กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเรื่อง “วิธีของโจร” สมัยรัชกาลที่ 5

ภาพประกอบเนื้อหา - เจ้าหน้าที่จับผู้ร้าย 7 รายที่ปล้นเกวียนพ่อค้า ที่บ้านประทาบ แขวงอำเภอนอก เป็นภาพตัวอย่างการจับโจรแถบอีสาน (ภาพไม่ระบุปี ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้ร้ายพวกหนึ่งเที่ยวทำการโจรกรรมในแขวงเมืองปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา และสุพรรรณบุรี และหัวเมืองใกล้เคียงอื่นๆ เมื่อทางการสามารถติดตามจับได้ และส่งไปพิจารณาคดีที่มณฑลนครไชยศรี และมีการไต่ถามถึง “วิธีของโจร” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” และมีการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466

ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสังเกตสืบสวนวิธีผู้ร้ายทางอื่นๆ ได้ความว่าอยู่ในวิธีที่เคยทรงบันทึกไว้ จึงทรงพระนิพนธ์เพิ่มให้สมบูรณ์ขึ้นไว้ใน “เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น” (ใน ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด, องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2504) ซึ่งมีทั้งหมด 116 คำถาม ในที่นี้คัดย่อมาเพียงบางคำถามดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

4. ถามว่า พวกผู้ร้ายที่ล้วงลักย่องเบา อยู่ในพวกที่เรียกว่านักเลงเหมือนกันหรือ

ตอบว่า …พวกล้วงลักมักหากินคนเดียว คอยด้อมมองล้วงลักข้าวของเขาไปตามแต่จะได้ ไม่พอใจจะทำการที่กล้าหาญและไม่คบพวกมาก ส่วนพวกนักเลงนั้นหากินในเชิงคบพวกพ้องมาก จึงไม่ถือเป็นพวกเดียวกัน

25 .ถามว่า อายุคนที่เป็นผู้ร้ายนั้น เป็นอยู่ได้จนอายุเท่าใด

ตอบว่า คนที่เป็นผู้ร้ายไม่ใคร่เกิน 40 ถ้าอายุพ้น 40 ขึ้นไปแล้วที่ยังทำปล้นสะดมก็มีแต่เป็นหัวหน้า ถึงกระนั้นถ้าอายุถึง 50 ขึ้นไปแล้วอ่อนกำลังลง ก็มักต้องไปหากินอย่างอื่น เช่นรับซื้อหรือไถ่ถอนกระบือที่ผู้ร้ายลักไปเป็นต้น

26. ถามว่า ผู้ร้ายทุกวันนี้ใช้ปืนอย่างใด

ตอบว่า…ปืนที่ผู้ร้ายใช้ทุกวันนี้มี 4 อย่างคือ ปืน 8 นัดประจุทางส้นรางอย่าง 1 แต่อย่างนี้ก็ไม่ใคร่จะใช้เพราะหนักนัก คงชอบใช้อยู่แต่ 3 อย่าง คือปืน 7 นัด (เมอเซอร) อย่าง 1 ปืน 12 นัด (วิลเซสเตอร) อย่าง 1 ปืน 16 นัด(โคลต์ไลต์นิง) อย่าง 1 แต่อย่าง 7 นัด เป็นดีกว่าทกุอย่าง เพราะปัสตันแรง อย่าง 12 นัด 16 นัดปัสตันอยู่ข้างจะอ่อน

27. ถามว่า ปืนเหล่านี้ผู้ร้ายซื้อกันที่ไหน

ตอบว่า ปืนเหล่านี้ขายที่แพจอดอยู่ใต้โรงเหล้ากรุงเทพฯ 2 แพ ในคลองบางกอกน้อยแพ 1 ที่ร้านแขกวัดเกาะอีก 2 ร้าน ราคาบอกละ 120 บาท เหมือนกันทั้ง 3 อย่าง ปัสตันขายลูกละ 2 สลึง การขายปืนปัสตันเหล่านี้ขายโดยเปิดเผยไม่ได้ซ่อนเร้น แต่พวกผู้ร้ายที่ไปซื้อย่อมบอกผู้ขายว่าเป็นคนค้าขายสามัญ เช่นค้าเรือข้าวเป็นต้น จะซื้อไปป้องกันโจรผู้ร้าย เข้าใจว่าผู้ขายมิได้รู้สึกว่าขายให้แก่ผู้ร้าย

