ทหารกับ 14 ตุลาคม : Culture Shock! ของกองทัพ

ภาพจาก https://www.matichon.co.th

“ปี 2516 เป็นปีที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตการปฏิบัติราชการของผม นับตั้งแต่ต้นปีก็มีข่าวไม่ดี เกี่ยวกับรัฐบาลเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า” จอมพลถนอม กิตติขจร บันทึกจากใจ (2532)

“ทหารจะต้องปฏิบัติตามคําสั่งและนโยบาย ของรัฐบาลโดยเคร่งครัด จะได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจจากปฏิกิริยาอันไม่สมควรในทํานอง ดูหมิ่นเหยียดหยามและเสียดสีจากผู้แอบอ้างเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนผู้ฉวยโอกาสบาง ประเภทเพียงใดก็ตาม ก็จะต้องใช้ความพยายาม อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุเหล่านั้นจนถึงที่สุด อย่าได้ใช้อารมณ์ วู่วามตัดสินใจไปก่อเหตุในทํานองตอบโต้ แก้แค้น หรือตอบแทนใดๆ เป็นอันขาด” พลเอกกฤษณ์ สีวะรา คํากล่าวเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลาคม 2516 ในพิธีกระทําสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล 11 พฤศจิกายน 2516

ถ้าจะถามว่าเหตุการณ์ร่วมสมัยอะไรที่มีผลในลักษณะของความตื่นตระหนกหรือ “อาการช็อก” ทางวัฒนธรรม (Culture Shock) กับสถาบันกองทัพแล้ว คนในยุคปัจจุบันโดยทั่วไปจะคิดถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535

แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ที่จะมีลักษณะของความตื่นตระหนกเช่นว่านั้นคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

หากเราลองย้อนอดีตกลับไปสู่การเมืองไทยในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า การเมืองไทยคือการเมืองของทหาร จนอาจกล่าวได้ว่า การเมืองไทยเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางอํานาจระหว่างผู้คุมกําลังทหารกลุ่มต่างๆ ชัยชนะและการพ่ายแพ้ในกระบวนการต่อสู้นี้ก็คือการกําหนดเส้นทางและความเป็นไปของสังคมการเมืองไทย เหมือนดังที่นักวิชาการชาวตะวันตกที่สนใจเรื่องทหารและเคยกล่าวไว้ก็คือ ประชาชนเพียง “ผู้ดู” อยู่ที่ขอบเวทีการต่อสู้เท่านั้น

ยิ่งหากเอาเวลาของการยุติของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเส้นเกณฑ์แล้ว ก็ยิ่งเห็นความชัดเจนของข้อสังเกตที่ว่าประชาชนเป็น “ผู้ดู” ในเวทีการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการยึดอํานาจเพื่อฟื้นฐานะของกลุ่มทหารในปี 2490 กรณีกบฏแมนฮัตตัน ตลอดจนถึงการยึดอํานาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 และ 2501

แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 คํากล่าวที่ว่าประชาชนเป็นเพียง “ผู้ดู” ข้างเวทีการเมืองไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ประชาชนไทยในความเห็นของนักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิชาการตะวันตกเป็นพวกที่มีลักษณะ “ไม่กระตือรือร้นทางการเมือง” หรือเป็นพวก “passive” กลับมีบทบาทอย่างมากในการโค่นล้มรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร

ดังนั้นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่ได้ดํารงอยู่ในระบบการเมืองไทยมาก่อน และการเริ่มต้นเหล่านี้ล้วนแต่มีผลอย่างมากและอย่างกว้างขวางต่อกองทัพทั้งสิ้น ซึ่งคงจะไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า ถ้า 14 ตุลามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและอนาคตของระบอบการเมืองไทยเช่นไร 14 ตุลาก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและอนาคตของกองทัพเช่นนั้น

การเมืองใหม่กับกองทัพ

ความเปลี่ยนแปลงอันดับแรกที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เหตุการณ์นี้คือการสิ้นสุดของการสืบทอดอํานาจของกลุ่มทหารที่ดํารงความต่อเนื่องของอํานาจในระบอบการเมืองไทยมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2490 ความขัดแย้งของนายทหารในกลุ่มนี้เคยทําให้เกิดการรัฐประหารในปี 2500 ซึ่งก็เป็นลักษณะของการลิดรอนอํานาจกันเองภายในจนนําไปสู่ การสิ้นสุดของกลุ่มราชครูในยุคแรก แต่ผู้ชนะคือจอมพล สฤษดิ์นั้นก็เป็น “แกนนํา” อยู่ในกลุ่มที่ทําการยึดอํานาจในปี 2490 มาตั้งแต่แรก

