รัฐประหาร “ครั้งแรก” ของกรุงศรีฯ “ยินยอม” หรือ “ยึดอำนาจ”

โคลงภาพ สร้าง กรุงศรีอยุธยา ประกอบ บทความ หน้าร้อน
ภาพประกอบเนื้อหา - โคลงภาพ "สร้างกรุงศรีอยุธยา" เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ "พระราชพงศาวดาร เล่ม 1 ฉบับพิมพ์ ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

รัฐประหาร เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์  “กรุงศรีอยุธยา” ซึ่งในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2554 ปรามินทร์ เครือทอง เขียนบทความชื่อ “กรุงศรีปฏิวัติ : ปริศนารัฐประหารของขุนหลวงพ่องั่ว ‘ยอม’ หรือ ‘ยึด’” กล่าวถึงเบื้องหลังของการผลัดแผ่นดิน กรุงศรีอยุธยา ภายหลังจากสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคต

อันนำไปสู่การชิงอำนาจ ระหว่างสมเด็จพระราเมศวร กับ สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว)

Advertisement

ซึ่งมีการถกเถียงว่ามีเป็นการ “ยินยอม” หรือ “ยึดอำนาจ” เบื้องหลังการ “รัฐประหาร” ครั้งที่ 1 ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 600 กว่าปีก่อน ขอยกเนื้อหาบางส่วนของปรามินทร์ เครือทอง มานำเสนอดังนี้  (จัดยอ่าหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

หลังจากสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) แห่งราชวงศ์อู่ทอง (หรือราชวงศ์เชียงราย) เสด็จสวรรคต ในปีระกา จุลศักราช 731 สมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จจากลพบุรีมาสืบราชสมบัติต่อในทันที

“ศักราช 731 รกาศก แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ” [1]

ต่อมาในปีรุ่งขึ้น สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ก็ทำรัฐประหารโค่นราชวงศ์อู่ทองลง

“ครั้นเถิงศักราช 732 จอศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบูรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบูรี” [2]

ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการรัฐประหารมากไปกว่านี้ ดังนั้นเราจึงไม่ทราบว่า รัฐประหารครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา เกิดขึ้นเมื่อไหร่ วัน เดือน ขึ้น แรม เท่าไหร่ หรือเกิดขึ้นเพราะอะไร ดูเหมือนว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ ฝ่ายหนึ่งมา อีกฝ่ายหนึ่งก็หลีกให้ โดยไม่มีการโต้แย้งต่อต้านแต่อย่างใด

ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่มีประโยชน์มากไปกว่านี้มากนัก นอกจากเพิ่มเติมบทของสมเด็จพระราเมศวรว่าทรง “ถวาย” ราชสมบัติให้แต่โดยดี

“ครั้นถึงศักราชได้ 732 ปีจอโทศก (พ.ศ. 1913) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเข้ามาแต่เมืองสุพรรณบุรี เสนาบดีกราบทูลว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จเข้ามา สมเด็จพระราเมศวรก็ออกไปอัญเชิญเสด็จเข้าพระนคร ถวายราชสมบัติแล้ว ถวายบังคมลาขึ้นไปลพบุรีดังเก่า” [3]

ดูเหมือนว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะ “ง่าย” เกินไปจนน่าสงสัย หรือว่าพระราชพงศาวดารคลาดเคลื่อน หรือว่าหลาน “ยอม” ลุง หรือว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอื่นๆ อีกที่พระราชพงศาวดารไม่บันทึกไว้

………..

ด้วยข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงยอมให้สมเด็จพระราเมศวรกลับไปมีอำนาจเหมือนเก่า และเหตุใดการรัฐประหารจึงไม่เกิดขึ้นในทันทีที่สมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) สวรรคต ดังนั้นจึงทรงตั้งข้อสันนิษฐานถึงเหตุ “รัฐประหารเงียบ” ไว้ดังนี้

“เรื่องจริงเห็นจะเป็นเช่นนี้ คือเดิมสมเด็จพระรามาธิบดี ปลงพระทัยให้สมเด็จพระราเมศวรเป็นรัชทายาท ข้อนี้สังเกตได้โดยพระนามราเมศวรนั้น ในพระราชพงศาวดารแผ่นดินต่อมา มีแต่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่จะรับรัชทายาท

