อะไรเป็นเหตุให้คนไทย รังเกียจ “เหี้ย” !?!

เหี้ย ตัวเงินตัวทอง
ตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง (photo by Erik_Karits, via pixabay.com)

เหตุไฉน คนไทย จึงต้องตั้งข้อรังเกียจ “เหี้ย” นักหนา ถึงขนาดหากมันเข้าหรือขึ้นไปเพ่นพ่านที่เรือนชานใคร โบราณท่านว่าเป็นอัปมงคลร้ายกาจ ถึงกับต้องทำบุญเลี้ยงพระขับเสนียดกันทีเดียว คงเป็นผลจากการที่มันเคยทำผิดคิดชั่วไว้แต่ปางก่อน ว่ากันไปแล้วยังมีสัตว์อื่นที่มีพิษสงร้ายกาจกว่ามันเป็นหลายเท่า แต่กลับไม่เป็นที่เดียดฉันท์เท่าตัวเหี้ย

“เหี้ย” สัตว์ที่คนไทยรังเกียจ

เคยได้ยินญาติผู้ใหญ่กล่าวเปรียบเทียบบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาจะให้เข้าบ้านว่า ชาติเหี้ยหางแดง แร้งตีนสั้น เข้าที่ไหนก็จังไรที่นั่น พิเคราะห์ถึงเค้ามูลที่ เหี้ย กับ อีแร้ง จะกลายเป็นสัตว์ต้องห้ามและน่ารังเกียจนั้น คงเป็นเพราะสัตว์ 2 จำพวกนี้ชอบกินของสกปรกจำพวกซากศพ

สมัยก่อนท่านฝังผีไว้ตามป่าช้ารกชัฏ ตัวเหี้ยก็ชอบอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย ขึ้นชื่อว่าซากศพแล้วมนุษย์เห็นเข้าก็สยอง ไม่มีใครอยากเห็นหรือเฉียดกรายเข้าไปใกล้ ตัวเหี้ยซึ่งกินซากศพจึงถูกใส่ร้ายป้ายความชั่วว่ามันเป็นตัวอัปรีย์ น่ากังขาว่าทำไมตัวเหี้ยจะต้องหางแดงด้วย หางด่าง หางดำ ไม่ได้หรือ ชะรอยว่าเจ้าสัตว์ชนิดนี้เมื่อวันอายุมากขึ้น ช่วงหางคงจะออกสีแดงๆ กระมัง ถ้ากระนั้นตัวเหี้ยรุ่นเยาว์ที่หางยังไม่เปลี่ยนสีคงจะเป็นที่น่ารังเกียจน้อยกว่าเหี้ยอาวุโส

เรื่องเหี้ยมีถิ่นทำเลอาศัยแถวป่ารกใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะป่าช้ายุคเก่าทำให้เป็นที่มาของเรื่องผีๆ สางๆ ที่ชาวบ้านเข็ดขยาด เคยได้ฟังผู้ใหญ่เล่าว่า เมื่อสัก 50-60 ปีมาแล้ว สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าสว่างไสวเหมือนเดี๋ยวนี้ มีวัดแห่งหนึ่งกลางสวนย่านฝั่งธนฯ ทางเดินแคบๆ ระหว่างวัดไปยังหมู่บ้าน รกเรื้อ ร่มครึ้มไปด้วยเงาไม้นานาชนิด ที่สำคัญคือต้องผ่านต้นไทรใหญ่ริมคลองไม่ไกลจากป่าช้า ก็ที่ต้นไทรนี้เองผู้คนต่างครั่นคร้าม ยามค่ำคืนไม่มีใครกล้าผ่าน ผีดุนักเคยสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้ชาวบ้านประจักษ์จนขนพองสยองเกล้ามานับครั้งไม่ถ้วน อาการที่เจ้าผีร้ายหลอกหลอนแบบซ้ำๆ ซากๆ คือ มันจะกระโดดจากกิ่งไทรลงไปในคลอง แบบน้ำกระจายให้เห็นจะจะ กลางวันมันก็ไม่หลอก

อยู่มามีกระทาชายบ้ากัญชานายหนึ่ง อยากจะลองดีกับเจ้าปีศาจในคืนเดือนแรม ฉวยได้มีดดาบหัวปลาหลดตรงไปที่ต้นไทรผีสิง ร้องด่าโขมงโฉงเฉง ท้าทายให้เจ้าผีร้ายปรากฏตัว ประเดี๋ยวหนึ่งกิ่งไทรก็ไหวยวบยาบ พอเสียงดังแกร๊กๆ เจ้าบ้ากัญชาแทบหายเมา หลับหูหลับตาหวดมีดดาบในมือออกไปอย่างสุดแรงเกิด ปลายดาบกระทบกับอะไรบางอย่างเสียงดังฉับ แล้วมีเสียงของหนักๆ ตกลงในน้ำตูมใหญ่

