หลวงบรรเทาทุกข์ ดูแลย่านโจรชุกแถบอยุธยาจนสงบ แต่กลับซ่องสุมคนไปปล้นที่อื่น

ภาพประกอบเนื้อหา - นักโทษฉกรรจ์สมัยต้นศตวรรษที่ 20 จากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring

หลวงบรรเทาทุกข์ ดูแลย่านโจรชุกแถบอยุธยาจนสงบ แต่กลับซ่องสุมคนไปปล้นที่อื่น

ตะวันรอนอ่อนแสงในยามเย็น เสียงเรือโยงค่อยจางหายไป ผิวน้ำราบเรียบไม่มีคลื่นลมแรงอีกแล้ว เบื้องหน้าเป็นแผ่นดินเกาะใหญ่ ปกคลุมด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่เขียวชะอุ่มชุ่มชื้น หัวใจลองพระยาบรรฦา และลำน้ำเจ้าพระยาโอบล้อมเกาะใหญ่ให้ลอยเด่นอยู่กลางลำน้ำ ท้ายเกาะบางกระบือ โพธิ์แตงเป็นถิ่นตำบลในเขตจังหวัดปทุมธานี อำเภอสามโคกและแดนต่อแดนในเขตจังหวัดอยุธยา อำเภอบางไทร

Advertisement

ท้ายเกาะใหญ่เคยมีเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งตระหง่านตา ท่ามกลางดงไม้ริมฝั่งน้ำ บัดนี้เหลือแต่ซากโคนโพธิ์ใหญ่เจดีย์นี้มีชื่อ “เจดีย์หลวงบรรเทาทุกข์” มีอดีตอันยาวนานด้วยหยาดน้ำตาความทุกข์ยากและความตาย ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน ใครจะช่วยเมื่ออำนาจนั้นตกอยู่กับฝ่ายอธรรม

จากวันนั้นถึงวันนี้ย้อนรอยถอยหลังไปนับร้อยปี ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453) เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในขณะที่พระชนมายุได้ 15 พรรษา ในการจัดการปกครองในระยะแรก พ.ศ.2411-2416 ที่ประชุมเสนาบดีได้ตกลงเลือก “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” (ช่วง บุญนาค) [สะกดตามต้นฉบับนิตยสาร-กองบก.ออนไลน์] เป็นผู้สำเร็จราชการ และได้สถาปนากรมหมื่นวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นอนุชาของพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลต้องประสบปัญหาในการปกครอง ในการดึงอำนาจสู่ส่วนกลางอย่างมาก กับกลุ่มตระกูลบุญนาค ซึ่งมีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจการเมือง เช่น กรณีบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า

“เหมือนว่าวที่ปล่อยจนหมดสายป่านไม่มีเหลือเลย ยังเหลือแต่ธุระที่จะทำอยู่เพียง จะชั่งกำลังตัวว่าเมื่อเราเป็นเด็กอยู่มีกำลังเพียงเท่านั้นจะรั้งว่าวไว้ไม่หกล้ม ฤาจะปล่อยให้ว่าวหลุดลอยเสีย”

การปฏิวัติเงียบ

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2427 พระองค์ได้รับคำกราบบังคมทูลเป็นลายลักษณ์อักษรมีใจความติเตียนการปกครองของพระองค์ให้เร่งรัดการปกครองเปลี่ยนแปลงเสียโดยเร็ว ผู้กระทำการดังกล่าวได้แก่ 1. กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ 2. กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาคา 3. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก 7 คน

ใจความสำคัญคือต้องการให้ประเทศไทยได้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก เปิดโอกาสให้ราษฎร์ได้มีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น แทนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาแบบประนีประนอมเสียดินแดนเพื่อรักษาเอกราช

พระองค์ได้พระราชดำรัสตอบอย่างละมุนละม่อม มิได้ถือโทษแก่ผู้กราบบังคมทูล ในครั้งนั้นพระองค์ได้ปฏิวัติการปกครอง กฎหมาย ทางด้านสังคมได้ยกเลิกประเพณีต่าง ๆ ที่ไม่เข้ากับยุคสมัยเสียเป็นส่วนมาก เช่น เลิกทาส และเสด็จต่างประเทศยุโรปและเอเชีย

