เจาะลึกพระราชวังเดิมของพระเจ้าตาก จากที่ประทับ ถึงยุคกองทัพเรือกว่า 30 ปีก่อน

เจาะลึกพระราชวังเดิมของพระเจ้าตาก จากที่ประทับ ถึงยุคกองทัพเรือกว่า 30 ปีก่อน (คัดมาจากที่พิมพ์เผยแพร่ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2526)

บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งกองทัพเรือที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลอง บางหลวง (หรือคลองบางกอกใหญ่) และติดกับวัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) นั้น เรียกกันอีกว่า “พระราชวังเดิม”

พระราชวังเดิมก็คือพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “พระเจ้าตากสิน” ผู้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีหลังจากทรงขับไล่กองทหารพม่าออกไปดินแดนไทยเมื่อพ.ศ. 2310 หลังเสียกรุงศรีอยุธยาไม่กี่เดือน

เนื่องจากบริเวณพระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรืออันเป็นสถานที่ราชการสําคัญเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันด้วย ดังนั้น ทางราชการจึงจําเป็นจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษต่อการจะเข้าชมเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในพระราชวังเดิมแห่งนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2526 ที่ผ่านมา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น – กองบก. ออนไลน์) ได้รับอนุญาตให้นํานักศึกษาที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์เข้าไปศึกษาสถานที่จริงในพระราชวังเดิมได้

กองบรรณาธิการ “ศิลปวัฒนธรรม” ก็ได้อาศัยร่มบุญไปศึกษาด้วย และเมื่ออาศัยร่มบุญไปศึกษามาแล้ว จึงได้นําความรู้ที่ได้จากการบรรยายของนายทหารเรือแห่งกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ มาฝากท่านผู้อ่านด้วย (บทความที่คัดมานี้พิมพ์เผยแพร่ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2526)

นายทหารเรือแห่งกองประวัติศาสตร์ 2 ท่านที่ให้ความรู้ครั้งนี้ก็คือเรือโทเกียรติ ลออวิไล และเรือเอกหญิงภัทริน วรรณแสง ซึ่งท่านทั้งสองบอกอีกว่าเป็นสมาชิกและขาประจำอ่านหนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม”

ช่างน่ารักน่าเคารพและน่านับถือยิ่งนัก เพราะนอกจากจะได้อิ่มหนำสำราญด้วยการเลี้ยงน้ำอัดลมแล้ว ยังสนับสนุน “ศิลปวัฒนธรรม” อย่างสม่ำเสมอเสียด้วย-ยอดเยี่ยมจริงๆ

เราคิดว่าครูบาอาจารย์สถาบันการศึกษาต่างๆ น่าจะหาโอกาสนำนักเรียน นิสิต นักศึกษา (ตลอดถึงกลุ่มบุคคลที่สนใจศึกษาพระราชวังเดิม) เข้าไปศึกษา ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติแห่งนี้ด้วย โดยจะต้องติดต่อขออนุญาตที่กองประวัติศาสตร์กรมยุทธการทหารเรือ ซึ่งอยู่ภายในบริเวณกองทัพเรือที่พระราชวังเดิมนี้เสียก่อนอย่างเป็นทางการ

เข้าใจว่าถ้าหากไม่ติดขัดใดๆ แล้ว ทางกองทัพเรือก็คงไม่ขัดข้องและก็คงจะได้ฟังการบรรยายที่มีคุณค่าและสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับนายทหารเรือหญิงและชายสองท่านนี้ (เมื่อพ.ศ. 2526 – กองบก.ออนไลน์)

พระราชวังเดิมของพระเจ้าตาก

พระราชวังเดิมของพระเจ้าตากนี้ไม่ใหญ่โตกว้างขวางนัก ขนาดกระทัดรัด กองทัพเรือรักษาไว้ได้อย่างดีที่สุดแล้ว นอกจากนั้นยังทำนุบำรุงด้วยการบูรณะซ่อมแซมไว้ให้มั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ใบหนาไว้อย่างร่มรื่น มีสนามหญ้าเขียวชอุ่มพุ่มไสว

หากเป็นไปได้ในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าปานใดก็ตาม บริเวณพระราชวังเดิมแห่งนี้น่าจะได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลและกองทัพเรือ ให้เป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปชมได้โดยสะดวก เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดผลดีความถาวรมั่นคงในสังคม

