ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2541 |
---|---|
ผู้เขียน | ชาญวิทย์ เกษตรศิริ |
เผยแพร่ |
เหตุการณ์ที่รู้จักกันในนามสั้นๆ ว่า “14 ตุลา” นั้น เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2516 เยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษา ได้ร่วมกับประชาชนจำนวนแสนเรียกร้องให้รัฐบาลคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คนที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหาว่ากระทำการผิดกฎหมาย มั่วสุม ชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองในที่สาธารณะเกินกว่า 5 คน บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในพระราชอาณาจักร และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม นักเรียนนิสิต นักศึกษา และประชาชน ชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเสาร์ที่ 13 ประชามหาชนเดินขบวนสำแดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ที่ดูประหนึ่งว่ากระแสคลื่นมนุษย์จักท่วมท้นถนนราชดำเนิน ในวันที่ 14-15 ถัดมาก็เกิดความรุนแรง เยาวชนคนหนุ่มสาวถูกปราบปรามด้วยอาวุธร้าย เป็นผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และแล้วเผด็จการก็ล้มลง ผู้นำคณาธิปไตย ถนอม-ประพาส-ณรงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
นับแต่นั้นมาเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาปีแล้วปีเล่า มีการขนานนามเหตุการณ์นี้ต่าง ๆ นานา เช่น วันมหาวิปโยค วันมหาปิติ การปฏิวัติตุลาคม การปฏิวัติของนักศึกษา ความยิ่งใหญ่และผลกระทบของเหตุการณ์ต่อการเมืองการปกครองของไทย ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ก่อนหน้านั้น เช่น การปฏิวัติ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 หรือกับเหตุการณ์ที่ตามมาภายหลัง เช่น พฤษภา-มหาโหด พุทธศักราช 2535 เป็นต้น
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มหากวีรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า
และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ
เป็นความงดความงามใช่ความชั่ว
อันอาจขุ่นอาจข้นหม่นมัว
แต่ก็เริ่มจะเป็นตัวจะเป็นตน
พอเสียงร่ำรัวกลองประกาศกล้า
ก็รู้ว่าวันพระมาอีกหน
พอปืนเปรี้ยงแปลบไปในมณฑล
ก็รู้ว่าประชาชนจะชิงชัย
(เพียงความเคลื่อนไหว ประชาชาติ 5 ตุลาคม 2517)
นักเรียนนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510 กลายเป็น ‘เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่’ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจไทย คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่การพัฒนานั้นก็นำมาซึ่งปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม
เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่ ตั้งคำถามต่อความไม่พัฒนาของการเมืองการปกครองไทยที่มีการสืบทอดอำนาจกันอยู่ในหมู่ของคณาธิปไตย จากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่จอมพลถนอม กิตติขจร และทำท่าจะสืบทอดไปยังจอมพลประพาส จารุเสถียร ยืดเยื้อกันมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ในขณะเดียวกันเยาวชนเหล่านั้นก็ตั้งคำถามต่อระบบการเมืองของโลกในยุคสงครามเย็นที่มีการแบ่งออกเป็น 2 ค่าย มีการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต มีการต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีของสงครามอินโดจีน ประเทศไทยถูกดึงเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง กลายเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ที่จะใช้ทิ้งระเบิดทางอากาศยานโจมตีเวียดนาม กัมพูชา ลาว
ช่วงปีพุทธศักราช 2512-2515 เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่ ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเพื่อสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เข้าร่วมสังเกตุการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในปีพุทธศักราช 2512 ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท วิพากษ์วิจารณ์สังคม มีบทบาทเป็นพลังผลักดันให้เกิดนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่เฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจโดยต่างประเทศ ต่อต้านความหรูหราฟุ่มเฟือย กังวลและห่วงใยการขาดดุลการชำระเงิน รวมไปจนกระทั่งการเสนอแนวทางในการรักษาทรัพยากรและสภาพแวดล้อม ศิลปะและวรรณกรรมเพื่อชีวิต
เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่ รวมตัวกันต่อต้าน ‘ภัยขาว-ภัยเหลือง-และภัยเขียว’ รวมตัวกันเป็นกลุ่มอิสระตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นระดับวิทยาลัยการศึกษาหรือวิทยาลัยครูเรื่อยลงไปจนถึงระดับโรงเรียนมัธยม และก็เกิดองค์กร เช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2513) ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย
ระหว่างปีพุทธศักราช 2514-2516 ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงบทการเมืองระดับโลก นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของความเย็น การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนจากการเผชิญหน้าของ 2 ค่าย กลายเป็นการเมือง 3 เส้า สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีน ส่วนการเมืองภายในของไทยที่ดูว่าจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยบ้าง กล่าวคือ มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2511 และมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก ในรอบทศวรรษในปีพุทธศักราช 2512 ก็ตาม แต่ก็ปิดฉากลงอีกด้วยวงจรอุบาทว์ของการยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ‘ปฏิวัติตนเอง’ ในปีพุทธศักราช 2514
เมื่อถึงจุดนี้พฤติกรรมของคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส ณรงค์ ก็กลายเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่สามารถจะยอมรับต่อไปอีกได้ การปิดกันเสรีภาพผนวกกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการ ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ข้าวสารขึ้นราคา การใช้อภิสิทธิ์ การเล่นพรรคเล่นพวก ในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ ดูเหมือนจะมีพลังของนิสิตนักศึกษาเท่านั้น ที่สามารถจะเป็นหัวหอกเคลื่อนไหว คัดค้าน และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในบ้านเมือง
ปีพุทธศักราช 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลายเป็นศูนย์รวมของการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการผูกขาดอำนาจของเผด็จการคณาธิปไตย เดินขบวนประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในปลายปี 2515 ประณามการใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปล่าสัตว์ ณ ทุ่งใหญ่ คัดค้านการลบชื่อหรือขับไล่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คนออกในกลางปี 2516
ผลสุดท้าย เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่ ก็ได้ข้อสรุปว่า ปราศจากเสียซึ่งสิทธิเสรีภาพและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมก็เป็นไปได้ยาก จากบทสรุปของการชุมนุมกรณี ‘รามคําแหง 9’ เมื่อ 21-22 มิถุนายน 2516 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็นำมาซึ่งการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
กวีนักศึกษาในนามของรวี โดมพระจันทร์ สะท้อนความรู้สึกของยุคสมัยออกมาว่า
ตื่นเถิดเสรีชน
อย่ายอมทนก้มหน้าผืน
หอกดาบกระบอกปืน
หรือทนคลื่นกระแสเรา
(“เศษสาตร์” เฉลิมฉลองวาระเปิดตึกเรียนใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. 2515)
ศุกร์ 5 ตุลาคม 2516
ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยสมาชิกประมาณ 10 คน เปิดแถลงข่าวที่บริเวณสนามหญ้าท้องสนามหลวงด้านอนุสาวรีย์ทหารอาสา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1. เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว 2. จัดหลักสูตรสอนอบรมรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน 3. กระตุ้นประชาชนให้สำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ
ธีรยุทธ บุญมี นำรายชื่อผู้ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คนแรก ประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ มาเปิดเผย เช่น พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร, นายเลียง ไชยกาล, นายพิชัย รัตตกุล, นายไขแสง สุกใส, นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ดร.เขียน ธีระวิทย์, ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ, ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช, อาจารย์ทวี หมื่นนิกร เป็นต้น รวมทั้งจดหมายเรียกร้องจากนักเรียนไทยในนิวยอร์ก
ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร รองเลขาธิการ ก.ต.ป. (คณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติราชการ) บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร และบุตรเขยของจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคน กำลังดำเนินการให้นิสิตนักศึกษาเดินขบวน และหากมีการเดินขบวนแล้วไม่ผิดกฎหมายอีก ก็จะนำทหารมาเดินขบวนบ้างเพราะทหารก็ไม่อยากจะไปรบเหมือนกัน
เสาร์ 5 ตุลาคม 2516
สมาชิกของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน เดินแจกใบปลิวและหนังสือ ซึ่งอัญเชิญพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้บนปก
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
ผู้เรียกร้องถือป้ายโปสเตอร์ 10 กว่าแผ่น มีใจความเช่น ‘น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ’ ‘จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย’ ‘จงปลดปล่อยประชาชน ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญ‘ เป็นต้น กลุ่มเรียกร้องออกเดินจากบริเวณตลาดนัดสนามหลวงไปบางลำภู ผ่านสยามสแควร์ และเมื่อถึงประตูน้ำ เวลาประมาณ 14.00 น. ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและสันติบาลจับกุมไปทั้งหมด 11 คน ซึ่งมีทั้งอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมือง ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา ‘มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง’ ผิดประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 ที่ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน ผู้ต้องหาถูกนำไปไว้ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลกอง 2 จนกระทั่งเวลาเที่ยงคืนจึงย้ายไปคุมขังไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน ทางตำรวจปฏิเสธไม่ยอมให้เยี่ยมและห้ามประกัน