31. ถามว่า ปล้นในถิ่นที่ตัวเองอยู่ กับไปปล้นต่างถิ่น ผิดกันอย่างไรบ้าง

ตอบว่า…ปล้นในถิ่นของตัวเองนั้น เรื่องสังเกตทางเข้าออกไม่ลำบาก เพราะมักจะเคยไปมารู้ท่าทางมาแล้ว แต่ต้องระวังในข้อที่เขาจะจำหน้าได้ เพราะอยู่ใกล้กันคนรู้จักมาก อีกประการหนึ่งเมื่อเกิดปล้นสะดมแล้ว ต้องระวังอย่าให้ผู้ใหญ่บ้านจับพิรุธได้ ส่วนการปล้นต่างถิ่น ลำบากอยู่ด้วยไม่รู้ลู่ทางที่จะเข้าออกและที่จะหลบหนี เกรงพวกผู้ร้ายเจ้าของถิ่นจะเอาตัวรอด ส่วนตัวไปต่างถิ่นจะหนีไม่พ้น แต่นอกจากนี้ไม่ต้องกลัวข้ออื่นดังในถิ่นของตนเอง

39. ถามว่า ทำไมผู้ร้ายเจ้าของถิ่นไม่ยอมให้ปล้นจึงไม่กล้าปล้น

ตอบว่า ถ้าผู้ร้ายเจ้าของถิ่นไม่ยอมให้ปล้น ขืนไปปล้นเข้าผู้ร้ายเจ้าของถิ่นขัดใจ ก็จะบอกให้เจ้าพนักงานจับกุม เกรงกันอยู่ด้วยเหตุนี้

41. ถามว่า ในการที่ประชุมเลี้ยงกันก่อนปล้นนั้นทำอย่างไรกัน ไปประชุมกันที่ไหน

ตอบว่า ที่ประชุมนั้นเอาเป็นกำหนดไม่ได้ แล้วแต่หัวหน้ากับผู้เป็นสายจะตกลงนัดกัน…บางทีก็ประชุมกันกลางทุ่งนาเอาต้นไม้เป็นสำคัญ…ต้องประชุมกันให้ห่างที่ซึ่งจะไปปล้นประมาณ 40-50 เส้นหรือกว่านั้น อย่าให้เจ้าทรัพย์รู้ตัว และจะประชุมกันในหมู่บ้านที่มีคนมากก็ไม่ได้ กลัวจะสงสัย จึงต้องนัดประชุมกันในที่ใดๆ ตามแต่จะเหมาะ…

42. ถามว่า ทำไมจึงทำสัตย์กัน

ตอบว่า บรรดานักเลงด้วยกัน ถ้ายังไม่ได้ทำสัตย์เป็นเพื่อนสาบานต่อกันแล้ว ก็ยังไม่ไว้ใจกัน…

43. ถามว่า วิธีทำสัตย์นั้นอย่างไร

ตอบว่า เอาสุรารินลงในกะลา แล้วเอาเกลือทิ้งลงในกะลานั้นหยิบมือหนึ่ง แล้วบรรดาผู้ที่จะทำสัตย์เอานิ้วมือวางลงในสุราคนละนิ้ว ต่างคนต่างว่าคำสัตย์กันดังนี้

“ตัวกูผู้ชื่ออ้ายนั้น อยู่บ้านนั้น แขวงเมืองนั้น จะผูกสมัครรักใคร่กับอ้ายนี่ บ้านนี้ เมืองนี้ ยืดไปเบื้องนี้แลเบื้องหน้าถ้าไม่ซื่อต่ออ้ายนี่ ให้ดาบองครักษ์และ 7 หมู่ 8 หมู่อย่าแคล้วคอกูผู้ชื่ออ้ายนั้น เกลออ้ายนี่นี้เลย ยืดไปเบื้องนี้เบื้องหน้ารู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางใกล้จะบอกทางไกลจนใจอยู่ รู้ปลิ้นรู้ปลอกรู้แล้วมิบอกอ้ายนี่ผู้เพื่อน ผู้เกลออ้ายนั้น พระเจ้าองค์หนึ่งองค์ใดอย่าได้มาตรัสตัวกู ผู้ชื่ออ้ายนั่นผู้เกลออ้ายนี่นี้ได้เลย ให้ตกนรกหมกไหม้เสมอเถนเทวทัต แสนกัลป์อนันตชาตินี้เถิด”

เมื่อต่างคนต่างว่าอย่างนี้จบแล้ว จึงยกนิ้วที่จุ่มสุราป้ายให้สุราเปื้อนคอหรือแขนเพื่อสาบาที่แห่งใด ซึ่งหมายจะให้ขาดตรงนั้นในเวลาเมื่อไม่ซื่อตรงต่อกัน แล้วต่างคนต่างก็ดื่มสุราปานนั้น ครั้นสาบายดังนี้แล้วผู้ร้ายซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่ในพวกนั้น จึงกรวดน้ำด้วยสุราสาบานนั้น เสกคาถาอิมินาจบแล้วให้พรต่อผู้ทำสัตย์ว่า ถ้าซื่อตรงต่อกันให้ทำมาค้าขึ้นปีละร้อยชั่งพันชั่ง ถ้าไม่ซื่อตรงต่อกันขอให้ฉิบหายตายโหงเป็นไปต่างๆ…

