เบื้องหลังคณะราษฎรตั้ง “ตำรวจสันติบาล” และบทบาทตร.สาขาพิเศษในการเมืองหลัง 2475

คณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปฏิวัติ 2475
นายทหาร กลุ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ย้อนรอยเส้นทางจากยุคคณะราษฎรตั้ง “ตำรวจสันติบาล” ตำรวจสาขาพิเศษต่างจากตำรวจทั่วไปและบทบาทตร.สาขาพิเศษกลุ่มนี้ในการเมืองหลัง 2475

เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความเรื่อง “กำเนิดตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัย 2475” เขียนโดย พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2551

Advertisement

บทความเรื่อง “กำเนิดตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัย 2475” เขียนโดย พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว เรียบเรียงย่อจากบางตอนในวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2545 เรื่อง “บทบาทของตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2475-2500” ของพ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว นั่นเอง เว้นแต่ส่วนท้ายเกี่ยวกับงานของ “พ. 27” ที่ได้เรียบเรียงเสริมขึ้นใหม่สำหรับการเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

เนื้อหาบทความเรื่อง “กำเนิดตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัย 2475” มีดังนี้


 

ในเดือนพฤศจิกายน 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรซึ่งเป็นรัฐบาลกุมอำนาจการปกครองในเวลานั้น ได้จัดตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้น โดยให้มีหน้าที่สืบสวนและหาข่าวสารทางการเมือง กองตำรวจใหม่นี้มีชื่อว่า “กองตำรวจสันติบาล” โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Special Branch ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า เป็นตำรวจสาขาพิเศษต่างหากจากตำรวจทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ตำรวจกองใหม่นี้ก็ไม่ได้เป็นการจัดตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมดเสียทีเดียว แท้ที่จริงก่อนหน้านั้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เคยมีตำรวจที่ทำหน้าที่เช่นนี้มาก่อนแล้ว นั่นคือกองตำรวจที่เรียกว่า “ตำรวจภูบาล” ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ตำรวจภูบาลเมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็คือต้นเค้าหรือ “บรรพบุรุษ” ของตำรวจสันติบาลที่เกิดขึ้นในระบอบใหม่นี้เอง

ในที่นี้จะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและภารกิจของ “บรรพบุรุษ” ดังกล่าวนี้ก่อน เพื่อจะได้เห็นถึงการพัฒนาของตำรวจสันติบาลว่าเป็นมาอย่างไร และขณะเดียวกันก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตำรวจกองพิเศษนั้นได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองมาในทุกสมัย ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม

ตำรวจกับการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6

ตำรวจหรือ Police เป็นหน่วยราชการที่ตั้งขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่แรกเรียกทับศัพท์ว่า “โปลิศ” หรือ “พลตระเวน” ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระดำริว่า “อยากจะรักษาชื่อเดิมกรมต่างๆ ให้คงอยู่ต่อไป”

ดังนั้นเมื่อทรงตั้งหน่วย “ยองดามส์” แบบฝรั่งสำหรับการตรวจตระเวนท้องที่ขึ้นมา จึงทรงนำเอาคำว่า “ตำรวจภูธร” อันเป็นชื่อกรมเก่า ซึ่ง “จะมีหน้าที่ทำราชการอย่างใดก็ไม่มีใครรู้” มาใช้เรียกเป็นครั้งแรก “จึงมีกรมตำรวจภูธรอย่างใหม่ตั้งขึ้นแต่นั้นมา” เช่นเดียวกับที่หลังจากนั้นก็ทรงนำเอาคำว่า “กรมตำรวจภูบาล” อันเป็นชื่อกรมเก่ามาใช้เรียกกรมนักสืบ C.I.D. ที่ทรงจัดตั้งขึ้นเช่นกัน [1]

ต่อมาเมื่อมีการรวมกรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเข้าด้วยกัน คำว่า “ตำรวจ” จึงเป็นคำใช้เรียกรวมกัน ปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่ไม่ทราบเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนำคำเก่ามาเรียกหน่วยราชการใหม่นี้ จึงเข้าใจไปว่า ที่เรียกว่า “ตำรวจ” ในปัจจุบันนี้ คือ “ตำรวจ” หรือกรมพระตำรวจในสมัยโบราณ จนเขียนประวัติสืบสาวกันไปถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กระทั่งสมัยสุโขทัย หรือแม้จนน่านเจ้า ทั้งที่ “ตำรวจ” ปัจจุบัน หรือ “Police” นั้น ถอยหลังไปแค่สมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง และไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “ตำรวจ” โบราณ

ในแง่ทางการเมืองนั้น กล่าวได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เองที่ “โปลิศ” หรือที่เรียกชื่อใหม่ว่า “ตำรวจ” เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง เพราะในรัชกาลนี้ปัญหาทางการเมืองต่างๆ มีความรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2454 อันเป็นปีแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศจีนได้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ “เก๊กเหม็ง” นำโดย ดร. ซุนยัตเซ็น โค่นราชวงศ์ชิง สถาปนาการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) ขึ้น การปฏิวัติคราวนี้ส่งผลทางความคิดมาถึงปัญญาชนชาวสยามไม่น้อย งานเขียนเรื่องลัทธิไตรราษฎร์ หรือ “ซามิ่นจูหงี” ของ ดร. ซุนยัตเซ็นก็มีการแปลเป็นภาษาไทยขึ้น ความตื่นตัวในเรื่องการปกครองสมัยใหม่ก็เริ่มแพร่ขยายออกไป

เมื่อปัญหาทางการเมืองเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีกระแสสูงขึ้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความปลุกใจคนไทยและชี้ให้เห็นภัยของการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่อง “ยิวแห่งบูรพาทิศ” หรือ “โคลนติดล้อ” ในนามปากกา “อัศวพาหุ” แล้ว ทางหนึ่งก็ยังได้ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นด้วย อันเป็นผลกระทบสู่ความไม่พอใจของกลุ่มทหาร และเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การก่อการของกลุ่มทหาร

โดยในปี 2454 นั้นเอง กลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกกันต่อมาว่า “คณะ ร.ศ. 130” นำโดย นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ได้คิดก่อการยึดอำนาจขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบอื่นที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป บางคนในกลุ่มนี้ยังคิดไปถึงขั้นเปลี่ยนไปสู่ระบบ “รีพับลิค” โดยจะยกกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี [2] แต่การก่อการครั้งนั้นไม่สำเร็จเพราะสมาชิกผู้หนึ่ง คือ นายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) ได้นำความลับไปกราบทูลให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงทราบเสียก่อน

ตำรวจภูธรภายใต้การนำของ นายพลตำรวจตรี พระยาวาสุเทพ (ยี. เชา) จึงได้ทำการจับกุมคณะผู้ก่อการได้เป็นจำนวนมาก ศาลพิพากษาโทษจำคุกคณะหัวหน้าคนละหลายปี ส่วน นายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ หลังจากการจับกุมคณะ ร.ศ. 130 แล้ว ก็ถูกส่งตัวไปศึกษาต่างประเทศ และต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศเป็น นายพันเอก และมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยากำแพงราม ซึ่งต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ได้เข้าร่วมกับคณะกบฏบวรเดช ถูกจับตัวไปขังไว้ที่คุกบางขวาง และพระยากำแพงรามก็ผูกคอตายในคุกบางขวางนั้นเอง

คณะ ร.ศ. 130 ในงานศพ 17 วีรชนปรากกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา

สมาคมลับ : จิตรลดาสโมสร

ในปี 2454 หลังจากเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 130 แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงตั้งกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งขึ้น เรียกว่า “จิตรลดาสโมสร” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติการณ์และสืบสวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ

ในการจัดตั้งจิตรลดาสโมสรขึ้นนี้ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เล่าว่า เพื่อหวังจะป้องกันพระองค์ โดยสมาชิกล้วนเป็นคนวงในใกล้ชิดพระองค์ทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้มงวดในการรับสมาชิกมาก แม้แต่พระอนุชา เจ้าฟ้าบางพระองค์ที่แสดงพระองค์จะเข้าเป็นสมาชิกก็ไม่โปรดให้รับ

การทั้งหมดนั้นเป็นการนำเอาวิธีการของ Free Mason หรือสมาคมลับแบบอังกฤษมาใช้ เช่น ให้มีเสื้อครุยสำหรับสมาชิก ตราของสมาคมเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งสมาชิกมีสิทธิ์ใช้กระดุมรูปสามเหลี่ยมอันเป็นตรานี้เป็นกระดุมเม็ดแรกของเสื้อเครื่องแบบราชการได้ เจ้าพระยามหิธรเองทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนของสมาคม การนัดพบของสมาชิกนั้นมีอาทิตย์ละครั้ง ในรูปของการร่วมรับประทานอาหารค่ำ หรือมีการแสดงโขน ละคร ซึ่งเมื่อดูจากภายนอกแล้วก็จะเห็นว่าเป็นสมาคมที่มีเพื่อการรื่นเริงเท่านั้น [3]

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไม่ทรงรับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเป็นสมาชิก นอกจากข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด ก็เพราะทรงเชื่อว่า ทหารหนุ่มเหล่านั้นไม่สามารถคิดทำการได้เอง จะต้องมีเจ้านายบางพระองค์อยู่เบื้องหลังจึงได้คิดกำเริบขึ้น โดยเฉพาะเจ้านายที่ทรงถูกทหารอ้างพระนามถึง หรือมีข่าวลือว่าจะคิดกบฏ เช่น กรมหลวงชุมพรฯ, กรมหลวงราชบุรีฯ, กรมพระนครสวรรค์, และกรมหลวงพิษณุโลกฯ

เรื่องสมาคมลับนี้ ก็มีผู้กล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีสมาคมลับที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เช่นกัน เรียกว่า “สมาคมแหนบดำ” ท่านผู้หนึ่งที่มีผู้อ้างว่าเป็นสมาชิกก็คือ นายพันเอก พระยาสุรเดชรณชิต รองผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก แต่เรื่องนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน [4]

อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตั้งหน่วยราชการพิเศษขึ้นสำหรับติดตามข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

จัดตั้งกรมตำรวจภูบาล

เมื่อสภาพทางการเมืองยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังมิได้หมดไป แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการสอดส่องดูแลอยู่ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป การติดตามของตำรวจก็ดูจะไม่ได้ผล เนื่องจากมิได้เป็นตำรวจทำงานการเมืองโดยตรง