อาทิตย์ 7 ตุลาคม 2526
ตลอดช่วงบ่ายและค่ำของวันที่ 6 ถึงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจค้นสำนักงานตลอดจนบ้านพักของผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้อง และได้จับนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมเป็น 12 คน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตัวแทนของนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ พยายามวิ่งเต้นที่จะเข้าเยี่ยมและประกันเพื่อนของตน
13.00 น. ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า “จากการกระทำของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการโดยเปิดเผยและสันติวิธี เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลได้สั่งจับบุคคลกลุ่มนี้แล้วสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อยัดเยียดข้อหาร้ายแรงแก่ประชาชนกลุ่มนี้ เป็นการส่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อตนจะได้ครองอำนาจไปตลอดกาล และไม่มีรัฐบาลที่ไหนในโลกที่จะปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นอกจากรัฐบาลของพวกเผด็จการฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์เท่านั้น”
ในขณะเดียวกันองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกประชุมด่วน มีมติให้ศึกษาสถานการณ์ ติดโปสเตอร์ชี้แจงข้อเท็จจริง
จันทร์ 8 ตุลาคม 2516
ตอนเช้า วันแรกของการสอบประจำภาคของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโปสเตอร์โจมตีรัฐบาลปิดทั่วบริเวณ ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร นักศึกษาชุมนุมอภิปรายโจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ให้รัฐบาลชี้แจงเรื่องรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน พร้อม ๆ กันนี้นักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ก็เข้าชื่อถึงนายกรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกจับกุม
วันเดียวกันนี้ พล.ต.ต.ชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้ออกหมายจับนายไขแสง สุกใส อดีตนักการเมือง ในข้อหาว่าอยู่เบื้องหลังกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ส่วนจอมพล ประภาส จารุเสถียร ผู้ดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรักษาการอธิบดีกรมตำรวจ ให้สัมภาษณ์ด้วยข้อความที่เสมือนระเบิดลูกใหญ่ตกว่า กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญมีแผนจะล้มรัฐบาล และกล่าวว่ามีการค้นพบเอกสารคอมมิวนิสต์ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษเป็นจำนวนมาก
อนึ่ง จากบันทึกรายงานการประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 28/2516 วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นประธานนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีความเห็นว่า ทางราชการอาจจะทำการปราบปรามผู้เรียกร้อง ทั้งยัง “เชื่อว่านิสิตนักศึกษาจะเสียไปราว 2 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนเป็นแสนคน” โดยอ้างว่า “จำต้องเสียสละ เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง”
บ่ายวันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดอภิปรายที่หน้าหอประชุมใหญ่ และขึ้นรถไปเยี่ยมเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ต่อมาคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งตัวแทนประมาณ 60 คน ไปเยี่ยมอาจารย์ทวี หมื่นนิกร 1 ใน 12 ผู้ต้องหา แต่ถูกปฏิเสธการเข้าเยี่ยม อาจารย์ทั้งหมดจึงลงชื่อพร้อมเขียนข้อความไว้ว่า “We Shall Overcome”
ค่ำวันนั้น อมธ.ประชุมลับ และมีมติให้เลื่อนการสอบไล่โดยไม่มีกำหนด นักศึกษากิจกรรมแยกย้ายกันเอาโซ่ล่ามประตู เอาปูนปลาสเตอร์อุดรูกุญแจห้องสอบ ตัดสายไฟฟ้าเพื่อให้ลิฟต์ใช้การไม่ได้
อังคาร 9 ตุลาคม 2516
เช้าตรู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏธงดำครึ่งเสา เหนือยอดโดม ประตูทางเข้ามีประกาศงดสอบ ด้านท่าพระจันทร์มีผ้าผืนใหญ่ข้อความว่า “เอาประชาชนคืนมา” ส่วนอีกผืนว่า “เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นกบฏหรือ” นักศึกษาเมื่อเข้าห้องสอบไม่ได้ต่างทยอยไปชุมนุมและฟังการอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ณ บริเวณลานโพธิ์ ซึ่งนำโดยสองนักศึกษาชายหญิง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และเสาวนีย์ ลิมมานนท์ มีนักศึกษาแพทย์ศิริราชค่อย ๆ ข้ามฟากมาสมทบ
ส่วนที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรชุมนุมเป็นวันที่สอง ออกแถลงการณ์ให้ปล่อยผู้ต้องหาภายในวันที่ 15 ตุลาคม และให้ประกาศรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักศึกษาเริ่มชุมนุมอภิปราย เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้มหาวิทยาลัยเลื่อนการสอบ
