การเมืองไทยสมัยชาติชาย จากเปรม-บ้านพิษณุโลก-รถโมบาย สู่รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
แฟ้มภาพทหารไทยในปี พ.ศ. 2534 กับภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ AFP / KRAIPIT PHANVUT

“พฤษภา 35” คือวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยครั้งสำคัญนับจากเหตุการณ์ความสูญเสียในเดือนตุลาคมซึ่งผ่านมาเกือบ 20 ปี ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากประชาชนไม่พอใจ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ที่กระทำการ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ล้มรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสืบทอดอำนาจของทหารอย่างเปิดเผย

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2534 คณะ รสช. เป็นกลุ่มที่รัฐประหารล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพในหลาย ๆ ด้าน เพราะต้องเผชิญกับการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งต้องเผชิญหน้ากับกองทัพ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถรอมชอมกับทหารได้ ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะอธิบายการเมืองไทยในสมัยพลเอกชาติชายว่าเกิดเหตุการณ์ใดบ้างที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

พลเอกเปรมวางมือ

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรีชุด “เปรม 5” ได้ประชุมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม ในการประชุมครั้งนี้ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุม ครม. ว่า ในนามของ ครม. คงจะได้พบกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และได้ร่วมรัฐบาลกันต่อไป ซึ่งพลเอกเปรมได้แต่ยิ้มรับ

หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 กรกฎาคม แม้พรรคชาติไทยจะได้มาเป็นอันดับ 1 แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากต้องรอความชัดเจนว่า พลเอกเปรมพร้อมจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่

สำหรับพลเอกชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้เหมาะสมในตำแหน่งนายกฯ คือพลเอกเปรม ถ้าจะให้ผมเป็นคงรับไม่ได้ เพราะไม่เหมาะสม หากบังคับกันผมก็จะไม่เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย”

บรรดาผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลจึงตบเท้ากันไปเข้าพบพลเอกเปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ในตอนค่ำวันที่ 27 กรกฎาคม และกลับออกมาตอน 3 ทุ่มครึ่ง ก่อนจะแถลงว่า พลเอกเปรมปฏิเสธตำแหน่งนายกฯ เมื่อพลเอกเปรมแสดงท่าทีชัดเจนเช่นนั้น พลเอกชาติชายจึงได้อ้างถึง “สัญญาสุภาพบุรุษ” ที่กระทำไว้ต่อกันระหว่างเคยร่วมรัฐบาลว่า หากพลเอกเปรมไม่รับตำแหน่ง ให้เป็นสิทธิ์ของหัวหน้าพรรคที่มีเสียงมากที่สุดเป็นนายกฯ ตอนนั้นเองพลเอกชาติชายได้ประกาศว่า “ผมพร้อมจะเป็นนายกฯ แล้ว”

เช้าวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พลเอกเปรมให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการไม่รับตำแหน่งนายกฯ ว่า อยู่มาถึง 8 ปี 5 เดือน คิดคนเดียวมาพอสมควรเห็นว่า “พอแล้ว” เป็นอันว่า ยุคของนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอยู่ในตำแหน่งนานถึง 8 ปี 5 เดือน ได้สิ้นสุดลง เปิดทางให้พลเอกชาติชายขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 17 ของประเทศไทย

ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล

เนื่องจากพรรคชาติไทยของพลเอกชาติชายไม่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นจากหลายพรรค ซึ่งจะต้องมี “ข้อเสนอ” คือตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐมนตรีให้พรรคร่วมรัฐบาลด้วย เช่น พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา หัวหน้าพรรคกิจสังคม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ หัวหน้าพรรคราษฎร (พ.ศ. 2529) ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

คณะรัฐบาลของพลเอกชาติชายจึงขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะเรื่องของ “ความคิดเห็น” ที่มักไม่ตรงกัน เช่น กรณีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า” เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศในแถบอินโดจีน ซึ่งพลเอกชาติชายไว้ใจ มั่นใจ และให้ความสำคัญกับคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่า “บ้านพิษณุโลก” มากกว่ากระทรวงการต่างประเทศ

ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2532 พลเอกชาติชายได้เชิญ นายฮุน เซน ผู้นำเขมรระบอบ “เฮง สัมริน” ซึ่งยังไม่เป็นที่รับรองของนานาชาติมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของนายกฯ จนเกิดกระแสข่าวกดดันให้พลอากาศเอกสิทธิ ดำเนินนโยบายสวนทางกับนายกรัฐมนตรี

ครั้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน หลังจากที่พลเอกชาติชายได้พบกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช ของสหรัฐอเมริกา ในการประชุมระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่น บ้านพิษณุโลกก็ออกมาให้ข่าวว่า ผู้นำทั้งสองประเทศตกลงกันว่าหากมีเรื่องเร่งด่วนให้ติดต่อกันแบบโทรศัพท์สายตรงหรือ HOTLINE แต่จู่ ๆ กลับมีข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ฝ่ายสหรัฐอเมริกาปฏิเสธเรื่องโทรศัพท์สายตรงนี้

