ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
อากาศคงคา [จิตร ภูมิศักดิ์] กล่าวไว้ในเรื่อง ‘ประวัติตำรวจ’ ตอนหนึ่งว่า ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่คิดตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนารถ ข้อความนี้เป็นเนื้อหาสำคัญที่จะบันทึกต่อไป.
1. ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่แผลงมาจาก ‘ตรวจ’ เป็นภาษาเขมรมาแต่เดิมมิใช่เป็นคำที่ไทยเราคิดขึ้นแล้วเขมรยืมไปใช้ หากเป็นคำเขมรที่ไทยยืมมา พยานที่ว่าคำทั้งสองนี้เป็นภาษาเขมรก็คือตัว ‘จ’ สะกด ถ้าเป็นคำไทยแล้ว คำสองคำนี้จะต้องมีรูปเป็น ‘ตรวด’ และ ‘ตำรวด’ (ด สะกด) เพราะหลักของไทยมาตรากด ต้องใช้ตัว ‘ด’ สะกดเสมอ ไม่ใช้ จ, ช, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ถ, ท, ศ ฯลฯ สะกดเลย (หากจะมีบ้างก็เป็นกรณีพิเศษที่เรามาดัดแปลงใช้เข้ากับความนิยมของอักขรวิธีเขมรและมคธสันสกฤตในชั้นหลัง)
2. ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่เขมรคิดแผลงใช้กันมาแต่โบราณครั้งแรกสร้างนครธมเป็นราชธานี (พ.ศ. 1432) ยังมีคำสัตย์สาบานของตำรวจเขมรโบราณจารึกปรากฏอยู่ที่ประตูพระราชวังมนนครธมจนบัดนี้ แสดงว่า ‘ตำรวจ’ เป็นคำที่มีใช้มาในกัมพูชาประเทศก่อนแล้ว ไทยจึงขอยืมมาใช้ มิใช่ไทยจะเป็นผู้คิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถดังที่ ‘อากาศคงคา’ กล่าวไว้
3. ในประเทศไทย ศิลาจารึกภาษาเขมรที่พบ ณ เมืองลพบุรี ซึ่งพวกเขมรจารึกไว้ (แต่ครั้งเป็นใหญ่ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) ในราว พ.ศ. 1565-1600 (คือศิลาจารึกหลักที่ 20 และ 21 ใน ‘ประชุมจารึกสยาม’ ภาคที่ 2 จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย ของศาสตราจารย์ยอช เซเดส์) ก็ปรากฏว่ามีขุนนางพวก ‘ตำรวจ’ ประจำอยู่ ณ เมืองละโว้ เรียกในจารึกว่า ‘ตมฺรฺวจวิษย’ (ตำรวจวิษัย) ตัวอักษรในจารึกเป็นดังรูปนี้
‘ตำรวจวิษัย’ นี้ ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ สันนิษฐานไว้ว่า “เห็นจะเป็นตำแหน่งข้าราชการในราชสำนักซึ่งว่าราชการเมือง”
4. คำว่า ‘ตำรวจวิษัย’ นั้น ผู้บันทึกเข้าใจว่า จะเป็นชื่อตำรวจประเภทหนึ่งของเขมร อย่างตำรวจของเราก็มีประเภท ภูธร และนครบาล (หรือ ภูธร และ ภูบาล ตามทำเนียมเดิม) ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะสังเกตได้จากคำ ‘วิษัย’ ซึ่งแปลว่า เมือง, เขต, แดน ตำรวจวิษัยก็คือตำรวจในเมืองหรือประจำเมืองคือพวกนครบาลอย่างนี้กระมัง? ในจารึกภาษาเขมรที่ปราสาทสด๊อกก๊อกธม จารึกราว พ.ศ. 1500-1600 [1] มีตำแหน่งขุนนางเขมรตำแหน่ง 1 เรียกว่า โฉลญ (เฉฺลาญ์) มี 2 ประเภทคือ โฉลญพลคู่กับโฉลญวิษัย (เฉฺลาญ์วล-เฉฺลาญ์วิษย) ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจว่า ‘ตำรวจวิษัย’ เป็นประเภท 1 ของขุนนางตำรวจ คงจะเป็นคู่กันกับ ‘ตำรวจพล’ พล แปลว่า ทหาร, กำลัง, ตำรวจพลก็คือตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามใช้กำลังคล้ายทหารจะลองแบ่งออกเป็นประเภทดังนี้
ก. ตำรวจวิษัย : คือตำรวจพวกที่ทำการดูแลทุกข์สุขของราษฎรภายในเมือง หรือภายในประเทศ ทำนองข้าราชการตำรวจกึ่งพลเรือน บางทีตำรวจวิษัยอาจจะทำหน้าที่เป็นข้าราชการพลเรือนโดยตรงก็ได้ อย่างเช่นตอนแรกสร้างกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าอู่ทองโปรดให้สร้าง ‘ขุนตำรวจ’ ไปตรวจที่ทางทำเลจะสร้างพระนคร ถ้าว่าอย่างจีนก็อาจจะเป็นฝ่าย ‘บุ๋น’
ข. ตำรวจพล : เห็นจะเป็นพวกใช้กำลังปราบปรามทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร เวลาสงครามก็ออกทำการรบอย่างทหารด้วย เช่นเดียวกับตำรวจของไทยสมัยก่อนเวลามีสงครามก็ออกรบเสมอ เช่น พระยาอภัยรณฤทธิ์ (จางวางกรมพระตำรวจขวา) เป็นต้น ถ้าจะเทียบอย่างจีนก็เป็นฝ่าย ‘บู๊’
5. ตามที่ผู้บันทึกแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภทคือ ตำรวจพลและตำรวจวิษัยนั้นเป็นเพียงเดา ไม่รับรองว่าจะถูก เพราะยังไม่มีเวลาค้นศิลาจารึกเขมรได้ทั่วถึง ว่ามีตำรวจพลคู่กับตำรวจวิษัยหรือไม่ ด้วยการบันทึกนี้กระทำโดยกระทันหัน.
