“บุฟเฟต์ คาร์บิเน็ต” ฉายารัฐบาลพลเอกชาติชาย สู่รัฐประหาร พ.ศ. 2534

แฟ้มภาพทหารไทยในปี พ.ศ. 2534 กับภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ AFP / KRAIPIT PHANVUT

รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่ในสถานะง่อนแง่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ทั้งถูกกล่าวหาเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดชุดหนึ่ง จนมีฉายาว่า “บุฟเฟต์ คาร์บิเน็ต” ทั้งยังเกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับผู้นํากองทัพ

ในค่ำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นายทหารระดับผู้บังคับกองพันจํานวนหนึ่งเข้าพบพลเอกชาติชาย เพื่อขอร้องให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ หลังนายทหารกลุ่มนั้นเดินทางกลับ พลเอกชาติชายได้สั่งพลตำรวจตรีเสรี เตมียเวส ผู้บังคับการกองปราบปราม นํากําลังเข้าอารักขารอบบ้านพักในซอยราชครูทันที

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (ภาพจาก wikipedia)

เมื่อถึงเช้าตรู่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกชาติชายมีกําหนดการนําคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ที่พระตําหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ในจํานวนนี้รวมถึงพลเอกอาทิตย์ กําลังเอก ซึ่งพลเอกชาติชายเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หวังให้มาคานอํานาจกับนายทหารจปร. รุ่นที่ 5 หรือรุ่น “0143” ซึ่งมีพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน โดยหารู้ไม่ว่ากําลังเดินทางไป “ติดกับดัก”

ขณะเครื่องบิน ซี 130 ทะยานขึ้นจากสนามบินกองทัพอากาศ จู่ ๆ ก็มีคําสั่งยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน จากนั้นพลอากาศตรีอมฤต จารยะพันธ์ หรือ “ผู้การหิน” และลูกทีมพร้อมอาวุธครบมือ ซึ่งซ่อนตัวอยู่บนเครื่องบินได้บุกเข้าควบคุมตัวพลเอกชาติชายและคณะไปควบคุมตัวไว้ในบ้านพักรับรองของกองทัพอากาศ เมื่อจับกุมผู้นําประเทศได้แล้ว กําลังทหารจากหน่วยต่าง ๆ เคลื่อนเข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ทําเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการสําคัญ

กระทั่งเวลา 14.00 น. พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พลเอกสุจินดา คราประยูร พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรสช. และ พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการรสช. ร่วมกันแถลงยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลพลเอกชาติชายและล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521

รสช. อ้างเหตุผลการยึดอํานาจ 5 ข้อ คือ

  1. มีการทุจริตคอร์รัปชันในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง
  2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจํา
  3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
  4. มีการพยายามทําลายสถาบันทหาร
  5. บิดเบือนคดีวันลอบสังหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

อ่านแถลงการณ์คณะรสช. ฉบับเต็มได้ ที่นี่

แม้จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 แต่ไม่ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เพื่อให้พรรคการเมืองยังคงสภาพอยู่ต่อไปได้ แต่ยังคงห้ามพรรคการเมืองดำเนินการใด ๆ ทางการเมืองโดยอ้างถึงความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ และคณะรสช. ยังได้สั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองคนสำคัญจากหลายพรรคการเมืองเพื่อจะยึดทรัพย์อีกด้วย

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รสช.ออกแถลงการณ์ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 6 เดือน ในระหว่างนั้นจะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายกรัฐมนตรีคือนายอานันท์ ปันยารชุน บริหารประเทศ เป็นอันว่าถึงคราวสิ้นสุดรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพลเอกชาติชาย และความร้อนแรงของการเมืองไทยใต้เงาของรสช. ก็จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535