ดังนั้นเอง ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2456 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ได้ทรงจัดตั้งกรมนักสืบ (C.I.D.) ขึ้น โดยให้รวมเจ้าพนักงานและรวมหน้าที่ขึ้นมาเป็นกรมหนึ่ง เรียกว่า กรมตำรวจภูบาล ขึ้นอยู่ในกรมตำรวจภูธร [5] มีหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจภูธรท้องที่ในการสืบสวนปราบปราม และงานด้านวิทยาการ

กรมตำรวจภูบาลปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้เพียง 2 ปีเศษ ก็ต้องถูกยุบลงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2458 พร้อมๆ กับที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างกรมตำรวจเสียใหม่ กล่าวคือ รวมกรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวนเข้าด้วยกันเป็นกรมเดียว เรียกว่า กรมพลตระเวณและกรมตำรวจภูธร สังกัดในกระทรวงนครบาล และให้มีอธิบดีเพียงคนเดียว ซึ่งอธิบดีท่านแรกหลังการปรับปรุงครั้งนี้ก็คือ นายพลโท พระองค์เจ้าคำรบ [6]

การที่กรมตำรวจภูบาลจะต้องถูกยุบนั้น เหตุผลที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายก็คือ หาครูที่ชำนาญมาฝึกสอนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า การยุบกรมตำรวจภูบาลนั้นเกิดขึ้นทันทีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ต้องทรงถูกปลดจากการเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เหตุผลที่ทรงถูกปลดนั้นไม่ชัดเจนนัก แต่ก็น่าจะเป็นว่า เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไม่โปรด ดังจะเห็นได้จากพระราชพินัยกรรมที่ทรงกล่าวถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า

“…ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นมาว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา ไม่มีศีล ไม่มีธรรม วัน 1 อาจพูดอย่างหนึ่ง อีกวันหนึ่งอาจกลับกรอกเสียก็ได้ และข้าพเจ้าจะลืมไม่ได้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ได้เคยลิเอาพระราชอาณาเขตของพระราชวงศ์จักรีไปขายฝรั่งเสีย 3-4 คราวแล้ว…” [7]

เมื่อพิจารณาจากข้อความดังกล่าวนี้ ก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการที่ทางการให้ยุบกรมตำรวจภูบาลเสีย ก็เพราะเป็นหน่วยงานที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสร้างขึ้น เมื่อผู้ทรงสร้างไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว หน่วยงานพิเศษนี้ก็น่าจะถูกเพ่งเล็ง กระทั่งถูกยุบในที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่กรมตำรวจภูบาลถูกยุบลงนี้ก็ไม่ได้แปลว่าทางราชการจะเลิกการสืบสวนทางการเมืองแต่อย่างไร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมตำรวจภูบาล สมัยรัชกาลที่ 7

ในสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะองค์อภิรัฐมนตรี ตำรวจภูบาลก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การที่รื้อฟื้นกันขึ้นมาใหม่นี้ ไม่ใช่เพียงเพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกลับมา แต่เป็นความจำเป็นทางสภาพการเมืองที่ทำให้ต้องสร้างกองตำรวจพิเศษขึ้นใหม่อีกครั้ง

ที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นคือกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย จากการปฏิวัติของพวกบอลเชวิคในรัสเซียใน พ.ศ. 2460 และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในประเทศ ตลอดจนข่าวลือต่างๆ เรื่องการยึดอำนาจ ทำให้คำว่า “บอลเชวิค” เป็นคำที่แพร่หลาย และใช้กล่าวหากัน โดยมีความหมายว่าเป็นพวกคิดกบฏล้มเจ้านาย ในจดหมายที่เขียนถึงลูกชายที่อังกฤษ เจ้าพระยามหิธรยังกล่าวเตือนลูกชายว่าที่เมืองไทยนั้น “สมัยนี้ออกจะหาความกันเก่ง ไม่ถูกใจใครก็หาว่าเป็นบอลเชวิค” [8]

นายร้อยเหรียญ ศรีจันทร์ และ นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าคณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ได้เล่าถึงสภาพการณ์ในช่วงก่อนปี 2475 ไม่นานว่า

“…รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แทนเป็นรัชกาลที่ 7 พวกเราในโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีมันสมองปฏิวัติอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเห็นเขาเต้นเขารำก็อดไม่ได้ มิหนำซ้ำบางคนได้ตกปากรับคำเป็นสายสืบของคณะ พ.ศ. 2475 เป็นทางลับไว้ด้วยว่า จะขออนุญาตเจ้าของโรงพิมพ์ใช้หนังสือศรีกรุงเป็นปากเสียง (Organ) ของคณะ 2475 เผอิญ นายมานิต วสุวัติ ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุงมีนิสัยใจคอใคร่เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทันยุคทันสมัยอยู่แล้ว ได้อนุญาตอย่างลูกผู้ชาย นับแต่นั้นมาหนังสือศรีกรุงก็เริ่มโจมตีรัฐบาลและราชบัลลังก์ แต่ในมิช้าก็ได้ถูกปิดโรงพิมพ์ฐานยุยงส่งเสริมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องโดยไม่มีกำหนด ครั้นปิดได้ 7 วัน เมื่อเจ้าของโรงพิมพ์และพวกเราช่วยกันวิ่งเต้น จึงเปิดได้ดังเดิม พอใกล้จะเปิดสะพานพุทธยอดฟ้าฯ พวกเราก็ถูกสะกดรอยจากพวกตำรวจสันติบาลอย่างเข้มงวด…” [9]