ทั้งนี้ จะต้องมีการพิจารณาถึงความมั่นคงปลอดภัยในเรื่อง “ความลับ” ของทางราชการกองทัพเรืออย่างรอบคอบแล้ว หรืออาจจะพิจารณาเรื่องสถานที่ตั้งแห่งใหม่ของกองทัพเรือด้วยก็อาจเป็นได้

เราเห็นว่าอาคารเกือบทั้งหมดในบริเวณพระราชวังเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี หรือที่สร้างขึ้นใหม่ (บางอาคาร) อันเกี่ยวเนื่องกับกองทัพเรือตั้งแต่สมัยหลังรัชกาลที่ 5 ลงมา นับเป็นอาคารทางประวัติศาสตร์ที่สมควรได้รับการพิจารณาทํานุบํารุงรักษาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยทั้งสิ้น

ตัวอาคารเองก็เป็นโบราณสถาน และในตัวอาคารก็สามารถจัดให้เป็นห้องแสดงโบราณศิลปวัตถุได้ด้วย ดังกรณีอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระที่นั่ง และพระตําหนักใน “บวรราชวัง” มาแต่แรกเริ่ม แล้วดัดแปลงตกแต่งภายในให้เป็นห้องจัดแสดงโบราณศิลปวัตถุรวมทั้งมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อความเหมาะสมในสมัยหลัง (ซึ่งดูก็ไม่ค่อยเข้าที่นักหรอก แต่คงเป็นเพราะภาวะจํายอมที่ขาดแคลนงบประมาณจะไปหาสถานที่อื่นให้กว้างขวางได้)

กบฏแมนฮัตตัน กับพระราชวังเดิม

เรือโทเกียรติ ลออวิไล ถือ “โทรโข่ง” ยืนอยู่กลางลานรอบป้อมวิไชยประสิทธิ์ ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วบรรยายเรื่องราวความเป็นมาของป้อมอย่างคล่องแคล่ว

บริเวณลานหญ้ารอบป้อมในเขตเชิงเทิน มีต้นลั่นทมปลูกเรียงรายแตกกิ่งก้านสาขาและชูดอกสีขาวพราวเสน่ห์ ผุดขึ้นมาจากลานหญ้าที่ดัดไว้เรียบแปล้ ปานสนามกอล์ฟ เรือเอกหญิงภัทริน วรรณแสง คอยช่วยเหลือบรรยายเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาผู้สงสัย ในขณะที่อาจารย์กาญจนี ละอองศรี แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กําลังเงี่ยหูฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และทอดสายตาชื่นชมดอกลั่นทมสีขาวเหล่านั้นซึ่งสอดแซมขึ้นมาจากกุ้งใบสีเขียวแก่

“หลังป้อมนี่แหละครับเป็นบริเวณบ้านหรือสํานักงานหรือโรงพิมพ์ของหมดบรัดเลย์ ทางราชการกองทัพเรือซื้อมาจากทายาทเพื่อขยายบริเวณให้ติดคลองบางหลวง…” เรือโทเกียรติ กล่าว พลางก็ชี้มือให้ดูบริเวณที่เป็นของหมอบรัดเลย์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เล่าเรื่องหนหลังให้ฟังทั่วกันว่าหมอบรัดเลย์ตั้งโรงพิมพ์ที่ตรงนี้ แล้วพิมพ์หนังสือประเภทร้อยแก้ว เช่นกฎหมาย และพระราชพงศาวดาร ในขณะที่หมอสมิธตั้งโรงพิมพ์เหมือนกันอยู่แถวบางคอแหลม พิมพ์หนังสือประเภทร้อยกรองเรื่องประโลมโลกย์ เช่น พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ทั้งสองหมอเป็นคู่แข่งทางธุรกิจการพิมพ์หนังสือขาย แต่หนังสือที่หมอสมิธพิมพ์ขึ้นมาขายได้ดีกว่าของหมอบรัดเลย์

ต่อมาหมอบรัดเลย์ทําหนังสือฟ้องไปยังสํานักงานมิชชันนารีที่สิงคโปร์ว่าหมอสมิธพิมพ์หนังสือ “โป๊” ทําให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณของมิชชันนารี ที่ว่าหนังสือ “โป๊” ในความหมายของหมอบรัดเลย์ก็คือ หนังสืออย่างพระอภัยมณีของสุนทรภู่ และบรรดาหนังสือกวีต่าง ๆ ที่มีบทอัศจรรย์นั่นเอง

