เจนเสน (Jensen) ตำรวจไทยชาวเดนมาร์ก ฤๅเป็นวีรบุรุษฝรั่ง สละชีวิตปกป้องสยาม?

ร้อยเอก มาร์ค วอร์ด เจนเสน ชาวเดนมาร์ก ปราบเงี้ยว
นายร้อยเอก มาร์ค วอร์ด เจนเสน (Jensen) ตำรวจไทยชาวเดนมาร์ก (ภาพต้นฉบับจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2550)

ร.อ. มาร์ควอร์ด เจนเสน คือ “ตำรวจไทย” ชาวเดนมาร์ก ที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องแผ่นดินสยาม ที่บ้านแม่ข่า จังหวัดพะเยา เมื่อคราวปราบเงี้ยวสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ 121 ปีก่อน

ข้อมูลเกี่ยวกับตำรวจฝรั่งในไทยท่านนี้ปรากฏในบทความชื่อ “เจนเสน : ฝรั่งวีรบุรุษสยาม” โดย อภิรัตน์ รัตนชัย เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2550 อภิรัตน์ รัตนชัย ผู้เขียนบทความนี้อธิบายบทบาทของท่านว่า ชีวิตการรบภายใต้การนำตลอด 4 เดือนของท่าน ตั้งแต่เริ่มที่เมืองลำปางจนจบลงที่พะเยา ทำให้ฝ่ายไทยได้รับชัยชนะทุกครั้ง สูญเสียกำลังเพียงนายเดียว และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่นายเดียวที่สูญเสียคือตัวท่านเอง

Advertisement

วีรกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น อภิรัตน์ รัตนชัย มองว่า หากไม่มีวีรบุรุษท่านนี้แล้ว แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเมืองเหนืออื่นๆ อาจไม่รวมอยู่ในแผนที่ไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ หากต้องเสียเมืองแก่เงี้ยว

สำหรับภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องกบฏเงี้ยว สามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “การปฏิรูปมณฑลพายัพของสยาม บีบบังคับให้เงี้ยวก่อกบฏ เมื่อ พ.ศ. 2445 ???” (คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่)

เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความของอภิรัตน์ รัตนชัย ซึ่งเล่าถึงเจนเสน มีใจความดังนี้


ร้อยเอก เจนเสน กับเรื่องราวที่ต่างออกไปจากรายงานทางการ

ร้อยเอก มาร์ควอร์ด เจนเสน (Hans Marquard Jensen) เกิดที่เดนมาร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) ได้ติดตามนายพันโทพระวาสุเทพ (G. Schau) (เจ้ากรมตำรวจภูธรคนแรกของไทยอดีตนายทหารเดนมาร์ก) เข้ารับราชการในประเทศสยามตั้งแต่ตั้งกรมฯ เมื่อ พ.ศ. 2443 ยศร้อยโท ตำแหน่งครูฝึกตำรวจภูธรและผู้ตรวจการมณฑลพายัพ ประจำเชียงใหม่

ช่วงจลาจลเงี้ยว เดือนกรกฎาคม 2445 ได้รับคำสั่งจากพระยานริศราราชกิจ ข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ ให้คุมตำรวจภูธรเชียงใหม่ จำนวน 50 นาย เดินทางไปช่วยป้องกันเมืองนครลำปางและเจ้าหลวงลำปาง ท่านเดินทางออกจากเชียงใหม่เมื่อ 25 กรกฎาคม ถึงลำปางเมื่อ 29 กรกฎาคม 2445

ท่านได้เตรียมการในลำปาง 6 วัน ตลอดช่วงเวลานี้เงี้ยวปล่อยข่าวว่าจะบุกลำปางตลอดเวลาเพื่อทำลายขวัญชาวเมือง ด้วยคนทางเหนือกลัวเงี้ยวเป็นทุนเดิมมาแต่โบราณโดยเชื่อว่า ข่าม (หนังเหนียว มีฤทธิ์ มีคุณไสย) ในเมืองลำปางเองก็วุ่นวายหนักเพราะทหาร ตำรวจพากันทิ้งหน้าที่หนีหายเพราะไม่มีกระสุนปืนจะไปสู้เงี้ยว (เนื่องจากทิ้งไว้ครั้งไปปราบเงี้ยวที่บ่อแก้ว) เกิดการฉกชิงสิ่งของตามร้านรวงและบ้านผู้คน ไร้ขื่อแป ระเบียบวินัย สมใจเงี้ยวยิ่งนัก เมื่อเงี้ยวมาถึงจริงๆ จึงเหลือเพียงกำลังตำรวจภูธรจากเชียงใหม่ของ ร้อยเอกเจนเสนอยู่ป้องกันเมือง เงี้ยวประมาทวิ่งกรูกันมาตามถนนเพื่อแสดงศักดาตน จึงถูกกำลังของฝ่ายป้องกันซึ่งเตรียมพร้อมในที่กำบังเลือกยิงเอาโดยง่ายจนต้องล่าถอยไปในที่สุด