การสืบทอดอํานาจของคณะทหารนั้น แม้ว่าจะมีการรัฐประหารในปี 2500 ดังได้กล่าวแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองมากกว่า อํานาจยังคงตกอยู่แก่กลุ่มทหาร จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 14 ตุลาคมเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “การเปลี่ยนระบอบการปกครอง” (regime change) กล่าวคืออํานาจของคณะทหารได้ถูกลดทอนหลังจากการล้มลงของรัฐบาลทหาร (regime breakdown)

การสิ้นสุดอํานาจของรัฐบาลจอมพลถนอม ซึ่งในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจจะถูกดูแคลนว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะระบบต่างๆ ไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปเท่าใด เหมือนกับที่อดีตผู้นํานักศึกษาท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเสมือนกับลมพายุพัดมาปะทะกับบ้าน แล้ว “สังกะสีหลุดไป 3 แผ่น” แต่ส่วนอื่นๆ ของบ้านยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งข้อสังเกตเช่นนี้ก็คงไม่ผิดนัก

แต่ถ้าเราไม่ยึดติดกับความคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมีผลทําให้เกิดการเปลี่ยนระบบทั้งหมดโดยรวมแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ตุลาน่าจะยอมรับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ เพราะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของอํานาจและความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งได้มีผลกระทบต่อโครงสร้างของอํานาจและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมาเช่นกันด้วย แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมทั้งหมดและอย่างฉับพลันก็ตามที่

หากพิจารณาจากมิติทางทหารกับการเมืองไทยแล้ว ก็จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้ได้เป็นเสมือน “จุดเปลี่ยนผ่าน” ใหญ่ (transitional period) ของการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งลักษณะของการเปลี่ยนผ่านนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรมกับกองทัพโดยตรง เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่กองทัพถูกผลักออกศูนย์อํานาจที่ไม่ใช่เป็นผลจากการต่อสู้ของกลุ่มทหาร และการถูกให้ต้องลดทอนอํานาจทางการเมืองของตัวเองลงก็มิใช่เป็นผลมาจากการพ่ายแพ้ในการทํารัฐประหาร

หากแต่เป็นผลโดยตรงจากการบังคับทางสังคมซึ่งในมุมมองเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคือจุดเริ่มต้นที่บอกแก่ผู้นําทหารไทยถึง สิ่งที่เรียกในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่า การเติบโตและความเข้มแข็งของประชาสังคม (civil society) อันอาจถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการเมืองในภาคพลเรือนในระบบการเมืองไทยที่ดําเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การต้องถูกบังคับโดยสังคมให้ลดบทบาททางการเมืองของกองทัพลงนั้น ทําให้เกิด “อาการช็อก” แก่ทหารในกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีความหมายของนัยยะทางการเมืองว่ากองทัพไม่ใช่ตัวแสดงหลักตัวเดียวในเวทีการเมืองอีกต่อไปแล้ว อีกทั้งเห็นได้ว่าหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมแล้ว ได้มีกลุ่มและขบวนการทางสังคมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและขบวนการเช่นนี้ อาจจะเป็นตัวแสดงที่แทบจะไม่ได้มีบทบาทในเวทีการเมืองของประเทศมาก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวเลยก็ว่าได้ เช่น ขบวนการชาวไร่ชาวนา หรือบางขบวนการอาจจะเคยมีบทบาทมาบ้างในยุคก่อนการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิในปี 2500 เช่น ขบวนการกรรมกร ขบวนการนักศึกษา หรือแม้แต่พรรคการเมืองก็ตาม แต่ขบวนการเหล่านี้ก็ถูกปราบปราม จนยุติบทบาทไปโดยสิ้นเชิงในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

กําเนิดและบทบาทของขบวนการเหล่านี้ก็คือ ภาพสะท้อนของสิ่งที่นักสังคมวิทยาการเมืองเรียกว่า ความเป็น “พหุนิยม (pluralism) ในสังคม ซึ่งก็คือการตอกย้ำถึงกําเนิดและพัฒนาการของประชาสังคมไทยดังได้กล่าวแล้วในข้างต้นนั่นเอง ดังนั้นในอีกมุมหนึ่งของผลกระทบต่อกองทัพก็คือคําตอบที่บอกว่า กองทัพในยุคหลัง 14 ตุลาซึ่งมิได้เป็นตัวแสดงหลักอีกต่อไปได้ถูกขบวนการทางสังคมอื่นๆ ท้าทายโดยตรงไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของศักดิ์ศรี อํานาจทางการเมือง ตลอดรวมถึงสถานะทางสังคม ของกองทัพด้วย

