ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือที่คนไทยเรียกกันจนชินว่า “ตำรวจ” ที่มาของคำนี้เคยมีผู้วิเคราะห์กันเอาไว้แล้ว ในช่วงที่ผู้คนในสังคมพูดถึง “การรักษาระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ตามกฎหมาย” ตำรวจย่อมตกเป็นหนึ่งในเป้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อพูดถึงตำรวจในไทยแล้ว หากย้อนกลับไปในสมัยรัตนโกสินทร์ ว่ากันว่า ตำรวจคนแรกนั้นคือ กัปตัน เอส. เบิด เอมส์ (หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา) ผู้ที่ทำให้วงการตำรวจไทยดำเนินมาถึงวันนี้
การตำรวจ (Police or Gendarme) ในภาษาฝรั่งเศส วรพจน์ วีรพลิน ผู้เขียนบทความ “ตำรวจคนแรกของประเทศไทย” อธิบายไว้ว่า ในต่างประเทศมีมาตั้งแต่โบราณสมัยโรมัน โดยขึ้นอยู่กับปกครอง หลังจาก ค.ศ. 1000 จึงกำเนิดตำรวจในประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ และพัฒนามาต่อเนื่อง ในสหรัฐอเมริกามีตำรวจเมื่อ ค.ศ. 1844 ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ
สำหรับประเทศไทย กิจการตำรวจไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าก่อตั้งเมื่อใด แต่มีผู้สันนิษฐานว่า มีตั้งแต่ปลายสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่มีผู้โต้แย้งไว้ว่า สุโขทัยตอนต้น ลูกขุน ณ ศาลา และลูกขุน ณ ศาลหลวงทำงานกว้างๆ ไม่เด่นชัดเหมือนงานตำรวจ และนำเสนอข้อสันนิษฐานเจาะจงเพิ่มเติมว่า อาจเป็นช่วงสุโขทัยตอนปลาย ราว พ.ศ. 1890 เป็นต้นไป เพราะมีกฎหมายลักษณะโจร
ตำรวจ ในไทย
ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปกครองบ้านเมืองแบบจตุสดมภ์ คือเวียง วัง คลัง นา กิจการตำรวจจึงแบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรโดยขึ้นอยู่กับเวียง แต่ตำรวจหลวงอยู่กับวัง ต่อมา ในพ.ศ. 1918 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาตำรวจระบุเป็นตำแหน่งนายพลเรือนเหมือนข้าราชการฝ่ายอื่น ผู้เป็นตำรวจก็ต้องได้รับคัดเลือกจากผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลที่ประกอบความดีมาก่อนจึงได้รับไว้วางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติหน้าที่ในวงจำกัด
สมัยรัตนโกสินทร์ วรพจน์ อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมี “ข้าหลวงกองจับ” หน้าที่คล้ายกับ “ตำรวจ” เรียกอีกอย่างได้ว่า “ตำรวจหวาย” แต่งกายพลเรือนถือมัดหวาย คอยช่วยเหลือตุลาการเหมือนตำรวจในลอนดอนที่เรียกว่า “โบสตรีทรันเนอร์ส” (Bow Street Runners) ซึ่งใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน หมวกสูง (Top Hat)