ต้องอธิบายว่า ที่ท่านผู้เขียนทั้งสองเรียกว่า “ตำรวจสันติบาล” นั้น ที่จริงคือตำรวจภูบาลนั่นเอง เพราะเวลานั้นตำรวจสันติบาลยังไม่มี แต่ผู้เขียนเขียนหนังสือเรื่องนี้ในภายหลังที่มีตำรวจสันติบาลแล้ว จึงเรียกเช่นนั้น บางทีจะเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานแบบเดียวกันและต่อเนื่องกันมาก่อนจึงเรียกรวมไปเช่นนั้น
ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 7 มา สถานการณ์ทางการเมืองมีกระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่โดยตลอด

ขณะนั้นสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงตั้งตำรวจภูธรกลางขึ้นในปี พ.ศ. 2471 และต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน 2473 ก็ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศตั้งกรมตำรวจภูบาลขึ้นอีก [10] โดยให้ขึ้นต่อกรมตำรวจภูธรเช่นเดียวกับกรมตำรวจภูธรกลางที่เพิ่งตั้งขึ้นก่อนหน้านั้น ให้มีเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เจ้ากรมมีอำนาจออกหมายจับค้นหรือออกหมายเรียกพยานได้ทั้งในและนอกเขตกรุงเทพฯ และเจ้ากรมยังเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจภูธรอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ในการนี้โปรดให้โอน นายพลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล จากทหารบกเข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจภูบาล

สำนักงานตำรวจภูบาลได้รวบรวมนายตำรวจชั้นเยี่ยม มีประสิทธิภาพเข้มแข็งที่สุดไว้หลายนาย การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจภูบาลที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ก็คงเหมือนกับตำรวจภูบาลในอดีต (คือ พ.ศ. 2456-8) โดยแบ่งออกเป็น 6 กอง มีผู้ทำหน้าที่หัวหน้ากองรับผิดชอบงานต่างๆ กันดังนี้

1. กองวิทยาการ มีหน้าที่พิสูจน์หลักฐานต่างๆ มี นายพันตำรวจตรี หลวงพิสิษฐ์วิทยาการ เป็นหัวหน้า
2. กองแผนประทุษกรรม มีหน้าที่เก็บประวัติผู้ต้องสงสัย มี นายร้อยตำรวจเอก หลวงสนิทตุลยารักษ์ เป็นหัวหน้า
3. กองปราบปราม ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน มี นายพันตำรวจตรี หลวงอารักษ์ประชากร เป็นหัวหน้า
4. กองเอกสารการเมือง ทำหน้าที่สืบสวนความเคลื่อนไหวทางการเมือง และคอมมิวนิสต์ มี นายพันตำรวจตรี หลวงเสนีย์รณยุทธ เป็นหัวหน้า
5. กองเอกสารหนังสือพิมพ์ ทำหน้าที่ตรวจข่าวและเอกสาร มี นายร้อยตำรวจเอก หลวงสรพลเรืองเดช เป็นหัวหน้า
6. กองทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ มี นายร้อยตำรวจเอก หลวงสุนทรกิจจารักษ์ เป็นหัวหน้า [11]

การจัดตั้งกรมตำรวจภูบาลขึ้นใหม่ครั้งนี้ ได้เกิดมีข่าวลือขึ้นเป็นทำนองว่า กำลังตำรวจแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในเวลาต่อมาได้บันทึกถึงเรื่องนี้ว่า

“…ขณะนั้นได้ทรงตั้งกองตำรวจภูธรกลางขึ้นอีกส่วนหนึ่ง โดยเป็นหน่วยคู่กับตำรวจภูบาล ตำรวจภูบาลนั้น คือกองตำรวจสันติบาลเดี๋ยวนี้ ส่วนกองตำรวจภูธรกลางก็คือ กองตำรวจสอบสวนกลางเดี๋ยวนี้…ลือกันว่า ตำรวจภูบาลเป็นตำรวจในหลวง ตำรวจภูธรกลางเป็นตำรวจทูลกระหม่อม [กรมพระนครสวรรค์ฯ-ผู้เขียน]…” [12]

ในช่วงเวลาที่จัดตั้งตำรวจภูบาลขึ้นมานั้น ได้เกิดมีข่าวลือแพร่สะพัดกันอยู่แล้วว่า พระราชวงศ์จะอยู่ได้ไม่เกิน 150 ปี นับตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ซึ่งปีที่ 150 นั้นจะตรงกับ พ.ศ. 2475 ประกอบกับมีข่าวลืออีกว่ามีบุคคลคณะหนึ่งคิดจะยึดอำนาจการปกครอง เพราะฉะนั้นภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าของตำรวจภูบาลในเวลานั้นก็คือจะต้องสอบสวนหาความเคลื่อนไหวของบุคคลกลุ่มนี้ให้จงได้ [13]

กรมตำรวจภูบาลได้ส่งสายลับทำการสืบสวนกลุ่มผู้ก่อการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จนเมื่อสามารถสืบได้ว่ามีใครเป็นหัวหน้าอยู่ในคณะบ้าง อธิบดีกรมตำรวจภูธร (พระยาอธิกรณ์ประกาศ) กับเจ้ากรมตำรวจภูบาล (นายพลตำรวจตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล) ก็ได้นำความขึ้นกราบทูลกรมพระนครสวรรค์ฯ องค์เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แต่องค์เสนาบดีก็ไม่ทรงเชื่อว่าผู้ที่ถูกรายงานมานั้นจะกล้ากระทำได้ กับทั้งทรงสั่งให้ระงับการสืบสวนนั้นเสีย [14]