สภาพเช่นนี้อาจกล่าวเพิ่มเติมได้อีกว่า เวทีของการต่อสู้ทางการเมืองได้ขยายตัวออกจากปริมณฑลในแบบเดิมที่มักจะจํากัดตัวอยู่กับการดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของชนชั้นนํา (elites) เป็นสําคัญ ซึ่งการขยายตัวของเวทีการเมืองไทยอันเป็นผลของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมนี้เอง ทําให้กองทัพต้องต่อสู้กับการท้าทายของตัวแสดงใหม่ในส่วนของประชาสังคม (หมายถึง ขบวนการทางสังคมต่างๆ) และทั้งยังจะต้องต่อสู้กับองค์กรการเมืองที่ฟื้นบทบาทขึ้นมาใหม่จากสภาพของระยะเปลี่ยนผ่านสู่ ประชาธิปไตย (democratic transition) ซึ่งก็คือ บทบาทของพรรคการเมือง โดยแต่เดิมนั้น กองทัพมักจะเป็น “ผู้ควบคุม” พรรคการเมือง แต่ในยุคหลัง 14 ตุลาคมแล้ว พรรคการเมืองคือ “คู่แข่งขัน” ในปริมณฑลของส่วนที่เป็นสังคมการเมือง (ในความ หมายของ political society) กับกองทัพ

การเมืองใหม่ในกองทัพ

อาการช็อกกับความเปลี่ยนแปลงประการสําคัญในกองทัพก็คือ ผลที่เกิดแก่ผู้นํากองทัพโดยตรง ดังจะเห็นได้ว่า กองทัพในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลานั้นเกิดลักษณะของ “สุญญากาศแห่งอํานาจ” ขึ้น เพราะแต่เดิมผู้นําทางทหารจะดํารงฐานะในอํานาจ เป็นระยะเวลานานๆ จนได้กลายเป็น “การผูกขาดอํานาจ” ไปโดยปริยาย และดํารงอยู่โดยแทบจะไม่มีผู้ท้าทายเลยก็ว่าได้

แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ ผู้นํากองทัพถ้าจะยกเว้นพลเอกกฤษณ์ สีวะราแล้ว พวกเขากลายเป็นคนใหม่บนถนนการเมืองเกือบทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งในกรณีของพลเอกกฤษณ์เอง ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้นําจะดํารงความเป็นเอกภาพของกองทัพไว้ได้

ฉะนั้นในด้านหนึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลาก่อให้เกิดสภาพของสุญญากาศแห่งอํานาจในกองทัพ ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์นี้ก็คือ การขาดผู้นํากองทัพระดับสูงที่มีฐานะและบารมีซึ่งส่งผลให้เกิดกลุ่มต่างๆ ขึ้นภายในกองทัพ เช่น กลุ่มทหารหนุ่ม (หรือกลุ่ม ยังเติร์ก) กลุ่มทหารประชาธิปไตย และมีการรวมกลุ่มของนายทหาร บางรุ่น หากแต่ในระยะเวลาต่อมาไม่สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพจนกลายเป็นกลุ่มกดดัน (pressure group) ในกองทัพได้และได้ สูญสลายฐานะและบทบาททางการเมืองไป ในที่สุดก็คงเหลือแต่กลุ่มทหารหนุ่มและกลุ่มทหารประชาธิปไตย

การกําเนิดของสภาพใหม่ในกองทัพเช่นนี้ก็คือ การตอกย้ำว่าหมดยุคแล้วที่ผู้บังคับบัญชาทางทหารระดับสูง จะมีโอกาสอยู่ ในอํานาจได้นานๆ จนพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้นําแบบในยุคของจอมพลสฤษดิ์หรือจอมพลถนอม