45. ถามว่า การปล้นเรือนนั้น ผู้ร้ายมีที่งดเว้นบ้านเรือนอย่างใด ที่ไม่ปล้นบ้างหรือไม่

ตอบว่า นอกจากที่รู้ว่าจะปล้นไม่ได้เพราะเจ้าทรัพย์ก็ดีหรือเพื่อนบ้านก็ดี เขามีกำลังจะต่อสู้มากกว่ากำลังผู้ร้ายแล้ว ที่งดเว้นมีอยู่แต่เรือนผู้มีคุณแก่หัวหน้า คือที่เขาเคยเลี้ยงดูหรือเคยให้หยิบยืมเงินทองเป็นต้นอย่าง 1 บ้านญาติพี่น้องของพวกนักเลงด้วยกัน ซึ่งเพื่อนนักเลงขอร้องไม่ให้ทำร้ายอย่าง 1 กับวัดอีกอย่าง 1 แต่วัดนั้นไม่สู้แน่นัก…

58. ถามว่า ทำไมจึงปล้นเวลา  2 ยาม

ตอบว่า การที่จะปล้นเวลาใดนั้นไม่เป็นประมาณ ที่สำคัญนั้นต้องรอให้เจ้าทรัพย์และเพื่อนบ้านหลับเสียก่อน และอีกประการ 1 ต้องให้ผู้ร้ายในถิ่นนั้นกลับไปถึงบ้านได้แต่ในเวลาดึกอย่าให้ทันสว่างที่จะมีผู้คนเห็น ด้วยเหตุเหล่านี้ผู้ร้ายจึงมักจะปล้นราวเวลา 2 ยาม ซึ่งเป็นเวลาเจ้าทรัพย์ย่อมหลับแล้วและมีเวลาพอที่ผู้ร้ายจะกลับไปถึงบ้านได้ก่อนสว่าง

64. ถามว่า ถ้าพวกผู้ร้ายถูกบาดเจ็บล้มตายในเวลาปล้น เพื่อนผู้ร้ายทำอย่างไร

ตอบว่า ถ้าผู้บาดเจ็บยังมีชีวิตอยู่ไม่ถึงล้มตาย ต้องช่วยกันพยุงและแบกหามกันไปไม่ทิ้ง ถ้าตายก็ตัดศีราะเอาไปทิ้งเสียให้ไกล ไม่ให้พวกเจ้าทรัพย์เห็นหน้ารู้ว่าผู้ใดได้

65. ถามว่า ถ้าปล้นได้ทรัพยแล้วทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า พวกผู้ร้ายก็พากันกลับออกมากลางทุ่งกลางป่าหลังบ้าน พอถึงที่เปลี่ยวก็ชุมนุมกันแบ่งทรัพย์ พอแบ่งทรัพย์แล้วก็ต่างคนต่างแยกกลับไปบ้าน

98. ถามว่า ผู้ร้ายเกรงกลัวพลตระเวนและตำรวจภูธรกับผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนแข็งแรงในราชการนั้น จะเกรงทางไหนมากกว่ากัน

ตอบว่า เกรงผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนแข็งแรงมากกว่า เพราะผู้ใหญ่บ้านมีอยู่ทุกแห่ง และเป็นผู้รู้จักผู้คนมาก ถ้าเป็นคนแข็งแรงแล้ว ก็อาจจะเรียกลูกบ้านอกมาช่วยเป็นกำลังได้มากๆ  ส่วนพลตระเวนและตำรวจภูธรนั้น ผู้ร้ายเกรงมากแต่ในลำแม่น้ำ แต่ส่วนบนบกพลตระเวนตำรวจภูธรโดยปกติอยู่แต่ตามโรงพักผู้ร้ายรู้แห่งว่าโรงพักอยู่ที่ใดไม่ทำร้ายในที่ใกล้ และไม่ต้อนโคกระบือที่ปล้นสะดมไปใกล้โรงพักก็แล้วกัน

100. ถามว่า ในการที่เข้าพนักงานติดตามสืบจับผู้ร้ายๆ ต่อสู้เจ้าพนักงานอย่างใดบ้างหรือไม่

ตอบว่า ไม่เคยได้ยินว่าผู้ร้ายคิดอ่านต่อสู้อย่างใด เห็นคิดแต่จะหนีอย่างเดียว ที่ต่อสู้เห็นมีแต่ผู้ร้ายใจฉกรรจ์ เช่นอ้ายรักก็ต่อสู้แต่เวลาจวนตัว เมื่อเจ้าพนักงานจะจับ

102. ถามว่า ถ้าผู้ร้ายรู้ว่าเจ้าพนักงานเขาสืบจับ ผู้ร้ายคิดหลบเลี่ยงหลีกหนีอย่างไร