อนึ่ง นอกจากจะมีหลักฐานอ้างอิงว่าตำแหน่งโฉลญยังมีโฉลญวิษัยคู่กับโฉลญพลแล้ว ในจารึกเขมรโบราณยังมีตำแหน่ง โขลญ (เขฺลาญ์) อีกตำแหน่ง 1 ซึ่งเคยพลว่ามีโขลญพล (เขฺลาญ์วล) อาจจะเป็นคู่กับโขลญวิษัยก็ได้ แต่ผู้บันทึกยังไม่เคยพบคำโขลญวิษัย.
อย่างไรก็ตาม เมื่อตำแหน่งโฉลญยังมีโฉลญพล โฉลญวิษัยแล้ว ตำแหน่งโขลญพลที่ได้พบจึงน่าจะเป็นคู่กับโขลญวิษัย และตำแหน่งตำรวจวิษัยที่ได้พบแล้วก็น่าจะมีตำรวจพลเป็นคู่.
6. ศิลาจารึกภาษาเขมรที่พบที่จังหวัดลพบุรี (คือหลักที่ 21 ในประชุมจารึกสยามภาค 2) มีคำ ‘โฉลญตำรวจวิษัย’ (เฉฺลาญ์ตมฺรฺจจ์วิษย) เห็นจะเป็นยศตำรวจชั้นสูงขึ้นขึ้นไปอีกจึงเอาตำแหน่ง โฉลญ กับ ตำรวจ รวมกันเป็นตำแหน่งเดียว การรวมตำแหน่งหรือบรรดาศักดิ์สองที่เข้าด้วยกันเป็นบรรดาศักดิ์ใหม่สูงขึ้นไปนั้นเขมรโบราณนิยมมาก เช่น มรตาญ (มฺรตาญ์) เป็นตำแหน่ง 1 โขลญตำแหน่ง 1 เอามารวมกันเป็นตำแหน่งใหม่ว่า ‘มรตาญโขลญ’
อนึ่ง ตำแหน่งขุนนางเขมรโบราณนั้น ตามที่ได้พบในจารึกบรรดาศักดิ์มักจะตั้งล้อกันขึ้นไป เช่น เตง-เสฺเตง-กมฺสเตง-เสตงอัญ-กมฺรเตง-กมฺรเตงอัญ-โลญ-โฉลญ-โขลญ ดังนี้เป็นต้น.
ด้วยเหตุนี้ตำแหน่ง ‘โฉลญตำรวจ’ จึงควรจะเป็นตำแหน่งเหนือ ‘ตำรวจ’ ขึ้นไปอีกชั้น 1 แต่ก็ยังไม่แน่นัก ‘โฉลญตำรวจ’ อาจเป็นบรรดาศักดิ์ทั้งตำรวจและพลเรือน ซึ่งบุคคลผู้เดียวได้รับยศทั้งสองฝ่าย อย่างอำมาตย์เอก พระยา- – -หรือ พลเอก พระยา- – -ของเราก็ได้.
7. สรุปแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ตำรวจมิใช่คำที่ไทยคิดขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และขุนนางพวก ‘ตำรวจ’ มีมาในเมืองเขมรก่อน.
การปกครองบ้านเมืองของไทยสมัยต้นอยุธยานั้น เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เอาแบบอย่างเขมรมาปรับปรุงใช้เป็นส่วนมาก ดังนั้น จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า เราได้อย่างขุนนางตำรวจมาจากเขมร แม้ทางราชการทหาร ตำแหน่งหรือคำ ‘กระลาโหม’ ของเราก็เคยมีมาแล้วในประเทศเขมรครั้งนครธม ซึ่งจารึกภษาเขมรเรียกว่า ‘พระกระลาโหม’ (วฺระกฺลาเหาม์)
อ่านเพิ่มเติม :
- คำเตือนจากตำรวจถึงตำรวจ เรื่องการจับตายผู้ร้าย
- เบื้องหลังคณะราษฎรตั้ง “ตำรวจสันติบาล” ประวัติตำรวจ สาขาพิเศษ ในการเมืองหลัง 2475
เชิงอรรถ :
[1] สนใจเชิญดู Le Cambodge Vol.II : Les provinces Siamoises par Etienne Aymonier หรือ Bulletin de L’ecole Française D’extreme Orient, Tome XV 1915.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2560 แก้ไขเพิ่มเติม 30 มีนาคม 2562