บ่ายวันนั้น ฝนตกโปรยปราย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประชุมฉุกเฉิน มีมติให้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ให้อธิการบดีเลื่อนการสอบออกไป ให้ต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา ประท้วงตลอดวันตลอดคืน หากไม่ได้ผลให้ใช้วิธีรุนแรง บ่ายวันเดียวกันนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ “พิจารณาปล่อยบุคคลเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ลุกลามและรุนแรงยิ่งขึ้น”
รัฐบาลตอบโต้ด้วยการที่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้มาตรา 12 แห่งธรรมนูญการปกครองกับผู้ต้องหา ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายแต่อย่างใด พร้อมกันนั้นทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐก็ประกาศสำทับให้นิสิตนักศึกษาปฏิบัติตามกำหนดการสอบอย่างเคร่งครัด
คืนนั้นฝนตกหนาเม็ด ผู้ร่วมชุมนุมหาถอยหนีไม่ บ้างกางร่มบ้างเอาหนังสือพิมพ์คลุมหัว ฟังการอภิปรายโจมตีรัฐบาลสลับกับการแสดงละครเสียดสีการเมือง เกือบเที่ยงคืนฝนตกหนัก อากาศหนาว ผู้ร่วมชุมนุมจึงย้ายจากลานโพธิ์เข้าไปในหอประชุมใหญ่
พุธ 10 ตุลาคม 2516
สายวันนั้น ฝนหยุดตก นักศึกษาทยอยกลับมาชุมนุมที่ลานโพธิ์ พร้อมกับนำคำแถลงการณ์มาอ่านเผยแพร่ เช่น คณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหงคัดค้านการกระทำของรัฐบาล อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอให้รัฐบาลรอบคอบ สภาอาจารย์ธรรมศาสตร์เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจ เพื่อประโยชน์แก่สังคมเป็นส่วนรวม เป็นสิทธิขั้นมูลฐานของประชาชนทุกคนในอารยประเทศ สโมสรเนติบัณฑิตแถลงว่าการกล่าวหาบุคคลทั้ง 13 “เป็นการจงใจใส่ความอันเป็นเท็จ” สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลแถลงว่า “บุคคลใดที่ทำการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจแห่งปวงชนแล้ว ถือว่ากลุ่มบุคคลนั้นได้กระทำเพื่อชาติ เพื่อประชาชน”
ส่วนทางองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จะดำเนินการประท้วงจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ ในขณะเดียวกันศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็ก้าวเข้ามารับช่วงงานชุมนุมอย่างเป็นทางการจาก อมธ. พร้อมทั้งออกแถลงการณ์วิงวอนให้ประชาชนร่วมต่อสู้ มิฉะนั้นแล้ว “ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในโลกมืดของอำนาจอธรรม ไม่มีทางที่จะเห็นแสงสว่างแห่งคุณธรรมไปได้เลย”
วันพุธที่ 10 ตุลาคม ลานโพธิ์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการชุมนุม นับแต่เที่ยงวัน นักศึกษาวิทยาลัยครูพระนคร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และวิทยาลัยครูธนบุรี ประมาณ 1 พันคน ก็มาถึง ติดตามมาด้วยนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ในช่วงบ่าย พร้อมทั้งมีข่าวว่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา 8 แห่งทั่วประเทศจะหยุดเรียนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ที่สำคัญก็คือ นักเรียนมัธยมและนักเรียนอาชีวะ ทั้งจากวิทยาลัยและสถาบันในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างก็ส่งตัวแทนขึ้นมาประกาศงดสอบ งดเรียน ผู้แทนนักเรียนอาชีวะประกาศร่วมต่อสู้ นักเรียนช่างกลคนหนึ่งตะโกนว่า “ถ้าต้องการเครื่องทุ่นแรง ก็ขอให้บอกมา” วันนั้นการชุมนุมแน่นขนัดเป็นหมื่น เต็มล้นลานโพธิ์และระเบียงคณะศิลปศาสตร์ จนต้องมีมติให้ย้ายการชุมนุมไปยังสนามฟุตบอล
ในวันเดียวกันนี้รัฐบาลได้เพิ่มความตึงเครียดของสถานการณ์ขึ้น โดยที่จอมพลถนอม กิตติขจรให้สัมภาษณ์ว่าพบหลักฐานฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์อีกกระทงหนึ่ง
พฤหัสบดี 11 ตุลาคม 2516
เช้าตรู่วันที่ 11 ตุลาคม นิสิตนักศึกษานิมนต์พระสงฆ์ ประมาณ 200 รูป ทำบุญตักบาตรในบริเวณสนามฟุตบอล แล้วอภิปรายโจมตีรัฐบาลต่อ ตั้งแต่ช่วงเช้า นักเรียนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทยอยเข้าเป็นทิวแถวอย่างมีระเบียบ นิสิตเกษตรฯ งดสอบ เช่ารถ 70 คัน ประมาณ 4 พันคนมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาวิทยาลัยครูจันทรเกษมตามมาสมทบอีก 33 คัน นักเรียนช่างกล นักศึกษารามคำแหง นักศึกษาวิทยาลัยครูต่าง ๆ มาถึงในเวลาต่อมา จนทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5 หมื่นคน โฆษกบนเวทีด้านตึก อมธ. ด้านแท็งก์น้ำกล่าวว่า พรุ่งนี้นักเรียนอนุบาลจะมาร่วมชุมนุมด้วย
ตอนสายวันนั้น จอมพลประภาส จารุเสถียร เริ่มเจรจาด้วยการให้นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและคณะเข้าพบ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายนิสิตนักศึกษายืนยันให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน แต่รัฐบาลยืนกรานจะดำเนินการด้วยมาตรา 17 ในคืนนั้นก็มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน ตั้งศูนย์ปราบปรามจลาจลขึ้นที่สวนรื่นฤดี มีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการ
คืนวันนั้นเช่นกัน การชุมนุมดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนและแน่นขนัด นักเรียนนิสิตนักศึกษาได้รับความสนับสนุนจากหลายทิศหลายทาง มีทั้งเงินบริจาคหลายแสนบาท มีทั้งอาหารและผลไม้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย นักเรียนไทยจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย ส่งจดหมายมาสนับสนุนการต่อสู้ พร้อมส่งเงินบริจาคสมทบ
