ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะที่ พระยาอาหารบริรักษ์ (นุช) หลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นเสนาบดีกรมนา รัชกาลที่ 5 รับสั่งตั้งให้ “ออดิตออฟฟิส” เพื่อตรวจสอบกำกับการเก็บ “เงินภาษี” เข้าหลวงทำงานของกรมกองต่างๆ พบว่า “กรมนา” ส่งเงินขาดกว่า 5 แสนบาท
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อำนาจในการควบคุมรายได้ที่สำคัญที่สุดคือ การได้กำกับการเก็บ เงินภาษี ที่มีขั้นตอนตั้งแต่การประมูลให้สิทธิ์เจ้าภาษีนายอากรไปผูกขาดเก็บภาษี และรับบัญชีส่งเข้าท้องพระคลัง ซึ่งก่อนจะถึงขั้นนี้ เจ้านายหรือขุนนางที่กำกับภาษีมีสิทธิ์ใช้เงินที่จัดเก็บได้ในงานราชการตามกรมกองของตนก่อนนำส่งท้องพระคลัง ทั้งยังได้ “สิบลด” หรือร้อยละ 10 ของรายได้เป็นส่วนแบ่งด้วย อำนาจการกำกับภาษีที่กระจายอยู่กับเจ้านายและขุนนาง ส่งผลให้อำนาจทางเศรษฐกิจของกษัตริย์ที่เลิกทำการค้าของรัฐผ่านกรมพระคลังสินค้าลดน้อยลงไปมาก
แม้ได้มีข้อตกลงกันว่าฝ่ายที่กับ ภาษี จะส่งเงินร้อยละ 5 ของรายได้ที่จัดเก็บเข้า “พระคลังข้างที่” ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ของกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแทบไม่มีใครปฏิบัติตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้กำกับภาษีแต่ที่อยู่ในความดูแลของกรมพระคลังมหาสมบัติเท่านั้น ส่วน ภาษี ที่เจ้านายและขุนนางอื่นดูแลอยู่ ก็มักหาทางหลีกเลี่ยงปิดบังเป็นผลประโยชน์ส่วนตน
ทำให้เงินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์ และเงินพระคลังหลวงที่เป็นเงินส่วนกลางร่อยหรอลงทั้งสองส่วน การใช้เงินพระคลังข้างที่ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระคลังข้างที่ต้องเป็นหนี้พระคลังหลวงอยู่กว่า 10 ปี
สถานการณ์ด้านการเงินค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้สิทธิ์กำกับภาษีของกรมพระคลังสินค้าทั้งหมด พ.ศ. 2413 ภายหลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้ากรมพระคลังสินค้า ทรงแสดงความจำนงถวายคืนให้เมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้ง “ออดิตออฟฟิส” (Audit Office) ขึ้น เพื่อตรวจบัญชีภาษีในกำกับของพระองค์ให้เงินเข้าพระคลังหลวงเต็มเม็ดเต็มหน่วย ภาษีจากกรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระคลังสินค้าในกำกับของพระเจ้าอยู่หัวมีมูลค่าเกินครึ่งของรายรับจาก เงินภาษี ทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เรื่องสิทธิ์กำกับภาษี แสวงหากลุ่มผู้สนับสนุนโดยทรงมอบหน้าที่กำกับภาษีบางอย่างให้ขุนนางนอกกลุ่มเพื่อซื้อใจ และขยายกลุ่มผู้สนับสนุน เช่น พระยาพิพิธโภคัยสวรรย์ (ทองคำ สุวรรณทัต) เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ, พระราชวรานุกูล (รอด กัลยาณมิตร) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย, พระยากลาโหมราชเสนา (กรับ บุณยรัตพันธุ์) อัครมหาเสนาบดีสังกัดวังหน้า ฯลฯ
แต่อำนาจหน้าที่ที่มอบให้ ไม่ใช่การดูแลเบ็ดเสร็จอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากมี “ออดิตออฟฟิส” ตรวจสอบบัญชีเงินเข้าเงินออกอยู่แล้ว แต่ผู้ดูแลก็จะได้ส่วนแบ่งในอัตราร้อยละ 5
นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายที่ให้การจัดเก็บรายได้รวมศูนย์ โดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ของกรมพระคลัง คือ “หอรัษฎาพิพัฒน์” ซึ่งมีวิธีกำกับดูแลจัดเก็บ รวมถึงตรวจสอบบัญชีอย่างละเอียด ไม่ให้ผู้กำกับดูแลภาษีเบียดบังเงินไปใช้ได้
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คัดค้าน “ออดิตออฟฟิส” เต็มที่ว่าทำไม่ได้จริง เช่น ภาษีฝิ่นที่ท่านดูแลจัดเก็บเอง แทนระบบเจ้าภาษีนายอากรตั้งแต่ พ.ศ. 2413 ท่านได้ใช้วิธีซื้อมาขายไป จึงทำบัญชีส่งเงินเข้าทุกเดือนไม่ได้ มิเช่นนั้นจะขอคืนภาษีที่ดูแลอยู่ ไม่ขอรับจัดการอีกต่อไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงยินยอมไม่เข้ายุ่งเกี่ยว แต่ไปตรวจสอบบัญชี กรมนา แทน
แล้วก็พบว่า เงินภาษี ที่ “กรมนา” ต้องส่งเข้าหลวง ขาดไปกว่า 5 แสนบาท
พระยาอาหารบริรักษ์ (นุช) หลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นเสนาบดีกรมนา การตรวจสอบพบว่า ระหว่าง พ.ศ. 2411-2413 กรมนาส่งเงินให้กรมพระคลังน้อยกว่าบัญชีถึง 6,775 ชั่ง (542,000 บาท)
อีกทั้งเสนาบดียังนำเงินไปใช้ส่วนตัวจำนวนมาก เช่น ยืมค่านาไปค้าขายปีละ 200-300 ชั่ง (16,000-24,000 บาท) เอาไปซื้อฝ้าย 2,000 ชั่ง (160,000 บาท) ทั้งนำข้าวเปลือกในฉางหลวงไปกำนัลท่านผู้หญิงพัน ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปีละ 70-90 เกวียน (70,000-90,000 กิโลกรัม) และนำข้าวสารไปให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อีกปีละ 11-13 เกวียน (11,000-13,000 กิโลกรัม)
พระยาอาหารบริรักษ์ยังเป็นผู้ดูแลการต้มฝิ่นขาย และเก็บเงินภาษีร้อยชักสามให้กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย
สุดท้ายเมื่อพระยาอาหารบริรักษ์และพวกอีก 2 คน ต้องโทษและถูกถอดจากตำแหน่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยกโทษจำคุกให้ แต่ไม่ให้กลับมารับราชการอีก
อ่านเพิ่มเติม :
- ภาษีนา-สวน-ไร่ สมัยกรุงธนบุรี-ต้นกรุงเทพฯ เก็บกันอย่างไร
- กำเนิด “กรมศุลกากร” หน่วยงานจัดเก็บภาษีสินค้าเข้า-ออก ดึงรายได้เข้ารัฐ
- “ธุรกิจข้าว” พ่นพิษ ทำเจ้าภาษีนายอากรสมัยรัชกาลที่ 5-6 ล้มละลาย
ข้อมูลจาก :
ดร.อาวุธ ธีระเอก. ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2561