คนไทยด่ากันว่า “เหี้ย” ตั้งแต่เมื่อใด ย้อนดูคติความเชื่อ ทำไมคนจึงเกลียดเหี้ย?

จิตรกรรม ฝาผนัง วัดคงคาราม เหี้ย พระยาเหี้ย ช่วย พระปทุมกุมาร
จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร

“เหี้ย” เป็นสัตว์ที่คนไทยนำมาใช้เป็นคำด่าหรือสบถ ปฐมเหตุมาจากพฤติกรรมขี้ขโมยของเหี้ย (ดังจะกล่าวต่อไป) จนต่อมาพัฒนากลายเป็นคำที่มีความหมายไม่ดีอยู่ในตัว คำว่าเหี้ยจึงกลายเป็นคำอัปมงคล จึงมักให้เรียกว่า “ตัวเงินตัวทอง” เพื่อแก้เคล็ด เช่นเดียวกับให้เรียก “แร้ง” ว่า “พญาหงษ์ทอง”

คนรังเกียจเหี้ยมาแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ แต่น่าจะนานหลายร้อยปีมาแล้ว ดังมีสำนวน “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” เกลียดตัว หมายถึง คนเกลียดเหี้ย, กินไข่ หมายถึง คนกินไข่เหี้ย คนเกลียดเหี้ย แต่ก็ลักไข่เหี้ยมากินนั่นเอง ในสังคมไทยสมัยก่อนกินไข่เหี้ยกันเป็นปกติ

ในอดีตจะถือคติว่าเหี้ยเป็นสัตว์อุบาทว์ หากเหี้ยเข้าบ้าน หมายถึง ความวิบัติฉิบหายที่จะมาถึง ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ที่หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เป็นผู้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 ได้บัญญัติคำว่า “เหี้ยขึ้นเรือน” ไว้ โดยอธิบายว่า “คือเหี้ยมันมาขึ้นเรือน, เขาถือว่าจะถึงความฉิบหายแห่งทรัพย์นั้น.”

ในคัมภีร์อภิโพไธยุบาทว์ระบุว่า เหี้ยขึ้นเรือนนับเป็นอุบาทว์อย่างหนึ่ง (โดยนอกจากเหี้ยแล้ว ยังมี แร้ง, งู, ตะกวด, นกเค้า, นกยาง, หมาจิ้งจอก, รุ้ง, ผึ้ง, เต่าขวานฟ้า, และสัตว์ป่าทั้งปวง) ถ้าเข้าทางทิศตะวันออก ทรัพย์สินและบุตรจะฉิบหาย, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไฟจะไหม้เรือน, ทิศใต้ ตัวจะตาย หรือเจ็บปางตาย, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ โจรจะลัก, ทิศตะวันตก จะได้ลาภ ถ้าเป็นชายจะได้ภรรยา ถ้าเป็นหญิงจะได้สามีอันพึงใจ, ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะจำเริญสุข, ทิศเหนือ จะได้ลาภ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ท้าวพระยาจะยกย่องและบูชา

อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ดังกล่าวระบุวิธีแก้เอาไว้ว่า หากเหี้ยขึ้นเรือน ให้บูชาด้วยเหล้า, ข้าว และธูปเทียน ก็จะได้ลาภอันพึงพอใจ

เหี้ยถูกนำมาใช้เป็นคำด่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นอย่างน้อย ในวชิรญาณวิเศษ เล่ม 7/9 แผ่นที่ 1-51 ตุลาคม ร.ศ. 110 – ตุลาคม ร.ศ. 111 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำด่าว่าเหี้ย สรุปได้ดังนี้

– เหี้ย เป็นกิริยา หมายถึงการทำหน้าไม่ปกติ เพราะความกระดากประกอบกับความจนใจ แก้ไขไปไม่รอด ทำท่าแหะ ๆ อยู่เช่นนั้นก็เรียกว่าเหี้ย

– เหี้ย ใช้เรียกผู้ที่ทำให้ที่พักอาศัยสิ้นทรัพย์ไปฉิบหายไป เมื่อคนบางคนจะกล่าวโทษหรือด่าทอ ก็มักกล่าวว่าเหี้ย

– เหี้ย เป็นคำเปรียบเอาไว้เรียกชื่อคนร้ายคนชั่ว ดังคำว่า “อ้ายเหี้ย” เพราะเชื่อกันว่า เหี้ยเป็นสัตว์อุบาทว์อย่างหนึ่ง ถ้าเข้าบ้านเรือนใครก็เป็นอุบาทว์จัญไร

– เหี้ย ใช้เป็นคำด่า เมื่อสัตว์ประเภทใดเข้าบ้านแล้วทำเรื่องฉิบหาย ก็เรียกว่าเหี้ย

(ภาพจาก www.matichon.co.th)

เมื่อประมวลข้อมูลจากวชิรญาณวิเศษก็ทำให้เห็นว่าคนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความเชื่อว่าเหี้ยเป็นสัตว์อุบาทว์จัญไร เข้าบ้านไหนก็ฉิบหายบ้านนั้น แล้วเหตุใดเหี้ยจึงเข้าบ้านคน?

ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของเหี้ยเสียก่อน เหี้ยเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์เช่นเดียวกับคน คือตามแหล่งน้ำทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำ ลำคลอง บึง ร่องสวน แม้กระทั่งป่าชายเลนที่ติดทะเล คนสมัยก่อนอาศัยอยู่ตามเรือนแพ และสัญจรทางน้ำเป็นหลัก มิได้นิยมทางบกเช่นปัจจุบัน ส่วนแหล่งหากินของเหี้ยก็อยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของคน และอาหารของเหี้ยก็เป็นอาหารชนิดเดียวกับที่คนกิน เช่น เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำนานาชนิด ฉะนั้น เหี้ยกับคนจึงมีความใกล้ชิดกันมากระดับหนึ่ง และก็เป็นสาเหตุที่เหี้ยมักจะชอบเข้าบ้านคนเสมอ

แต่ที่เหี้ยกลายเป็นสิ่งอุบาทว์ อัปมงคล ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์ของคน ก็พิจารณาได้จากพฤติกรรมของเหี้ย กล่าวคือ เหี้ยมีพฤติกรรมการกินอันเป็นที่รังเกียจสำหรับคน คือ หนึ่ง นิสัยขี้ขโมย เหี้ยชอบลักของชาวบ้านไปกิน ไม่ว่าจะเป็น เป็ด ไก่ ของสด ๆ คาว ๆ และสอง คือ เหี้ยชอบกินของเน่าเหม็น รวมถึงซากสัตว์ นอกจากนี้ เหี้ยมีพฤติกรรมอยู่อาศัยตามพงไม้ ที่รกชื้น แฉะ และเต็มไปด้วยโคลนตม เหี้ยจึงเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยสะอาดในสายตาของคน

แต่หากเหี้ยเข้าบ้านใคร นั่นย่อมเป็นสัญญาณเตือนจากเหี้ย เพราะนั่นหมายความว่า บ้านหลังนั้นอาจจะเริ่มสกปรก รกรุงรัง จนเหี้ยไปเดินเพ่นพ่าน คิดว่าเป็นแหล่งหากิน หรือแหล่งอาศัยของมันก็เป็นได้ คนสมัยก่อนที่ถือคติว่าเหี้ยเข้าบ้านต้องทำบุญล้างซวย หรือประกอบพิธีกรรมแก้เคล็ดอะไรก็ตามแต่ ในทางหนึ่งก็เป็นกุศโลบายเพื่อให้เจ้าของบ้านเจ้าของเรือนรีบปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเสียใหม่

เหี้ยเข้าบ้าน อาจไม่ใช่เรื่องของดวงชะตาหรือผีสางเทวดาทายทัก แจ้งเตือนถึงความฉิบหายที่จะมาเยือน แต่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า บ้านของท่านกำลังสกปรกเต็มที

เห็นได้ว่า คำว่าเหี้ยในอดีตจะใช้ด่ากันในทางเสียหาย หรือสบถในเชิงลบ เพราะคติความเชื่อเรื่องเหี้ยฝังรากอยู่ในสังคม จนเมื่อสังคมวิวัฒน์ บ้านเมืองพัฒนา คติความเชื่อเช่นนั้นคลายตัวลง ขณะที่เหี้ยเองก็เริ่มลดน้อยลง ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกรุกล้ำ จึงไม่พบเห็นเหี้ยโดยง่ายเหมือนสมัยก่อน คำว่าเหี้ยจึงถูกนำมาใช้ในหลากหลายบริบทมากขึ้น

เช่น “ญาญ่าสวยเหี้ย ๆ”  คำว่าเหี้ยในที่นี้กลายเป็นคำขยายว่าผู้หญิงคนนี้สวยมาก, “ไอ้เหี้ย” เมื่อเพื่อนสนิทใช้กล่าวเป็นคำทักทายแสดงความสนิทสนม เหมือนกับการทักทายด้วยคำว่า “อีดอก” หรือคำสบถอย่าง “เชี่ยไรเนี่ย” ที่แผลงมาจาก “เหี้ยอะไรเนี่ย” อาจใช้เป็นคำสบถเชิงงุนงงสงสัย เทียบได้กับคำว่า “อิหยังวะ” แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบท และน้ำเสียง

แม้คำด่าว่า “เหี้ย” จะมามีปฐมเหตุมาจากพฤติกรรมของเหี้ย มาจากวิถีชีวิตของเหี้ย ผสานกับทัศนคติของคนที่มองรูปลักษณ์ของมันว่าน่าเกลียดน่ากลัว เหี้ยจึงถูกทำให้เป็นสัตว์อัปมงคล ทั้งที่มันก็ใช้ชีวิตของมันตามสภาพ วันดีคืนดีถูกเอามาใช้เป็นคำด่า มาใช้เป็นนิยามของสิ่งไม่ดีทั้งหลาย โถ่…น่าสงสารเหี้ยๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (2558). วชิรญาณวิเศษ เล่ม 7/9 แผ่นที่ 1-51 ตุลาคม ร.ศ. 110 – ตุลาคม ร.ศ. 111. เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565, จาก http://digital.nlt.go.th/items/show/14993.

Dan Beach Bradley. (2514). อักขราภิธานศรับท์. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว : กรุงเทพฯ.

ภาษิต จิตรภาษา. (กันยายน, 2539). ประสบการณ์เกี่ยวกับเหี้ย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 : ฉบับที่ 11.

คำตอบจากสัตว์ชื่อเหี้ย. (กรกฎาคม, 2533). สารคดี. ปีที่ 6 : ฉบับที่ 65.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2565