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต คนทั้งปวงรวมทั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชด้วย จึงยอมยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระราเมศวร

แต่เมื่อสมเด็จพระราเมศวรเข้ามาครองราชสมบัติอยู่ปีหนึ่งนั้น จะมีผู้ใดหรือพวกใดในกรุงศรีอยุธยากระด้างกระเดื่องขึ้น สมเด็จพระราเมศวรปราบไม่ลง จึงต้องยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราช” [4]

นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงสรุปความเห็นสำคัญไว้ 2 ข้อคือ

1. สมเด็จพระราเมศวรได้ครองราชย์สมบัติอยู่ 1 ปีนั้น เป็นความยินยอมของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว)

“ข้อนี้เห็นได้ด้วย เมืองสุพรรณ เมืองลพบุรี กับกรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้ชิดเดินไปมาถึงกันได้ในวันเดียว ถ้าสมเด็จพระบรมราชาธิราชไม่ยอมให้สมเด็จพระราเมศวรครองราชสมบัติ ก็จะได้รบกันเสียนานแล้ว ไม่อยู่มาได้ถึงปี” [5]

2. ทรงเชื่อหนักแน่นว่า การรัฐประหารเงียบครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการ “วิวาท” ของทั้ง 2 ราชวงศ์

“ข้อนี้เห็นได้ด้วยสมเด็จพระบรมราชาธิราช ให้สมเด็จพระราเมศวรกลับไปครองเมืองลพบุรีอยู่อย่างเดิม ถ้ามีเหตุวิวาทกันอยู่แต่ก่อน เห็นจะไม่ปล่อยให้กลับไปมีกำลังและอำนาจเป็นแน่” [6]

สรุปข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับรัฐประหารเงียบได้ว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรง “ยอม” ให้สมเด็จพระราเมศวรครองราชย์อยู่ก่อน 1 ปี แต่แล้วก็ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ตลอดรอดฝั่ง…จึงเสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี เข้าปกครองกรุงศรีอยุธยาแทน โดยสมเด็จพระราเมศวร ทรง “ยอม” ถวายราชสมบัติให้โดยไม่ได้วิวาทกัน…

จะเห็นได้ว่าข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ล้วนเกิดขึ้นเพื่อไขปริศนาช่วงเวลา “1 ปี” ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรง “ยอม” ให้สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชสมบัติ โดยไม่ทำรัฐประหารในทันที และการ “ปล่อย” ให้สมเด็จพระราเมศวรกลับไปมีอำนาจดังเดิม

ในทางตรงกันข้าม หากการรัฐประหารนั้นไม่ได้เว้นเวลาไว้ 1 ปี ตามตัวเลขที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร จะเกิดอะไรขึ้น ข้อสันนิษฐานทั้งหลายนั้นยังใช้ได้อยู่หรือไม่?

คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ ความจริงแล้วการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงผลัดแผ่นดินนั่นเอง เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นในฉับพลันทันที แต่มีการเว้นช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะมีการ “ยึด” กรุงศรีอยุธยา ซึ่งหมายความว่าสมเด็จพระราเมศวรอาจจะครองราชสมบัติอยู่ไม่ถึง 1 ปี !?!

เพื่อไขปริศนานี้ มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่ไม่ควรละเลย นั่นคือ “รหัส” ในคำบางคำจากพระราชพงศาวดาร

อาศัยพระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่ยอมรับกันว่ามีความแม่นยำเรื่อง “ศักราช” มากกว่าพระราชพงศาวดารฉบับอื่น โดยที่พระราชพงศาวดารฉบับนี้มีลักษณะการจดบันทึกแบบสั้นๆ คล้ายจดหมายเหตุโหร คือกล่าวแต่ใจความสำคัญถึงเหตุการณ์ในแต่ละปี

ที่สำคัญคือไม่มีรายละเอียดเรื่อง วัน เดือน ขึ้น แรม ในวันสวรรคตของสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) เช่นเดียวกับไม่มีวัน เดือน ขึ้น แรม ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทำรัฐประหาร บอกเพียงแต่ว่าเหตุการณ์ทั้งสองนั้นเกิดขึ้นในปี “ศักราช” ใด

