เทคนิค “รัฐประหาร” ฉบับกรุงศรีอยุธยา วงศ์สุพรรณภูมิยึดบัลลังก์วงศ์อู่ทอง

ภาพโคลงภาพ "สร้างกรุงศรีอยุธยา" เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ "พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

“…ศักราช 731 (พ.ศ. 1912) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ครั้นเถิงศักราช 732 จอศก พ.ศ. (1913) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสด็จไปเสวยราชสมับติเมืองลพบุรี…” 

ความข้างต้นเป็นบันทึกจากพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์ ในเหตุการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินหลังการสวรรคตของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง แม้สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสในพระเจ้าอู่ทอง แห่งราชวงศ์อู่ทอง ได้ครองราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา แต่ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี (หรือน้อยกว่านั้น) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพ่องั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้เสด็จมายึดราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา

การยึดราชบัลลังก์โดยขุนหลวงพ่องั่ว นับเป็น “รัฐประหาร” ก็ว่าได้ เพราะถือเป็นการเปลี่ยน “รัฐบาล” ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่ารัฐประหารว่า “การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยฉับพลัน” แล้วเหตุใดขุนหลวงพ่องั่วจึงไม่ทําการรัฐประหารในทันทีหลังจากพระเจ้าอู่ทองสวรรคต แต่กลับปล่อยให้สมเด็จพระราเมศวรครองราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอยู่ระยะหนึ่ง และขุนหลวงพ่องั่วใช้เทคนิครัฐประหารอย่างไร

ปรามินทร์ เครือทอง วิเคราะห์ว่า ขุนหลวงพ่องั่วทรงรั้งรออยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ทําการรัฐประหารในทันทีอาจเพื่อประเมินสถานการณ์ การตรวจสอบกำลังสนับสนุนของฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้าม รวมทั้ง ตรวจสอบท่าทีของพันธมิตรในรัฐอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่อาณาจักรใหญ่อย่างจีน ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการประเมินสถานการณ์และท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บรรยายเหตุการณ์ในการยึดราชบัลลังก์ของขุนหลวงพ่องั่วว่า

“…สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เข้ามาแต่เมืองสุพรรณบุรี เสนาบดีกราบทูลว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จเข้ามา สมเด็จพระราเมศวรก็ออกไปอัญเชิญเสด็จเข้าพระนคร ถวายราชสมบัติแล้วยังคมลาขึ้นไปเมืองลพบุรีดังเก่า…”

ปรามินทร์ เครือทอง วิเคราะห์ว่า ในช่วงเวลานั้นอยู่ระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ขุนหลวงพ่องั่วในฐานะพระญาติวงศ์ ทรงมีฐานะเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในพระเจ้าอู่ทอง จึงทรงรอโอกาสอันเหมาะสมในการพระราชพิธีนี้เพื่อทำการยึดราชบัลลังก์ และอธิบายถึงเทคนิครัฐประหารไว้ว่า “…ระหว่างงานพระบรมศพนี้เอง สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) มีโอกาสเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้โดยชอบธรรม ในฐานะกองเกียรติยศเพื่อถวายพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ครั้นเมื่องานพระบรมศพสิ้นสุดลง สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ก็มิได้เคลื่อนกำลังพลกลับเมือง สุพรรณบุรี ซึ่งอาจมีเท่ากับเมื่อยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาคือ ประมาณ 10,000 คน สมเด็จพระราเมศวรก็เหลือ ‘ทางรอด’ ทางเดียวคือถอยกลับไปลพบุรี

‘เทคนิครัฐประหาร’ แบบนี้ภายหลังก็ถูกนำมาใช้อีกในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช ผู้ที่ใช้เทคนิค ‘เอาการ ศพเข้ามาบังไว้’ คือเจ้าพระยากลาโหม ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทั้งนี้เพราะการซ่องสุมผู้คนย่อมมีความผิดฐาน ‘กบฏ’ แต่การรวบรวมไพล่พลมาช่วยงานพระราชพิธี ย่อมไม่มีผู้ระแวงสงสัย

สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จะใช้ ‘เทคนิครัฐประหาร’ นี้หรือไม่?…”

ไม่ว่าขุนหลวงพ่องั่วจะใช้เทคนิคนี้ในการทำรัฐประหารนี้หรือไม่ แต่สมเด็จพระราเมศวรก็อาจจะทรงประเมินสถานการณ์ของพระองค์แล้วว่า ทรงมีพระราชอำนาจเป็นรองขุนหลวงพ่องั่ว หากทรงคิดต่อต้านถึงขั้นรบพุ่งกันขึ้นมา ก็คงเป็นฝ่ายของพระองค์ที่พ่ายแพ้ และพระองค์เองก็อาจถึงแก่พระชนม์ได้ จึงทรงตัดสินพระทัย “ถวายราชสมบัติ” แด่ขุนหลวงพ่องั่ว แล้วทรงถอยกลับไปตั้งหลักที่ลพบุรี

สมเด็จพระราเมศวรทรงรั้งรอถึง 18 ปี ก่อนจะกลับมาทวงราชบัลลังก์อยุธยากลับคืน ภายหลังจากที่ขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรทรงทำการ “รัฐประหาร” ที่มีการสังหารกษัตริย์เป็นครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา ด้วยจับพระเจ้าทองลัน ผู้เป็นพระราชโอรสในขุนหลวงพ่องั่ว “…ให้พิฆาตเสีย ณ วัดโคกพระยา…” ดังนั้น พระเจ้าทองลันจึงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี


อ้างอิง :

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2553.

ปรามินทร์ เครือทอง. กรุงศรีปฏิวัติ : ปริศนารัฐประหารเงียบของขุนหลวงพ่องั่ว “ยอม” หรือ “ยึด”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563