อย่างไรก็ตาม ข้าหลวงกองจับก็ไม่สามารถระงับเหตุจากโจรผู้ร้ายอันก่อความเดือดร้อนได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจ้าง กัปตัน เอส. เจ. เบิด เอมส์ (Capt. Samuel Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษมาวางโครงการจัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนครตามแบบยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2403 ช่วงเวลานั้นประเทศมหาอำนาจในยุโรปกำลังหาเมืองขึ้นในเอเชีย ปมหนึ่งที่ถูกเล็งคือเรื่องการป้องกันประเทศ ดังนั้น กิจการตำรวจจึงถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ
รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกองโปลิศคอนสเตเบิลหรือกองตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร มีกัปตันเอมส์เป็นผู้บังคับกองนั่นเอง เมื่อกัปตันเอมส์รายนี้เป็นผู้บังคับการกองโปลิศคอนสเตเบิลคนแรก ตามความเห็นของวรพจน์ กัปตันเอมส์จึงเป็นตำรวจคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีหลักฐานและมีตัวตน
กัปตันเอมส์
วรพจน์ สืบค้นประวัตของกัปตันเอมส์ ได้ว่า เกิดเมื่อ ค.ศ. 1832 (พ.ศ. 2375) ที่เมืองเคนท์ (Kent) ประเทศอังกฤษ อาชีพเดิมคือกัปตันเรือใบขนาดใหญ่ 4 เสากระโดง บังคับการเรือไปค้าขายย่านมหาสมุทรแอตแลนติก ภายหลังเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือมาในเอเชีย ทางมหาสมุทรอินเดียเลาะมาลังกา สิงคโปร์ พม่า และสยาม
กัปตันเอมส์ นำเรือมาค้าขายในสยามบ่อยจนชอบประเทศสยาม ภายหลังเลิกอาชีพเดินเรือเพื่อมาหากินบนแผ่นดิน ใน ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2396) เขาพาภรรยา K.S.B. Ames พร้อมบุตรชาย 2 คน เข้ามาอาศัยในสยาม ระยะแรกยังทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างที่ผ่านมือเขาตัวอย่างหนึ่งคือ สะพานข้ามคลองใกล้กรมศุลกากร
ใน พ.ศ. 2403 กัปตันเอมส์ รับสนองพระบรมราชโองการตั้งกองตำรวจเรียกว่า กองโปลิศคอนสเตเบิลแทนข้าหลวงกองจับ และกองตระเวนซ้ายขวา กองตำรวจที่ตั้งขึ้นนี้ยังเป็นกองเล็กๆ โดยจ้างแขกมลายูและแขกอินเดียซึ่งเคยเป็นลูกน้องเก่าของกัปตันเอมส์ และพวกที่เคยเป็นทหาร ตำรวจ ที่สิงคโปร์มาเป็นพลตำรวจ
เมื่อแรกตั้ง กองอยู่ใกล้โรงกะทะด้านหน้าเป็นป้อมปืนใหญ่และบ้านอำเภอ (ภายหลังเป็นที่ตั้งอำเภอสัมพันธวงศ์) วรพจน์ บรรยายว่า กองตำรวจนี้เริ่มปฏิบัติหน้าที่แถบสำเพ็ง ช่วงแรกเริ่มเป็นเรื่องแปลกใหม่จนชาวบ้านล้อเลียน บางครั้งก็โดนแกล้งต่างๆ นานา แต่กองตำรวจอดทนปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด แม้มีอุปสรรคเรื่องภาษาสื่อสาร แต่กองได้ปราบมิจฉาชีพให้ลดน้อยลงมาก หนังสือพิมพ์รายเดือนฉบับแรกของกรุงเทพฯ จัดทำโดยบาทหลวงซามูแอล เจ. สมิธ ลงข้อความชมเชย
ในช่วงที่กัปตันเอมส์ ดำรงตำแหน่ง วรพจน์ เล่าว่า การทำหน้าที่ประสบปัญหายุ่งยากหลายข้อ เช่น กฎหมายบ้านเมือง สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของต่างชาติที่ไม่ยอมอยู่ใต้กฎหมายไทย