การณ์ปรากฏในเวลาต่อมาว่า ข่าวที่กรมตำรวจภูบาลสืบสวนได้มานั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น แม้จะไม่สามารถทราบถึงรายละเอียดทั้งหมดก็ตาม เมื่อไม่สามารถจะจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ ทางกรมตำรวจภูบาลจึงได้แต่รอเวลาที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มบุคคลที่เรียกตนว่า “คณะราษฎร” ก็ได้ลงมือเคลื่อนไหวยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

หลังปฏิวัติ : กองนักสืบพลเรือน

หลังจากที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว คณะราษฎรก็ยังไม่ได้เข้าไปจัดการกับเรื่องของกองตำรวจภูบาลทันที แต่ยังใช้เวลาอีกหลายเดือน สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างกรมตำรวจใหม่

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยึดอำนาจใหม่ๆ นั้น สมาชิกคณะราษฎรบางคนก็ได้เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานการข่าวเพื่อความปลอดภัยของคณะราษฎรแล้ว ดังจะเห็นได้จากในวันที่ 27 มิถุนายน กล่าวคือหลังการปฏิวัติเพียง 3 วัน นายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะผู้ก่อการฯ คนหนึ่งในสายพลเรือน ได้ไปแสดงปาฐกถาที่โรงเรียนกฎหมายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการปาฐกถานั้น นายสงวน ตุลารักษ์ ได้กล่าวว่า คณะราษฎรจะเปิดรับสมาชิกและจัดตั้งสาขาของคณะตามที่ต่างๆ โดยคณะราษฎรจะได้เลือกสรรแบ่งหน้าที่เป็น 3 พวก คือ

1. เป็นกองอาสาสมัคร ทำหน้าที่ช่วยเหลือทหาร
2. เป็นกองพลเรือน ช่วยเหลือกิจการฝ่ายธุรการของคณะราษฎร
3. เป็นกองนักสืบ คอยสอดส่องเหตุการณ์ต่างๆ ให้คณะราษฎรทำการไปด้วยดีและสะดวก [15]

หน่วยจัดตั้งอาสาสมัครของพลเรือนตามที่ นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เสนอนั้น ดูจะไม่มีผลจริงจัง มีเพียงกองนักสืบเท่านั้นที่ได้รับการจัดตั้ง โดยมีหลวงนฤเบศรมานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) สมาชิกคณะผู้ก่อการฯ สายพลเรือนอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ควบคุมที่สำคัญ

กองนักสืบพลเรือนทำงานมาจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในช่วงนี้ปรากฏว่า จำนวนข่าวจากกองนักสืบพลเรือนลดน้อยลงไปอย่างมาก ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองโดยทั่วไปนั้นก็อยู่ในสภาพปกติ และสุดท้ายกองนักสืบก็เลิกล้มไปเมื่อกรมตำรวจได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ตอนปลายเดือนพฤศจิกายน และได้มีการจัดตั้งตำรวจสันติบาลขึ้น

การก่อตั้งตำรวจสันติบาล

คณะกรรมการราษฎรได้เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวินิจฉัยการจัดวางโครงการกรมตำรวจขึ้น ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2475 โดยมี พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) เป็นผู้แถลงญัตติแทนประธานคณะกรรมการราษฎร จากการประชุมนี้ ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 17 พฤศจิกายน ก็ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ

ข้อที่ 1 ให้เปลี่ยนชื่อ “กรมตำรวจภูธร” เป็น “กรมตำรวจ” ให้เป็นกรมชั้นอธิบดี และมีรองอธิบดีเป็นผู้ช่วย

ข้อ 2 กรมตำรวจแบ่งกิจการออกเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 กองกำกับการ
ส่วนที่ 2 ตำรวจนครบาล
ส่วนที่ 3 ตำรวจภูธร
ส่วนที่ 4 ตำรวจสันติบาล มีหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือตำรวจนครบาลและภูธร

ข้อ 3 ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจัดแบ่งแผนกรายย่อยออกไป ตามสมควรแก่รูปการ และเมื่อได้รับฉันทานุมัติของคณะกรรมการราษฎรแล้วถือเป็นอันใช้ได้… [16]

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 17 พฤศจิกายน จึงถือเป็นวันกำเนิดกองตำรวจสันติบาลสืบมา กองตำรวจสันติบาลที่ตั้งขึ้นใหม่นี้แบ่งเป็น 4 กองกำกับการ โดยเปิดทำงานครั้งแรกโดยเช่าตึกของกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ที่ตำบลท่าเตียน จึงเป็นที่เรียกกันติดปากของคนสมัยนั้นว่า “สันติบาลท่าเตียน” ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลคนแรกคือ นายพันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) ซึ่งเมื่อท่านผู้นี้ได้เข้ารับตำแหน่ง ก็ได้จัดวางระเบียบงานภายในเพิ่มเติม

กองกำกับการ 1 สืบสวนปราบปราม มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งในและนอกพระนคร ทั่วราชอาณาจักร และทำหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร เมื่อกำลังปราบปรามไม่พอ กองนี้ก็ไปสมทบดำเนินการปราบปรามได้

