอ” หรือ “โอนอ” โดยเฉพาะหมอลำกลอน ทั้งนี้เพราะ
(1) เป็นการเกริ่นนำ เพื่อบอกกล่าวคู่ลำหรือคู่ขับ ก่อนที่จะร้องกล่าวถ้อยคำต่อไป (เดินกลอน)
(2) เป็นการตั้งเสียง (Tune) ระหว่างเสียงหมอลำและเสียงแคนให้อยู่ใน “ลาย” (Mode) เดียวกัน ไม่เช่นนั้น เสียงลำอาจจะเพี้ยน คือร้องไม่เข้ากับเสียงแคนได้
(3) เป็นการอวดน้ำเสียงของหมอลำแต่ละคน ว่าใครจะเสียงดีกว่ากัน เพราะในช่วงขึ้นต้นว่าโอละนอ หมอลำสามารถเอื้อนเสียง หรือ “เล่นลูกคอ” ได้อย่างเต็มที่
(4) เป็นการรักษารูปแบบคำ ที่ใช้แสดงออกเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวก่อนที่จะพัฒนามาเป็นภาษาเพลงดังเช่นปัจจุบัน
(5) แสดงถึงอัตลักษณ์ทางด้านภาษาเพลงพื้นบ้านตระกูลลาวล้านช้าง
ปรับปรุงแก้ไขในระบบออนไลน์เมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562