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ชื่อ ภาคเหนือนิวส์ ฉบับพิเศษวันตำรวจไทย 13 ตุลาคม 2516 โดย นายศักดิ์ รัตนชัย บรรณาธิการบริหารได้ทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับวีรกรรมของ “ร้อยเอกเยนเสน” ไว้เกือบทั้งเล่ม

เจ้าในราชนิกุลลำปางที่ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ภาคเหนือนิวส์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2550)

บทสัมภาษณ์เจ้าในราชนิกุลลำปางหลายท่านที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งเงี้ยวบุกปล้นเมือง ได้ให้รายละเอียดและเรื่องราวที่ต่างออกไปจากรายงานทางการอย่างน่าสนใจ แน่นอนว่าเป็นเรื่องราวที่มีสีสันมากกว่าแต่ก็หาใช่เหลวไหลไร้สาระเสียทีเดียว อาจเป็นข้อเท็จจริงมากกว่า (หรือน้อยกว่า?) ก็เป็นได้

แม่เฒ่าแว่น พยัครบุตร ในอายุ 98 ได้ให้ข้อมูลกับภาคเหนือนิวส์เกี่ยวกับเงี้ยวเมื่อ พ.ศ. 2515 ไว้ว่า แม่เฒ่าเป็นลูกตำรวจในคุ้มเจ้าพ่อราชวงศ์ (เจ้าราชภาติกวงษ์ แก้วผาบเมรุ ผู้บัญชาการตำรวจเค้าสนามลำปางครั้งนั้น) สามีคือพ่อเฒ่าเสือ พยัครบุตร ก็เป็นตำรวจในคุ้ม แม่เฒ่าเล่าว่าสมัยนั้นเชื่อว่าเงี้ยวหนังเหนียว มีคาถา คนจึงกลัว เจ้าหลวงแพร่กินน้ำสาบานกับเงี้ยวจนเงี้ยวกำเริบ แต่เจ้าหลวงลำปางถือน้ำกระจ่าวาที (น้ำพิพัฒน์สัตยา) โดยซื่อสัตย์ต่อพระเจ้ากรุงสยามจึงแคล้วคลาด

เจ้าแม่พี้ลี้ (เกิด พ.ศ. 2429) เป็นบุตรีเจ้าพ่อน้อยกาในสายสกุลเจ้าวังซ้ายและเจ้าแม่หมูคำ ในสายสกุลเจ้าหลวงญาณรังสี เป็นภรรยาคนที่ 1 ของเจ้าน้อยฟ้าขะลึ้ง (บุตรของเจ้าราชบุตรชวลิตวรวุธ อุปราชเมืองลำปางสมัยนั้น) ให้ข้อมูลเมื่ออายุ 87 ว่าขณะที่เงี้ยวบุกเมืองท่านมีอายุ 16 กล่าวว่าเงี้ยวซุ่มอยู่ที่บ่อแก้ว เมืองลองซึ่งมีแร่แก้วอยู่มาก จะเข้าลำปางเพื่อปล้นเอาทรัพยากร ท่านมีทัศนะว่า “เงี้ยวมันคงอยากได้แก้วนั่นแหละ”

ครั้งกระนั้นเจ้าชวลิตราชบุตรได้ละหนีหน้าที่ผู้บัญชาการทหาร หนีไปลี้ภัยที่ทุ่งหกซึ่งเจ้าแม่พี้ลี้ก็ติดตามไปด้วย เมื่อร้อยเอกเจนเสนมีชัยต่อเงี้ยวและเจ้าหลวงบุญวาทย์นำกำลังจากหางสัตว์กลับเข้าเมืองมาแล้วเจ้าแม่ฯ จึงได้กลับมาลำปางพร้อมกับเจ้าราชบุตร ขากลับม้าเจ้าราชบุตรหายหนีได้นายแขวงแจ้ห่ม (ขุนหลวงประเทศ) จับมาส่งคืนให้