ศุกร์ 12 ตุลาคม 2516
หลังการชุมนุมติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนเต็ม ถนนทุกสายของผู้ฝักใฝ่หาเสรีภาพและประชาธิปไตยก็มุ่งสู่ธรรมศาสตร์ การจราจรบนถนนในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสายที่จะไปธรรมศาสตร์ติดขัดขนาดหนัก คลาคล่ำไปด้วยขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ถือป้ายและโปสเตอร์เดินมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ขบวนแล้วขบวนเล่า มีทั้งจากในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตั้งแต่ระดับประถมไปจนสูงกว่าปริญญาตรี จากภาครัฐ และภาคเอกชน ยิ่งสายคนก็ยิ่งแน่น ในสนามฟุตบอลมีคนร่วมชุมนุมเป็นจำนวนแสน
12.00 น. ของวันนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ยื่นคำขาดว่า “ให้รัฐบาลปลดปล่อยบุคคลเหล่านั้นภายในเวลา 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 12 ตุลาคม 2516 เป็นต้นไป หากในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยยังมิได้รับคำตอบอันเป็นที่พอใจ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจะได้พิจารณาใช้มาตรการในขั้นเด็ดขาดต่อไป”
ตอนบ่าย พลตรีประกอบ จารุมณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เรียกผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้าไปกำชับเกี่ยวกับการรายงานข่าว ปรามมิให้ใช้คำว่า “หวั่นจะนองเลือด” ไม่ให้ใช้คำว่า คนมาชุมนุมเป็น “แสน” บ้าง ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่หนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เช่น ประชาธิปไตย ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ ตลอดจน The Nation และ Bangkok Post ได้ติดตามรายงานข่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นที่รับรู้ในคนหมู่มากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั่วประเทศ ทำให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาของสถาบันการศึกษาในต่างจังหวัด มีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงสอดคล้องกันไปกับปรากฏการณ์ในกรุงเทพฯ เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จากการชุมนุมที่เข้มแข็งและจำนวนมากมายมหาศาลหลายแสนนี้ ทำให้รัฐบาลจำต้องยอมให้มีการประกันตัวผู้ต้องหา มีผู้เสนอประกันตัวให้ แต่ผู้ต้องหาทั้ง 13 ไม่ยอมรับการประกัน เนื่องจากไม่รู้จักผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ แถลงว่า การที่รัฐบาลยอมให้ประกันตัวและดูเหมือนจะอุปโลกน์ผู้ค้ำประกันนั้น เป็นการบ่ายเบี่ยงเจตนารมณ์ ศูนย์ยืนยันที่จะให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
คืนนั้นการชุมนุมประท้วงดำเนินต่อไป คลื่นมนุษย์เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่กว่า 2 แสนคน คืนนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งนำตัวแทนนักศึกษา 2 คนเข้าไปรายงาน ณ พระตำหนักจิตรลดา เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบสถานการณ์และการกระทำของนิสิตนักศึกษาต่อไป ในคืนวันนั้นเช่นกัน วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองมิให้ปล่อยลูกหลานมาร่วมชุมนุม โดยอ้างว่ามีนักเรียนหรือบุคคลกลุ่มหนึ่งเตรียมการที่จะใช้อาวุธ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายข่าวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้รับข่าวว่ามีการเสริมกำลังทหารอย่างแน่นหนาบริเวณสวนรื่นฤดี บางแห่งมีการนำรถหุ้มเกราะ รถดับเพลิงทหาร รถถัง ออกมาตั้ง ทางตำรวจโรงพักชนะสงคราม มีตำรวจหนาแน่น มีการจ่ายอาวุธ และกระสุนเต็มอัตรา และได้ร่วมกับตำรวจสายตรวจนครบาล ทั้งทหารและตำรวจต่างก็มีแผนในการปราบปรามจลาจล โดยจะใช้ทหารราบ 11 รักษาพระองค์ ทหารพลร่มจากศูนย์สงครามพิเศษ และรถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 มีกำลังหนุนจากกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และทหารจากกองพล ปตอ. ส่วนทางด้านตำรวจนั้นจะใช้กำลังจากศูนย์ปราบปรามพิเศษนครบาลบางเขน
เสาร์ 13 ตุลาคม 2516
วันนี้เป็นวันแห่งคำขาดของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นวันที่ทุกคนรอคอยด้วยใจระทึก การประท้วง ชุมนุม อภิปราย สลับการร้องเพลง การแสดงละคร การอ่านบท กวีดำเนินไปตลอดคืน จนกระทั่งฟ้าสาง เมื่อเวลาประมาณตี 5 นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ พร้อมด้วยกรรมการศูนย์ได้นำการร้องเพลงชาติและกล่าวสาบานต่อที่ชุมนุมที่จะเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เช้าวันนั้น นักเรียนนิสิตนัก ศึกษา และประชาชนแน่นขนัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งล้นทะลักออกไปบริเวณรอบนอก ทุกคนต่างรอคอยเวลา 12.00 น.
และแล้ว เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาที่ได้รับแต่งตั้งเฉพาะกิจเป็นหัวหน้าปฏิบัติการเดินขบวน ก็ประกาศว่า “พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย เราได้ให้โอกาสรัฐบาลมานานแล้ว 5 วัน 5 คืน ที่เราได้นั่งอดตาหลับขับตานอน ตากแดดตากน้ำค้าง เพื่อเรียกร้องสิทธิของเรา ได้รับการเพิกเฉย ความไม่แยแสจากรัฐบาล 24 ชั่วโมงที่เรายื่นคำขาดใกล้จะมาถึงแล้วท่านพร้อมแล้วใช่ไหม? ที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับสองตระกูลกินเมืองเหล่านั้น”
