สมัย ร.4 รัฐเก็บภาษีเพิ่ม 14 ชนิด ชดเชยรายได้ที่หายไปจากสัญญาเบาริ่ง จนเกิดจลาจล

เซอร์ จอห์น เบาริ่ง สนธิสัญญาเบาว์ริง วัดปทุมวนาราม รัชกาลที่ 4
เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ผู้มีส่วนสำคัญในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ฉากหลังเป็นภาพวัดปทุมวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุ)

เมื่อสยามต้องยกเลิกการผูกขาดสินค้าต่างๆ ตาม สัญญาเบาริ่ง ที่ทำกับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2398 รัฐบาลจึงขาดรายได้จากการจัดเงินภาษีอากรจากประชาชนในประเทศเพิ่มขึ้น หากเรื่องนี้ก็ทำให้ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ จนสื่อต่างชาตินำเสนอเป็นข่าว และเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ร้องขอความคุ้มครองจากอังกฤษ

ไกรฤกษ์ นานา เรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “‘กรณีจลาจล’ ภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง และเซอร์จอห์นถูกกดดันให้พ้นจากตำแหน่ง” (นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม พ.ศ. 2550) เนื้อหาที่คัดบางส่วนมานำเสนอมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

…ชาวอังกฤษโดยมากเห็นว่ามาตรการของรัฐเป็นการตอบโต้และแก้เผ็ด สัญญาเบาริ่ง โดยตรง จึงรวมหัวกันเขียนไปประจานในหนังสือพิมพ์ที่สิงคโปร์ เพื่อปรักปรำภาษีใหม่ที่รัฐตั้งขึ้นว่าเป็นการกดขี่ข่มเหงและขูดรีดประชาชน ซึ่งที่แท้เป็นการเรียกร้องความเห็นใจให้ตัวเองเสียมากกว่า ดังมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ข้อความบางตอนจากหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเพรส ฉบับวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1858 มีดังนี้

“เป็นที่ร่ำลือกันว่าปัจจุบันรัฐบาลสยามได้ออกประกาศห้ามการส่งข้าวเป็นสินค้าส่งออก ทำให้ประชาชนต่างติดตามคอยดูประกาศเรื่องนี้กันทุกวัน

การส่งสินค้าออกมีปริมาณลดถอยลงอย่างมาก ดังปรากฏให้ทราบจากตัวเลขแจ้งผลที่ได้รับในครึ่งปี และคาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะยังคงลดปริมาณลงอีกมากในอนาคตถ้าผลประโยชน์ของอังกฤษไม่ได้รับการดูแลให้ดีขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรที่จะถูกมองข้ามไป เนื่องจากข้อจำกัดของพระเจ้าอยู่หัวและบางทีอาจเป็นของคนอื่นอีกบางคน พวกเสนาบดีและพวกขุนนาง จึงไม่พอใจพ่อค้าชาวต่างชาติที่ทำการค้าขายอยู่ในสยาม และพยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัดพวกพ่อค้าลง

วิธีการผูกขาดสินค้าแบบสมัยก่อนจึงถูกนำมาใช้ พวกเขามิได้มีสายตามองเห็นการณ์ไกลด้วยการส่งเสริมปรับปรุงด้านเกษตรกรรม และขยายแหล่งทรัพยากรของประเทศ ซึ่งอาจทำให้เขามีความมั่งคั่งมั่นคงมากกว่าที่จะมาหยิบฉวยผลกำไรที่ได้จากการบังคับจำกัดทางการค้า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พวกเขาสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง

แผนการเกี่ยวกับภาษีใหม่ที่เป็นเรื่องเพิ่มเติมในจดหมายโต้ตอบนั้น กล่าวกันว่าเป็นผลงานต่อเนื่องของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมุหกลาโหม และท่านพระคลัง ชาวอังกฤษยังคงยืนยันว่าจุดประสงค์ของภาษีนั้นขัดแย้งกับสนธิสัญญาที่สยามทำกับอังกฤษ

ข้อกําหนดอัตราภาษีที่เสนอใหม่ซึ่งจะถูกนำมาใช้แทนแบบเก่า จะทำให้ได้รับเงินก้อนใหญ่มากกว่าที่จะได้จากภาษีการค้า การดำเนินการดังกล่าวควรสืบให้รู้แน่ถึงความรู้สึกของชาวต่างประเทศว่าจะยอมตามภาษีนั้นหรือไม่ และเมื่อพวกเขาแสดงให้เห็นถึง ‘การต่อต้านและไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องภาษี’ อาจจะทำให้ไม่สามารถบังคับพวกเขาได้อีกต่อไป

