ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“กรมศุลกากร” เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีสินค้าขาเข้าขาออก เพื่อนำรายได้เข้ารัฐ มีพัฒนาการมาจากการจัดเก็บผลประโยชน์ค้าขายของรัฐในสมัยโบราณ ก่อนที่จะตั้งเป็นกรมศุลกากรดังปัจจุบัน
ในอดีตนั้นคงปรากฏแต่พอเป็นแนวศึกษาได้ว่า ในสมัยสุโขทัยมีคำว่า จกอบ เป็นคำเรียกภาษีชนิดหนึ่งซึ่งเก็บจากการนำสัตว์หรือสิ่งของมาจำหน่าย แต่จกอบในสมัยสุโขทัยจะรวมถึงผลประโยชน์ที่เรียกเก็บจากสินค้าขาเข้าและขาออกไปยังต่างดินแดนด้วยหรือไม่ก็ไม่ทราบแน่ชัด
ต่อมา การจัดเก็บภาษีลักษณะนี้สืบเรื่อยมาถึงสมัยอยุธยา ซึ่งจัดเก็บจกอบทั้งจากการค้าภายในและต่างประเทศ โดยมี ขนอน เป็นสถานที่เก็บจกอบ และมีหน่วยงานที่ทำการค้ากับต่างประเทศคือ พระคลังสินค้า เป็นผู้กำหนดประเภทของสินค้าที่จะเข้ามาซื้อขาย และมีสิทธิ์ขาดที่จะเลือกซื้อสินค้าขาเข้าก่อน รวมทั้งขายสินค้าออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ พระคลังสินค้ายังมีอำนาจผูกขาดการขายสินค้าบางประเภทที่มีราคาและเป็นของหายาก เช่น ดีบุก งาช้าง หนังกวาง ฯลฯ
ตั้งแต่นั้นมาการจัดเก็บภาษีจากการค้ากับต่างประเทศก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “หอรัษฎากรพิพัฒน์” ให้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีขาเข้าและขาออก และข้อกำหนดให้ยกเลิกการค้าผูกขาดโดยพระคลังสินค้า อันเป็นผลมาจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง และโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) พระราชบัญญัติสำหรับพระคลังมหาสมบัติ จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) เพื่อรวบรวมเงินรายได้ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน
ดังนั้น การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์จึงนับเป็นการก่อตั้งกรมศุลกากร
คำว่า “ศุลกากร” นั้น บัญญัติโดย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แต่กรมศุลกากรในขณะนั้นจะขึ้นอยู่กับกระทรวงก็ยังสอบค้นไม่ได้ พระยาอนุมานราชธนผู้เขียน “ตำนานศุลกากร” ก็สอบค้นไม่ได้ ทราบแต่เพียงว่า ใน จ.ศ. 1248 (พ.ศ. 2429) กระทรวงเกษตราธิการได้บังคับบัญชาโรงภาษีสินค้าขาเข้าขาออก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวง เมื่อ พ.ศ. 2433 มีการแบ่งหน่วยงานออกเป็น 13 กรม โดยมีกรมศุลกากรเป็น 1 ใน 13 กรมด้วย มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขาเข้าขาออก ซึ่งเก็บจากผู้บรรทุกสินค้าออกไปต่างประเทศ และที่บรรทุกเข้ามาขายในประเทศ
สำหรับที่ตั้งกรมศุลกากรนั้นในช่วงนี้ได้ย้ายมาจากโรงภาษี ที่ตั้งอยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม มายังที่ทำการแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในที่ของพระยาอาหารบริรักษ์ เรียกว่า ที่ทำการภาษีร้อยชักสาม และที่บัญชาการภาษีขาเข้าขาออก ต่อมาได้สร้างอาคารใหม่เรียกว่า ศุลกสถาน อาคารหลังนี้ออกแบบโดย มิสเตอร์ กราสสี (Joachim Grassi) ชาวอิตาเลียน
ที่ทำการกรมศุลกากรแห่งนี้ พระยาอนุมานราชธนได้เล่าในหนังสือที่ระลึกเปิดตึกที่ทำการศุลกากรใหม่เมื่อ พ.ศ. 2497 ว่า
“ที่ทำการกรมศุลกากรครั้งกระโน้น เรียกในหนังสือทางราชการว่า ศุลกสถาน แต่คนสามัญเรียกว่า โรงภาษีร้อยชักสาม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โรงภาษี ส่วนชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า พ้าซีกวน หรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งเป็นคำแปลความเดียวกัน…
เขตบริเวณกรมศุลกากรสมัยนั้น ด้านเหนือมีอยู่เพียงแนวของตัวตึก ด้านขวายื่นไปทางแม่น้ำ ถัดเหนือขึ้นไปยังเป็นที่ของคนอื่นอยู่ คือเป็นที่ของสุเหร่า ต่อไปอีกเป็นสถานทูตอเมริกัน แล้วถึงหนทางลงท่าแม่น้ำของวัดม่วงแค ถัดไปเป็นสถานทูตอังกฤษ ซึ่งเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลขในเวลานี้
ถ้าท่านผ่านเข้ามายังกรมศุลกากรจะเห็นทางด้านขวา ตอนก่อนจะถึงประตูใหญ่ของสถานทูตฝรั่งเศสเป็นเรือนตึกมีกำแพงกั้นเป็นบริเวณอยู่ 3 หลัง ซึ่งเป็นเรือนที่พักสารวัตรฝรั่งของกรมศุลกากร ถัดไปทางทิศตะวันตกเป็นตึกแถวชั้นเดียวยกพื้นสูง และหันหน้าตึกไปทางตะวันออก ตึกแถวนี้และห้องไม้ที่อยู่ลึกเข้าไป ทางทิศเหนือเป็นโรงพักและที่อยู่ของศุลการักษ์ประจำท่าหน้าศุลกสถาน…”
ต่อมางานด้านศุลกากรขยายตัวมากขึ้น จึงต้องหาที่ทำการแห่งใหม่ให้เหมาะสม จึงย้ายที่ทำการแห่งใหม่มายังบริเวณเขตคลองเตย ก่อสร้างอาคารสำนักงานสูง 16 ชั้น เรียกว่า อาคาร 120 ปี ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2539
อ่านเพิ่มเติม :
- ภาษีนา-สวน-ไร่ สมัยกรุงธนบุรี-ต้นกรุงเทพฯ เก็บกันอย่างไร
- สมัย ร.4 รัฐเก็บภาษีเพิ่ม 14 ชนิด ชดเชยรายได้ที่หายไปจากสัญญาเบาริ่ง จนเกิดจลาจล
- ความสำคัญของการพนันและการเล่นหวยในสังคมสยาม ที่มาของ “ภาษีบาป”
อ้างอิง :
“120 ปี กรมศุลกากร,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 : ฉบับที่ 9.
กรมศุลกากร. “ประวัติกรมศุลกากร”. เจ้าถึงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/44miM9d.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2566