ความขัดแย้งระหว่างบ้านพิษณุโลกกับกระทรวงการต่างประเทศเริ่มร้าวฉานมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่าเกิดคลื่นใต้น้ำในคณะรัฐบาลที่เริ่มมีความระส่ำระสาย หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวนั้น นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายของพลเอกชาติชาย ไม่พอใจอย่างมากเกี่ยวกับข่าวที่ถูกปล่อยออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศ

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ กับจอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2533 (ภาพจาก wikipedia)

มีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนพบผู้ต้องสงสัย 2 คนคือ นายปรัชญาทวี ตะเวทิกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้อำนวยการกองอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก่อนที่เรื่องจะบานปลายไปมากกว่านี้ “ผู้ใหญ่” ของทั้งสองฝ่ายได้ลงมาหย่าศึกและสั่งยุติการสอบสวน

แม้เรื่องโทรศัพท์สายตรงจะยุติไป แต่นายปรัชญาทวีให้สัมภาษณ์กับสื่อในลักษณะ “ล้ำเส้น” โดยกล่าวถึงผลการเยือนสหรัฐอเมริกาของพลอากาศเอกสิทธิ ว่าได้หารือกับสหรัฐอเมริกาเรื่องกฎหมายการค้ามาตรา 301 และกำหนดการเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกฯ

เรื่องนี้ทำให้พลอากาศเอกสิทธิต้องไปพบกับพลเอกชาติชาย เพื่อปรับความเข้าใจกันในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2532  และต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายนได้มีคำสั่งย้ายนายปรัชญาทวี จากรองอธิบดีกรมสารนิเทศไปเป็นรองอธิบดีกรมการเมือง

รัฐบาล VS กองทัพ

นอกจากความร้าวฉานภายในคณะรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพขึ้นอีกด้วย ต้นเหตุเริ่มมาจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น ออกมาพูดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2532  ว่า คอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 90%

จากคำพูดนั้นจึงก่อให้เกิดความร้อนแรงทางการเมืองขึ้นมาอย่างสูง บรรดานักการเมือง นักวิชาการ และนักศึกษา ต่างก็มุ่งประเด็นไปที่การทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ทำให้หนึ่งในทีมบ้านพิษณุโลก คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีได้ออกมาตอบโต้พลเอกชวลิต ในวันที่ 6 สิงหาคม ว่า

“ใครที่กล่าวว่ารัฐบาลพลเรือนมีการคอรัปชันสูงขึ้น 90% นั้น ให้กลับไปปัดกวาดบ้านเรือนของตัวเองเสียก่อน กองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ต้องแปรสภาพกองทัพ โดยรื้อหลักสูตรทั้งหมดแล้วสร้างความเป็นวิชาชีพ”

คำกล่าวของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์นี้ ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในบรรดานายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ นายทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีไปจนถึงพลโทกว่า 600 นาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น จปร. รุ่นที่ 5, 9, 14 และ 20 ภายใต้การนำของพลโทวิโรจน์ แสงสนิท ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก  ได้มาชุมนุมกันที่โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว เรียกร้องให้นายกฯ ปลดหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ออกจากตำแหน่ง สุดท้ายแล้วหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์จึงยื่นใบลาออกจากการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

กรณีรถโมบายยูนิต

ดูเหมือนว่าพลเอกชาติชายจะพยายามประนีประนอมกับทุกฝ่ายอย่างที่สุด แต่ก็เกิดความไม่เสถียรขึ้นภายในรัฐบาลอยู่อย่างตลอดเวลา ทั้งต้องเจอแรงกดดันจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมไปถึงความไม่ลงรอยกับกองทัพในกรณีรถโมบายยูนิตอีกด้วย

กรณี “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของพลเอกชาติชายอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเวลา  11.30 นาฬิกา วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2533 เมื่อกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกแถลงการณ์ยึดรถโมบายยูนิตขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. ที่แอบจอดซุ่มบริเวณวัดไผ่เลี้ยง เขตหนองแขม กรุงเทพฯ เพราะต้องสงสัยว่าทำให้ระบบการสื่อสารของทหารถูกรบกวน

นายราชันย์ ฮูเซ็น จากพรรคมวลชน หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาของทหารว่า เป็นเพียงการนำรถไปทดสอบสัญญาณการกระจายเสียงวิทยุ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ารับฟังสัญญาณไม่ชัดเจน ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันไปมาท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า รถโมบายยูนิตนั้นได้รับคำสั่งไปปฏิบัติการต่อต้านการรัฐประหาร

ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ดูแล อ.ส.ม.ท. แถลงโจมตีกองบัญชาการทหารสูงสุดอย่างรุนแรง มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าพรรคมวลชนได้ทำหนังสือเชิญสมาชิกของพรรคในต่างจังหวัดมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุน อ.ส.ม.ท. และร้อยตำรวจเอกเฉลิม

พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น จึงอาศัยอำนาจของผู้อำนวยการรักษาพระนคร  ออกคำสั่งที่ 43/2533 ห้ามชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในท้ายที่สุดก็ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าไม่มีการชุมนุมที่ก่อความไม่สงบแล้ว

ภาพถ่ายของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (กลาง) ในสมัยที่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 (ภาพจาก AFP PHOTO / DOMINIQUE FAGET)

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการบริหารงานของพลเอกชาติชายเหล่านี้ ทำให้พลเอกชาติชายต้องปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพและรักษาความนิยมในหมู่ประชาชนให้คงไว้ สุดท้ายพลเอกชาติชายตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2533  เพื่อเปิดทางให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากไม่สามารถเจรจากันได้

แต่ในวันรุ่งขึ้น พลเอกชาติชายก็ได้รับการสนับสนุนกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม ในการนี้พลเอกชาติชายจึงตัดสินใจตัดพรรค “เจ้าปัญหา” ออกไปได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมวลชน และสหประชาธิปไตย โดยดึงเอา พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร และพรรคปวงชนชาวไทย รวมกันจัดตั้งรัฐบาล

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

รัฐบาลของพลเอกชาติชายอยู่ในสถานะง่อนแง่นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ทั้งถูกกล่าวหาเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดชุดหนึ่ง จนมีฉายาว่า “บุฟเฟต์ คาร์บิเน็ต” ทั้งยังเกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับผู้นํากองทัพ

ในค่ำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นายทหารระดับผู้บังคับกองพันจํานวนหนึ่งเข้าพบพลเอกชาติชาย เพื่อขอร้องให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ หลังนายทหารกลุ่มนั้นเดินทางกลับ พลเอกชาติชายได้สั่งพลตำรวจตรีเสรี เตมียเวส ผู้บังคับการกองปราบปราม นํากําลังเข้าอารักขารอบบ้านพักในซอยราชครูทันที

เมื่อถึงเช้าตรู่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกชาติชายมีกําหนดการนําคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ที่พระตําหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ในจํานวนนี้รวมถึงพลเอกอาทิตย์ กําลังเอก ซึ่งพลเอกชาติชายเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หวังให้มาคานอํานาจกับนายทหารจปร. รุ่นที่ 5 หรือรุ่น “0143” ซึ่งมีพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน โดยหารู้ไม่ว่ากําลังเดินทางไป “ติดกับดัก”

ขณะเครื่องบิน ซี 130 ทะยานขึ้นจากสนามบินกองทัพอากาศ จู่ ๆ ก็มีคําสั่งยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน จากนั้นพลอากาศตรีอมฤต จารยะพันธ์ หรือ “ผู้การหิน” และลูกทีมพร้อมอาวุธครบมือ ซึ่งซ่อนตัวอยู่บนเครื่องบินได้บุกเข้าควบคุมตัวพลเอกชาติชายและคณะ ไปควบคุมตัวไว้ในบ้านพักรับรองของกองทัพอากาศ เมื่อจับกุมผู้นําประเทศได้แล้ว กําลังทหารจากหน่วยต่าง ๆ เคลื่อนเข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ทําเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการสําคัญ 

ทหาร รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
แฟ้มภาพทหารไทยในปี พ.ศ.2534 กับภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ AFP / KRAIPIT PHANVUT

กระทั่งเวลา 14.00 น. พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พลเอกสุจินดา คราประยูร พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะ รสช. และ พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการ รสช. ร่วมกันแถลงยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย และล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521

รสช. อ้างเหตุผลการยึดอํานาจ 5 ข้อ คือ

  1. มีการทุจริตคอร์รัปชันในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง
  2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจํา
  3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
  4. มีการพยายามทําลายสถาบันทหาร
  5. บิดเบือนคดีวันลอบสังหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 แต่ไม่ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เพื่อให้พรรคการเมืองยังคงสภาพอยู่ต่อไปได้ แต่ยังคงห้ามพรรคการเมืองดำเนินการใด ๆ ทางการเมืองโดยอ้างถึงความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ และคณะรสช. ยังได้สั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองคนสำคัญจากหลายพรรคการเมืองเพื่อจะยึดทรัพย์อีกด้วย

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รสช.ออกแถลงการณ์ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 6 เดือน ในระหว่างนั้นจะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายกรัฐมนตรีคือนายอานันท์ ปันยารชุน บริหารประเทศ เป็นอันว่าถึงคราวสิ้นสุดรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพลเอกชาติชาย และความร้อนแรงของการเมืองไทยใต้เงาของ รสช. ก็จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สำนักงานเลขธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญ) เล่มที่ 1 พ.ศ. 2531, จาก ระบบฐานข้อมูลรายงานและบันทึกการประชุม

ราชกิจจานุเบกษา. (2534). แถลงการณ์คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, จาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา 

กองบรรณาธิการมติชน. (2550). 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: มติชน.

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์; และคนอื่นๆ. (2535). รัฐธรรมนูญไทย 2475-2534.  ม.ป.พ.

นรนิติ เศรษฐบุตร. (2562). 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2562