สภาพการณ์ภายในบ้านเมืองถูกบรรยายว่าเลวร้ายยิ่ง ประชาชนกำลังตกต่ำถึงที่สุด ภาษีอากรภายในประเทศถูกเรียกเก็บมากกว่า 10 เท่า แทนการเก็บเพียงครั้งเดียวตามที่กำหนดไว้ สนธิสัญญากับต่างประเทศ มีการตั้งด่านภาษีทุกๆ 20 ไมล์ หรือราวๆ นั้น การค้าขายกับประเทศลาวและกลุ่มชนเพื่อนบ้าน ซึ่งเคยมีอย่างกว้างขวางและมีมูลค่ามากเป็นระยะๆ ในช่วงนี้ได้หมดชะงักลงทั้งหมด พวกเขาจะไม่สามารถดำเนินการค้าต่อไปในภาวะการบังคับขูดรีดอย่างใหญ่หลวงตามที่พวกเขาอวดอ้างได้” [1]

สนธิสัญญาเบาสิ่งที่รัฐบาลสยามทํากับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) นับเป็นข้อผูกมัดให้สยามยกเลิกการผูกขาดสินค้าทุกชนิด โดยยอมให้ราษฎรซื้อขายกันได้อย่างเสรี

รัฐบาลจึงขาดรายได้จากเงินภาษีอากรส่วนนี้ไปเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรรดาเสนาบดีจึงมีมติให้ตั้งภาษีภายในขึ้นใหม่อีก 14 อย่าง เช่น ภาษีสุกร ภาษีปลาสด ภาษีปลาแห้ง ภาษีผ้า ภาษีขี้ผึ้ง ภาษีมหรสพ ภาษีค่าน้ำ ภาษีโรงเรือน ภาษีเพาะปลูก ภาษีการพนัน ภาษีเกลือ ภาษีเตาถ่าน ภาษีตลาด ภาษีน้ำตาล

ภาษีเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต มีผลทำให้ผู้คนจำนวนมากของสังคมไม่พอใจ โดยเฉพาะชาวจีน จึงได้รวมตัวกันก่อเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นถึงขั้นจลาจลในเวลาต่อมา

เจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ รายงานเรื่องกบฎและการจลาจล ในจดหมายทางราชการ 3 ฉบับ ส่งไปยังรัฐบาลอังกฤษในลอนดอน ถึงขนาดที่พ่อค้าอังกฤษนับสิบคนเข้าชื่อกันขอให้ทางอังกฤษส่งเรือรบเข้ามาควบคุมเหตุการณ์ นับเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่พงศาวดารไทยไม่เคยกล่าวถึงมาก่อน

ฉบับที่ (1)

สถานกงสุลอังกฤษ กรุงเทพฯ

20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1858

เรียน ฯพณฯ

ในขณะนี้มีข่าวกระจายไปว่า ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีแผนการลุกขึ้นก่อการจลาจลเพื่อต่อต้านชาวสยาม อันมีผลมาจากการกดขี่ในส่วนของรัฐบาล เนื่องจากเหตุนั้นจึงทำให้มีการโค่นล้มอำนาจ และเป็นผลทำให้เกิดการปล้นสะดมและการทำลายล้างกันขึ้น

ข่าวลือเหล่านี้กลับมาร่ำลือกันอีก ระหว่างที่กำลังมีงานฉลองประจำปีในกรุงเทพฯ จึงต้องมีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวังของพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และสถานที่สาธารณะต่างๆ ท่านพระคลังมิได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าอย่างชัดเจน แต่ท่านบอกข้าพเจ้าว่า เมื่อใดที่ข้าพเจ้าต้องการกองทหารชาวสยามเพื่อป้องกันสถานกงสุล ท่านจะส่งมาให้ทันที ที่จริงข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า รัฐบาลสยามได้มีคำสั่งในเรื่องการจัดส่งกองกำลังสถานที่ใกล้ที่สุดเพื่อคุ้มกันสถานกงสุลแล้ว เพียงแต่ข้าพเจ้าเกรงว่าเราจะไม่สามารถเชื่อใจพวกเขาในเหตุการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ได้เท่านั้น

ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่าข่าวลือที่กล่าวถึงอันตรายของการลุกขึ้นก่อการจลาจลของชาวจีนนั้น กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อดูจากการอพยพโยกย้ายในรอบปี ซึ่งสมควรแล้วกับความตั้งใจอย่างเอาจริงเอาจังของรัฐบาลสยาม