เจ้าแม่สุ ณ ลำปาง (เกิด พ.ศ. 2431) ภรรยาคนที่ 2 ของเจ้าน้อยฟ้าขะลึ้ง ได้ทบทวนความทรงจำที่ห่างไกลได้อย่างแม่นยำ ตั้งแต่การแต่งงานเมื่ออายุ 20 ตอนนั้นเจ้าขะลึ้งมียศร้อยตรีทหาร ขี่ช้างเป็นพาหนะประจำตัว “ไปแอ่วสาวคึขนาด” ท่านเล่าว่าพวกเงี้ยวก่อนเข้าเมืองได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้าตั้งนานแล้ว เพราะพวกเงี้ยวถือว่าตนเองแน่กว่า เจ้าแม่จำได้ว่าเงี้ยวตอนบุกจะตะโกนว่า “วัตแล่ๆ”

เจ้าแม่สวน สูงศักดิ์ (เกิดปีมะโรง 2435) ให้สัมภาษณ์ภาคเหนือนิวส์ที่บ้านเลขที่ 60 ถ. ประเทศอุทิศ อ. พะเยา จ. เชียงราย เมื่ออายุได้ 81 เป็นบุตรีเจ้าพ่อยศ ซึ่งในสมัยนั้นพวกเงี้ยวแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยา จนตำรวจของ “ร้อยเอกเจนเสน” และกองทัพจากลำปางไปปราบเงี้ยวปลดปล่อยพะเยาได้สำเร็จ เจ้าแม่ให้ข้อมูลการตายของร้อยเอกเจนเสนที่ต่างไปจากรายงานของทางการโดยสิ้นเชิง

เจ้าแม่สวนเล่าว่า ขณะนั้นอายุ 10 ขวบ จำเรื่องกัปตันเจนเสนใกล้ถึงพะเยาแต่ถูกยิงตายได้ดี ท่านเล่าว่าชาวพะเยาครั้งนั้นกลัวเจ้าชวลิตวรวุธที่มาจากลำปางมาก เพราะท่านเคยจับเอาคนในวัดชื่อแสนผิ่วมาฆ่าตายโดยไม่ไต่สวนความผิด สำหรับกัปตันเจนเสน เจ้าแม่ว่าท่านขี่ม้าขาว แต่บังเอิญตรงนั้นมีเงี้ยวถูกยิงขาหักหลบซุ่มอยู่ในกอไม้ พอกัปตันคล้อยหลังมันจึงยิง ตอนกัปตันล้มลงยังเอาปืนที่พาดหลังม้าส่องยิงเงี้ยวคนนั้นตายไปด้วย ซึ่งขัดแย้งกับรายงานทางการที่ว่าถูกยิงเข้าที่หน้าอกสามนัด

ภาคเหนือนิวส์ยังทำสกู๊ปที่มีเนื้อหาน่าติดตามอีกว่า จุดพลิกเปลี่ยนให้ลำปางชนะเงี้ยวคือตัวกัปตันเจนเสนโดยแท้ที่กล้าลอบอ้อมไปยิงเงี้ยวได้อย่างแม่นยำ จนปลิดชีวิตผกาหม่องหัวหน้าเงี้ยวได้ เจ้าแม่เสาร์แก้ว ธรรมวงศ์ เล่าว่าสมุนเงี้ยวเมื่อหัวหน้าตายก็เคยหนีมาหลบในตุ่มที่บ้านเดิมย่านหมื่นกาดของตน ชาวเมืองพากันแซ่ซ้องให้นายร้อยเอกเจนเสนเป็นวีรบุรุษของตนถึงกับยกลูกสาวให้ จึงได้ทราบจากคำบอกเล่าว่า ๔ เดือนที่ร้อยเอกเจนเสนอยู่ลำปางมีภรรยาอยู่คนหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด มีบุตรหรือไม่

จากคำบอกเล่าผู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้น ต่อมาภาคเหนือนิวส์เมื่อปี 2515-2516 สามารถไขถึงรายละเอียดที่ไม่เคยมีในรายงานฉบับใดมาก่อน เช่น โทรศัพท์ลึกลับแจ้งพระยาสุจริตรักษาข้าหลวงเมืองตากผ่านเฮดแมนคนหนึ่งถึงเรื่องเงี้ยวบุกลำปางให้ท่านโทรเลขแจ้งกรุงเทพฯ ได้ทันท่วงทีนั้น ที่จริงเป็นเพราะคนเคาะโทรเลขลำปางหนีเงี้ยวไปแล้วจึงไม่สามารถแจ้งกรุงเทพฯ ได้