ต่อมา กองตำรวจสเตเบิลก้าวหน้าขึ้นจึงย้ายที่ตั้งไปอยู่ตรงสามแยกต้นประดู่เรียกว่าโรงพักโปลิศสามแยก จนใน พ.ศ. 2412 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกิจการตำรวจเรียกว่า “กองโปลิศ” กองโปลิศนี้มีบทบาทปราบปรามเหตุจลาจลสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น ปราบอั้งยี่ปล่องเหลี่ยมซึ่งเป็นแรงงานชาวจีนของบริษัทมากัว มีโรงสีไฟขนาดใหญ่แถวถนนตกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยปรากฏเรื่องขัดแย้งทางการค้ากับโรงสีคู่แข่ง เกิดทะเลาะวิวาทยกพวกตีกันใหญ่โต กองโปลิศเข้าระงับเหตุจลาจลได้
พ.ศ. 2413-14 กัปตันเอมส์ คาดไว้ว่า เหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และระนองจะต้องเกิดเหตุติดขัดเนื่องจากแรงงานชาวจีนหลายพันราย คนจีนกลุ่มนี้ก่อเหตุขึ้นในวันตรุษจีนลุกลามเป็นจลาจลใหญ่ต้องขอกองทัพเรือไปปราบ กัปตันเอมส์ให้ตำรวจกองหนึ่งราว 100 คนไปประจำการรักษาความสงบไว้ล่วงหน้า ชาวเมืองต่างเห็นเป็นของใหม่เรียกกันว่า “ทหารโปลิศ” ซึ่งภายหลังกำเนิดเป็นตำรวจภูธรในภาคใต้เป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2418 จัดตั้งตำรวจภูธรเป็นทางการเรียกว่า ทหารโปลิศ รักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคและปฏิบัติการทหารได้ด้วย โดยช่วงแรกยังใช้ตำรวจจ้าง เมื่อทหารประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ตำรวจภูธรจึงขออนุมัติใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์คนเป็นตำรวจเช่นกัน และตรากฎหมายสำหรับโปลิศ 53 ข้อ
กัปตันเอมส์ ยังเสนอแนะปรับปรุงงานด้านอื่น นอกเหนือจากด้านตำรวจ โดยเสนอให้สร้างกระโจมไฟที่ปากน้ำเพื่อสะดวกต่อการนำเรือผ่านสันดอนเวลากลางคืน รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นด้วย และสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 วรพจน์ บรรยายว่า ถือเป็นการกำเนิดกระโจมไฟ (ประภาคาร) ใช้ในไทยเป็นครั้งแรก
สมัยนั้นประชาชนสัญจรตามน้ำ แต่กองโปลิศยังไม่มีเรือเป็นพาหนะในการตามจับผู้ร้าย ขนาดกองก็ยังเล็ก ขาดงบประมาณหนุน ชาวไทยสมัยนั้นไม่สนใจสมัครรับราชการเป็นตำรวจ เพราะเข้าใจว่าตำรวจเป็นพวกเดียวกับยาม เวลาผ่านไปอีกหลายปีต่อมาจึงเข้าใจงานกองโปลิศ มีผู้สมัครมากขึ้น มีทั้งไทย แขก และฝรั่ง สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแบบจึงแต่งกายตามเชื้อชาติ
เมื่อกิจการตำรวจเจริญขึ้น คนไทยสมัครเข้ารับราชการมากขึ้น แขกและฝรั่งลดน้อยลง กัปตันเอมส์จึงเริ่มคิดหาเครื่องแบบมาใช้ โดยขอพระราชทานเครื่องแบบตำรวจเป็นมาตรฐาน เวลานั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเคยเป็นอัครราชทูตในลอนดอน กลับมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล ทรงรับผิดชอบกิจการตำรวจ ทรงพอพระทัยแบบอย่างตำรวจกรุงลอนดอน จึงเห็นควรให้ยกย่องฐานะตำรวจไทยเหมือนข้าราชการของกรมพระนครบาลสังกัดอื่น ให้แต่งเครื่องแบบตามแบบตำรวจกรุงลอนดอน พลตำรวจนุ่งกางเกงตามสมัยนิยม สวมเสื้อสีน้ำเงิน สวมหมวกยอด (Helmet) นายตำรวจนุ่งผ้านุ่งเข้ากับเสื้อแบบใหม่ อนุโลมให้แขกสวมหมวกทับบนผ้าโพกไว้โดยใช้ผ้าโพกสีน้ำเงิน