เราฟังผู้รู้บรรยายไปด้วยมองบริเวณรอบ ๆ พระราชวังเดิมไปด้วย ในขณะที่ยืนอยู่บนลานป้อมวิไชยประสิทธิ์แล้วก็คิดวาดภาพไปถึงสมัยที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เรืองอํานาจในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นผู้กํากับการก่อสร้างป้อมแห่งนี้ แต่ก่อนจึงเรียกกันว่าป้อมวิชาเยนทร์

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์พยายามหว่านล้อมนายทหารเรือฝรั่งเศสชื่อฟอร์บัง ให้เข้ามารับราชการและสัญญาว่าจะให้มียศมีอํานาจเป็นเจ้าเมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรี โดยมีหน้าที่ มาควบคุมป้อมแห่งนี้ ปรากฏว่าเมื่อฟอร์บัง มาว่าราชการเป็นผู้ควบคุมป้อมแห่งนี้ ก็เกิดเรื่องกับบรรดาชาวอิสลามหรือ “แขกมักกะสัน” จนเกือบจะเอาตัวไม่รอด ฟอร์บัง เขียนบันทึกโจมตีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ อย่างสาดเสียเทเสีย เป็นเรื่องเป็นราวกันมากมายใหญ่โต ท้ายที่สุดฟอร์บัง เห็นว่าจะไว้วางใจวิชาเยนทร์ไม่ได้แล้ว จึงขอถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไปฝรั่งเศส

เราพยายามวาดภาพย้อนทวนอดีตว่าบริเวณที่เป็นพระราชวังเดิมนี้แหละที่เกิดการต่อสู้ระหว่างทหารฝรั่งเศสและชาวอิสลามที่เรียกกันว่า “แขกมักกะสัน” ทําให้ชาวบ้านไทยล้มตาย เพราะถูกลูกหลงไปเป็นจํานวนมากดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือบันทึกของฟอร์บัง

“บริเวณพระราชวังเดิมนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยสมัย หลังพ.ศ. 2475 ด้วยในกรณีกบฏแมนฮัตตัน…” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวขึ้นท่ามกลางความร้อนของแดด อุ่นในฤดูน้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้วเหยียดนิ้วชี้โด่เด่ไปรอบ ๆ บริเวณ

“โน่นไง-ท่าราชวรดิษฐ์…” ชาญวิทย์ ชี้ไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาชายฝั่งที่เป็นท่าราชวรดิษฐ์ “ต้นเรื่องของกบฏแมนฮัตตันอยู่ตรงนั้น”

ต้นเรื่องมีอยู่ว่ารัฐบาลไทยในสมัยนั้นจัดพิธีรับมอบเรือชุดที่รัฐบาลอเมริกันอภินันท์ให้อย่างเป็นทางการที่ท่าราชวรดิษฐ์

นาวาโทมนัส จารุภา รน. ช่วงชิงเอาวาระสําคัญนั้นจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อหน้าคณะทูตอเมริกัน และต่อหน้าพระสงฆ์ที่ทําพิธีสงฆ์ (มีท่านเจ้าประคุณพระพิมลธรรมอยู่ด้วย) แล้วนําจอมพล ป. ไปลงเรือรบหลวงศรีอยุธยาที่จอดทอดสมออยู่กลางแม่น้ำเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494

เหตุการณ์ครั้งนี้เนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทหารเรือและฝ่ายทหารบก หลวงสินธุ์สงครามชัย ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือในขณะนั้นตั้งกองบัญชาการอยู่ในพระราชวังเดิมนี้ แต่มีเหตุที่ทําให้ตัดสินใจไม่เฉียบขาดพอ ทําให้ฝ่ายทหารบกซึ่งนําโดย “สฤษดิ์-เผ่า” ต่อต้านด้วยการยึดพื้นที่ต่าง ๆ ไว้ได้ โดยเฉพาะสะพานพุทธฯ ทําให้ฝ่ายทหารเรือไม่สามารถนำเรือรบหลวงศรีอยุธยาที่กุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่แล่นออกไปได้