ข้าพเจ้าได้มีจดหมายไปถึงท่านเซอร์ไมเคิล ซีมัวร์ [เป็นแม่ทัพเรือคนเดียวกันกับที่เซอร์จอห์นมีบัญชาให้ยิงถล่มเมืองกวางตุ้ง-ไกรฤกษ์ นานา] เมื่อวันที่ 2 กันยายน คราวที่เกิดเหตุโจรสลัดก่อการปล้นในอ่าวสยาม และเมื่อข่าวเหล่านี้ร่ำลือไปทั่วแล้ว ข้าพเจ้าได้ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของท่านที่มัวร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำจัดพวกโจรสลัด หรือการปกป้องคนในบังคับอังกฤษที่อยู่ในกรุงเทพฯ และด้วยเหตุนี้จึงสมควรที่จะมีเรือปืนของสมเด็จพระราชินีอังกฤษมาประจำการที่กรุงเทพฯ

………….

ข้าพเจ้าขอเสนอแนะนำมายังท่านด้วยความเคารพว่า รัฐบาลสยามได้รับทราบเรื่องรัฐบาลสมเด็จพระราชินี ขอขอบคุณข้อเสนอของรัฐบาลสยาม ที่จะส่งกองทหารจำนวนหนึ่งมาปกป้องสถานกงสุลอังกฤษ ในกรณีที่เกิดเหตุจลาจลขึ้นเพื่อท่านจะได้มีคำสั่งในเรื่องซึ่งได้รับมอบหมายต่อไป

ข้าพเจ้าควรจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ หรือควรที่จะนึกถึงมหันตภัยที่มันอาจเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าในขณะนี้มากกว่านั้น อย่างไรก็ตามการให้สิทธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองกลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเรือรบหรือเรือปืนของสมเด็จพระราชินี ที่จะมาทอดสมออยู่ในแม่น้ำ ตรงข้ามกับสถานกงสุลมากกว่าที่จะได้รับความคุ้มครองจากกองรักษาความปลอดภัยของชาวสยามหลายเท่านัก

ขอแสดงความนับถือ

โรเบิร์ต เอช. ชอมเบิร์ก [1]

ถึง ฯพณฯ เอิร์ลแห่งมามส์เบอรี่

ฉบับที่ 2

สถานกงสุลอังกฤษ กรุงเทพฯ

26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1858

เรียน ฯพณฯ

ตามเอกสารหมายเลข 81 ที่ข้าพเจ้ามีถึงท่านเมื่อวันที่ 20 เดือนนี้ มีข้อความพาดพิงถึงเรื่องการก่อกบฏของชาวจีนในกรุงเทพฯ วันนี้ท่านกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ได้เรียกข้าพเจ้าเข้าไปพบ หัวข้อการสนทนาของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุร้ายที่หวั่นเกรงกันอยู่ ท่านกล่าวย้ำถึงข้อมูลเดียวกันที่ท่านพระคลังได้ส่งข่าวมาให้ทราบแล้ว ที่ว่าหากมีความจำเป็นกองทหารสยามก็จะถูกส่งมาคุ้มครองสถานกงสุล

แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้ายังยึดมั่นในความคิดเห็นลงวันที่ 20 ของเดือน นี้ที่ส่งมายังท่าน เพื่อที่จะยืนยันว่า คนอังกฤษหวั่นเกรงเหตุร้ายยังจะอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อไป และเป็นเหตุให้พวกเขาใช้พลานุภาพ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรของประเทศนี้ให้มากยิ่งขึ้น รัฐบาลสมเด็จพระราชินีควรเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือคุ้มครองพวกเขาในประเทศที่ยังมีความเจริญครึ่งๆ กลางๆ โดยการส่งเรือรบหลวงสักลำหนึ่งมาประจำการ ณ ที่นี้

ขอแสดงความนับถือ โรเบิร์ต เอช. ซอมเบิร์ก [1]

ถึง ฯพณฯ เอิร์ลแห่งมามส์เบอรี่

ฉบับที่ (3)

สำนักงานต่างประเทศ ประเทศสยาม เลขที่ 12 กรุงเทพฯ

26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1858

เรียน เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก

พวกเราขอแจ้งให้ท่านทราบถึงฐานะที่พวกเราไม่รู้สึกยินดีที่ได้รับแต่งตั้งมาประจำในประเทศซึ่งสภาพการณ์บ้านเมืองปัจจุบันไม่น่าปลอดภัยเลย ท่านทราบดีว่าความรู้สึกเกรงกลัวที่มีอยู่ได้แผ่กระจายไปอย่างกว้างขวางและเพิ่มมากขึ้น ด้วยความมุ่งร้ายของชาวจีน และความรู้สึกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่สังคมหมู่หนึ่งเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายไปทั่ว