กองกำกับการ 2 สืบราชการลับ มีหน้าที่สืบสวนราชการลับและความเคลื่อนไหวทางการเมือง

กองกำกับการ 3 เป็นกองวิทยาการตำรวจซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้พิเศษ เช่น การตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา หรือผู้สมัครเข้ารับราชการว่าเคยต้องโทษมาแล้วหรือไม่ บันทึกประวัติผู้กระทำผิด การตรวจของกลางต่างๆ ออกรูปพรรณของหาย และออกประกาศสืบจับผู้ร้ายซึ่งหลบหนีคดีอาญา

กองสุดท้ายที่สังกัดอยู่ในกองตำรวจสันติบาลระยะก่อตั้งคือ กองตำรวจสรรพสามิต ดูแลงานทางด้านสรรพสามิต (ต่อมาจึงได้แยกออกไปเป็นกรมสรรพสามิต)

จะเห็นได้ว่า ภารกิจของกองตำรวจสันติบาลนี้ กล่าวไปแล้วก็คือการกำหนดภารกิจใหม่บนพื้นฐานของภารกิจเดิมที่กรมตำรวจภูบาล กรมตำรวจภูธรกลาง และตำรวจกองพิเศษเคยปฏิบัติมาก่อนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง โดยนำมารวมกันและแบ่งย่อยใหม่ เช่น งานในกองกำกับการ 1 ก็คืองานของตำรวจภูธรกลางและตำรวจนครบาลกองพิเศษ กองกำกับการ 2 ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนราชการลับและติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เคยเป็นภารกิจของตำรวจภูบาลมาก่อน เป็นต้น

ในการจัดตั้งกองตำรวจสันติบาลขึ้นนี้ ทางคณะผู้ก่อการฯ ได้ไว้วางใจให้ นายพันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาลเป็นคนแรก พระนรากรฯ เดิมเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจ ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพ อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในระบอบเก่า ส่วนกำลังพลในชั้นแรกก็คัดเลือกมาจากตำรวจจากกองต่างๆ เช่น กำลังพลจากกรมตำรวจภูบาล กรมตำรวจภูธรกลาง และตำรวจนครบาลกองพิเศษ ยกเว้นระดับหัวหน้าที่มี “ราคีมัวหมอง” ก็ให้ออกจากราชการไป

ความสำคัญของตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาลนั้น พลตำรวจตรีอุทัย อัศววิไล อดีตผู้บังคับการตำรวจสันติบาลได้ชี้ให้เห็นว่า

“…เป็นตำแหน่งที่ให้คุณให้โทษได้…การเปลี่ยนตัวผู้บังคับการสันติบาลในการโยกย้าย…เป็นเรื่องที่กล่าวขวัญกันอย่างมาก เพราะทราบกันดีว่าตำแหน่ง ‘ผู้การสันติบาล’ เป็นตำแหน่ง ‘ผู้การ’ ที่มีความหมายมาก แม้การต่อสู้ทางแนวความคิดทางการเมืองจะไม่แหลมคมเท่าช่วงศตวรรษก่อนที่ส่งบทบาทให้ตำแหน่งสูงขึ้นเป็นพิเศษ…” [17]

นี้เป็นข้อคิดเห็นของอดีตผู้บังคับการสันติบาลในยุค พ.ศ. 2533 ที่ว่าเป็นตำแหน่งที่ให้คุณให้โทษได้นั้น ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชยังมีฐานะและบทบาททางการเมืองในระดับผู้นำสูงสุด ก็ให้พระนรากรบริรักษ์เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล

ครั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่คณะผู้ก่อการฯ ระดับนำ และเกิด “กบฏบวรเดช” ขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกันนั้น คืออีก 4 เดือนต่อมา (เวลานั้นนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรก และมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี) ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาลก็เปลี่ยนไปเป็นของ นายพันตำรวจโท พระพิจารณ์พลกิจ (ยู่เซ็ก ดุละลัมภะ ต่อมาเปลี่ยนเป็น พิจารณ์ ดุละลัมภะ) จากนั้นมาพระยาทรงฯ ซึ่งต้องถอยออกจากอำนาจไป และคณะก็ถูกตำรวจสันติบาลติดตามรายงานความเคลื่อนไหวตลอดมาจนกระทั่งไปอยู่อินโดจีน

ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้บังคับการก็คือตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2 เพราะโดยภารกิจแล้ว กองนี้เป็นกองสืบราชการลับทางการเมืองและมีบทบาททางการเมืองมากกว่ากองอื่นๆ ในกองตำรวจสันติบาล เป็นกองที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐบาลอย่างยิ่ง ในการสอดส่องดูแลพฤติการณ์และการเคลื่อนไหวของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ซึ่งแฝงอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ความสำคัญของกองกำกับการ 2 นี้ ร้อยตำรวจเอกเฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันท์ อดีตสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองตำรวจสันติบาล ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องมหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า ว่า

“…ข้าพเจ้าได้ผ่านงานมาทั้งภูธร นครบาล และสันติบาล ในที่สุดก็เข้าสู่กองราชการลับแห่งกอง 2 ซึ่งถือว่าเป็น ‘ยอด’ แห่งวงการตำรวจแล้ว ไม่มีกองใดที่จะมีความสำคัญยิ่งไปกว่านี้ ในทางการเมืองภายในประเทศ ความมั่นคงของรัฐบาลอยู่ที่กองนี้ เพราะเป็นสายตาสอดส่องให้ทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น…” [18]

หลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตำรวจสันติบาล โดยเฉพาะกอง 2 ก็คือ ประกาศว่าด้วยระเบียบการย้ายข้าราชการตำรวจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ที่ 3/2481 ลงวันที่ 9 กันยายน 2481 ซึ่งมีสาระตอนหนึ่งว่า

“…นอกจากผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และผู้กำกับการตำรวจสันติบาล กอง 2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งย้ายผู้บังคับการหรือตำแหน่งเทียบเท่าดังว่านี้ได้โดยอนุมัติ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ส่วนผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และผู้กำกับการตำรวจสันติบาล กอง 2 ให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสั่งย้ายได้โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมตำรวจและรองอธิบดีกรมตำรวจร่วมกัน เฉพาะการย้ายข้าราชการตำรวจในกองกำกับการตำรวจสันติบาล กอง 2 นอกจากผู้กำกับการไปประจำที่ใดๆ หรือย้ายจากที่ใดเข้ามาก็ดี ให้อธิบดีกรมตำรวจสั่งย้ายดังความเห็นชอบของผู้บังคับการตำรวจสันติบาลและรองอธิบดีร่วมกัน ส่วนผู้บังคับการตำรวจสันติบาลสั่งย้ายได้ทุกหน่วยงาน ยกเว้นแต่กองกำกับการ กอง 2…” [19]

ในปี 2481 ที่มีประกาศนี้ นายพลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจ นายพันตำรวจโท ขุนศรีศรากร เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และมี นายพันตำรวจตรีบรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นผู้กำกับการตำรวจสันติบาล กอง 2 ท่านทั้งสามนี้ได้มีบทบาททางการเมืองในฝ่ายคณะราษฎรต่อมา กระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2490 สองท่านแรกต้องพ้นจากหน้าที่ราชการ และท่านที่สามถูกสังหารที่บ้านพักในตอนต้นปี 2492

หลังการรัฐประหาร 2490 พันตำรวจเอก พระพินิจชนคดี อดีตนายตำรวจที่ถูกออกจากราชการไปเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ได้กลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง โดยมาเป็นนายตำรวจประจำกองกำกับการ กอง 2 สันติบาล ก่อนที่จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ในส่วนตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ทางคณะรัฐประหารได้ย้าย นายพันโทลม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 1 ผู้เข้าร่วมการรัฐประหารด้วยคนหนึ่ง ให้มาดำรงตำแหน่ง และย้าย ร้อยเอกทม จิตรวิมล นายทหารกรมยานพาหนะทหารบก มาดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจสันติบาล กอง 2 ซึ่งตำแหน่งนี้ ต่อมาในปี 2496 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ก็ได้ให้ พันตำรวจโทอรรณพ พุกประยูร อัศวินแหวนเพชรมาดำรงตำแหน่ง

ทั้งหมดนี้เป็นประวัติการก่อตั้งกองตำรวจสันติบาลในระยะแรกโดยย่อ ซึ่งนับจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา กองตำรวจสันติบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างและภารกิจหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งล้วนมีผลเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยทั้งสิ้น

หน่วยข่าวในราชสำนักรัชกาลที่ 7

จากที่ได้กล่าวถึงประวัติการก่อตั้งกองตำรวจสันติบาลมาโดยย่อนั้น มีรายละเอียดบางเรื่องที่ควรจะได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ในที่นี้ด้วยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับบทบาทของกองตำรวจสันติบาลในสมัยแรก
ดังได้กล่าวมาในตอนต้นว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไม่นาน ทางราชสำนักก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานข่าวขึ้นเช่นกัน อ.ก. รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต) เล่าว่า เมื่อทางรัฐบาลได้ตั้งกองตำรวจสันติบาลขึ้น และออกติดตามสอดส่องการเคลื่อนไหวของบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ นั้น “ผู้ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือพวก ‘กษัตริย์นิยม’ (รอยัลลิสต์)” [20]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าพระราชวงศ์บางพระองค์อาจแสดงความไม่พอใจและมีปฏิกิริยาต่อทางรัฐบาลจนเกิดเป็นเรื่องขึ้น…จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ฝ่ายราชสำนักจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษ ให้คอยสอดส่องความประพฤติของพระราชวงศ์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ ของบ้านเมืองโดยทั่วไปด้วย เพื่อทรงทราบว่าใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง…

หน่วยราชการพิเศษนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ซึ่งต้องรวบรวมข่าวสารการเมือง ที่นอกเหนือไปจากเรื่องที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลายอยู่แล้ว…หรือติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปสู่เบื้องหลังอย่างแท้จริงของเรื่องนั้น ซึ่งเรียกว่า “ข่าวกรอง” คือข่าวที่ได้กลั่นกรองแล้ว หลักสำคัญคือต้องไม่เสนอข่าวลือโดยไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเสียก่อน…ต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นใดๆ ของผู้รวมข่าว นอกจากจะเป็นความคิดเห็นของบุคคลในข่าวตามที่ได้สืบสวนมาเท่านั้น…