นอกจากนี้ปรากฏการณ์เช่นนี้ ยังนําไปสู่การขยายบทบาททางการเมืองของนายทหารในระดับกลาง ทั้งในกองทัพและในการเมือง เพราะแต่เดิมการมีบทบาททางการเมืองในเวทีของประเทศและเวทีของกองทัพนั้น ผูกขาดอยู่กับนายทหารระดับสูงเท่านั้น แต่หลังจาก 14 ตุลาแล้ว นายทหารระดับพันโท พันเอก กลับมีบทบาทอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ยุคสมัยของกองทัพหลัง 14 ตุลาคมก็คือ “ยุคของนายทหารระดับกลาง” แม้ระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันก็มองไม่เห็นว่า กลุ่มของนายทหารระดับกลางจะสามารถรวมตัวกันเป็น “กลุ่มกดดัน” เช่นที่เกิดและพัฒนาเรื่อยมาในยุคหลัง 14 ตุลาได้อย่างไร และแม้จะมีความพยายามของนายทหารในบางรุ่นที่จะเดินตามเส้นทางดังกล่าว แต่พวกเขาก็หาได้ประสบความสําเร็จเช่นกลุ่มนายทหารในรุ่นก่อนๆ แต่อย่างใดไม่

พัฒนาการในจุดนี้ก็คือ การตอกย้ำอาการช็อกของผู้คนในกองทัพว่า พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะมี “นาย” ที่มีบารมีและอยู่ใน ตําแหน่งสูงของกองทัพได้นานๆ อีกต่อไปแล้ว และสภาพเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้นายทหารระดับกลางจํานวนหนึ่งก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในฐานะของผู้นําทหารรุ่นใหม่ ซึ่งได้สร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ที่อํานาจและบารมีทางการเมือง-การทหารในกองทัพไม่จําเป็น ต้องผูกอยู่กับระดับชั้นยศเสมอไป

ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การกําเนิดและการขยายบทบาททางการเมืองของนายทหารในระดับกลางนั้น เป็นผลโดยตรงจาก เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งมีส่วนอย่างสําคัญในการทําลาย “ระบบรวมศูนย์” ในกองทัพที่ดํารงอยู่ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว และเปิดโอกาสให้อํานาจไหลลงมาอยู่กับนายทหารในระดับนี้

คณะนายทหารระดับกลางได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในกองทัพ โดยนายทหารในระดับนี้ได้กลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองโดยตรงมิใช่อยู่ในฐานะเพียง “ผู้รับคําสั่ง” แบบในยุคก่อน และทั้งยังมีบทบาทในการผลักดันนายทหารในระดับสูงในเรื่องทางการเมืองอีกด้วย วัฒนธรรมใหม่ในกองทัพเช่นนี้ทําให้การให้ความสําคัญแก่นายทหารระดับสูงสุดน้อยลง อย่างไรก็ตามในที่สุดการรวมกลุ่มของนายทหารระดับกลางก็ต้องยุติลง อันเนื่องมาจากการพังทลายของกลุ่มยังเติร์ก และกลุ่มทหารประชาธิปไตย และโอกาสที่ปรากฏการณ์เช่นนี้จะหวนย้อนอดีตกลับมาสู่การเมืองไทยอีกคงจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก

การเมืองใหม่กับความมั่นคง

นอกจากนี้ กองทัพยังถูก “ช็อก” กับการตกเป็นเป้าหมาย ของการโจมตีทางการเมืองทั้งจากในกรณีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเอง และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมด้วย ซึ่งก่อนเหตุการณ์นี้ กองทัพไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กองทัพไม่เคยตกอยู่ใน “วัฒนธรรมการวิจารณ์ทางการเมือง” อย่างหนักหน่วงมาก่อน

ดังนั้นจึงไม่แปลกเท่าใดนักที่นายทหารหลายๆ คนจะรู้สึก ว่ากองทัพตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การจะหันไปพึ่งผู้นําระดับสูงในกองทัพก็เป็นไปได้ยาก เพราะคนเหล่านั้นต่างตกอยู่ ในสภาพของสถานการณ์ทางการเมืองใหม่ที่ต้องประคับประคองตัวเอง ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งของคําอธิบายเสริมว่าทําไมนายทหารระดับกลางจึงมีบารมีกับคนในกองทัพมากกว่านายทหารระดับสูง การขาดสภาวะผู้นํา (leadership) ของนายทหารระดับสูง จึงกลายเป็นโอกาสที่เปิดให้แก่นายทหารระดับกลางแทรกตัวเข้าสู่สภาพ “สุญญากาศ” ในกองทัพได้อย่างดี

ประเด็นสําคัญที่กองทัพ “ช็อก” จากการวิจารณ์ทางสังคมอย่างมากก็คือ ทหารถูกกล่าวหาว่า “ปราบปรามประชาชน” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่กองทัพไม่เคยถูกมาก่อน แม้ว่ากองทัพจะเคยมีบทบาททางการเมืองมาก่อนแล้วก็ตาม และการกล่าวหานี้เกิดในวงกว้างของสังคมไทยด้วย