เจ้าบ้ากัญชาเผ่นแน่บไปรายงานชาวบ้านว่าเพิ่งเอาดาบฟันถูกผีมาเมื่อตะกี้นี้เอง พอรุ่งเช้าชาวบ้านพากันไปพิสูจน์ ได้เห็น “หางเหี้ย” ยาวเกือบ 2 ศอกขาดตกอยู่ ตั้งแต่นั้นมาผีร้ายก็ย้ายที่สิงสถิต ไม่มาหลอกหลอนชาวบ้านให้หวาดผวาอีก น่าสงสารที่มันต้องกลายเป็นผีหางด้วนไปตลอดชีวิต

ขนมไข่เหี้ย ที่บางคนเรียกเป็น “ขนมไข่หงส์” (ภาพจาก www.matichonacademy.com)

สังคมไทยในวันนี้ไม่ฝังผีในป่าช้าเหมือนเมื่อก่อน เหี้ยหมดโอกาสที่จะขุดซากศพขึ้นมากิน แต่มันก็ยังเป็นที่รังเกียจของเหล่ามนุษย์ ไม่ปรารถนาแม้แต่จะเอ่ยถึงชื่อมัน เมื่อจำเป็นต้องกล่าวถึงก็ตั้งชื่อให้มันใหม่ว่า “ตัวเงินตัวทอง” แม้แต่ชื่อขนมไข่เหี้ยที่คุ้นเคยเรียกขานกันมานับร้อยปี คนยุคนี้ยังรับไม่ได้เรียกใหม่ว่า “ไข่หงส์” แต่อย่างไรเสียชื่อเดิมของ “ตัวเงินตัวทอง” ก็ยังคงเป็นที่นิยมนำมาเปรียบเปรยกับคนบางจำพวก ประเด็นนี้ต้องถือว่ามันได้รับเกียรติเลื่อนชั้นจากสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาเทียบคน

เหตุผลที่คนไม่รักเหี้ยดังว่ามานั้น เป็นข้อสันนิษฐานส่วนตัว ผิดหรือถูกยังหาข้อสรุปไม่ได้ เอาเป็นว่าถึงวันนี้ เหี้ยก็ยังต้องรับเคราะห์กรรมถูกเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของความระยำอยู่ร่ำไป ก็แลพฤติกรรมและรูปลักษณ์แปลกๆ ของสัตว์หลายชนิด มักมีนิทานเล่าประกอบอยู่เสมอ เหี้ยก็หาได้น้อยหน้าใครอื่นไม่ มีนิทานอธิบายถึงความเป็นมาว่า ทำไมมนุษย์จึงรังเกียจมันนัก

เหี้ยในวรรณคดี-ชาดก

ราวๆ ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กวีระดับผู้ดีรัตนโกสินทร์ท่านหนึ่งพาภรรยากับบ่าวไพร่ไปไหว้พระบาท แล้วเลยไปเที่ยวถ้ำวิมานจักรีซึ่งอยู่ใกล้ๆ พระพุทธบาท สระบุรี กวีผู้ดีนิรนามท่านนั้นได้แต่งเพลงยาวเรื่อง “เที่ยวถ้ำวิมานจักรี” เนื้อหาเป็นการชมนกชมไม้ และตอบคำถามภรรยาซึ่งเป็นคนขี้สงสัย คราวหนึ่งภรรยาจริตดกไปเจอเหี้ยเข้า ตกใจวิ่งไปถามสามีกวีชาวกรุงว่าตัวอะไร