ในขณะเดียวกัน เรือรบจากบางนาก็ไม่สามารถแล่นผ่านเข้ามาช่วยเหลือการณ์ครั้งนี้ได้ ฝ่ายทหารบกตัดสินใจใช้กําลังด้วยการเอาเครื่องบินจากกองทัพอากาศมาทิ้งระเบิดที่กรมอู่ของทหารเรือ และทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ในเรือรบหลวงศรีอยุธยาจึงเมื่อเรือถูกระเบิดจากเครื่องบินจึงเอาชูชีพมาใส่ แล้วกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายมาขึ้นฝั่งที่พระราชวังเดิมพร้อม ๆ กันกับนาวาโทมนัส จารุภา

นาวาโทมนัส จารุภา รน. เมื่อขึ้นมาพระราชวังเดิมแล้วก็ลัดเลาะไปออกวัดท้ายตลาดหรือวัดโมฬีโลกยาราม เพื่อลงเรือจ้างที่คลองบางหลวงให้แจวไปหลบซ่อนอยู่ วันรุ่งขึ้นจึงจับรถไฟขึ้นไปทางเหนือ กระทั่งออกไปอยู่ทางรัฐฉานทางด้านจังหวัดเชียงราย ภายหลังร่อนเร่ไปในพะม่าแล้วย้อนกลับมากรุงเทพฯ เพื่อออกไปอยู่เวียงจันทน์กระทั่งกลับมาอีกครั้งหนึ่งจึงถูกจับ

“ทหารตายไป 17 คน ตํารวจตาย 8 คน พลเรือนตาย 103 คน และบาดเจ็บทั้งหมดประมาณ 500 คน ประเทศต้องเสียหายคิดเป็นทรัพย์ประมาณ 15 ล้านบาท และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพเรือก็ถูกดัดแขน” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สรุปประกอบแล้วเดินลอดกําแพงพระราชวังเดิมมุ่งหน้าศาลพระเจ้าตาก

กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ ขอเสนอมายังกองทัพเรือว่าน่าพิมพ์หนังสือว่าด้วยพระราชวังตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมาจนปัจจุบันอันเป็นที่ตั้งกองทัพเรือจำหน่ายจ่ายแจกต่อผู้สนใจทั่วไป

แม้จะยังไม่มีโอกาสเข้ามาชื่นชมกับบรรยากาศประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ราษฎรไทยที่สนใจก็อาจจะนอนอ่านจากหนังสือไปได้พลาง ๆ

ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ จัดทำเป็นโรเนียวขึ้นมาแจกนั้น ได้สาระพอสมควรแล้ว และถ้าหากจะได้เรียบเรียงเพิ่มเติมขึ้นอีกดังปรากฏในหนังสือ “พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ” อันเป็นผลงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์หญิงแน่งน้อย อาจารย์ณพิศร กฤตติกากุล อาจารย์ดรุณี แก้วม่วง ก็จะยิ่งได้ความมากขึ้น ทั้งนี้โดยมีภาพถ่ายประกอบให้สวยงาม ก็จะเป็นข้อที่น่าสรรหายิ่ง ๆ ขึ้นไป

เนื่องจากเรื่องราวของพระราชวังเดิมโคยย่อมีปรากฏในเอกสารกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือดังกล่าวแล้ว จึงขอนําข้อความนั้นมาตีพิมพ์เพื่อสนองพระคุณท่านที่สนใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย

พระราชวังเดิม

พระราชวังเดิม

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชของชาติไทยคืนได้จากพม่าข้าศึกแล้ว ในปีพ.ศ. 2310 พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งราชธานีใหม่ ณ บริเวณเหนือปากคลองบางหลวง จังหวัดธนบุรี และทรงสร้างพระราชวังในบริเวณซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า “พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี” เพราะกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผาผลาญทําลายเสีย เป็นอันมาก ไม่สามารถซ่อมแซมบูรณะให้คืนสภาพอย่างเดิมได้

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีไปตั้ง ณ ฝั่งพระนคร ในระยะเวลาที่สร้างพระราชวังใหม่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย พระองค์ยังคงประทับที่พระราชวังเดิมประมาณ 2 เดือนเศษ เมื่อพระราชวังใหม่สร้างเสร็จแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปประทับ พระราชวังเดิมจึงว่างลง แต่เป็นที่สําคัญเพราะมีป้อมปราการสําหรับรักษาพระนคร

ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น พระราชวังเดิมมีอาณาเขตตั้งแต่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ที่เรียกว่าคลองนครบาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ ให้กันเขตวังให้แคบกว่าเก่า และโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร พระโอรสพระองค์กลางของสม เด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่เสด็จไปประทับ ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทรสิ้นพระชนม์ จึงโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิมตั้งแต่ยังเสด็จดํารงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และเมื่อพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้วก็โปรดฯให้เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ 1

ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ จึงพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับต่อมา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาล สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเสด็จสวรรคตที่พระราชวังเดิม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังดํารงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จประทับที่พระราชวังเดิมมาตลอดรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงได้รับบวรราชาภิเษกเสด็จไปประทับ ณ พระบวรราชวัง กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสของพระองค์ได้เสด็จประทับต่อมา

จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวังพระราชทานแล้ว กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจึงทรงย้ายไปประทับที่วังใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิมต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สม เด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิมจึงว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดพระราชทานพระราชพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ในปีพ.ศ. 2443 เพราะเป็นสถานที่ใกล้ชิดกับที่ว่าการกรมทหารเรือ

โรงเรียนนายเรือได้ตั้งอยู่ที่พระราชวังเดิมตลอดมาจนกระทั่งในพ.ศ. 2485 มีนักเรียนนายเรือมากขึ้น อาคารโรงเรียนนายเรือในบริเวณพระราชวังเดิมไม่พอกับจํานวนนักเรียน กองทัพเรือจึงได้สร้างโรงเรียนนายเรือขึ้นใหม่ที่เกล็ดแก้ว สัตหีบ และปีพ.ศ. 2487 กองทัพเรือได้ย้ายโรงเรียนนายเรือไปอยู่ที่สัตหีบชั่วคราว เพราะในกรุงเทพฯ ถูกคุกคามจากภัยทางอากาศเนื่องในสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ครั้นสงครามเลิกแล้ว โรงเรียนนายเรือก็ไม่ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่พระราชวังเดิม เพราะการก่อสร้างโรงเรียนนายเรือที่เกล็ดแก้วใกล้จะเสร็จอยู่แล้ว ครั้นพ.ศ. 2498 โรงเรียนนาย เรือได้ย้ายไปอยู่ที่เกล็ดแก้ว ตัวอาคารเดิมโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมจึงว่างลง ทางราชการจึงได้ดัดแปลงแก้ไขต่อเติมเป็นแบบทรงไทย ใช้เป็นที่ตั้งกองบังคับการกองทัพ เรือ และกรมการเงินทหารเรือมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2492 และได้ทําพิธีเปิดป้ายตึกกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ “ศาลเจ้าตาก” นี้ คงมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่คงเป็นเพียงศาลพระภูมิประจําพระราชวังเท่านั้น สันนิษฐานว่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะได้ทรงก่อสร้างซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในบริเวณพระราชวังเดิม ซึ่งคงจะต้องมี “ศาลเจ้าตาก” อยู่ด้วย เพราะพระองค์เสด็จประทับที่พระราชวังเดิมเป็นเวลานานถึง 27 ปี และพระองค์ทรงทราบดีว่าพระราชวังเดิมนี้คือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

นอกจากนี้จากสําเนาพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 ถึงพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือก็ปรากฏความเรียกว่า “ศาลเจ้าตาก” แล้ว ฉะนั้น ศาลสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชคงจะมีมาแล้วก่อนรัชกาลที่ 5 แน่นอน – กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ

ท้องพระโรง

ปัจจุบัน ท้องพระโรงชั้นบนใช้เป็นห้องรับรองพิเศษ และเป็นห้องประชุมของกองทัพ ท้องพระโรงเป็นโบราณสถานที่สร้างมาพร้อมกับพระราชวังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้ท้องพระโรงนี้เป็นสถานที่สําหรับทรงประกอบกิจการทั้งปวง ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จ เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในระยะเวลาที่สร้าง พระราชวังใหม่ทางฝั่งพระนคร พระองค์ยังทรงประทับ ณ พระราชวังนี้ประมาณ 2 เดือนเศษ และทรงเสด็จออกว่าราชการ ณ ท้องพระโรงนี้

ในสมัยที่สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประทับ ณ พระราชวังเดิม ได้ใช้ท้องพระโรงเป็นสถานที่ทรงประกอบพิธีต่างๆ เช่น ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรฯ พระบรมราชินี เป็นต้น