โดยปกติแล้วพระราชพงศาวดารฉบับนี้จะขึ้นต้นเหตุการณ์ในแต่ละปีด้วยคำว่า “ศักราช” แต่ปรากฏว่ามีคำบางคำที่ใช้ปะปนอยู่เพียงไม่กี่ครั้งในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ คือคำว่า “ครั้นเถิงศักราช” หรือ “ครั้นรุ่งขึ้นปี” เช่น ครั้นเถิงศักราช 732 จอศก หรือ ครั้นเถิงศักราช 865 กุนศก วันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 (ห่างจากปีใหม่ไทยในเดือน 5 อยู่ 3 เดือน) หรือ ครั้นรุ่งปีขึ้นศักราช 888 จอศก เป็นต้น

คำคำนี้จะหมายถึงการเข้าศกใหม่หรือต้นปีได้หรือไม่?

ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า “ครั้นเถิงศักราช 732 จอศก” อันเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทำรัฐประหารขึ้นนั้น อาจจะเป็น “ต้นปี” หรือเพิ่งผ่านปีใหม่มาได้ไม่นาน

เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) สวรรคตในปี “ศักราช 731” ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสวรรคตตั้งแต่ต้นปี อาจจะเป็นกลางปีหรือปลายปีก็ได้

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ระยะเวลาที่สมเด็จพระราเมศวรทรงครองราชสมบัตินั้นอาจจะไม่ถึง 1 ปีเต็มอย่างที่เข้าใจกัน หากสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) สวรรคตปลายปี 731 แล้วสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทำรัฐประหารต้นปี 732 ก็อาจจะห่างกันเพียงไม่กี่เดือน หรือไม่กี่วันก็เป็นได้

หรือเป็นไปได้แม้กระทั่งว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) สวรรคตใน (ต้น) ปี 731 สมเด็จพระราเมศวรก็ครองราชสมบัติต่อในปีเดียวกันนี้ จนกระทั่ง “เถิงศักราช” ใหม่ ก็ถูกรัฐประหาร

ในกรณีคล้ายๆ กันนี้ เกิดขึ้นในสมัยหลัง คือสมเด็จพระรัฏฐาธิราช พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ขึ้นเสวยราชสมบัติด้วยพระชนมายุ 5 พรรษา ก่อนจะถูกสมเด็จพระไชยราชาทำรัฐประหาร

การบันทึกเหตุการณ์นี้ในพระราชพงศาวดารเหมือนกับเหตุการณ์ตอนสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) สวรรคต แทบทุกอย่าง

“ศักราช 895 มะเสงศก สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัติ

ครั้นเถิงศักราช 896 มะเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า” [7]

จะเห็นได้ว่าพระราชพงศาวดารบันทึกไว้แต่เพียง “ตัวเลข” ศักราช ทำให้ดูเหมือนว่าสมเด็จพระรัฏฐาธิราชทรงครองราชย์สมบัติอยู่ 1 ปี เหมือนกรณีสมเด็จพระราเมศวร แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุชัดเจนว่าสมเด็จพระรัฏฐาธิราช ทรงครองราชสมบัติอยู่เพียง “5 เดือน” ก็ถูกรัฐประหาร

ดังนั้น “ตัวเลข” ศักราชที่พระราชพงศาวดารบันทึกต่อกันนั้น ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึง 12 เดือน หรือ 1 ปี เสมอไป

……….

อย่างไรก็ดีเบาะแสเรื่องการ “ยึด” ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย อย่างน้อยถ้าไม่ “ติดกับดัก” ตัวเลข 1 ปี การยึดก็สามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังการผลัดแผ่นดินไม่นานหรือแทบจะทันทีก็เป็นไปได้เช่นกัน

หลักฐานชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงการ “ยึด” อยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ โดยเฉพาะเนื้อหาตอนที่เกี่ยวกับ “พระเจ้าอู่ทอง” นั้น เป็นที่ยอมรับว่าเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่สมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ยึดเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) จากพระมหาธรรมราชาลิไท หรือการกล่าวถึงมหาอำมาตย์วัตติเดช (พ่องั่ว) ว่าครองเมืองสุพรรณบุรี และอื่นๆ รวมทั้งตอนที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) “ยึด” กรุงศรีอยุธยา

“เมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชชปุระสวรรคต วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิ ยึดแคว้นกัมโพชได้” [8]

รวมถึงหนังสือสังคีติยวงศ์ ของสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปรากฏความดังนี้ “ครั้งนั้นพระมาตุลพระนามว่า คุณลุมพงุ ได้แย่งเอาราชสมบัติได้แล้ว ขับพระราเมสสรเสีย” [9]

ส่วน วัน วลิต กล่าวถึงสมเด็จพระราเมศวรว่า “ถูกถอดออกจากตำแหน่งโดยพระปิตุลา” [10]

แม้ว่าเอกสารเหล่านี้จะไม่หนักแน่นเท่ากับพระราชพงศาวดาร แต่ก็ถือเป็นอีกเบาะแสหนึ่งที่แตกต่างไปจากข้อสันนิษฐานเดิม ที่ทำให้เห็นว่าหากไม่ยึดกรอบ 1 ปีแล้ว การ “ยึด” ก็ย่อมเป็นไปได้ไม่น้อยไปกว่าการ “ยอม”

อย่างไรก็ดี ถ้าหากจะถือว่า “ยึด” มีความเป็นไปได้ ก็ต้องตอบคำถามสำคัญอีกข้อหนึ่งให้ได้ว่า หากประสงค์จะ “ยึด” แล้ว เหตุใดจึงไม่ทำในทันที แต่กลับปล่อยให้สมเด็จพระราเมศวรครองราชสมบัติอยู่ระยะหนึ่ง (แม้จะไม่นานถึงปีก็ตาม) และเหตุใดจึง “ปล่อย” ให้กลับไปครองลพบุรีดังเดิม

………..

หากใช้ข้อสันนิษฐานแบบ “พื้นๆ” ก็จะได้ว่า อาจเป็นระยะเวลาเพื่อการประเมินสถานการณ์ การตรวจสอบกำลังสนับสนุนของฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งตรวจสอบท่าทีของพันธมิตรในรัฐอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่อาณาจักรใหญ่อย่างจีน ซึ่งภายหลังก็มีพระราชสาส์นมาชวนสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) “เสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง” เป็นไมตรี [11]

การประเมินสถานการณ์และท่าทีของฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ ล้วนต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

และสิ่งที่ไม่ควรข้ามไปก็คือ ระยะเวลาที่รั้งรออยู่นี้ เป็นช่วงเวลาของ “งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ” ซึ่งเวลาจะมากน้อยขึ้นอยู่กับรัฐพิธีของแต่ละสมัย ในช่วงเวลาเช่นนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ในฐานะพระญาติและผู้ร่วมสร้างกรุงศรีอยุธยา ก็เหมาะสมที่จะรั้งรอให้งานนี้ลุล่วงไปก่อนจึงค่อยก่อการ ซึ่งในพระราชพงศาวดารก็ปรากฏคำที่น่าคิดว่า “สมเด็จพระราเมศวรก็ออกไปอัญเชิญเสด็จเข้าพระนคร”

ระหว่างงานพระบรมศพนี้เอง สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) มีโอกาสเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้โดยชอบธรรม ในฐานะกองเกียรติยศเพื่อถวายพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ครั้นเมื่องานพระบรมศพสิ้นสุดลง สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ก็มิได้เคลื่อนกำลังพลกลับเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งอาจมีเท่ากับเมื่อยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาคือประมาณ 10,000 คน สมเด็จพระราเมศวรก็เหลือ “ทางรอด” ทางเดียวคือถอยกลับไปลพบุรี

“เทคนิครัฐประหาร” แบบนี้ภายหลังก็ถูกนำมาใช้อีกในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช ผู้ที่ใช้เทคนิค “เอาการศพเข้ามาบังไว้” คือเจ้าพระยากลาโหมซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทั้งนี้เพราะการซ่องสุมผู้คนย่อมมีความผิดฐาน “กบฏ” แต่การรวบรวมไพล่พลมาช่วยงานพระราชพิธี ย่อมไม่มีผู้ระแวงสงสัย

สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จะใช้ “เทคนิครัฐประหาร” นี้หรือไม่?