ดีที่ มร. หลุยส์ เลียวโนเวนซ์ พยายามโทรศัพท์ทางไกลไปทุกที่เพื่อขอความช่วยเหลือและเฮดแมนคนหนึ่งได้รับแล้วรายงานให้ข้าหลวงเมืองตากทราบ เราได้ข้อเท็จจริงก่อนเงี้ยวบุกลำปางว่า พ.ต.ต. เจ้าราชภาติกวงษ์ (แก้วผาบเมรุ) ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครลำปาง ได้ส่งพลตำรวจไปฝึกที่เชียงใหม่ตั้งแต่ครั้งที่เริ่มก่อตั้งกิจการตำรวจภูธรเมื่อปี 2440 เรื่อยมา เมื่อเกิดเหตุการณ์เงี้ยวบุกลำปาง ได้ขอกำลังจากเชียงใหม่

มีรายงานว่าส่งตำรวจภูธรมาช่วย 50 นาย แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงการส่งพลฝึกตำรวจภูธร 50 นาย ที่ทางลำปางส่งไปและอยู่ในระหว่างการฝึกที่เชียงใหม่คืนกลับมาเท่านั้น กำลังป้องกันเมืองจึงเป็นเพียงพลฝึกตำรวจและพลเรือนทั้งสิ้น กองกำลังตำรวจคุ้มหลวงของเจ้าภาติกวงษ์ (เจ้าราชวงศ์ต่อมา) คอยท่าเงี้ยวที่บุกด้านใต้ ส่วนกำลังทหารรักษาคุ้มหลวงและผู้บัญชาการคือนายกองเจ้าราชบุตรชวลิตวรวุธ เสนามหาดไทยนครลำปางกลับพากันหนีหายเพราะเกรงเงี้ยวจนเจ้าหลวงต้องมาถือปืนรบเงี้ยวเอง เมืองลำปางครั้งนั้นมีท่อนซุงในแม่น้ำวังมาก

เจ้าหลวงลำปางได้ขอใช้ไม้ซุงจากบริษัทบอร์เนียวฯ โดยนายหลุยส์ ลีโอโนเวนส์ ได้อาสานำชาวบ้านเอาไม้ซุงท่อนมาสร้างเครื่องกีดขวางด้วยตัวเอง ทั้งกระสุนนัดแรกที่ยิงเงี้ยวก็เป็นของท่านผู้นี้ด้วยเช่นกัน ไม้ซุงได้โอบล้อมเมืองลำปางจนเงี้ยวไม่สามารถเข้าโดยง่าย เหลือทางเข้าสะดวกเพียงด้านเดียวซึ่งได้วางแผนรับเงี้ยวไว้แล้ว

“เจนเสน” ในเหตุการณ์สุดท้าย

เมื่อเงี้ยวรวบรวมกำลังจากเชียงคำได้อีกครั้งก็เข้าปล้นพะเยาแล้วยกมาโจมตีลำปางอีกในวันที่ 4 ตุลาคม 2445 แต่ฝ่ายลำปางทราบข่าวก่อนและได้รับกำลังจากสยามมาช่วยแล้ว พระยาอนุชิตชาญไชย แม่ทัพลำปางจึงสั่งให้ร้อยเอกเจนเสนนำกำลังตำรวจภูธรนครสวรรค์จำนวน 80 นาย ขึ้นไปพะเยา แล้วสั่งให้เจ้าราชภาติกวงษ์คุมทหาร 400 คน ตามไปในวันรุ่งขึ้น (ได้ทราบจากโทรเลขของเจ้าหลวงลำปางไปถึงกรุงเทพฯ ว่าท่านสั่งให้เจ้าราชบุตรชวลิตวรวุธเฝ้าศพท่านเจนเสนที่พะเยา จึงทราบว่าเจ้าชวลิตฯ ได้เดินทางไปด้วย)

นายร้อยเอกเจนเสนถึงงาว 11 ตุลาคม แล้วเดินทางจากงาวต่อไปถึงบ้านแม่กาท่าข้ามเมื่อ 14 ตุลาคม 2445 เมื่อข้ามน้ำแม่กาแล้วได้พบกับกองกำลังเงี้ยวที่ห้วยเกี๋ยง ทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กัน ฝ่ายไทยยิงเงี้ยวตาย 10 คน จนเงี้ยวล่าถอยไป ทางฝ่ายไทยเสียกำลัง 1 คน คือตัวร้อยเอกเจนเสนเอง ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 24 ปี

