ใครว่า “เหี้ย” ไม่ดี เมื่อ “พระยาเหี้ย” ช่วยพระเอก ในจุลปทุมชาดก

จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร

เหี้ย กลายเป็นสัตว์ที่คนไทยรับรู้ในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวจับเหี้ยในสวนลุมพินี หรือกรณีอื่นๆ ของการว่าคนโดยใช้คำว่า “เหี้ย” แต่เมื่อนึกถึง “เหี้ย” ที่เป็นตัวเอกในชาดก กลับมีเล่าถึงวีรกรรมช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก นอกจากวาดเรื่องราวทศชาติชาดกแล้ว ยังมีการวาดชาดกอีก 1 เรื่องที่แปลกตา นั่นคือ จุลปทุมชาดก (ซึ่งจะเกี่ยวพันกับเรื่องเหี้ย)

เรื่องย่อของจุลปทุมชาดก มีดังนี้ (นำมาจากบทความเรื่อง จุลปทุมชาดก ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมที่ปรากฏในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนโดย วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 ปี 2550)

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระปทุมกุมาร มีพระอนุชาหกองค์ ครั้นเมื่อพระราชกุมารทั้งเจ็ดเจริญวัย พระราชบิดาเกิดระแวงเกรงว่าลูกๆ จะคิดร้ายชิงราชสมบัติ จึงเนรเทศพระราชกุมารทั้งเจ็ดพร้อมพระชายาออกจากเมือง ระหว่างรอนแรมกันไป หนทางแสนกันดารนัก ขาดแคลนอาหาร พระราชกุมารทั้งหมดจึงตกลงฆ่าพระชายาคราละองค์ เพื่อนำมาเป็นอาหารแจกจ่ายกันกินประทังชีวิต

ครั้นถึงคราต้องฆ่าพระชายาของพระปทุมกุมาร พระองค์ได้นำเนื้อส่วนที่เก็บไว้มาแจกจ่ายให้แก่บรรดาพระอนุชาแทน และเฝ้ารอจนเหล่าพระอนุชาหลับ จึงพาพระชายาแยกหนีไป ระหว่างทางนั้น พระชายาเกิดกระหายน้ำ พระองค์จึงกรีดพระโลหิตให้ดื่มแทน

ก่อนจะเดินทางรอนแรมกันต่อไป จนในที่สุดเมื่อทั้งสองได้เดินทางมาถึงบึงน้ำใหญ่ จึงปลูกเรือนพักขึ้น ณ ที่นั้น พระปทุมกุมารได้ช่วยเหลือรักษาโจรผู้หนึ่งจนหายจากอาการบาดเจ็บและให้อาศัยร่วมด้วย ต่อมาภายหลัง พระชายาเกิดมีใจปฏิพัทธ์รักใคร่โจร จึงหมายฆ่าพระปทุมกุมารโดยผลักให้ตกลงมาจากยอดเขา หากแต่พระปทุมกุมารกลับรอดชีวิตโดยการช่วยเหลือของพระยาเหี้ย (ดูภาพประกอบ) และต่อมาพระยาเหี้ยนั้นก็ได้ช่วยนำพระปทุมกุมารกลับขึ้นครองราชย์อีกครั้ง

จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร

วันหนึ่งพระองค์ได้พบกับพระชายาและชายชู้ที่มาเฝ้ารอรับทาน ทรงพิโรธเป็นอย่างยิ่งและคิดจะลงโทษหญิงชั่วชายชู้อย่างสาสม หากแต่เมื่อคลายพิโรธลง จึงรับสั่งให้เอาชายชู้ใส่ลงตะกร้าผูกติดกับศีรษะของหญิงชั่วชนิดมิให้ปลงลงจากศีรษะได้ แล้วจึงโปรดฯ ให้เนรเทศคนทั้งคู่ออกจากเมืองไป

ทำไมต้องวาดชาดกเรื่องนี้ด้วย คุณวรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์  ได้วิเคราะห์ไว้ว่า

“…จุลปทุมชาดกจึงอาจเป็นปรัมปราคติแนวใหม่ ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์สังคมและงานช่างไทยที่ปรับเปลี่ยนในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 และทวีความเด่นชัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเน้นความสมจริงมากยิ่งขึ้น ทั้งเทคนิคงานช่างและการเลือกสรรเรื่องราวในการนำเสนอ ซึ่งเรื่องชาดกนั้นนอกจากทำหน้าที่บอกเล่าการบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ในแต่ละชาติแล้ว ยังทำหน้าที่ร่วม คือเป็นสื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นไปในสังคม โดยเฉพาะในกรณีศึกษา คือประเด็น “ความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตคู่” ดังจะเห็นได้จากการแสดงออกที่ปรากฏในงานจิตรกรรมจุลปทุมชาดก ซึ่งล้วนแต่เน้นให้เห็นถึงเรื่องราว “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่ของตนด้วยการนอกใจหรือมีชู้” มากกว่าการให้ความสำคัญเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ

ทั้งนี้การถ่ายทอดจุลปทุมชาดกในงานจิตรกรรมคงเป็นที่นิยมและแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งคงสอดคล้องกับกรณีและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในช่วงรัชสมัยนี้…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2559