“ในที่สุด…เที่ยงตรงของวัน (เสาร์) ที่ 13 ตุลาคม…ทุกคนยืนขึ้นพร้อมจะออกไปเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น…กรรมการศูนย์นำมวลชนสวดมนต์ ร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ตามด้วยเสียงไชโยโห่ร้องอย่างสนั่นหวั่นไหว”
“รูปขบวนซึ่งได้รับการเตรียมไว้อย่างดี…ก็เริ่มทะลักออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน่วยคอมมานโดทะลวงฝ่าฝูงชนเป็นรูปหัวหอก ตามด้วยทัพธง ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงล้วน…”
(สมาน เลือดวงหัด วันมหาปิติ)
12.30 น. รถบัญชาการ “เริ่มตีวงกลับ…กองอาสาสมัครหญิงถือธงไตรรงค์จัดแถว และเริ่มเดินออก ติดตามด้วยแถวอาสาสมัครหญิงถือธงธรรมจักร และอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ หน่วยหมีและหน่วยกล้าตายชายรวมพล…มีกระสอบข้าวและพริกไทยไว้สู้กับสุนัขตำรวจ มีตะขอและเชือกพลาสติกไว้จัดการกับเครื่องกีดขวาง…ท้ายขบวนมีรถบรรทุกน้ำและถุงพลาสติก กระดาษเช็ดหน้าไว้ป้องกันแก๊สน้ำตา”
(ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา วันมหาปิติ)
ตอนนี้รถบัญชาการขยับตัวออกมา หน่วยกนก 50 ออกมาอารักขา มวลชนก็ทะลักตามมาจากสนามฟุตบอล ผู้คนระบายออกจากสนามฟุตบอลทีละข้าง ระหว่างแถบซ้ายของทางลอดใต้ตึกโดมกับแถบขวาสลับกัน ประมาณบ่าย 2 โมงกว่า ฝูงชนยังออกไม่ถึงครึ่งสนาม คลื่นมนุษย์ไหลมาอย่างกับน้ำป่าไหลท่วมธรรมศาสตร์ ฝูงชนเคลื่อนตัวออกจากสนามฟุตบอลมาออกันอยู่เต็มปากทางลอดตึกโดม แล้วก็ไหลลอดตึกโดยเลี้ยวขวาไปตามถนนเป็นแนวยาวเหยียด ระลอกแล้วระลอกเล่าจาก 12.30 น. จนถึง 15.30 น. ลอดใต้ตึกห้องสมุดทางด้านประตูท่าพระอาทิตย์ เลียบเชิงสะพานปิ่นเกล้า แล้วเข้าถนนพระราชดำเนิน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลามุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ประมาณกันว่าวันนั้น มีนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนถึงกว่า 5 แสนคน และมีการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ทางช่อง 4 และช่อง 7 การจัดรูปขบวนของนักเรียนนิสิตนักศึกษาในวันนั้นจัดเป็นแถวรูปหน้ากระดาน 5 ขบวนอย่างเป็นระเบียบ พร้อมด้วยสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่นำมาใช้ในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีขบวนรถบรรทุกขนาดเล็กจำนวน 13 คัน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่รถบัญชาการ ตามมาด้วยรถพยาบาล รถสวัสดิการ รถเสบียง รถพัสดุแสงเสียงและไฟฟ้า และรถระวังหลัง
การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่นี้มีการเตรียมการป้องกันรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพราะกระแสข่าวว่า อาจจะมีการปราบปรามจากทหารและตำรวจเล็ดลอดออกมาเป็นระยะ ๆ ดังนั้น นักเรียนอาชีวะที่ประกอบกันเข้าเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยจึงกระจายออกเป็นถึง 10 หน่วยด้วยกัน คือ หน่วยคอมมานโด หน่วยหมี หน่วยเฟืองป่า หน่วยฟันเฟือง หน่วยเซฟ หน่วยกนก 50 หน่วยวิษณุ หน่วยช้าง หน่วยเสือเหลือง และหน่วยจ๊อด
วันนั้นตลอดวันของเสาร์ที่ 13 ตุลาคม ในขณะที่การเดินขบวนคลาคล่ำถนนราชดำเนิน ตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้เข้าพบเจรจาขั้นสุดท้ายกับจอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อได้รับคำตอบว่าจะปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นตัวแทนของศูนย์ก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเวลา 16.20-17.20 น.
17.30 น. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หัวหน้าปฏิบัติการเดินขบวน สั่งเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อม ๆ กับการที่กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยกลับเข้าพบจอมพลประภาส จารุเสถียร อีกครั้งหนึ่งระหว่าง 17.40-18.30 น. เพื่อทำหนังสือสัญญาตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร
20.00 น. วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ยอมปล่อยผู้ต้องหา และจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปีต่อไป ตัวแทนของนิสิตนักศึกษาและผู้แทนพระองค์พยายามดำเนินการให้มีการสลายตัวของฝูงชนที่ยังคงชุมนุมอยู่เป็นเรือนแสน บรรยากาศทั่วไปเต็มไปด้วยปัญหาการติดต่อประสานงาน ความตึงเครียด และข่าวลือต่าง ๆ นานาในทางร้ายต่อผู้นำนิสิตนักศึกษา กรมประชาสัมพันธ์ออกแถลงการณ์ว่า “ได้มีนักเรียนหรือบุคคลกลุ่มหนึ่ง เตรียมการที่จะใช้อาวุธร้ายแรงต่าง ๆ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516” และเมื่อ 22.00 น. ก็มีแถลงการณ์อีกว่า “บัดนี้ ปรากฏว่าได้มีบุคคลบางคนที่มิใช่นักศึกษา ถือโอกาสอภิปรายโจมตีรัฐบาลและยุยงส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายต่อไป”
23.30 น. พีรพล ตรียะเกษม นายก อมธ. กระซิบกับเสกสรรค์ว่า บัดนี้กรรมการศูนย์ที่ไปเข้าเฝ้าชะตาขาดหมดแล้ว ทำให้เสกสรรค์ ประเสริฐกุล สั่งเคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังสวนจิตรลดา เพื่อหวังเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง เมื่อเวลาใกล้จะเที่ยงคืน