การปกครองส่วนกลางแต่เดิมแบ่งเป็น “ฝ่ายทหาร” มีสมุหกลาโหมบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ “ฝ่ายพลเรือน” มีสมุหนายกบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ จัดแบ่งกระทรวงเสนาบดีเป็น “จตุสดมภ์” มีกรมเมือง(นครบาล) กรมวัง กรมคลัง กรมนา ซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นการล้าสมัยไม่ทันต่อสภาพการณ์จึงเปลี่ยนเป็น

การปกครองส่วนกลางจัดตั้งเป็นสภาแผ่นดิน 2 สภา คือ “สภารัฐมนตรี” กับ “สภาองคมนตรี” ขึ้นในปี พ.ศ.2417

การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเป็นมณฑลและเทศาภิบาลได้แก่ 1. กระทรวงมหาดไทย 2. มณฑล 3. เมือง 4. อำเภอ 5. ตำบล 6. หมู่บ้าน และได้จัดตั้งการศาลกระทรวงยุติธรรม มีศาลตัดสินคดีแยกเป็น 1. ศาลในกรุง 2. ศาลหัวเมือง ตั้งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “เป็นสภานายก” พิจารณาคดีตามหัวเมืองต่าง ๆ

ขวากหนามการปฏิวัติเงียบ

การสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงจากรายได้เจ้าเมืองตามหัวเมืองกำลังสูญเสียไปซึ่งเคยได้รับจากราษฎร์ โดยมิได้ส่งเข้าห้องพระคลัง แต่เดิมมิได้แยกเงินหลวงเงินราษฏร์ มักจัดการเองตามสมควร การสูญเสียแรงงานทาสที่เคยใช้ประโยชน์ส่วนตัว การต่อต้านในการสูญเสียอำนาจเกิดขึ้นเสมอ เช่นฝ่ายอนุรักษนิยม คือ “พระยาอาหารบริรักษ์” เสนาบดีกรมนาไม่ยอมส่งค่าน่าให้ “หอรัษฎากรพิพัฒน์” จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง เกิดขบถขึ้นในเมืองเหนือ เช่น “โจรเงี้ยวเมืองแพร่” ขบถผีบุญในภาคอีสานเป็นต้น

ส่วนในภาคกลางไม่ห่างจากเมืองหลวงมากนัก ในเขตจังหวัดอยุธยาและจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน ได้ต่อต้านการปกครองการเปลี่ยนแปลง สมคบกับโจรปล้นสะดมประชาชนในเขตสองจังหวัด ก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎร์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าขานติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

หลวงบรรเทาทุกข์

หลวงบรรเทาทุกข์ เป็นผู้มีอำนาจร่ำรวยเงินทอง มีข้าทาสบริวารมาก ชอบใช้อำนาจข่มเหงราษฎร์อยู่เสมอ มีภรรยานับสิบคน หากชอบใจหญิงใดก็จะใช้บริวารฉุดคร่ามาตามต้องการ ราษฎร์ที่ขัดขวางก็จะถูกฆ่าตายโดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือได้ หญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นสาวก็จะถูกพ่อแม่เก็บซ่อนตัวไว้ มิใช้ไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน อีกทั้งห้ามมิให้นุ่งห่มเสื้อผ้าสีฉูดฉาดบาดตา จะนำอันตรายมาสู่ตัวได้

นอกจากหลวงบรรเทาทุกข์จะมักมากในกามารมณ์แล้ว ยังมีนิสัยเป็นอันธพาลสมคบกับโจรปล้นสะดมชาวบ้าน บางครั้งจะสั่งให้บริวารไปบอกล่วงหน้าว่าจะเข้าปล้นวัวควายในคืนนี้ ชาวบ้านจะอยู่เวรยามเฝ้าตลอดคืน ครั้นเห็นท้องฟ้าสางใกล้สว่างคิดว่าปลอดภัยแล้ว ก็หลับไปหลังจากอดนอนมาตลอดคืน ครั้นตื่นขึ้นมาในตอนสายวัวควายก็หายไปสิ้น

หลวงบรรเทาทุกข์มักก่อความเดือดร้อนให้ราษฏร์ผู้ยากไร้ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ ลุแก่อำนาจเรือสินค้าที่นำสินค้าพื้นเมืองจากทางเหนือล่องสู่กรุงบางกอก หรือจากกรุงบางกอกขึ้นไปหัวเมืองเหนือหากไม่จอดพักในเขตกำหนดโดยเสียค่าคุ้มครองแล้ว ก็จะถูกปล้นฆ่าชิงเรือและสินค้าจนหมดสิ้น เป็นที่หวาดกลัวของผู้สัญจรไปมาทางลำน้ำเจ้าพระยายิ่งนัก

