ผู้เขียน | ลุงโบราณ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจดีย์มุเตา หรือ “เจดีย์เอียง” ของวัดปรมัยยิกาวาส ตั้งอยู่บริเวณหัวแหลมของเกาะเกร็ด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือแลนด์มาร์คสำคัญของเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในปัจจุบัน
“เจดีย์เอียง” ข้อมูลจากเว็บไชต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า
“พระเจดีย์มุเตา วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่บริเวณหัวแหลมของเกาะเกร็ด เป็นเจดีย์ทรงรามัญสีขาว มีผ้าแดงผูกบนยอดเจดีย์ ซึ่งกล่าวกันว่าผ้าแดง คือ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมรามัญ เป็นศิลปะแบบมอญแท้คือ พระเจดีย์ทรงมอญแท้เป็นพระเจดีย์จำลองมาจากหงสาวดี ก่อนที่จะถูกพม่าแต่งเติมจนทำให้พระเจดีย์มุเตาองค์เดิมที่เมืองหงสาวดีกลายเป็นเจดีย์ทรงมอญผสมพม่าในปัจจุบัน
พระเจดีย์มุเตา วัดปรมัยยิกาวาสเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานแปดเหลี่ยมย่อมุม ยอดเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้น อย่างมอญ สูง 1 วา ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด ทางราชการโดยกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2478
พระเจดีย์มุเตาสร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปลายกรุงศรีอยุธยา อายุราว 300 ปี ภายในบรรจุพระธาตุเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายมอญ เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างตั้งตรง ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงทำให้เจดีย์ทรุดตัวและเอียงลงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2434
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้สร้างเขื่อนไม้และเขื่อนปูน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ได้รับงบประมาณจากกรมการศาสนาและได้มีผู้มีจิตศรัทธา ได้ซ่อมแซมเขื่อนคอนกรีตถาวร ปัจจุบันได้เสริมความแข็งแรงและยึดฐานไว้อย่างแน่นหนา กรมศิลปากรอนุญาตให้ซ่อมตัวพระเจดีย์เชิงอนุรักษ์ในสภาพเอียงไว้ พระเจดีย์มุเตาหรือเรียกกันว่าเจดีย์เอียงองค์นี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก”

ถ้าดูตามข้อมูลที่ระบุว่าเจดีย์ทรุดตัวและเอียงลงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2434 นั้น น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงเวลาใหม่ เพราะพบว่าในปี พ.ศ. 2438 หนังสือพิมพ์ฝรั่งได้ลงพิมพ์ภาพลายเส้นเจดีย์องค์นี้ในสภาพไม่เอียง
ภาพลายเส้นที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝรั่ง เมื่อปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ร่วมสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นลายเส้นเจดีย์มอญและประภาคารขนาดเล็กริมแม่น้ำ ใต้ภาพระบุว่า “BANG PAIN LIGHT-HOUSE.” ลายเส้นนี้อยู่รวมกับภาพลายเส้นพระราชวังบางปะอิน ซึ่งน่าจะเป็นเจดีย์มอญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดปรมัยยิกาวาส เพราะสถานที่ตั้งใช่ เพียงแต่เจดีย์ยังไม่เอียง

ส่วนประภาคารขนาดเล็กนั้นคงสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือสำหรับการนำทางในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือใช้ระบุจุดบริเวณหัวแหลมของเกาะเกร็ดเพื่อความปลอดภัยของเรือจะได้ไม่ชนเกาะ
ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ยังคงมีหลักฐานตัวอาคารประภาคารอยู่ ประภาคารหลังนี้ตั้งอยู่ท้ายเกาะวัดนิเวศธรรมประวัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2420 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนที่สัญจรไปมาทางเรือ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเสด็จประพาสทางชลมารค ปัจจุบันประภาคารดังกล่าวได้เลิกใช้แล้ว เนื่องจากกิจการเดินเรือในแม่น้ำหมดความสำคัญลง ส่วนประภาคารขนาดเล็กที่เกาะเกร็ดก็คงหมดความสำคัญและถูกรื้อในที่สุดนั้นเอง
ส่วนภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพพระเจดีย์มุเตา หรือเจดีย์เอียง ของวัดปรมัยยิกาวาสที่ยังมิได้เอียงภาพนี้น่าจะเป็นต้นฉบับในการเขียนลายเส้นเพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งร่วมสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแน่นอน และถ่ายโดยชาวต่างชาติ ซึ่งควรถ่ายก่อนปี พ.ศ. 2438 ที่จะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 3 ทรงพระประชวรเมื่อเจดีย์ที่วัดโพธิ์ เกิดเอียง
-
“พระปฐมเจดีย์” ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรกในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2561