กองกำลังตำรวจจึงถอนกำลังนำศพร้อยเอกเจนเสนข้ามน้ำกลับมาสมทบกับกองทหารที่ติดตามมาแล้วตั้งรอรับเงี้ยวอยู่ ครั้นเวลาเที่ยงเงี้ยวยกกำลัง 150 คน ข้ามฟากน้ำแม่กามา แต่กำลังไทยเหนือกว่า ยิงเงี้ยวตาย 4 คนเมือง 1 จับได้ 5 โดยฝ่ายไทยไม่เสียกำลังพลเช่นเดียวกับช่วงเช้า (นอกจากผู้บังคับบัญชาคือร้อยเอกเจนเสน) ทัพลำปางยกกำลังติดตามทันที จนวันที่ 15 ตุลาคม เวลาบ่าย 2 กองกำลังลำปางของเจ้าราชภาติกวงษ์จึงขับไล่เงี้ยวออกจากพะเยาได้หมด

เนื่องจากกองกำลังลำปางของเจ้าราชภาติกวงษ์ รุกไล่ติดพัน จึงต้องนำศพร้อยเอกเจนเสนติดตามไปด้วย ระหว่างทางได้นำศพไปฝากไว้ที่วัดในพะเยา แล้วให้นายร้อยเอกทอลเล่เป็นผู้นำศพร้อยเอกเจนเสนกลับไปลำปาง เก็บศพไว้ที่ลำปางร่วม 3 เดือน (100 วัน) จึงจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ สมเกียรติเยี่ยงวีรบุรุษ

ภาพ เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงลำปาง รวบรวมกำลังจากหางสัตว์ กลับมาสู่ลำปางสู้เงี้ยว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2550)

พิธีศพจัดทั้งแบบพุทธและคริสต์ คือในวันที่ 17 มกราคม 2446 ได้ชักศพมาไว้ที่ศาลาวังธาร รุ่งขึ้นวันที่ 18 มกราคม ช่วงเช้า เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการได้แต่งตัวไว้ทุกข์ จัดพวงมาลาคำนับศพ เจ้าหลวงฯ จัดให้มีเทศนาศพ 2 กัณฑ์ พระบังสุกุล 50 รูป ถวายเครื่องไทยธรรมตามควร เวลาค่ำมีการเล่นคือสวดคฤหัสถ์บนศาลาวังธาร 1 สำรับ หนังตะลุง 1 โรง ซอพื้นเมือง 1 วง

วันรุ่งขึ้น 19 มกราคม 2446 เวลา 09.00 น. เคลื่อนศพลงจากศาลาวังธารตั้งบนคานหาม มีพลตำรวจ 12 นาย นายพันตรี เจ้าราชภาติกวงษ์ และนายร้อยนายสิบตำรวจภูธร พากันเดินตามศพ จัดทหารเดินนำหน้าศพอย่างสมเกียรติ ด้านเจ้านาย ข้าราชการ ชาวต่างประเทศ พากันมาคอยรับศพอยู่หน้าโบสถ์ฝรั่ง ครั้นเคลื่อนถึงหน้าโบสถ์แล้วเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิตย์พร้อมเจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างประเทศที่คอยรับอยู่ ช่วยกันยกศพเข้าตั้งในโบสถ์ ครูชาวอังกฤษและอเมริกันพากันสวดคริสต์อยู่ราว 2 ชั่วโมง ก็พาศพออกไปฝัง เจ้านาย ข้าราชการและชาวต่างชาติได้ร่วมกันฝังตามพิธี แล้วปักป้ายชื่อไว้ ณ ที่ฝังศพดังนี้

“นายร้อยเอก เย็นเซ็น ชาติเดนมาร์ค อายุ ๒๔ ปี เป็นพลตำรวจภูธรมณฑลพายัพ ถึงแก่กรรมในเวลาต่อสู้ผู้ร้าย เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ศก ๑๒๑ ที่ตำบลบ้านแม่กา แขวงเมืองพะเยา”

ศพนายร้อยเอกเจนเสนถูกฝังไว้ที่สุสานอเมริกัน ลำปาง ซึ่งถูกปิดไปเมื่อปี 2489 เนื่องด้วยญี่ปุ่นใช้สถานที่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิ้นสงครามโลกแล้ว นายอี. ดับเบิลยู. ฮัดจินสัน กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ ได้เคลื่อนย้ายเฉพาะแท่งศิลาเหนือหลุมศพไปยังสุสานชาวต่างประเทศที่เชียงใหม่ ส่วนศพยังคงฝังอยู่ที่ลำปาง

ทรงมีการพระราชทานเบี้ยเลี้ยงแก่มารดาของร้อยเอกเจนเสนที่เดนมาร์กปีละ 3,000 บาท จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481)