แม่ทิมร้องว้ายว้ายฉันตายจริง   มันจะวิ่งไล่กัดฉวัดแฉว

จะเป็นแรดฤๅกระทิงมันยิ่งแล   อยู่นั่นแน่คอยมองจ้องเข้ามา

แม่ทิมภรรยาสุดที่รักของกวีดูเป็นคนช่างฉอเลาะไม่เบา เห็นเหี้ยเป็นแรดเป็นกระทิงไปได้ กวีนิรนามสาธยายไว้ในเพลงยาวถึงปฐมเหตุที่ห้ามสมาคมกับเหี้ยว่า แต่โบราณนานโพ้นมีฝูงตุ๊ดตู่ (ตุ๊กแก) อาศัยอยู่ที่โพรงไม้ในป่าใหญ่อย่างสุโข ต่อมามีเหี้ยตัวหนึ่งไร้ที่พักพิงไปอ้อนวอนขออาศัยอยู่ด้วย ตุ๊ดตู่สงสารจึงรับไว้ วันหนึ่งนายพรานป่าเดินผ่านมา เหี้ยสำคัญตนผิดคิดว่าเป็นจระเข้ก็รี่จะเข้าทำร้าย พรานตีเหี้ยจนกะปลกกะเปลี้ยหนีเข้าโพรง พรานโกรธจัดจึงปิดปล่องโพรงด้านบนแล้วสุมไฟด้านล่าง เป็นเหตุให้ตุ๊ดตู่เจ้าของบ้านพากันตายยกครัว

ในปักรณัมตำนานที่นนทุก  เรื่องสนุกมีมาว่าขันขัน

ว่าโพรงไม้ใหญ่นักหนาในป่าวัน  มีตุ๊ดตู่อยู่ในนั้นสักแสนปลาย

พรานเห็นเป็นไม่ทำไมมา  มิได้ฆ่าตุ๊ดตู่หมู่ฉิบหาย

อยู่มานานลูกหลานก็มากมาย  นับได้หลายสิบปีอยู่ดีมา

วันหนึ่งไซร้อ้ายเตี้ยเหี้ยจังไร  มาอาศัยกับตุ๊ดตู่ขออยู่หนา

แต่อ้อนวอนอ่อนใจไหว้วันทา  จนเวทนาใจตุ๊ดตู่ให้อยู่ไป

จนวันหนึ่งพรานป่ามาถึงนั่น   เหี้ยก็ดั้นดื้อโดดออกโลดไล่

ว่าข้าก็จระเข้คะเนใจ   เข้าฟาดหางผางไล่ที่ท้องทาง

พรานไม่หนีตีเหี้ยจนเปลี้ยง่อย  เหี้ยก็ถอยวิ่งเข้าโพรงทำโผงผาง

พรานก็ปิดมิดปล่องทุกช่องทาง  ทั้งโพรงล่างโพรงบนตามต้นกลวง

แล้วก่อไฟใส่โขมงที่โพรงล่าง  ลุกสว่างกองไฟก็ใหญ่หลวง

ร้อนตลอดยอดกระทั่งรังกระทรวง  ตุ๊ดตู่ร่วงนับแสนแน่นลงมา

ทั้งลูกหลานผลาญฉิบหายตายลงเสีย  เพราะคบเหี้ยอยู่ให้อาศัยหนา

ตุ๊ดตู่ให้เหี้ยอาศัยจึ่งมรณา  เรื่องอย่างนี้พี่ว่าจงแจ้งใจ

ในเพลงยาว “เที่ยวถ้ำวิมานจักรี” อ้างว่า ตำนานเรื่องห้ามคบเหี้ยเข้าบ้านนั้นมีที่มาจาก “นนทุกปกรณัม” อันเป็นนิทานสันสกฤตซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้เขียนตรวจสอบในนนทุกปกรณัม ฉบับพิมพ์เมื่อปีขาล พ.ศ. 2469 พบว่าตำนานเหี้ยแผลงฤทธิ์อยู่ในนิทานที่ 34 เรื่อง “เศวตโคธา” เนื้อหาเป็นนิทานสั้นๆ ดังนี้

“ว่ามีเนสาทผู้ 1 ชื่อสัญชีพ มีเคหฐานสถิตอยู่ในอรัญวิสัย เปนแว่นแคว้นกรุงปาตลีบุตรมหานคร เนสาทนั้นด้อมด้ามตามยิงมฤคในป่ามาขายเลี้ยงชีพเปนนิจนิรันตร์

วันหนึ่งเนสาทไปมิได้พบหมู่มฤค เลยเหลียวเห็นเศวตโคธา คือเหี้ยเผือกตัวหนึ่งชื่อรตกะขึ้นมา เนสาทก็ไล่แล่น เศวตโคธาก็แล่นเข้าในโพรงพฤกษ์ตะเคียนใหญ่ต้น 1 แลโพรงพฤกษ์นั้นเป็นที่อยู่แห่งหมู่ตุดตู่ทั้งหลาย นายเนสาทสัญชีพชูคบเพลิงเผาเข้าในโพรงพฤกษ์นั้น ตุดตู่ก็พลอยมรณะด้วยเศวตโคธาสิ้น”

