เหี้ย สัตว์อัปมงคล แต่ทำไมสมุทรปราการ ใช้เป็นชื่อแม่น้ำ-วัด-อำเภอ

เหี้ย
(ภาพโดย Kolbusz ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0)

เหี้ย เป็นสัตว์ที่คนรังเกียจ หาว่าเป็นสัตว์อัปมงคล แต่ทำไม สมุทรปราการ มีแม่น้ำ-วัด-อำเภอชื่อ “บางเหี้ย”

“เหี้ย” ในสายตาคนไทยส่วนใหญ่ถือว่าเป็น สัตว์อัปมงคล ยิ่ง ยิ่งเป็นคน(หัว)โบราณแล้วล่ะก็ ถ้าเหี้ยเข้าบ้าน ก็ต้องทำบุญขจัดเสนียดกันเลยทีเดียว หลายคนจึงเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน เช่น ตัวเงินตัวทอง, ตัวกินไก่ ฯลฯ ล่าสุดหลายปีก่อนมีผู้เสนอให้ใช้คำว่า “วรนุช” แทน

สาเหตุของเรื่องนี้น่าจะเป็นเหตุผลทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ ทั้ง แม่น้ำ, วัด และอำเภอ ที่ชื่อว่า “บางเหี้ย” ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ลักษณะทางกายภาพ อำเภอบางบ่อ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีคลองต่างๆ จำนวนมาก ทางทิศใต้ของอำเภอติดกับอ่าวไทย อดีตที่ผ่านมาก่อนการขยายของเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนในพื้นที่ทำนา, ทำสวน, เลี้ยงปลา, เลี้ยงกุ้ง ฯลฯ

นับว่ามีสภาพแวดล้อมดี อาหารอุดมสมบูรณ์ ซึ่งที่ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่ชอบ เหี้ยก็ชอบ

เมื่ออ่านพฤติกรรมของเหี้ย ที่สานุกรมสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายไว้ว่า เหี้ยเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ที่ไม่เลือกอาหาร กินทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ สัตว์ปีก เช่น ไก่ นก ปลา กบ เขียด หนู กินได้ทั้งของสดและของเน่า ชอบอยู่ใกล้น้ำว่ายน้ำ ดำน้ำเก่ง และขึ้นต้นไม้เก่งด้วย

ก็สรุปได้ว่าพื้นที่กับพฤติกรรมชีวิตเหี้ยนั้นต้องจริตกันมาก

ก่อนจะกล่าวล่วงไป ขอแนะนำอำเภอบางเหี้ย, วัดบางเหี้ย และแม่น้ำบางเหี้ย สักนิด สำหรับอำเภอบางเหี้ย และแม่น้ำบางเหี้ย นั้น ส.พลายน้อย อธิบายไว้ดังนี้

“แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำโบราณ คลองสําโรงมาบรรจบกับแม่น้ำนี้ตรงที่ว่าการอําเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อความเข้าใจและเป็นหลักฐานว่าชื่อแม่น้ำบางเหี้ยเคยเป็นชื่ออําเภอจะขอกล่าวถึงความเป็นมาไว้ด้วย ในสมัยโบราณทั้งคลองสําโรงและแม่น้ำบางเหี้ย น้ำทะเลจะเข้าถึงตลอดทั้งปี ทําให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องหาแหล่งน้ำจืดบริโภค…

ครั้นถึง ร.ศ. 116 [พ.ศ. 2440] ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ มีการตั้งที่ว่าการอําเภอชั่วคราวที่บ้านคอลาด แล้วต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอําเภอมาตั้งที่ตําบลบางบ่อ ตรงที่คลองสําโรงกับแม่น้ำบางเหี้ยมาบรรจบกัน ต่อมาย้ายที่ว่าการอําเภอไปตั้งที่ตําบลบางพลีน้อย เมื่อ พ.ศ. 2443 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอําเภอบางเหี้ยตามชื่อแม่น้ำ จนถึงวัน ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ในรัชกาลที่ 7 จึงเปลี่ยนชื่ออําเภอบางเหี้ยเป็นอําเภอบางบ่อ” [เน้นโดยผู้เขียน]

ส่วนวัดบางเหี้ย หรือบางท่านเรียกว่าวัดบางเหี้ยนอกบ้าง, วัดบางเหี้ยล่าง นั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดนี้มีเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่ง คือ หลวงปู่ปาน วัตถุมงคลของท่านที่ขึ้นชื่อ “เขี้ยวเสือ” ในปัจจุบันมีงานนมัสการหลวงปู่ปาน ประจำทุกปี ในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12

ปัจจุบันแม่น้ำ, วัด และอำเภอดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วทั้งหมดดังนี้ อำเภอบางเหี้ย-อำเภอบางบ่อ, วัดบางเหี้ย-วัดมงคลโคธาวาส และแม่น้ำบางเหี้ย-คลองด่าน อาจเพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองว่าเหี้ยเป็น “สัตว์อัปมงคล”

กลับมาที่สาเหตุการเปลี่ยนชื่อ คงเป็นการเปลี่ยนตามชื่ออําเภอ เมื่ออำเภอตั้งอยู่ที่ตําบลบางบ่อ มีสถานีตํารวจภูธรเรียกว่า สถานีตำรวจภูธรบางบ่อ แต่ประชาชนในเวลานั้นนิยมเรียก “อำเภอบางเหี้ย” มากกว่า “อำเภอบางบ่อ” ชื่ออําเภอและชื่อสถานีตํารวจภูธรไม่ตรงกัน ทางการก็ตั้งให้ตรงกันเพื่อความสะดวก

แต่ถ้าวันนี้ยังไม่เปลี่ยนชื่อ แล้วใช้ชื่อขึ้นป้ายว่าหน้าที่ว่าอำเภอ หรือสถานีตำรวจภูธร ฟังแล้วก็คงแสลงพิลึก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สานุกรมสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.zoothailand.org

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2522

ส.พลายน้อย. แม่น้ำลำคลอง, สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2555

เหรียญมงคล 77 จังหวัด, กองบรรณาธิการข่าวสด, สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2553

สมชาย ชัยประดิษฐรักษ์. ย้อนตำนาน สมุทรปราการ, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) นายเอี่ยม ยังตรง 3 พฤศจิกายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2563