อาทิตย์ 14 ตุลาคม 2516
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อเวลา 19.15 น. ความตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค…เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจล…มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิต”
นับแต่หลังเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมประท้วงกันมาหลายวันหลายคืน ก็มารวมกันอยู่บริเวณหน้าสวนจิตรลดาอย่างแน่นขนัด เวลาประมาณตี 5 ขณะที่มีการเริ่มสลายตัวของฝูงชน ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เชิดสกุล เมฆศรีวรรณ นักหนังสือพิมพ์ที่ทั้งเห็นเหตุการณ์วิกฤตและสูญเสียดวงตาไปหนึ่งดวงในวันนั้น เล่าเป็นประจักษ์พยานว่า
ที่บริเวณหน้าสวนจิตรลดา ช่วงถนนพระราม 5 ใกล้กับถนนราชวิถี พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ผู้แทนพระองค์ “ได้อ่านพระบรมราโชวาทให้ฝูงชนฟังจบแล้วฝูงชนก็เริ่มสลายตัวตามพระราชประสงค์…กลุ่มนักเรียนอาชีวะถือว่าเป็นหน่วยกล้าตายที่มีอาวุธพวกไม้ แป๊ปน้ำกันเกือบทุกคน ต่างได้ทิ้งอาวุธพร้อมกับทำลายระเบิดขวด ฝูงชนที่จะกลับทางถนนราชวิถี (กลับ) ถูกสกัดกั้นด้วยตำรวจคอมมานโด…ตำรวจเหล่านี้มีไม้พลอง โล่ หวาย และปืนยิงแก๊สน้ำตา…ภายใต้การบัญชาการ ของ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น (ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ) และ พล.ต.ต.ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล)
ฝูงชน…เมื่อรู้แน่ว่าไม่ได้รับการอนุญาตให้ผ่านออกไป…ก็เริ่มมีปฏิกิริยาด้วยการใช้ข้าวห่อขว้างปาใส่ตำรวจ…ฝูงชนที่ถูกสกัดกันรายหนึ่งได้ใช้ท่อนไม้ขว้างใส่ถูกตำรวจได้รับบาดเจ็บนายหนึ่ง…หลังจากนั้นให้หลังไม่ถึงสิบนาที รถตำรวจที่ใช้ปราบจลาจลติดไซเรนสองคัน ก็พุ่งเข้าใส่กลุ่มฝูงชนโดยมีตำรวจคอมมานโดสวมหมวกกันน็อก ทั้งนครบาลและกองปราบพร้อมด้วยสองนายตำรวจผู้อื้อฉาวจากคดีทุ่งใหญ่…ก็ตามเข้าไปใช้กระบองหวดเข้าฝูงชนทันที ไม่ว่าเด็กหรือผู้หญิง การนองเลือดได้เริ่มจากจุดนี้…สร้างความเคียดแค้นให้ฝูงชนมากขึ้น เมื่อเห็นเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งถูกเบียดตกคลอง…และเด็กนักเรียนหญิงอีกคนหนึ่งถูกแก๊สน้ำตาจนล้มฟุบ…
ฝูงชนที่หนีได้ก็ปืนป้ายกำแพงเข้าไปในสวนสัตว์ และใช้ก้อนหินขว้างปาใส่ตำรวจ อีกส่วนหนึ่งก็กรูกันเข้าวังสวนจิตรฯ โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดให้เข้าไป การปะทะใช้เวลาประมาณ 15 นาที คือเริ่มตั้งแต่เวลา 6.30 ถึง 6.45 น.”
(เชิดสกุล เมฆศรีวรรณ ฟ้าสางที่ข้างสวนจิตรฯ วันมหาปิติ)
จากจุดปะทะเล็ก ๆ ณ บริเวณหน้าสวนจิตรลดา เหตุการณ์ก็บานปลายลุกลามไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ รัฐบาลใช้กำลังทหารและตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ในขณะที่นักเรียนนิสิต นักศึกษา และประชาชนตอบโต้ด้วยการก่อความวุ่นวาย บุกเข้ายึดและทำลายสถานที่บางแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการคณาธิปไตย พยายามยึดกรมประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนตลอดจนสถานีตำรวจ
นับแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เป็นระยะ ๆ กล่าวหาว่ามีกลุ่มนักเรียนบุกรุกเข้าไปในพระราชฐานสวนจิตรลดา และก่อวินาศกรรม ในขณะเดียวกันก็เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่า นักศึกษาหญิงที่ถือธงไตรรงค์ในวันเดินขบวนถูกตำรวจตีตาย เด็กผู้ชายถูกถีบเตะตกคูน้ำจนตาย สร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ร่วมชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง สถานการณ์รุนแรงหนักขึ้น
รัฐบาลส่งทหารและตำรวจออกปราบ มีทั้งรถถังและเฮลิคอปเตอร์ จุดปะทะและนองเลือดมีตลอดสายถนนราชดำเนิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางลำภู เป็นเวลาถึง 10 ชั่วโมง พร้อม ๆ กับมีคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 22.00 น.-05.30 น. ประกาศปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และกำหนดให้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากรเป็นเขตอันตราย เตรียมพร้อมที่จะทำการกวาดล้างใหญ่
14.00 น. สำนักงานกองสลากกินแบ่ง และตึก ก.ต.ป. ถูกไฟเผา นักเรียนและประชาชนต่อสู้อย่างทรหด ยึดรถเมล์ใช้วิ่งชนรถถัง แต่ก็ถูกยิงเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บถูกหามเข้าส่งโรงพยาบาลศิริราชตลอดเวลา
18.10 น. จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และทรงแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องคมนตรี และนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
23.00 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์แสดงความห่วงใย และ
23.30 น. ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ปราศรัยทางโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศจะใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม 24.00 น. ของคืนวันนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังคงออกแถลงการณ์ว่ามีผู้ที่ “พยายามนำลัทธิการปกครองอื่นที่เลวร้ายมาล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย” จึงขอให้เจ้าหน้าที่ “ปฏิบัติหน้าที่จนสุดความสามารถ” ซึ่งก็คือการปราบปรามนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนก็ยังคงดำเนินไป