สถานที่นายร้อยเอกเจนเสนถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านห้วยเกี๋ยง บ้านแม่กา ใต้พะเยาลงมา 11 ก.ม. หลัก ก.ม. ที่ 725.6 จากกรุงเทพฯ ห่างจากถนนพหลโยธินไปราว 100 เมตร มีอนุสาวรีย์และแผ่นจารึกเป็นภาษาอังกฤษที่ทำไว้ครั้งนั้น ส่วนแผ่นจารึกภาษาไทยทำภายหลัง มีข้อความว่า

“อนุสาวรีย์ ร.อ. แฮนส มาควอร์ด เย็นเซ็น นายตำรวจไทเชื้อชาติเดนมาร์ก เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ติดตามปราบปรามโจรเงี้ยวซึ่งพยายามปล้นยึดนครลำปาง ณ บ้านแม่กา ห้วยเกี๋ยง แขวงเมืองพะเยา เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)”

ใกล้อนุสาวรีย์นี้มีต้นไม้ 3 ต้น ต้นใหญ่สุดมีรั้วล้อมยาว 3 เมตร คือสถานที่ร้อยเอกเจนเสนถูกรุมยิง

สาเหตุการตาย

จากรายงานของเจ้าราชภาติกวงษ์ ระบุชัดเจนถึงสภาพและสาเหตุการตายนี้ว่า ท่านเจนเสน ถูกรุมยิงเข้าที่อก 3 นัด สิ้นใจในทันที แต่มีผู้สันทัดบางท่านกล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่ครูฝึกจะทำการรบแบบเอาตัวเองไปยืนอยู่ในที่โล่งลำพังให้เป็นเป้านิ่ง ในขณะที่ตัวสอนให้พลตำรวจใต้บังคับบัญชารบอยู่หลังที่กำบังซึ่งสามารถสังหารฝ่ายเงี้ยวได้โดยไม่สูญเสียเลย ทั้งจากปากคำของเจ้าแม่สวนบุตรีเจ้าเมืองพะเยาขณะนั้นก็ยืนยันว่าถูกยิงด้านหลัง

ทางกรุงเทพฯ สอบได้ความว่าที่เงี้ยวเตรียมการมาเนิ่นนานก็ด้วยได้รับความร่วมมือจากเจ้านายทางเหนือ แต่เจ้าทางเหนือเมื่อเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นโดยเฉพาะที่ลำปาง ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้คิดจะเข้ากับฝ่ายเงี้ยวแต่อย่างใด

ส่วนที่เจ้าหลวงแพร่เกรงผิดได้หนีไปก็ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พิจารณาว่าเป็นด้วยถูกเงี้ยวขู่เข็ญบังคับ ไม่อยู่ในสภาพที่จะขัดขืนโจรเงี้ยวได้ ภายหลังเงี้ยวรวมกำลังบุกยึดเชียงรายและพะเยาได้ ก็ด้วยเจ้านายทางลำปางเข้าไปช่วยกู้จนสูญเสียร้อยเอกเจนเสน หากไม่เชื่อตามรายงานการตายก็ไม่น่ามีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง

กรุงเทพฯ สับสนกับรายงานจากหัวเมืองเหนือที่แจ้งไปถึงมีความขัดแย้งกันและความเกรงว่าเจ้าทางเหนือจะเข้ากับเงี้ยว จึงสั่งการให้มีการรายงานโดยตรงจากร้อยเอกเจนเสนซึ่งจากที่มีไปยังพระวาสุเทพ เจ้ากรมตำรวจภูธร ชาวเดนมาร์กที่เชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าเจ้าหลวงลำปางอยู่รั้งเมืองจนวินาทีสุดท้ายที่เงี้ยวบุกแล้วล่าถอย เนื่องจากข้าราชการกรุงเทพฯ ไม่อยู่รายงานความจริงแล้ว ในรายงานดังกล่าว เจ้าหลวงกล่าวกับร้อยเอกเจนเสนว่า “ในสถานการณ์เช่นนี้เงินไม่มีความสำคัญ” ร้อยเอกเจนเสนจึงอาสาเข้าไปดูแลขนย้าย โดยก่อนเดินทางเงินทองของมีค่าทั้งหมดของเจ้าหลวงได้เอาไปฝากซ่อนในบ่อน้ำที่บ้าน นายลีโอโนเวนส์ พร้อมตู้เซฟและเอกสารสำคัญของโรงพัก สำหรับที่คลังได้พังประตูห้องเก็บเงินแล้วเข้าไปงัดหีบไม้ทั้งหมด