ข้อกล่าวหาเช่นนี้ยังได้ขยายตัวจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ไปสู่ปฏิบัติการทางทหารในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย (พคท.) ในชนบท ดังจะเห็นได้จากทั้งกรณีถังแดง และกรณีของหมู่บ้านนาทราย ทําให้กองทัพตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ปฏิบัติการทางทหารในชนบทที่ ผิดพลาดหรือมีลักษณะสุดขั้วบางกรณี ได้ถูกนํามาเปิดเผยในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็ยิ่งทําให้กองทัพตกเป็นเป้าของการถูกวิจารณ์ ทางสังคมอย่างมาก

สภาพเช่นนี้ยังได้ส่งผลให้นายทหารที่อยู่ในสายงานของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ต้องหันกลับมาถกแถลงกันใหม่อีกด้วยว่า แนวทางและนโยบายของรัฐบาลที่ใช้ในการต่อสู้กับ พคท.นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ข้อสรุปต่างๆ ที่ได้ดูจะไม่แตกต่างกันก็คือ การใช้การปราบปรามเป็นแนวนโยบายหลักนั้นทําให้การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์มีลักษณะสุดขั้ว มองเห็นการต่อสู้นี้เฉพาะในมิติด้านการทหารเป็นสําคัญ และละเลยต่อมิติด้านการเมืองของสงครามต่อสู้คอมมิวนิสต์ หรือกล่าวในทางความคิดก็คือ มองเห็นสมาชิกของ พคท.เป็น “ข้าศึก” หรือเป็น “ศัตรู” ในการทําสงคราม ทัศนะเช่นนี้ก็คือ มองไม่เห็นความสําคัญของงานมวลชนและทั้งเห็นว่าไม่จําเป็นต้องเอามวลชนเป็นพวก ผลลัพธ์ของความคิดในการสงครามกับ พคท.เช่นนี้ก็คือ ทําให้อํานาจรัฐโดดเดี่ยวตัวเอง ในชนบทมากยิ่งขึ้น

แต่การเกิดของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมนั้นก็คือ ภาพสะท้อนของการเมืองมวลชน (mass politics) ที่อํานาจรัฐถูกตัดสินชี้ขาดโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนหมู่ใหญ่ มิใช่เพียงด้วยความเข้มแข็งของกําลังอาวุธที่กองทัพมี ผลของเหตุการณ์นี้จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งของอาการ “ช็อก” ทางวัฒนธรรม ซึ่งในที่สุดแล้วได้ทําให้นายทหารบางส่วนหันมาสนใจมิติทางการเมืองตลอดรวมถึงงานมวลชนมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถทัดทานแนวคิดกระแสหลักในกองทัพที่ต้องการใช้การปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยกอง กําลังติดอาวุธของรัฐบาลก็ตาม

อาการ “ช็อก” สืบเนื่องกับปัญหาความมั่นคงที่เป็นผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมอีกประการก็คือ การตัดสินของสหรัฐอเมริกา ที่จะถอนตัวออกจากสงครามในเวียดนาม และขณะเดียวกันการเรียกร้องของขบวนการทางสังคม โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาในปัญหาฐานทัพสหรัฐในไทย ได้มีผลต่อการจัดความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับรัฐบาลพลเรือนใหม่ของไทยด้วย ยิ่งประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ของประเทศในอินโดจีนในปี 2518 ตลอดจนการที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและการค้ากับจีนในปีเดียวกันนั้นเองก็ยิ่งทําให้กองทัพเกิดอาการ “ช็อก” อย่างมาก

เพราะในขณะที่สหรัฐซึ่งถูกถือเป็นเสมือน “มหามิตร” จําต้องถอนตัวออกจากเวียดนามและไทยในเวลาต่อมา แต่จีนซึ่งเป็นตัว “มหาศัตรู” ในนโยบายความมั่นคงของไทยนั้น ผู้นําของไทยกลับตัดสินใจหันไปมีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย การดําเนินการทางการทูตใหม่ซึ่งมิใช่การต้องยึดติดกับมหาอํานาจเช่นสหรัฐเท่านั้น หากแต่ต้องคํานึงถึงความเป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วย ซึ่งสภาพเช่นนี้ดูจะเป็นเรื่องใหม่สําหรับกองทัพมากทีเดียว