พ.ศ. 2420 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกองโปลิศเป็นกองตระเวน ต่อมาใน พ.ศ. 2433 โปรดเกล้าฯ ให้รวมกองตระเวนทั้งหลายเข้าเป็นกรม เรียกว่า “กรมกองตระเวน”
พ.ศ. 2444 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตั้งกองตำรวจภูธรในหัวเมืองมณฑลต่างๆ
ส่วนกัปตันเอมส์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจจนถึง พ.ศ. 2414 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัฐยาธิบาลบัญชา ถือศักดินา 600 เป็นยศในสยาม
กัปตันเอมส์รับราชการถึง พ.ศ. 2435 จึงปลดเกษียณ พันตรีริชาร์ดสัน ทำการแทน ก่อนที่พระยาอรรคราชวราธรรับตำแหน่งผู้บังคับการต่อมา กัปตันเอมส์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2444 อายุ 69 ปี
สำหรับประวัติส่วนตัวมีปรากฏเล็กน้อย พ.ศ. 2405 นาง K.S.B Ames ภรรยาอายุ 29 ปี ถึงแก่กรรม ต่อมาใน พ.ศ. 2408 ท่านสมรสกับหญิงไทยชื่อ หยา มีบุตรธิดา 6 คน 2 คนเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ส่วนที่เหลือคือ หลวงอนุสรณ์หิรัญการ (อั๋น เอมซบุตร), ขุนสารสำรวจลักษณ์ (สุดใจ เอมซบุตร), นางเขียน กล้าณรงค์ราญ (ภรรยา พล ต.นายเกล้าณรงค์ราญ (ปาน เกสรานนท) และ นางวาส จารุวัสตร์ (ภรรยา พ.อ.หลวงชัยรณฤทธิ์ (ชิด จารุวัสตร์)
อ่านเพิ่มเติม :
- เจนเสน (Jensen) ตำรวจในไทยชาวเดนมาร์ก ฤๅเป็นวีรบุรุษฝรั่ง สละชีวิตปกป้องสยาม?
- “ตำรวจ” มาจากไหน? ทำไมเรียก “ตำรวจ”? ฟังจาก “จิตร ภูมิศักดิ์”
- พระยาคทาธรบดี จากตำรวจขี่ม้าผู้งามสง่า สู่มหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 ถวายงานจวบจนวันสวรรคต
บรรณานุกรม :
กรมตำรวจ บทความเรื่องประวัติวันตำรวจ. ออกอากาศบรรยายทางสถานีวิทยุกระจายเสียง กรุงเทพฯ. กรมตำรวจ, 2527 (วันที่ 31 ตุลาคม).
ธีรบุล จัตตารีส์, พล ต.ต. ประวัติกัปตันเบิดเอมส์ มปท., มปป.
ธีรบุล จัตตารีส์ และคนอื่นๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์แต่ พ.ต.ท. ซี.เอช. ฟอร์ตี้ พระนคร. สว่างศิลป์, 2510.
ประเสริฐ เมณมณี. ตำรวจและกระบวนการยุติธรรม. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2525.
สนิทตุลายารักษ์, พล ต.ต. หลวง. “เรื่องราวของตำรวจไทย”. ตำรวจ ฉบับวันฉัตรมงคล เล่ม 2 ตอนที่ 3 (ก.พ., 2475) (แปลจาก A Sketch of Siam’s Gendamerie ของ C.H. Forty Police Journal vol.4 No.3 July 2474)
โสภา ชูพิกุลชัย และคนอื่นๆ. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม. คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2525.
Fosdick. Raymond. European Police System. Mont clair, 1969.
หมายเหตุ : คัดย่อเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ตำรวจคนแรกของประเทศไทย” เขียนโดย วรพจน์ วีรพลิน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2531
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563