ส่วนหีบเหล็กและตู้เซฟนั้นไม่ได้งัด ใช้ทหาร 70 นาย ขนย้ายเงินคลังไปบ้านนายลีโอโนเวนส์ แต่ถุงเงินมีมากเกินทหาร 70 คน จะขนได้ จึงสั่งให้ ร.ท. ชุ่มจัดยามเฝ้าเงินส่วนที่เหลือไว้ 1 คน แล้วนำกำลัง 50 นาย กลับมาขนเงินที่เหลือ แต่ต้องตกใจเมื่อพบว่า ร.ท. ชุ่มกับยามไม่อยู่เฝ้าเงิน แม้ตามเครื่องกีดขวางทุกจุด ตำรวจก็พากันหนีหมด

ในรายงานเจ้าหลวงบอกว่าเงินคลังส่วนนี้ได้หายไปราวสามหมื่นเศษ (ฝากส่วนหนึ่งกับนายลีโอโนเวนส์ อีก 50,500 บาท) ไต่สวนแล้วไม่ใช่เงี้ยวแต่เป็นพลเมืองทั้งสิ้น (รายงานร้อยเอกเจนเสนว่าพวกเงี้ยวได้พากันหนีไปหมดแล้ว เป็น “อ้ายลาว” ต่างหากที่ทำการโจรกรรมเมือง) จับได้ 10 คน ได้เงินคืน 800 เศษ
ภายหลังร้อยเอกเจนเสนรีบควบม้าตามตัว ร.ท. ชุ่มได้ขณะนำตำรวจในเครื่องแบบ 50 นาย ระหว่างเดินทางไปเชียงใหม่ (ร.ท. ชุ่ม หรือชุ่ม วรรณสมิต ภายหลังได้รับพระราชทานยศเป็น พ.ต.อ. พระยานารถนรานุบาล ผู้บังคับการกองตำรวจภูธร มณฑลมหาราษฎร์ เมื่อ พ.ศ. 2467)

สำหรับเจ้าราชภาติกวงษ์ มีกล่าวถึงในรายงานร้อยเอกเจนเสนตอนหนึ่งว่า เมื่อมีข่าวเงี้ยวจะบุกลำปางรอบสองด้วยกำลังคนนับพัน ร.ท. เชิญ ผู้ที่เคยต่อต้านเงี้ยวที่เครื่องกีดขวางที่ 1 อย่างห้าวหาญและมีชัยกลับหนีไป 2 วันแล้วกลับมาประจำหน้าที่ ได้ถูกร้อยเอกเจนเสนลงโทษทางวินัย แต่นายพันโทเจ้าราชวงษ์ (คือเจ้าราชภาติกวงษ์) ขอร้องไว้ นี่เป็นความขัดแย้งระดับตัวบุคคลที่มีในรายงานทางการ

สำหรับความขัดแย้งระดับผู้นำในช่วงเหตุการณ์ มีทั้งฝั่งเจ้านายที่ลำปาง (และเจ้านายฝ่ายเหนืออื่นๆ) และฝั่งแม่ทัพจากสยาม เจ้านายทางเหนือมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยกับการเข้ากับเงี้ยวและฝ่ายที่จงรักภักดีต่อสยาม แม้แต่ในลำปางเจ้าหลวงบุญวาทย์ฯ เองก็ไม่ลงรอยกับเจ้าเชาวลิตราชบุตรและชิงกันเป็นเจ้าหลวงมาก่อนหน้านั้น เจ้าราชบุตรชวลิตฯ มีความเป็นชาตินิยมสูง ท่านยืนยันจะใช้ตัวเมือง กฎหมายเมืองในงานราชการ

ในขณะที่เจ้าบุญวาทย์ฯ ส่งเสริมให้เรียนและใช้ตัวไทยเป็นภาษาราชการทั้งจัดระบบบริหารอย่างไทยสมัยใหม่ภายใต้การแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหลวงจากสยาม เจ้าชวลิตเองได้แจ้งข่าวทางลบของเจ้าหลวงลำปางทราบหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ เชื่อว่าเจ้าหลวงลำปางพากันทิ้งเมืองหนีเงี้ยวไปอยู่หางสัตว์ (อ.ห้างฉัตร) ทั้งที่ความจริงเจ้าชวลิตเองที่หนีเมืองไปตั้งแต่ได้ยินเสียงเงี้ยวโห่ร้องตามที่เงี้ยวนัดหมายพวกเจ้าไว้ก่อนหน้า ซึ่งครั้งนั้นเมื่อมีการตั้งค่ายทหารมณฑลขึ้นที่ลำปางชื่อค่ายจึงไม่ใช่บุญวาทย์หรืออนุชิตชาญไชยแต่กลับกลายมาเป็นค่ายสุรศักดิ์มนตรีแม่ทัพแพร่ผู้ไม่เคยย่างเหยียบมาช่วยลำปาง-เชียงใหม่เลย