รายงานข่าวดังกล่าวนี้ จะต้องรวบรวมเสนอผู้สำเร็จราชการสำนักพระราชวัง (คือตำแหน่งใหม่ของเสนาบดีกระทรวงวังในระบอบประชาธิปไตย) ทุกคืน…เมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้สำเร็จราชการแล้ว ก็ต้องรีบจัดพิมพ์ให้เสร็จ และอ่านให้ผู้สำเร็จฯ ฟังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เซ็นชื่อกำกับ…แล้วจึงผนึกซองติดครั่ง ประทับตราพิเศษเป็นอักษรไขว้ พ.ร.ว. (ลายแหวนตราชื่อย่อ พโยม โรจนวิภาต) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเปิดซองนี้ด้วยพระองค์เองเท่านั้น เสร็จแล้วนำส่งเจ้าหน้าที่กรมวังก่อนย่ำรุ่ง เพราะพนักงานกรมวังจะต้อง “เดินหนังสือ” โดยรถไฟขบวนแรกที่ออกจากพระนครไปหัวหิน เพราะสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็เพิ่งสร้างเสร็จ รายงานพิเศษนี้จะถึงพระราชวังไกลกังวลราวบ่ายโมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงได้รับและทอดพระเนตรในทันทีที่รายงานไปถึงพระตำหนักที่ประทับ ณ วังไกลกังวล

หน่วยราชการพิเศษนี้ใช้บุคคลจำนวนจำกัดที่สุด ไม่มีงบประมาณนับล้านๆ จากเงินภาษีของราษฎร…หัวหน้าหน่วยนี้เป็นผู้ซึ่งสำเร็จราชการสำนักพระราชวัง และข้าราชการผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดบางท่านได้คัดเลือกว่าเหมาะสม เพราะเป็นผู้อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์, ในสังคมทหาร และพลเรือน…ชนิดที่เรียกได้ว่า “เข้าไหนก็ได้” ทั้งเป็นผู้เคยถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมากกว่า 7 ครั้งแล้วด้วย… [21]

หน่วยราชการพิเศษที่ทรงตั้งขึ้นนี้ นอกจากเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา), พโยม โรจนวิภาต ผู้เขียนบันทึกนี้ ซึ่งมีรหัสลับแทนตัวว่า “พ. 27” กับ “ผู้ช่วย” ที่ไม่ปรากฏชื่อแล้ว จะมีใครอีกหรือไม่ และจบบทบาทลงเมื่อใดไม่ปรากฏชัดเจน พโยม โรจนวิภาต เล่าแต่เพียงว่า หลังจากเกิดกรณีกบฏบวรเดชแล้ว 4 เดือน “สำนักพระราชวังก็มีคำสั่งปลด รองเสวกตรี พโยม โรจนวิภาต ออกจากราชการ ฐานหย่อนสมรรถภาพ” [22]

จากนั้นเขาก็เดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลบภัยการเมือง เนื่องจากถูกมองว่ามีส่วนพัวพันในกรณี “กบฏบวรเดช”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ

[1] ดูรายละเอียดใน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เทศาภิบาล. (คลังวิทยา, 2495), น. 60-64.

[2] อัจฉราพร กมุทพิศมัย. กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่. (กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์, 2540), น. 198.

[3] หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ. เรื่องของเจ้าพระยามหิธร. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์). 2499, น. 82-84.

[4] ดูงานเขียนของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์. “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองและการชิงอำนาจระหว่างผู้ก่อการ,” ใน เบื้องแรกประชาธิปตัย. (พระนคร : สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, 2516). น.

[5] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เทศาภิบาล. น. 63. วันที่ในที่นี้ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พ.ศ. 2456)

[6] ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 32 ตอนที่ 123 พ.ศ. 2458, น. 315-316. และดู พ.ต.ท. จำเริญฤทธิ์ โพธิเจริญ. “ประวัติกรมตำรวจ,” ใน ตำรวจสัมพันธ์. 79 (พฤศจิกายน 2527), น. 7-10.

[7] บุญยก ตามไท. “ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2528), น. 36-43.

[8] เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, น. 285-286.

[9] ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์. หมอเหล็งรำลึก. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์). (พระนคร : กิมง่วนหลี, 2503), น. 254.

[10] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 47 ตอนที่ 120 พ.ศ. 2473, น. 81.

[11] นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ. (พระนคร : โอเดียนสโตร์, ม.ป.ป.), น. 160.

[12] พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์. “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง…”, น. 134.

[13] นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปก…. น. 158. และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์. “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง…”, น. 134.

[14] นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปก…. น. 219-220.

[15] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ. (กรุงเทพมหานคร : สถาบันเอเชียศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543), น. 213.

[16] ราชกิจจานุเบกษา 2475, น. 493.

[17] ดู หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. 17 ตุลาคม 2533. น. 8.

[18] เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันท์. มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า. (พระนคร : รวมสาส์น, 2500), น. 53-54.

[19] ดู กรมตำรวจ. แจ้งความ-ข้อบังคับ-คำสั่ง พ.ศ. 2481.

[20] อ.ก. รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต). พ. 27 สายลับพระปกเกล้าฯ. (กรุงเทพมหานคร : วสีครีเอชั่น, 2547), น. 150.

[21] เรื่องดียวกัน, น. 150-151. ข้อความที่ละไว้นั้นเป็นไปตามต้นฉบับ

[22] เรื่องเดียวกัน, น. 350.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2564