ตลอดคืนนั้นมีการต่อสู้ระหว่างนักเรียน ประชาชน และตำรวจ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า ฝ่ายนักเรียนและประชาชนปักหลักสู้จากตึกบริษัทเดินอากาศไทย และป้อมพระกาฬ ส่วนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีการชุมนุมอยู่อีกเป็นจำนวนหมื่น ผู้นำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ขาดการติดต่อ ซ้ำมีข่าวลือว่าบางคนเสียชีวิต เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และเสาวนีย์ ลิมมานนท์ จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์ปวงชนชาวไทย” ขึ้นชั่วคราว เพื่อประสานงานและคลี่คลายสถานการณ์ มีจิระนันท์ พิตรปรีชา เป็นหนึ่งในผู้ก่อการจัดตั้งนี้ คืนนั้นเสียงปืนยังดังประปราย ท้องฟ้าแถบถนนราชดำเนินเป็นสีแดง มีไฟควันพวยพุ่งอยู่เป็นหย่อม ๆ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยดําเนินไปตลอดคืน
จันทร์ 15 ตุลาคม 2516
ตลอดคืนที่ผ่านมา นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนยังคงยืนหยัดชุมนุมกันหนาแน่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คำประกาศเตือนและขู่ของรัฐบาลหาเป็นผลไม่ กลับมีคนออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมไม่ขาดระยะ รัฐบาลมีประกาศหยุดราชการในวันนี้เป็นกรณีพิเศษ และมีประกาศปิดธนาคารทุกแห่ง ในขณะเดียวกัน นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็ยืนหยัดต่อสู้อย่างเด็ดเดียว มีการลุกฮือเป็นจุด ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร และในบางท้องที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า และสถานีตำรวจนางเลิ้ง นักเรียนและประชาชนพยายามต่อสู้บุกเข้ายึดและเผาตลอดคืนจนรุ่งเช้า
จากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จอมพลถนอม กิตติขจร จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ และก็ยังปรากฏว่า การปราบปรามนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนยังดำเนินอยู่ต่อไป พร้อมกับมีแถลงการณ์ว่า มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ส่งพลพรรคมีอาวุธร้ายแรงสวมรอยเข้ามา ยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นการสร้างความเท็จ สร้างความโกรธแค้นและเกลียดชังยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนเกิดพลังในการต่อสู้ต่อไปแม้จะบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากก็ตาม
จากการปราบปรามอย่างรุนแรงและไร้มนุษยธรรม ใช้ทั้งรถถัง เฮลิคอปเตอร์ อาวุธสงครามหนัก ทหารและตำรวจจำนวนร้อย ทำให้เกิดความขัดแย้งในวงการรัฐบาลอย่างหนัก มีทหารและตำรวจที่ไม่เห็นด้วย พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก เองก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรุนแรงนี้ ทางด้านทหารอากาศและทหารเรือก็เห็นด้วยกับทางฝ่ายของผู้บัญชาการทหารบก กลายเป็นแรงผลักดันให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่ง และท้ายที่สุด คณาธิปไตยทั้งสาม ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไป เหตุการณ์ทั้งหมดจึงสงบลงโดยพลันทันที่ที่มีการประกาศว่าบุคคล ทั้ง 3 ได้เดินทางออกนอกประเทศ แล้วเมื่อ 18.40 น.
เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2516 เยาวชนคนหนุ่มสาวหลายคนออกจากบ้านไปร่วมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ หลายคนไม่ได้กลับบ้านอีกเลย บางคนกลับไปด้วยร่างกายพิการ บางคนกลับไปด้วยความรู้สึกใหม่ เหตุการณ์ 14-15 ตุลาคม มีผู้เสียชีวิต 71 คน บาดเจ็บ 857 คน
วันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 วีรชนคนหนุ่มสาวเดินออกจากบ้าน และเดินเข้าสู่ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ และตำนานที่จะต้องจดจำกันไว้ในแผ่นดินนี้ชั่วกาลนาน
คุณจำได้ไหม เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม
คุณจำได้ไหม รอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้คน วีรชนคนหนุ่มสาวของเราได้ตายไปท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตา ตายไปขณะชูสองมืออันว่างเปล่าขึ้นเรียกร้องหาเสรีภาพ ณ บัดนี้ ขอให้พวกเราจงหยุดนิ่ง และส่งใจระลึกถึงไปยังพวกเขาเหล่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และจะได้เป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่จะอยู่ต่อสู้ต่อไป
จงบินไปเถิดคนกล้า ความฝันสูงค่ากว่าใด
เจ้าบินไปจากรวงรัง ข้างหลังเขายังอาลัย
กางปีกหลีกบินจากเมือง เจ้านกสีเหลืองจากไป
เจ้าคือวิญญาณเสรี บัดนี้เจ้าชีวาวาย
เจ้าเหินไปสู่ห้วงหาว เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
อาบปีกด้วยแสงตะวัน เจ้าฝันถึงโลกสีใด
(วินัย อุกฤษณ์ “นกสีเหลือง”)
อ่านเพิ่มเติม :
- 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สุดท้ายสิ้นอำนาจ
- ทหารกับ 14 ตุลาคม : Culture Shock! ของกองทัพ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “14 ตุลา October 14” เขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2541
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2562