พูดอย่างชัดแจ้งก็คือ เป็นที่รู้กันดีว่าชาวจีนจำนวนมากและชาวเอเชียอื่นๆ ในกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในสภาพแห่งความไม่พอใจรัฐบาล และเพียงแต่กำลังรอคอยโอกาสเหมาะที่จะลุกขึ้นก่อการจลาจล

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากการกดขี่และถูกรบกวนเรียกเก็บภาษีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งดูประหนึ่งว่าภาษีที่เรียกเก็บจากประชาชนระดับล่างลดลงมากกว่าปกติ ดูเหมือนการกระทำคราวที่แล้วของรัฐบาลสยามจะเป็นตัวกำหนดให้เกิดการผลักดันประชาชนไปสู่การจลาจล นับตั้งแต่การถูกบังคับเรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนมากเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าภาษีเงินได้ ภาษีโรงเรือน และภาษีทรัพย์สิน ทั้งหมดรวมเป็นประเภทเดียวกันลงไปจนถึงภาษีไม้พื้นเล็กๆ น้อยๆ เครื่องใช้ในบ้านเรือนและภาษีไม้ที่แต่งไสแล้ว ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย

…….

พวกเรารู้สึกแน่ใจว่า ความมีอิทธิพลสูงสุดของท่านจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้พวกเราคลี่คลายและพ้นจากสภาพที่ไม่พึงพอใจ พวกเราใคร่ขอแนะนำวิถีทางที่จะทำให้ความตื่นตระหนกในขณะนี้สงบลงบ้าง โดยการที่คณะผู้แทนของบรรดากงสุลต่างประเทศทั้งหลาย ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อจูงใจพระองค์ให้ลดมาตรการที่เป็นภาระหนัก และสร้างความเดือดร้อนเอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่ในขณะนี้ แม้จะบรรลุผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม พวกเราทราบว่ามันเป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่จะปฏิบัติ ชาวสยามอาจมีความยินยอมในช่วงวิกฤติชั่วครู่ และพวกเราจะไม่เร่งเร้าในเรื่องนี้ ถ้าหากท่านมีความเห็นว่าเมื่อปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไป การคัดค้านก็จะเป็นผลสำเร็จ

ในกรณีเช่นนั้น พวกเราคงต้องอดทนรอความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ และวางใจ ประเทศที่ยังคงเงียบสงบอยู่

ในระหว่างนั้น พวกเราก็หวังว่าท่านจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะจัดการส่งเรือรบสักลำหนึ่งไปกรุงเทพฯ โดยเร็วเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากพวกเราปราศจากความคุ้มครองทั้งผู้คนและทรัพย์สินในเหตุการณ์ที่คุกรุ่นอยู่นี้โดยสิ้นเชิง

พวกเราคิดว่า การค้าขายจำนวนมากมายกับประเทศสยาม สมควรที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง รวมทั้งควรจะมีเรือรบสักลำหนึ่งไปประจำการอยู่ที่ท่าเรือของชาวจีน และโดยการนำเสนอของท่าน พวกเราคิดว่าในอนาคตเรือรบของสมเด็จพระราชินีสักลำหนึ่งจะต้องมาประจำการที่นี่เสมอ หากปราศจากสิ่งนี้ ความรู้สึกไม่มั่นคงในความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในเวลาใดๆ ก็จะไม่อาจหมดสิ้นไปได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราไม่กลัวหรือว่าจะมีผลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้ากับประเทศสยามตามมาได้ พวกเราเป็นผู้รับใช้ที่เชื่อฟังที่สุดของท่าน

(ลงนาม) ซี.เอช.เอช. วิลสัน ในนามของบริษัทแฮมิลตัน เกร

(ลงนาม) ดับบลิว. อาดัมสัน, อาร์. สก๊อต, เอ. นิวบรอนเนอร์ , อี. นิวบรอนเนอร์, บี. มาร์คัส, เอช. บูชานัน, เอ็ด. วอลเลส

ที. วอลเลส,อาร์. ฮันเตอร์, เจมส์. ไวทส์, ชาร์ลส์ แกรนท์, ดับบลิว. ทีไลทก์, เอ. เวลก์ ในนามของบริษัทบอร์เนียว จํากัด [1]

ถึง เซอร์โรเบิร์ต ซอมเบิร์ก กงสุลในสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พรพรรณ ทองตัน. บันทึกสัมพันธภาพระหว่างสยามกับนานาประเทศ เล่มที่ 15 (7 กรกฎาคม 1858-28 ธันวาคม 1858) กรมศิลปากรจัดพิมพ์, 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2564