ผู้เขียน | ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การจัดเก็บภาษีอากรจากการเล่นการพนันหรือการเล่นหวยของประชาชนสยามเริ่มมีขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นัยว่าเป็นนโยบายทางอ้อมที่ดึงเอาเงินสดของประชาชนออกมาได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเงินตราเพิ่งจะเริ่มขึ้น โดยคนกลุ่มหลักที่รัฐต้องการเก็บภาษีคือกลุ่มชนชั้นแรงงานชาวจีนที่เข้ามาทำงานในสยามขณะนั้น เพื่อให้ไม่ต้องส่งเงินกลับประเทศตนเองและให้เงินตราหมุนเวียนอยู่ในสยาม โดยมูลค่าการจัดเก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยขณะนั้นมีสูงถึง 400,000 บาทต่อปี
จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเก็บภาษีบ่อนและหวยก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ในชื่อ “ภาษีการพนัน” ในแต่ละปีรัฐสามารถจัดเก็บภาษีชนิดนี้ได้สูงถึง 500,000 บาท ทำให้ต่อมามีหลายหัวเมือง เช่น เมืองเพชรบุรีที่มีแรงงานชาวจีนเข้ามาทำงานในโรงงานน้ำตาลจำนวนมาก ได้ทำการขอผูกขาดการเก็บภาษีการพนัน
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความสำคัญของบ่อนและหวยก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับกลายมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ จากสถิติการเก็บภาษีของรัฐใน พ.ศ. 2435-2436 และ พ.ศ. 2439-2440 รายได้รวมจากบ่อน หวย ฝิ่นและสุรา นับเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐ อาจเรียกได้ว่าเงินที่ได้จาก “ภาษีบาป” เหล่านี้ทำให้รัฐสยามมีรายรับที่มั่นคงมากกว่ารายได้จากแหล่งอื่น ๆ
นอกจากบ่อนจะเป็นแหล่งรายได้ของรัฐแล้ว ก็ยังเป็นเสมือนตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเงินตรา เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นในการใช้เงินตรานั้น ได้เกิดปัญหาการปลอมแปลงเงินตราขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าใช้เงินตราแบบใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ยังไม่สามารถผลิตเงินตราแจกจ่ายไปตามมณฑลต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ บ่อนในสมัยนั้นจึงจัดทำเงินหรือปี้ของตนเอง ซึ่งมีลักษณะเหมือนชิปตามบ่อนหรือคาสิโนในสมัยนี้ขึ้นมาใช้
เงินเหล่านี้โดยมากมักทำมาจากแก้ว กระเบื้อง ทองเหลืองหรือโลหะอื่น ๆ มีหลายรูปทรง ไม่ว่าจะเป็น ทรงกลม ทรงรี รูปผีเสื้อ รูปดาว รูปสัตว์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเงินหรือปี้เหล่านี้จะมีการประทับตราของบ่อนเป็นเครื่องหมายเอาไว้รับรองมูลค่าเพื่อให้คนใช้มีความมั่นใจว่าเป็นเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนได้จริง
บ่อนและหวยยังสัมพันธ์กับการขยายตัวของเมือง เนื่องจากในขณะนั้นบ่อนกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นล่างโดยเฉพาะพวกกุลีแรงงาน เป็นแหล่งรวมของนักเลง มีหาบเร่ของกินที่มาตั้งแผงขายรองรับผู้มาใช้บริการบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี โรงงิ้ว และโรงรับจำนำ อาจกล่าวได้ว่าหากบ่อนไปตั้งที่ใด ที่นั้นก็จะกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมที่มีร้านรวงต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน ทั้งนี้จากการสำรวจจำนวนบ่อนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 พบว่ามีจำนวน 400 แห่ง และในจำนวนนี้ 126 แห่งเป็นบ่อนขนาดใหญ่
การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่าง ๆ ก็ได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและการเล่นพนันเช่นกัน ใน พ.ศ.2443 เมื่อทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และนครราชสีมาเสร็จสิ้น ประชาชนจากหัวเมืองนั่งรถไฟเข้ามาในเมืองกรุงเพื่อเล่นการพนันจนต้องมีการจัดรถไฟเสริม
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การเล่นหวยมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะหลังจากที่เส้นทางรถไฟจำนวนมากในเขตหัวเมืองเสร็จสมบูรณ์ มีการส่งโพยหวยผ่านเสมียนชาวจีนที่รออยู่ตามชุมทางรถไฟ ในช่วงเวลานั้นหวยเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนตั้งแต่คนธรรมดาสามัญไปจนถึงชนชั้นเจ้านาย โดยสามัญชนทั่วไปอาจเริ่มเล่นหวยตั้งแต่จำนวน 1 บาทขึ้นไป ในขณะที่ชนชั้นสูงอาจลงเงินสูงถึง 50 บาทต่อครั้ง
ใน พ.ศ. 2452 เพียงปีเดียว มีการเปิดประมูลการเก็บภาษีอากรหวย ก.ข. เฉพาะในมณฑลกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวก็มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความนิยมการเล่นหวยของชาวสยามอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จากบ่อนการพนันและหวยจะมีมาก รัฐสยามก็พยายามที่จะลดจำนวนโรงบ่อนลง โดยสาเหตุที่สำคัญมีหลายประการทั้งเรื่องของการขัดหลักศาสนาพุทธและเรื่องความไม่ “ศิวิไลซ์” ของประเทศ แต่สาเหตุที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือความไม่สงบเรียบร้อยของสังคมอันเนื่องมาจากปัญหาอาชญากรรม ทั้งเรื่องฉกชิงวิ่งราวเพื่อนำทรัพย์สินไปขายกับโรงรับจำนำแล้วนำเงินมาเล่นการพนันและปัญหาซ่องโสเภณี
ขณะนั้นมีรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมและทำให้รัฐต้องเสียเวลากับปัญหาดังกล่าว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและอธิบดีกรมตำรวจต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการพนันเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เกิดความยากจนและปัญหาการฉกชิงวิ่งราว โดยเฉพาะการปล้นชิงในเขตภาคกลางที่มาจากการอพยพของชาวลาวเข้ามาทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมและเล่นการพนันในยามว่างจนหมดตัว รวมถึงในเขตพื้นที่มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชนชั้นนำสยามเริ่มเห็นว่าไม่ควรที่จะสนับสนุนการเปิดบ่อนและการเล่นหวยอีกต่อไปและเริ่มมีการจำกัดจำนวนของบ่อนและโรงหวยขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนบ่อนและการเล่นหวยจะถูกจำกัดขอบเขตในทางกฎหมาย รัฐสยามก็ยังคงใช้การพนันและการเสี่ยงโชคในลักษณะนี้มาเป็นกิจกรรมในการระดมทุน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการออกล็อตเตอรี่เพื่อระดมเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกิจการเสือป่า การสร้างโรงพยาบาล การจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ให้กับรัฐ เป็นต้น หวยกับการพนันจึงไม่เคยหมดไปจากสังคมสยาม และอาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมทั้งสองประเภทเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและมีส่วนช่วยสำคัญในการสนับสนุนรัฐไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
ที่มา
Warren, James A. Gambling, The State and Society in Thailand c.1800-1945. Oxon: Routledge, 2013.
พระราชหัตถเลขาทรงสั่งราชการในรัชกาลที่ 5 และ 6 กับเรื่องประกอบ. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. 17 มีนาคม 2507
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2561