“มิสเตอร์อินโดจีน” เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มองความ “มั่งคั่ง” มากกว่า “มั่นคง” ?

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2540 (ภาพจาก AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL)

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ซึ่งต่อมาได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 17 (4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534) โดยนโยบายที่สร้างชื่อเสียงให้แก่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คือ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ซึ่งเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอินโดจีน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และลาว

การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอินโดจีนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในห้วงเวลาดังกล่าวระบบราชการของไทยยังเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ โดยในบทความนี้จะพาไปดูบริบททางการเมืองที่ทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับฉายา “มิสเตอร์อินโดจีน”

บริบททางการเมืองก่อนที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระบบราชการได้เข้ามีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศทั้งข้าราชการทหารและพลเรือน ทำให้การเมืองไทยดำเนินนโยบายภายใต้ระบบราชการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นักการเมืองและพรรคการเมืองก็มีความพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินนโยบายอยู่เสมอ แต่มักจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และจบด้วยการรัฐประหาร

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2488) โลกได้แบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองออกเป็นสองค่ายใหญ่คือ อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยภายใต้การนำของประเทศสหรัฐอเมริกา กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต หรือเรียกช่วงนี้ว่าสงครามเย็น

ในช่วงสงครามเย็นประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นได้ชัดในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการกำจัดผู้ที่มีความคิดแบบคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวมาจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอินโดจีน คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ฉะนั้นนโยบายการต่างประเทศของไทยจึงมองว่ากลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นศัตรูที่ต้องคอยระมัดระวัง

ในบทความ ความขัดแย้งทางการเมืองในการดำเนินนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2534)ของศศิธร โอเจริญ และเมธีพัชญ์ จงวโรทัย ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่าเมื่อนักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถแทรกขึ้นมามีอำนาจในการเป็นรัฐบาลได้จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่แตกต่างจากพวกข้าราชการที่มีอำนาจกำหนดนโยบายต่างประเทศ อาทิ รัฐบาลสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (พ.ศ. 2518-2519) ที่ประเทศไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตัวแทนจากนักการเมืองจึงมีความเห็นที่แตกต่างออกไปจากเหล่าบรรดาข้าราชการที่กำหนดนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการเห็นต่างไปจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

ดังนั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงตั้งที่ปรึกษาเพื่อลดบทบาทของระบบราชการในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ คณะทำงานที่ปรึกษารู้จักกันในชื่อ “ทีมบ้านพิษณุโลก” ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าบรรดาข้าราชการและสหรัฐอเมริกา เพราะในรัฐบาลชุดนี้มีการประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มอินโดจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์

วิสัยทัศน์ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คือการมองเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจในการค้ากับกัมพูชา เวียดนาม และลาว ขณะเดียวกันเหล่าบรรดาข้าราชการกลับมองเห็นถึงภัยความมั่นคงและไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเข้าไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอินโดจีน

การดำเนินนโยบายของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คือมองหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ จึงได้เชิญฮุน เซน ผู้นำระบอบ “เฮง สัมริน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามแต่ไม่ได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2532 และพูดคุยการฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชาหลังแตกออกกันเป็น 4 ฝ่าย พร้อมทั้งเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นการทูตเชิงเศรษฐกิจ

ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนามและลาวก็มีการพูดคุยกันในการฟื้นฟูความสัมพันธ์จนนำมาสู่ข้อตกลงในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว) ใน พ.ศ. 2532 อันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพของภูมิภาคนี้ระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีน

ความสำเร็จของการขยายเขตการค้าไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีน ตามแนวทางนโยบายของพลชาติชาย ชุณหะวัณ นับเป็นการเปลี่ยนนโยบายจากความมั่นคงสู่ความมั่งคั่ง “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” จนถูกขนานนามว่า “มิสเตอร์อินโดจีน”

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

ศศิธร โอเจริญ และ เมธีพัชญ์ จงวโรทัย. (2563). ความขัดแย้งทางการเมืองในการดำเนินนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2534). วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา

BBC News. (2564). 30 ปี รัฐประหาร รสช.: ย้อนรอยการยึดอำนาจในไทย-เทียบรัฐประหารเมียนมา ผ่านสายตาทีมงานบ้านพิษณุโลก. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-56150535

กอง บก. มติชน. (2550). 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. กรุงเทพ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2565