เผยแพร่ |
---|
เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศ “ผมพอแล้ว” วางมือจากการเมืองหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานกว่า 8 ปี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่มีส.ส.ในพรรคมาเป็นอันดับ 1 หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531
พลเอกชาติชายจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นจากหลายพรรค โดยยื่นข้อเสนอเป็นตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐมนตรีให้พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา หัวหน้าพรรคกิจสังคม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ หัวหน้าพรรคราษฎร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมืองเช่นนี้ย่อมขาดเสถียรภาพและเอกภาพ ซึ่งอาจสั่นคลอนอำนาจรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม 2532 ฝ่ายค้านยื่นซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 รัฐมนตรี ประกอบด้วย พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ (พรรคประชาธิปัตย์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจาก ปัญหาปุ๋ย 300,000 ตัน นำเข้าจากต่างประเทศนำมาจำหน่ายแก่เกษตรกรแต่มีราคาสูงกว่าเดิม และมีวิธีการส่อทุจริต, นายสุบิน ปิ่นขยัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นบริหารงานมีส่วนทำให้สินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพมีราคาสูงขึ้น ไม่สามารถหาตลาดต่างประเทศให้กับสินค้าเกษตรกรรม และปล่อยให้มีการทุจริตโควตามันสำปะหลังจนทำให้ราคาตกต่ำ
ส่วนรัฐมนตรีอีก 2 คน คือ นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ผลปรากฏว่ารัฐมนตรีทั้ง 4 คน รอดไปตามระเบียบ แต่พลตรีสนั่นได้คะแนนไว้วางใจน้อยกว่าคนอื่น เนื่องจาก ส.ส.พรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทยลุกออกจากห้องประชุมระหว่างลงคะแนน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ
นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายเจริญ คันธวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เล่นงานกลับด้วยการออกมาเปิดโปงว่า ส.ส.ภาคอีสาน 3 คน ของพรรคกิจสังคมไปติดต่อขอเงินจากนายเจริญแลกกับผลประโยชน์ เหตุการณ์เกือบบานปลาย ที่สุด พลเอกชาติชายจึงเรียกแกนนำของทั้ง 2 พรรคมาไกล่เกลี่ย จนเรื่องยุติ
ต่อมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมากล่าวจนเป็นประเด็นร้อนว่า “รัฐบาลนี้ดีทุกอย่าง แต่ปัญหาใหญ่หลวงที่ไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ก็คือปัญหาคอร์รัปชัน ที่ได้แผ่ขยายวงออกไปทุกหย่อมหญ้ากว่าร้อยละ 90 เข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่สำคัญ” นักการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา ดาหน้าออกมาขยายผลเรื่องคอร์รัปชันนี้มากขึ้น
ปลายปี 2532 การคอร์รัปชันในรัฐบาลยังเป็นปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พลเอกชวลิตยังได้ออกมาเตือนรัฐบาลอีกครั้งให้แก้ปัญหาโดยเร่งด่วน กล่าวว่า “ทหารจะหนุนรัฐบาลเฉพาะเรื่องที่มีความถูกต้องชอบธรรม และเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชนเท่านั้น” นั่นหมายความว่า หากปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงจนกลายเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลไม่ได้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเรียกร้องของทหาร ทหารเองก็คงไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ต่อไปได้
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันถูกลากไส้กล่าวถึงมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ทว่า การออกมาเปิดโปงการทุจิตคอร์รัปชันโดยนายสันติ ชัยวิรัตนะ เป็นที่ฮือฮามากที่สุดในรอบปี 2533
นายสันติเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2533 ออกมาเปิดโปงว่า รัฐมนตรีของพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการหาเงินเข้าพรรคจำนวน 500 ล้านบาท แต่เนื่องจากตนเป็นรัฐมนตรีใหม่จึงไม่สามารถหาเงินเข้าพรรคได้ตามจำนวนที่สั่ง จึงเกิดปัญหา และยังระบุว่า ผู้ใหญ่ในพรรคสอนวิธีให้ทุจริต
กรณีนี้ทำให้พลเอกชาติชายต้องปรับคณะรัฐมนตรีขนานใหญ่เพื่อแก้ไขสถานการณ์และลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่กำลังโหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วง ด้วยการดึงพรรคปวงชนชาวไทยมาร่วมรัฐบาล แต่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลกลับไม่ดีขึ้น ปัญหาคอร์รัปชันยังเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารงาน และปัญหาเศรษฐกิจ มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้านและประชาชนให้ปรับคณะรัฐมนตรีอีก แต่พรรคร่วมรัฐบาลยืนกรานไม่ให้ปรับ
ดังนั้น พลเอกชาติชายจึงตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2533 เพื่อเปิดทางให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี
พลเอกชาติชายกลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมตั้งรัฐบาลผสมจาก 5 พรรคคือ พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร และพรรคปวงชนชาวไทย โดยตัดพรรคเจ้าปัญหาออกไปคือ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสหประชาธิปไตย และพรรคมวลชนออกไป
เข้าสู่ปี 2534 รัฐบาลพลเอกชาติชายไม่ได้มีสภาพที่ดีขึ้นแต่อย่างใดแม้จะปรับคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม รัฐบาลอยู่ในสถานะง่อนแง่น ทั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดชุดหนึ่ง จนมีฉายาว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” คือ คาบิเนตมาจาก cabinet แปลว่า คณะรัฐมนตรี หมายถึง คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชายมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง คดโกงเป็นล่ำเป็นสัน เหมือนรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์ (buffet) แบบทานไม่อั้น
“ท่ามกลางความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย กลับได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมการทุจริตคอร์รัปชันได้ ประกอบกับได้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพขึ้น ความขัดแย้งผสมผสานกับข้อกล่าวหาการทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะนายทหารในนามสถารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครอง โค่นล้มรัฐบาลของพลเอกชาติชายลง”

อ้างอิง :
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2541
กองบรรณาธิการมติชน. 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษ หนังสือพิมพ์มติชน.พิมพ์ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์มติชน, 2550
สุนทร โตรอด. ความเป็นผู้นำทางการเมืองของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2563