
ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อปี 2456 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชี้ว่า พื้นที่ยุทธหัตถี วีรกรรมอันเลื่องลือของ “พระนเรศวร” หรือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องดังกล่าวร้างราไปกว่า 30 ปี แต่แล้วก็กลับเป็นที่สนใจขึ้น เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี รื้อฟื้นแนวคิดในการบูรณะ เจดีย์ยุทธหัตถี ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เก่า
สำหรับรัฐบาลจอมพล ป. เจดีย์ยุทธหัตถี และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เวลานั้น เป็นการตอบสนองกระแสชาตินิยมและกษัตริย์นิยมที่ยังมีพลังในสังคม และเป็นการใช้อุดมการณ์ชาตินิยมมาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
10 พฤศจิกายน 2493 เกิดแนวคิดจะบูรณะซากเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงมอบหมายให้ บุญช่วย สมพงษ์ กรรมการและเลขาธิการฯ และอธิบดีกรมการศาสนา ไปค้นหาหลักฐาน จากนั้นนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบและตั้งคณะกรรมการบูรณะอนุสรณ์ดอนเจดีย์ มีพลเอก หลวงเสนาณรงค์ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน
12-14 มีนาคม 2495 จังหวัดสุพรรณบุรีจัดงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ หลังจากนั้นก็มีการประกอบพิธีบวงสรวง 2 ครั้ง ในปี 2498 และวางศิลาฤกษ์ในปี 2500 หากเกิดการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. เสียก่อน
ต่อมารัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาดำเนินการบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถีต่อ นอกจากนี้ยังมีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แล้วเสร็จในปี 2505 ด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท มีรัฐพิธีเปิด ในวันที่ 25 มกราคม 2502
นั่นเท่ากับว่ารัฐสรุปกลายๆ ว่า พื้นที่กระทำยุทธหัตถีอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
วิวาทะเรื่อง เจดีย์ยุทธหัตถี แบ่งออกเป็น 4 กระแสหลัก คือ 1. เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี 2. เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี 3. เจดีย์ยุทธหัตถี ไม่มีอยู่จริง 4. เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย 2 กระแสแรกมีการโต้ตอบกันมากที่สุด
จุดเริ่มต้นของวิวาทะเรื่อง เจดีย์ยุทธหัตถี เกิดเมื่อ กำนันชุบ บุญชนะวงศ์ ตำบลบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี นำความเชื่อที่เล่าสืบกันมาของชาวบ้านตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน และพื้นที่ใกล้เคียงว่า เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ในจังหวัดของตน เผยแพร่สู่สาธารณะ ปี 2505 กำนันชุบได้นำเรื่องดังกล่าวมาบอกเล่าพระสาสนโสภณ [ต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร] เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นชาวกาญจนบุรี
ระหว่างปี 2507-2515 กำนันชุบอ้างว่า ได้รวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ข้อเสนอของตน โดยมีคณะบุคคลมาช่วยสังเกตศึกษาลักษณะองค์เจดีย์ที่อำเภอพนมทวน หนึ่งในกลุ่มที่ช่วยเผยแพร่ความเชื่อนี้มากที่สุดคือ นักหนังสือพิมพ์ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และการที่รัฐยอมรับให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่กระทำยุทธหัตถี กระแสแนวคิดเช่นนี้แพร่หลายในหนังสือพิมพ์ จนประเด็นเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเริ่มได้รับความสนใจจากสังคม
20 สิงหาคม 2515 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) เกิดความสนพระทัยและเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นก็มีผู้คนได้ไปชมเจดีย์แห่งนี้วันละหลายคณะตลอดมา
13-14 มกราคม 2516 ฝ่ายที่เชื่อว่า เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่กาญจนบุรี โดยสมาคมชาวกาญจนบุรี จัดงานทำบุญมหากุศลเนื่องในวันคล้ายวันยุทธหัตถี ณ บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถี กลางคืนมีมหรสพสมโภชเจดีย์ และเลือกวันที่ 14 มกราคม เป็นวันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณนักรบโบราณทุกคน พลตำรวจโท จำรัส มังคลารัตน์ นายกสมาคมชาวกาญจนบุรีขณะนั้น อธิบายว่า ตรงกับวันที่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ซึ่งไม่ตรงกับวันยุทธหัตถีที่จังหวัดสุพรรณบุรี
หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสมรภูมิการโต้ตอบของทั้ง 2 ฝ่าย