ปัญหาข้อสุดท้าย คือเหตุใดสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึง “ปล่อย” สมเด็จพระราเมศวรกลับไปครองลพบุรีดังเดิม ยุทธวิธีนี้ไม่ใช่เป็นการ “ปล่อยเสือเข้าป่า” หรอกหรือ?

ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นเพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรงเชื่อมั่นในศักยภาพของพระองค์ ซึ่งในเวลานั้นทรง “เหนือ” กว่าในทุกๆ ด้าน อีกทั้งการปล่อยให้กลับไปครองลพบุรี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทรง “ปล่อย” ให้มีกำลังมากเกินกว่าที่จะควบคุมได้ นอกจากนี้รัฐสุโขทัยทางตอนเหนือ ซึ่งมีสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) เป็น “เขย”อยู่นั้น ก็ไม่เป็นภัยต่อลพบุรีและกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไปแล้ว นั่นเท่ากับว่าเมืองลพบุรีของสมเด็จพระราเมศวรแทบไม่มีความสำคัญใดๆ อีกต่อไป

นอกจากนี้หากการ “ปล่อย” ถ้าหมายถึงการ “ไม่ฆ่า” ตามที่นิยม “ตีงูให้หลังหัก” ในสมัยต่อๆ มา ก็อาจจะยังใช้ไม่ได้ในสมัยนี้

เพราะการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็น “ครั้งแรก” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กติกาการ “ฆ่าชิงบัลลังก์” ยังไม่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งนี้นับเป็นการแย่งชิงราชสมบัติครั้งแรกในกรุงศรีอยุธยา ที่เกิดขึ้นในเครือญาติใกล้ชิด ดังนั้นหากมีการ “ฆ่าชิงบัลลังก์” เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นราชอาณาจักรเช่นนี้ บรรดาพระญาติวงศ์หรือขุนนางอำมาตย์ก็อาจจะไม่ยอมรับก็เป็นได้

แม้สมัยต่อมา เมื่อสมเด็จพระนครอินทร์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ กลับมายึดกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช (พระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร) ครั้นนั้นสมเด็จพระนครอินทร์ ก็ไม่ได้ “ฆ่าชิงบัลลังก์” เช่นเดียวกับบรรพบุรุษราชวงศ์สุพรรณภูมิของพระองค์ แต่ทรง “ปล่อย” สมเด็จพระรามราชาให้ไปอยู่เมืองปทาคูจาม เหมือนกับที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) “ปล่อย” สมเด็จพระราเมศวรกลับไปลพบุรีนั่นเอง

ดังนั้นกติกาการ “ฆ่าชิงบัลลังก์” จึงไม่ใช่กฎตายตัวสำหรับผู้ทำรัฐประหารสำเร็จ การ “ปล่อย” จึงสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

สมเด็จพระราเมศวรที่ถูก “ปล่อย” ไปต่างหาก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้บริการ “ท่อนจันทน์” เพื่อชำระแค้นที่เฝ้ารอคอยอย่างอดทนถึง 18 ปี กับพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว)

และทรงเป็นผู้สร้าง “กงเกวียนกำเกวียน” ขึ้นระหว่าง 2 ราชวงศ์อย่างไม่รู้จบ!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ต้นฉบับพิมพ์ตามฉบับพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 126, 2540, น. 1.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 1.

[3] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 113.

[4] เรื่องเดียวกันอ้างแล้ว, น. 411.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 412.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 412.

[7] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, อ้างแล้ว, น. 9.

[8] ชินกาลมาลีปกรณ์, อ้างแล้ว, น. 111.

[9] สมเด็จพระวันรัตน, สังคีติยวงศ์, กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจาร (กมลเถระ), 2521, น. 375.

[10] วัน วลิต, รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยา, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546, น. 182.

[11] พระราชสาส์นส่งมาในปีจุลศักราช 732 อันเป็นปีที่เกิดรัฐประหาร จึงไม่แน่ว่าจะส่งมาในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรหรือสมเด็จพระบรมราชาธิราช


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565