อ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสบันทึกประสบการณ์กิน “ทุเรียน” เมืองจันท์

ทุเรียน
ทุเรียน ผลไม้ฤดูร้อน (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th)

แม้ ทุเรียน จะได้ชื่อว่า “ราชาแห่งผลไม้” แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน ปัญหาใหญ่ของทุเรียนคือ “กลิ่น” กลิ่นหอมชวนหลงใหลสำหรับ “ติ่งทุเรียน” กลายเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ของอีกหลายคน บางคนแค่ได้กลิ่นก็แทบจะสิ้นใจ

วิธีง่ายในการทดสอบอานุภาพของกลิ่นทุเรียน โดยเฉพาะท่านที่รักชอบการกินทุเรียน อาจไม่เข้าใจความรู้สึกนี้ ลองให้คนอื่นกินทุเรียนในห้องแอร์ โดยที่ท่านไม่ได้กินดูสักครั้งเถิด จะกระจ่างทันที

กลิ่นทุเรียนนี่เอง ที่ทำให้ทุกวันนี้ตลาดส่งออกทุเรียนเป็นประเทศในเอเชีย เพราะชาวตะวันตกยอมแพ้ให้กับ “กลิ่น” ของมัน แต่ก็ใช่ว่า “ฝรั่ง” ทุกคนจะมีปัญหาเรื่องนี้

เพราะขณะที่ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โอดครวญว่า “ทุเรียน (Tourien) เป็นผลไม้ที่มีผู้ชอบบริโภคกันมากในชมพูทวีป ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทนไม่ไหวเพราะกลิ่นอันเลวร้ายของมัน”

แต่ อ็องรี มูโอต์ นักสำรวจ นักธรรมชาติวิทยา และนักโบราณคดี ชาติเดียวกับเขา ที่เดินทางเข้าในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกถึงประสบการณ์ในการกินทุเรียนครั้งแรกๆ ที่เขาเองก็ไม่ปลื้ม แต่สุดท้ายกลับกลายเป็น “ติ่งทุเรียน” ไปอีกคนว่า [จัดย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน]

“ผลไม้แถบหัวเมืองนี้รสชาติดีและมีมากมาย อาทิ มะม่วง มังคุด สับปะรด ซึ่งมีกลิ่นหอมหวานละลายในปาก ยังมีอีกชนิดหนึ่ง เป็นผลไม้ชั้นดีกว่าชนิดไหนๆ เท่าที่ข้าพเจ้าจะจินตนาการได้ตั้งแต่ก่อนจะได้ชิมรส

เจ้าทุเรียนราชาแห่งผลไม้นั่นเอง

ชื่อเสียงดังว่านี้ฟังดูเหมาะเจาะมาก แต่ถึงอย่างไรถ้าจะให้ปักใจชอบละก็ อาจต้องใช้เวลากันสักหน่อย

ก่อนอื่นต้องเอาชนะความขยะแขยงเมื่อได้กลิ่น โดยเฉพาะถ้าเรายังไม่เคยกิน ตอนแรกๆ กลิ่นทุเรียนทําให้ข้าพเจ้าเตลิดหนีไปเสียไกลทีเดียว

ครั้นได้ลองชิมครั้งแรก พลันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสัตว์ที่กําลังเน่าเปื่อย ต้องลองพยายามใหม่จนครั้งที่สี่ที่ห้า ถึงรู้สึกว่ากลิ่นนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นหอมหวนชวนชื่นใจเป็นที่สุด

ทุเรียนผลใหญ่สุดมีขนาดประมาณสองในสามของลูกขนุน เปลือกหนามีหนามแหลมคล้ายๆ กัน เป็นเครื่องป้องกัน การถูกกัดเจาะจากกระรอกและสัตว์ฟันแทะอื่นๆ

เมื่อผ่าออก ข้างในจะมีเนื้ออยู่ราว 10 พู แต่ละพูมีเม็ดทุเรียนขนาดใหญ่กว่าผลอินทผลัม หุ้ม ด้วยเนื้อครีมสีขาว บางครั้งก็สีเหลือง รสชาติสุดวิเศษ ธรรมชาติช่างหลอกล่อให้ตายใจอะไรเช่นนี้

เช่นว่าเวลาชิม เราต้องกล้ำกลืนความขยะแขยงไปเสียเท่าไหร่ และยิ่งหากกินบ่อยเกิน หรือถ้าลืมตัวหลงกินเข้าไปมากเกินปริมาณที่พอเหมาะในครั้งเดียว ด้วยผลไม้ชนิดนี้มีฤทธิ์ร้อนอย่างยิ่ง หากกินมากไป วันรุ่งขึ้นจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว และมีตุ่มขึ้น เหมือนเม็ดสิว ละม้ายคนเป็นโรคหัดยังไงยังงั้น

ผลไม้ชนิดนี้ถ้าเก็บจากต้นก่อนกําหนดจะไม่อร่อย เพราะเมื่อสุกงอมได้ที่แล้ว จะหล่นจากต้นเอง และต้องรีบกินทันทีที่ปอกเปลือก ไม่เช่นนั้นจะเสียเร็ว แต่ถ้าเก็บไว้ทั้งลูก จะอยู่ได้นานเกือบ 3 วัน

ที่เมืองบางกอก ทุเรียนราคาลูกละ 1 สลึง แต่ด้วยราคานี้ ที่เมืองจันทบูรซื้อได้ถึง 9 ลูก” [เน้นโดยผู้เขียน]

แต่ถ้าทุเรียน ไม่มีกลิ่น เวลากินคงไม่ “ฟิน” เสน่ห์ของทุเรียนเองก็คงลดลงไป และติ่งทุเรียนคงเศร้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (เขียน), สันต์ ท.โกมลบุตร (แปล), จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2557

อ็องรี มูโอต์ (เขียน) กรรณิการ จรรย์แสง (แปล), บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2563