3 กุมภาพันธ์ 2516 ซึ่งตรงกับวันทหารผ่านศึก ฝ่ายที่เชื่อว่าเจดีย์ยุทธหัตถี อยู่กาญจนบุรี ขอเวลากรมประชาสัมพันธ์จัดการอภิปรายเรื่อง “เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน?” มีผู้ร่วมอภิปราย คือ จุลทัศน์ พยาฆรานนท์-ครูประจำโรงเรียนเพาะช่าง, หวล สุมาลัย-ผู้ชำนาญการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีประจำศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ภาวาส บุนนาค-นักค้นคว้าเรื่องความเป็นไทย โดยมีสนิท ธนรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ใจความหลักของการอภิปรายคือ ตั้งข้อสงสัยว่าเจดีย์ที่ชาวกาญจนบุรีเชื่อนั้นจะใช่เจดีย์ยุทธหัตถีหรือไม่, โจมตีเจดีย์ยุทธหัตถี จังหวัดสุพรรณบุรี ที่บูรณะโดยกรมศิลปากรว่าน่าจะเป็นเจดีย์สมัยทวารวดี และประเด็นสำคัญคือ ยืนยันข้อเท็จจริงตามหลักฐานพยานต่างๆ ว่าพื้นที่กระทำยุทธหัตถีอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี
3 มีนาคม 2516 สมาคมสุพรรณพระนคร โต้ตอบด้วยการขอจัดอภิปรายเรื่อง “เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน” มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่-ประธานกรรมการจัดการอภิปราย, นายลิขิตสารสนอง (ชับ บุนนาค) และจมื่นอมรดรุณารักษ์ อดีตข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 เคยตามเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเจดีย์ยุทธหัตถี ที่สุพรรณบุรี คงเดช ประพัฒน์ทอง-อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ โดยกระมล ทองธรรมชาติ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ใจความหลักของการอภิปรายคือ การยืนยันว่าเจดีย์ยุทธหัตถีและพื้นที่กระทำยุทธหัตถี อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตามที่รัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อถือ และตามที่ระบุในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งเห็นว่าเป็นพงศาวดารฉบับเดียวที่ถูกต้อง
กันยายน 2516 กระแสที่ 3 ที่เชื่อว่า “เจดีย์ยุทธหัตถีไม่มีอยู่จริง” เมื่อ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เขียนบทความลง อักษรศาสตรพิจารณ์ สรุปความได้ว่า สงครามยุทธหัตถีจบลงที่พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ตามที่กล่าวในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ส่วนการสร้างเจดีย์สวมพระศพพระมหาอุปราชา เป็นการบรรยายโวหารตามแบบพระราชพงศาวดาร ในความเป็นจริง สมเด็จพระนเรศวรไม่ได้ทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถี
6 ตุลาคม 2519 พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐประหารรัฐบาลหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง การถกเถียงเรื่องที่เจดีย์ยุทธหัตถีที่ว่าอยู่ที่ใด ก็ยุติลงชั่วคราวเช่นกัน
25 มีนาคม 2521 ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ภาพด้านหน้าเป็น พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องแบบจอมทัพไทย ด้านหลังเป็นพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
น้ำหนักว่า เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ “สุพรรณบุรี” มีมากขึ้น อันเนื่องจากวาระรำลึก 400 ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 วาระ คือ 1. ปี 2527 รำลึก 400 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2127) 2. ปี 2533 รำลึก 400 ปี แห่งการครองราชย์ (พ.ศ. 2133) 3. ปี 2535 รำลึก 400 ปี แห่งการทำยุทธหัตถี
ซึ่งทั้ง 3 ครั้งมีการจัดทำหนังสือที่ระลึก, อภิปรายเชิงวิชาการ, งานเฉลิมฉลอง, แสตมป์ที่ระลึก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดกล่าวถึง อ้างอิง และเชื่อมโยงเฉพาะพื้นที่ยุทธหัตถี ที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี
ปี 2537 เทพมนตรี ลิมปพยอม เสนอแนวคิดกระแสที่ 4 ว่า เจดีย์ยุทธหัตถีที่แท้จริง คือ เจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
9 กุมภาพันธ์ 2539 กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียน เจดีย์ ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโบราณสถานให้ชื่อว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี” นับเป็นการประนีประนอมระหว่างกระแสที่ 1 ที่ สุพรรณบุรี และกระแสที่ 2 กาญจนบุรี อย่างชัดเจน ทว่าทุกวันที่ 25 มกราคม ยังคงมีรัฐพิธีที่จังหวัดสุพรรณบุรี
อ่านเพิ่มเติม :
- เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?
- “หลักฐานพม่า” พลิกความเข้าใจเรื่อง “สงครามยุทธหัตถี”!!!
- 18 มกราคม วันยุทธหัตถีของพระนเรศวร และวันกองทัพไทยที่เปลี่ยนมาจาก 25 ม.ค.
- การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”!
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ปิยวัฒน์ สีแตงสุก. นเรศวรนิพนธ์: การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง. สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2566