อีกทั้งกองทัพยังต้องพบกับกระแสของการต่อต้านฐานทัพสหรัฐภายในประเทศ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่กองทัพไม่ได้ตระเตรียมมาก่อนที่จะต้องพบกับเหตุการณ์ดังกล่าว การประท้วงเช่นนี้ถูกตีความว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับแผนของพคท. และยังหมายถึงความมุ่งประสงค์ที่จะต้องการทําให้กองทัพอ่อนแอ เพราะการขาดการสนับสนุนจากสหรัฐ เมื่อสหรัฐจําเป็นต้องถอนตัวออกจากประเทศไทย กล่าวคือ กระแสต่อต้านสหรัฐได้ “ช็อก” ทางความคิดดั้งเดิมของคนในกองทัพที่เชื่อว่า ประเทศไทยอยู่ได้ก็ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐ และถ้าสหรัฐไม่กระทําเช่นนั้น ไทยในที่สุดจะต้องตกเป็นคอมมิวนิสต์

การต่อต้านสหรัฐจึงทําให้เกิด “อาการกลัว” ในทางจิตวิทยา ต่อการจัดการปัญหาความมั่นคง และยิ่งเมื่อสหรัฐต้องออกมาจากอินโดจีน ตลอดจนเตรียมตัวออกจากประเทศไทยด้วยความกลัวดังกล่าวก็ดูจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะเสมือนกับการขาด “พี่เบิ้ม” ที่คอยยืนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง อันเป็นความเคยชินในวัฒนธรรมความมั่นคงของไทยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา

ภายใต้กรอบของการทูตใหม่ กองทัพต้องประสบกับปัญหาโดยตรง เพราะกองทัพอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมเก่า นี่ถือเอาความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐเป็นปัจจัยหลักปัจจัยเดียวในการดําเนินนโยบายความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีผลในระยะเวลาต่อมา ที่ทําให้กองทัพต้องปรับนโยบายความมั่นคงทางทหารของประเทศใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออิทธิพลของเวียดนามได้ขยายตัวมากขึ้นทั้งในลาวและในกัมพูชาจนนําไปสู่การมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีนหลังจากที่เวียดนามได้เข้ายึดครองกัมพูชาในตอนต้นปี 2522 แล้ว

ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ในด้านหนึ่งว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคมได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมในการดําเนินนโยบายด้านความมั่นคงของกองทัพอย่างมาก ผลของลักษณะที่เป็นเสรีนิยมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์นี้ จึงมีส่วนเอื้อโดยตรงให้กลุ่มกิจกรรมในสังคมประสบความสําเร็จในการผลักดันนโยบายให้มีการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน และรัฐบาลพลเรือนเองก็ได้อาศัยโอกาสดังกล่าว ทําให้การดําเนินความสัมพันธ์ทางการทูตใน ระดับปกติของประเทศทั้งสองเป็นสิ่งที่เกิดเป็นจริงขึ้น และได้กลายเป็นพื้นฐานที่ดีของการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีนในยุคต่อมานั้นเอง

สรุป

สิ่งที่บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นก็คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้สร้างผลสะเทือนกับกองทัพอย่างมาก ซึ่งคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าเป็นเสมือนการ “ช็อก” คนในกองทัพ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้นํามาซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองใหม่แก่ระบอบการเมืองไทย และในสภาพเช่นนี้กองทัพถูกลดฐานะเป็นตัวแสดง หลักตัวเดียวเช่นในยุคก่อนๆ และกองทัพเองก็ดูจะมีปฏิกิริยากับสภาพเช่นนี้อยู่มากด้วย

ปฏิกิริยาเช่นนี้ในที่สุดก็เป็นปัจจัยผลักดันประการหนึ่งที่นําไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดังที่ พ.ท.ฤกษ์ดี ชาติอุทิศ กล่าวไว้ในวารสารเสนาศึกษา (ธันวาคม 2518 มกราคม 25159) ว่า

“ประชาธิปไตยของไทย เหมือนกับเด็กอ่อนสอนเดิน เด็กอ่อนช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีพี่เลี้ยงฉันใด ประชาธิปไตยแบบเด็กอ่อนก็ต้องการพี่เลี้ยงฉันนั้น ประชาธิปไตยที่จะนํามาใช้ในประเทศไทยจึงต้องเป็น แบบไทยๆ เท่านั้น และทหารผู้เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่ง ก็มีหน้าที่จะเป็นผู้เลือกว่าจะเอาหรือไม่กับรูปแบบ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ…”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2562