จะเห็นว่าเหี้ยในนนทุกปกรณัมไม่ได้แผลงฤทธิ์เดชอะไรเลย นายพรานล่าเนื้อไม่ได้ ไม่อยากกลับบ้านมือเปล่า ได้เหี้ยสักตัวก็ยังดี แต่กวีผู้แต่งเพลงยาวเรื่องเที่ยวถ้ำวิมานจักรีนำเค้าไประบายสีจนเหี้ยกลายเป็นสัตว์ระยำ น่าสงสารแท้ๆ

ศัพท์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเรียกเหี้ยว่า “โคธ”  หรือ “โคธา” ในวรรณคดีอินเดียโบราณกล่าวถึงชื่อแม่น้ำสายหนึ่งคือโคธาวารี แปลตรงๆ ว่า แม่น้ำเหี้ย ทำนองเดียวกับในประเทศไทยมี “บางเหี้ย” แสดงว่าทั้งบริเวณแม่น้ำโคธาวารีและบางเหี้ยแต่ดั้งเดิมคงจะมีสัตว์เจ้าของนามอาศัยอยู่ชุกชุม คนอินเดียในอดีตยอมรับที่จะใช้คำว่า “โคธา” เช่นเดียวกับคนไทยโบราณยอมรับที่จะใช้คำว่า “เหี้ย” อย่างไม่ตะขิดตะขวง

เหี้ยไม่ใช่สัตว์ที่พึงรังเกียจ พระพุทธเจ้าของเราแต่ปางก่อนก็เคยเสวยพระชาติเป็นเหี้ย

ชาดกเรื่องที่ 138 โคธชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเหี้ย จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร ธนบุรี

ในนิบาตชาดก หมวดเอกนิบาต ชาดกเรื่องที่ 138  โคธชาดก มีเรื่องย่อว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเหี้ยโคธบัณฑิตอาศัยในจอมปลวกใกล้อาศรมของพระดาบสผู้สัมมาปฏิบัติ ทุกวันพระโพธิสัตว์จะเข้าไปสู่อาศรมเพื่อสดับธรรม ต่อมาดาบสตนนั้นย้ายไปอยู่ถิ่นอื่น มีดาบสทุศีลอีกตนหนึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในอาศรมนั้นแทน วันหนึ่งชาวบ้านปรุงอาหารจากเนื้อเหี้ยนำไปถวาย

“…ครั้นดาบสฉันเนื้อเหี้ยแล้ว ความปรารถนาในรสก็ผูกไว้ [คือติดใจในรสอันอร่อย] จึงถามว่ามังสะนี้มีรสอร่อยนัก เป็นมังสะสัตว์อะไร ครั้นได้ฟังว่ามังสะเหี้ยดังนี้ จึงคิดว่าเหี้ยใหญ่มาสู่สำนักเราตัวหนึ่ง อย่าเลยเราจะฆ่าเหี้ยใหญ่ตัวนั้นกินเสียเถิด…”

ดาบสทุศีลจ้องจะทำร้ายเหี้ยพระโพธิสัตว์ แต่ไม่สำเร็จ และถูกเหี้ยพระโพธิสัตว์ตำหนิความด่างพร้อยในพรหมจรรย์ จนต้องหลีกลาไปอยู่ที่อื่น

เหี้ยไม่ใช่สัตว์เลวร้ายและไม่มีอะไรที่น่ารังเกียจถึงขั้นปรักปรำให้มันเป็นต้นเหตุของเสนียดจัญไร หากมนุษย์จะให้ความเป็นธรรมกับมันสักหน่อย เหี้ยควรจะถูกจัดขึ้นทำเนียบเป็นสัตว์ชั้นสูงเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากรูปกายมีเกล็ด มีขาทั้งสี่และท่อนหางทรงพลัง มีลิ้น 2 แฉก ลักษณะที่ว่านี้ไม่ต่างอะไรกับมังกร  ที่สำคัญคือมันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรุนแรงให้มนุษย์ มันจึงน่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าถูกหยามเหยียด เหี้ยเองก็คงจะภูมิใจที่ได้ถือกำเนิดเป็นมัน

มนุษย์ต่างหากที่คิดมากเกินเหี้ย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

บุญเตือน ศรีวรพจน์. “เหี้ย…อีกแล้ว”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 29 กันยายน 2562