ตอบว่า ถ้าได้ความว่าเจ้าพนักงานเขารู้ร่องรอย ดังเช่นเขาจับพวกเพื่อนไปได้บ้างแล้ว ผู้ร้ายก็หลบหนีไปอยู่เสียต่างเมือง…แล้วค่อยสืบสวนฟังดูพอเห็นการสืบสวนค่อยซาลงก็กลับบ้านเป็นครั้งเป็นคราว…จนเห็นว่าการสืบสวนสงบสงัดดีแล้ว ก็กลับไปอยู่บ้านเก่าเป็นดังนี้โดยมาก

103. ถามว่า ถ้าเขาจับพวกเพื่อนไปชำระ พวกผู้ร้ายไปติดตามส่งเสียและช่วยเกื้อหนุนกันอย่างไรบ้าง

ตอบว่า เคยทราบว่าพวกผู้ร้ายที่ไปปล้นด้วยกัน เข้าไปรับเป็นพยานฐานที่ให้เพื่อนที่เขาจับไปได้ แก้กันหลุดมาได้มีอยู่บ้าง นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าช่วยเหลือเกื้อหนุนกันอย่างไรใครถูกจับไปแล้วก็เป็นธุระของญาติพี่น้องคนนั้น

105. ถามว่า วิธีลักโคกระบือนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า การลักโคกระบือเป็น 2 อย่าง คือลักโคกระบือที่เด็กเอาไปเลี้ยงตามทุ่งเวลากลางวันอย่างหนึ่ง ถอดคอกลักโคกระบือที่เขาขังไว้ในเวลากลางคืนอย่างหนึ่ง

วิธีลักโคกระบือที่เด็กเลี้ยงตามทุ่งนานั้น วิธีลักทำกันอยู่ 2 อย่าง คือต้อนกระบือของตนผ่านไปในฝูงกระบือที่เด็กเลี้ยง เพื่อประสงค์ให้กระบือของเด็กติดฝูงกระบือของตัวไปตัวหนึ่งสองตัว ถ้าเด็กรู้ทันก็แล้วไป ถ้าไม่รู้ทันก็ต้อนเลยเอาไปขายเสีย…อีกอย่างหนึ่งนั้น หาใครเป็นสายไปล่อเด็กเลี้ยงกระบือให้ไปอาบน้ำหรือไปมัวเล่นอะไรเสียให้ลับตา ทางนี้ผู้ร้ายก็ลักกระบือไป 2 ตัว 3 ตัวตามแต่จะได้

วิธีตัดคอกนั้น ต้องมีพวกเพื่อน 3 คน 4 คน ไปด้วยกันในเวลากลางคืน ไปคอยซุ่มอยู่จนเห็นคนเฝ้ากระบือหลับจึงลอบเข้าไปตัดคอกลักระบือไปตามแต่จะได้ ถ้าเจ้าของตื่นหรือรู้ทันก็ต้องหนี

การลักกระบือต้องพากเพียรลำบากยากที่จะได้ ถึงจะได้ก็ไม่ใคร่ได้เท่าใด เพราะฉะนั้นพวกผู้ร้ายที่เคยได้ในการปล้นสะดมแล้ว จึงไม่ใคร่ชอบลักกระบือ

106. ถามว่า กระบือที่ลักเอาไปได้ขายอย่างใด

ตอบว่า กระบือที่ลักเอาไปได้ พาไปเสียพอพ้นถิ่นที่อยู่ของเจ้าของแล้ว ก็ไม่ต้องรีบร้อนพาหนีนัก บางทีก็เอาไปขายแก่นักเลงในถิ่นนั้น บางทีก็เอาไปขายแก่นักเลงซึ่งเป็นผู้รับซื้อโคกระบือที่ผู้ร้ายปล้น

116. ถามว่า เงินทองที่ผู้ร้ายได้โดยกระบวนโจรกรรมผู้ร้ายเอาไปใช้สอยอย่างใด

ตอบว่า เงินทองที่ได้มาในการปล้นสะดมหรือไปทำโจรกรรมอย่างใด  ไม่เห็นใช้ในการอย่างอื่น นอกจากเป็นการกินกับเล่นสองอย่างนี้ ถ้าผู้ร้ายมีเงินติดตัวก็เที่ยวเตร่เลี้ยงดูกันไป และเล่นเบี้ยไปจนกระทั่งหมดเงิน ในการที่จะซื้อหาก็มี แต่ซื้อปืนผาอาวุธเครื่องนุ่งห่ม และซื้อโคกระบือของผู้ร้าย แต่ที่จะเอาไปซื้อหาใช้สอยประกอบการทำมาหากินให้มีกำลังบริบูรณ์ขึ้นในทางที่จะเลี้ยงชีพโดยสุจริตนั้นไม่มี เป็นความสัตย์จริงดังนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2565