ปัจจุบัน (2526 – กองบก. ออนไลน์) ท้องพระโรงชั้นบนใช้เป็นห้องรับรองพิเศษ และเป็นห้องประชุมของกองทัพเรือ ส่วนชั้นล่างใช้เป็นสถานที่ประกอบงานพิธีของกองทัพเรือในบางโอกาส – กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ

ระฆังจีน

โบราณวัตถุชิ้นหนึ่งซึ่งมีอยู่ในท้องพระโรงชั้นนอก คือ ระฆังจีนใบใหญ่ ระฆังนี้มีความสูงวัดได้จากปากถึงก้นระฆัง 34 นิ้วฟุต ความใหญ่วัดรอบโดยรอบจากวงปากระฆังได้ 82 นิ้วฟุต และความกว้างวัดฝาศูนย์กลางที่ปากระฆังได้ 26 นิ้วฟุต หูแขวนระฆังทําเป็นรูปมังกรคาบแก้วแบบจีนมี 2 หัว ตัวติดกัน ขามังกร 4 ขา จับตัวระฆัง 4 มุมพอดี ที่กลางตัวมังกรมีห่วงใส่ไว้สําหรับแขวนระฆัง จากรูปร่าง และหูซึ่งทําเป็นรูปมังกรจีน ประกอบคําจารึกเป็นภาษาจีนไว้ที่ตัวระฆังด้วย จึงแน่ใจว่าเป็นระฆังจีน

ระฆังใบนี้พระรัตนมุณี เจ้าอาวาสวัดหงษาราม (ปัจจุบันเรียกว่า วัดหงส์รัตนาราม) ถวาย พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ผู้สําเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ พร้อมกับพระแท่นเจ้าตาก 1 แท่น บุษบก (ชํารุด) 1 หลัง เพื่อเป็นของสําหรับพระราชวังเดิม พลเรือโท พระยาดํารงราชพลขันธ์ (คอน บุนนาค) ปลัดทูลฉลองกระทรวงทหารเรือ เป็นผู้นําเรือเล็ก และทหารไปรับมาจากวัดหงส์รัตนาราม เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2467 และได้สั่งการให้ กรมยุทธโยธาทหารเรือ (ปัจจุบัน คือ กรมอู่ทหารเรือ) ทําหลักสําหรับแขวนตัวอักษรจีนซึ่งปรากฏในระฆังนั้น พลเรือโทปิติ ตันติเวสส ได้ขอให้ คุณสิทธิผล นิติวัฒนา แปลเป็นไทยไว้ว่า

“หลวงจีนอึ้งเต็ง แห่งวัดไตรรัตน์ เมืองห้องเชียง ยืนยันว่าบรรดาอุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายพ้นจากกรรมเวรชาติก่อน โดยกุศลผลบุญเพิ่มพูนมากขึ้น จึงไปจุติในภพใหม่ อันมีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง”

อีกด้านหนึ่งจารึกว่า “สลักเมื่อปีชวด เดือนเหมันต์ วันมหามงคล ตรงกับปีที่ 15 พระเจ้าเกียหลง”

ระฆังใบนี้แขวนอยู่บนฐานแขวนระฆัง ซึ่งกรมยุทธโยธาทหารเรือ ได้ทําขึ้นตามพระประสงค์ของพลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา ผู้สําเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ เป็นแบบไทย คือทําเป็นเสากลม ตั้งอยู่บนฐานไม้ทั้งสองข้างที่หัวเสา แกะปั้นเป็นรูปบัวหงาย โคนเสามีหูช้างขนาบข้างสองด้าน ที่ใบหูช้างแกะเป็นลายไทยพองาม บนหัวเสาทั้งสองเป็นพญานาค (แบบไทย) 2 ตัว พาดอกเกาะไว้กับหัวเสาตัวละข้าง ชูเศียรสู่ฟ้าอย่างสง่างามพาดหางมาบรรจบกันที่จุดศูนย์กลางสําหรับแขวนระฆังพอดี ตวัด ปลายหางที่ไขว้กันชี้ขึ้นเบื้องบนดูอ่อนช้อย สวยงามมาก ฐานระฆังนี้คงทําขึ้นภายหลังที่ได้ระฆังมาแล้ว ท่านผู้สลักคงมีความตั้งใจจะเปรียบเทียบศิลปไทยกับจีนไว้ให้ปรากฏ เพราะที่หูระฆังจีนทําเป็นรูปมังกร ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวจีนนับถือที่แขวนจึงทําเป็นรูปพญานาคไทยอยู่ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นสัตว์ที่คนไทยยกย่อง นับว่าเข้ากันได้อย่างกลมกลืน ระฆังใบนี้ยังมีอยู่ที่ท้องพระโรงจนถึงปัจจุบัน (2526 – กองบก.ออนไลน์) – กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ

พระตําหนักเก๋งคู่

พระตําหนักเก๋งจีน 2 หลังคู่ ซึ่งอยู่ริมประตูพระราชวังเดิมด้านทิศตะวันออกนั้น ปัจจุบัน (2526 – กองบก.ออนไลน์) ใช้เป็นที่ทํางานของคลังพัสดุ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

พระตำหนักเก๋งคู่

ป้อมวิชัยประสิทธิ์

ป้อมวิชัยประสิทธิ์ได้สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่จะสร้างในปีใดนั้น หลักฐานยังคลาดเคลื่อนกันอยู่ จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อปีพ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บาทหลวงโทมาส ชาติฝรั่งเศส เป็นผู้ทําการสร้างป้อมขึ้นตามตําบลต่าง ๆ หลายป้อม โดยมากไม่ปรากฏนามและปีที่สร้าง

แต่ที่ปรากฏให้สร้างในปีพ.ศ. 2208 นั้นก็คือที่เมืองลพบุรีแห่งหนึ่ง ที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่งหนึ่ง ที่เมืองนครราชสีมาแห่งหนึ่ง ที่เมืองตะนาวศรีแห่งหนึ่ง และที่ปากคลองบางกอกใหญ่เมืองธนบุรีอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่าป้อมวิชเยนทร์ ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นผู้กํากับการสร้าง และจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว ทรงกล่าวไว้ว่า ป้อมวิชัยประสิทธิ์นั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บาทหลวงโทมาสสร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2217 และสร้างป้อมอื่น ๆ อีก หลายป้อมแต่รื้อเสียหมดแล้ว ถึงแม้ปีที่สร้างจะไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ป้อมนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้รับพระราชทานนามว่า “ป้อมวิชเยนทร์”

ในปีพ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ ทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และทรงคัดแปลงป้อมวิชเยนทร์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ใกล้เคียงพระราชวัง พระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2314 ต่อมา ในปีพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายพระราชวังไปอยู่ทางฝั่งตะวันออก พระราชวังกรุงธนบุรี (พระราชวังเดิม) จึงว่างลง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ด้วยกัน

จนกระทั่งใน ปีพ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ จึงได้อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือตั้งแต่นั้นมา ป้อมนี้เคยเป็นที่ตั้งเสาธงผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นที่ยิงปืนเที่ยง ยิงปืนพระราชพิธี ยิงปืนสลุต เคยเป็นที่เก็บอาวุธดินดํา กรมศิลปากรขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2526 – กองบก.ออนไลน์) ได้นําธงราชนาวีไปซักขึ้นที่เสาธงป้อมวิชัยประสิทธิ์ร่วมกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ และกองทัพเรือได้กลับมาใช้ป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นสถานที่ยิงปืนสลุตอีกครั้งหนึ่ง โดยทําการยิงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2522 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 – กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ

อาคารที่ทําการกองทัพเรือ

อาคารที่ทําการกองทัพเรือนี้เดิมเป็นที่ตั้งของตําหนักหลังหนึ่ง เรียกว่า ตําหนักนอก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ โปรดฯ ให้สร้างขึ้นโดยช่างอิตาเลียน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือแล้ว ทางการได้ดัดแปลงพระตําหนักนี้ให้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนนายเรือ ในปีพ.ศ. 2487 ทางการได้ย้ายโรงเรียนนายเรือไปอยู่ที่เกล็ดแก้ว สัตหีบ ชลบุรี อาคารเรียนในพระราชวังเดิม ซึ่งดัดแปลงมาจากพระตําหนักนอกดังกล่าวจึงว่างลง ทางราชการจึงได้รื้อและสร้างใหม่เป็นอาคารแบบทรงไทย และใช้เป็นที่ตั้งกองบังคับการกองทัพเรือ และกรมการเงินทหารเรือ ได้ทําพิธีเปิดป้ายศึกกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493 – กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2562