เมื่อหลวงบรรเทาทุกข์จับได้ว่าบุตรของตนได้ลักลอบได้เสียกับภรรยาน้อยที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูก จะลงโทษให้แก้ผ้าทั้งสองคน เอาตะกร้าวิดน้ำเรือจากเรือใหญ่ให้แห้ง แล้วจับโบยด้วยหวายจนขาดใจตาย

ความชั่วทั้งหลายที่หลวงบรรเทาทุกข์ได้ก่อไว้ ทำให้ราษฎร์หวาดกลัวและไร้ที่พึ่ง ในไม่ช้าได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถอดทนอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้ อำดำเต๋อและพวกได้เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เขียนรายงานถวายฎีกาจำนวน 9 ใบ กราบทูลไปยังพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหาหลวงบรรเทาทุกข์เลี้ยงโจรปล้นสะดมชาวบ้าน ก่อความเดือดร้อนให้ราษฎร์

หลวงบรรเทาทุกข์ ได้พยายามวิ่งเต้นใช้อำนาจข่มขู่ผู้ถวายฎีกาและพยายามล้มคดี โดยใช้แตงโมทั้งลูกคว้านไส้ออกหมด แล้วนำเงินทองยัดไส้ไว้ภายใน แล้วนำไปให้เป็นของฝากแก่ผู้ไต่สวนคดีนี้ แต่เรื่องนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสั่งใหไต่สวนเอาความจริงในเรื่องนี้ให้จงได้ ซึ่งโทษมันเป็นขวากหนามการปฏิวัติ สมคบโจรกดขี่ขูดรีดปล้นฆ่าราษฎร์ตามอำเภอใจ โทษมันจึงควรตัดหัวให้ตายไปตามกรรม

เรื่องหลวงบรรเทาทุกข์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 “การปกครองหัวเมืองสมัยโบราณเป็นแบบกินเมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีเจ้าเมืองมีการสืบตระกูลเจ้าเมืองยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ในหนังสือ “เทศาภิบาล” ซึ่งท่านได้ไปเห็นด้วยตนเองขณะไปตรวจราชการหัวเมืองเจ้าเมืองจะว่าราชการกันที่บ้านเรียกว่า “จวน” ราษฎร์เคารพยกย่อง เอาสิ่งของมาให้เป็นของกำนัล และยิ่งมีระบบเจ้านายภาษีอากรก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ดังนั้นช่องทางที่เจ้าเมืองจะใช้อำนาจในทางที่ผิดก็มีมากขึ้น ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะดูแลหรือส่งขุนนางจากส่วนกลางไปควบคุมก็ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกรณีเจ้าเมืองที่มีสมัครพรรคพวกเป็นผู้คิดมิชอบ เช่น กรณีผู้รักษาการกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้แต่งตั้ง “คหบดีชื่อช้าง” ให้เป็น “หลวงบรรเทาทุกข์” ซึ่งบุคคลผู้นี้กลับเข้ากับโจรผู้ร้าย ทำการโจรกรรมในเขตท้องที่อื่น ซึ่งในที่สุดก็ถูกลงโทษประหารชีวิต”

จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้นหลวงบรรเทาทุกข์นี้จะไม่จัดเป็นวีรบุรุษหรือผู้ก่อคุณงามความดีให้ประเทศชาติจนยากยิ่งที่จะลืมกันได้ก็ตามที แต่เรื่องนี้กลับสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจและการใช้อำนาจการปกครองและกลไกของรัฐในการจัดการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เรื่องเช่นนี้ก็ยังมีปรากฏอยู่ เพียงแต่ต่างกรรมและต่างกาลเวลาเท่านั้น

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แต่ด้านคุณธรรมเพียงด้านเดียว เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ในปัจจุบันจึงควรเรียนรู้ทั้งสองด้าน ตราบใดที่อำนาจคือธรรมะราษฎร์ย่อมเป็นสุข ตรงกันข้าม หากอำนาจนั้นตกอยู่กับฝ่ายอธรรม ย่อมส่งผลให้ราษฎร์ต้องทุกข์ยากและยากไร้ยิ่งขึ้นในบั้นปลายผู้ใช้อธรรมย่อมได้รับผลกรรมในที่สุด ดังเช่นหลวงบรรเทาทุกข์ผู้เพิ่มความทุกข์ยากให้แก่ราษฏร์เช่นนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2563