ทั้งนี้นอกจากข้อมูลผิดๆ ที่ว่านี้แล้วยังเกิดจากความขัดแย้งของแม่ทัพกรุงเทพฯ 2 ท่าน คือ (พลตรีทหาร) พระตำรวจเอก พระยาอนุชิตชาญไชย (สาย สิงหเสนี) แม่ทัพคนแรกที่นำกองทัพจากนครสวรรค์มาช่วยลำปางกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แม่ทัพแพร่ มีพระราชเลขาประกาศกฎอัยการศึกและแต่งตั้งแม่ทัพคราวเงี้ยวจลาจลนี้ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ โปรดให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพแพร่-น่าน พระยาอนุชิตชาญไชยเป็นแม่ทัพนครลำปาง-เชียงใหม่ ท่านแรกเป็นสายทหารท่านหลังเป็นสายตำรวจ มีความขัดแย้งกันตลอดจนมีพระราชเลขาลงวันที่ 24 ตุลาคม ร.ศ. 121 ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพถึงเรื่องความขัดแย้งของแม่ทัพทั้งสอง ทรงกำชับว่า “ขอให้ถือท้ายให้ดีอย่าให้เรือโดนกัน”

ความชอบของพระยาอนุชิตฯ แม้มีมากแต่กลับไม่ได้เลื่อนยศตามความชอบ ดังหนังสือสวนดุสิตถึงกรมหลวงดำรงฯ ลงวันที่ 26 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 122 ให้งดเลื่อนยศพระยาอนุชิตฯ เป็นพลเอกไว้เนื่องจากจะเกิดขัดแย้งกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ อยู่มาก

เมื่อศพท่านเจนเสนยังอยู่ที่พะเยานั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ แม่ทัพสายทหารจากแพร่มีโทรเลขถึงเสนาบดีมหาดไทยขอศพไปไว้ที่แพร่ (เพื่อชันสูตร?) ทั้งที่ที่เกิดเหตุเป็นพะเยาในส่วนที่ขึ้นกับนครลำปาง แต่แม่ทัพสายตำรวจที่ลำปางคือพระยาอนุชิตฯ และเจ้าหลวงลำปางทราบเข้าจึงโทรเลขไปขอจัดพิธีศพที่ลำปาง ดูการเสียชีวิตของร้อยเอกเจนเสนจะเป็นปมขัดแย้งสำคัญหนึ่งระหว่างแม่ทัพใหญ่ทั้งสอง และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่ายมณฑลทหารบกที่ลำปางตั้งชื่อเป็นค่ายสุรศักดิ์มนตรี แทนที่จะเป็นค่ายอนุชิตชาญไชย หรือค่ายบุญวาทย์วงษ์มานิตก็ได้

เบื้องหลังการตายของร้อยเอกเจนเสนนี้จะเป็นเช่นไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ข้อยุติว่า แต่ที่จริงซึ่งนายร้อยเอกเย็นเซ็นตายนี้เห็นจะเป็นด้วยกล้าเกินไป อย่างเช่นเคยสำแดงเดชมาเสมอ คือชักดาบออกวิ่งนำหน้าทหารอย่างทหารฝรั่ง แต่ไอ้พวกนี้มันสนัดแอบยิง ซุ่มยิง คราวก่อนข้างฝ่ายเงี้ยวเปนผู้มาตีอยู่ในที่แจ้ง คราวนี้อยู่ในสนามเพลาะ เราเป็นผู้ไปตีแต่อยู่ในที่แจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายเรามีผู้ใดตาย นอกจากนายร้อยเอกเย็นเซ็นคนเดียว”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้ทรงเตือนสติคนไทยในพระราชนิพนธ์ในลิลิตพายัพ คราวเสด็จเลียบมณฑลผ่าน ณ ตรงที่เกิดเหตุและเป็นการสดุดีร้อยเอกเจนเสนนี้ไว้…

หมายเหตุ
1. เจนเสน = Jensen = เยนเสน = เย็นเซ่น
2. พวกลาว ในรายงานของทางราชการกรุงเทพฯ และร้อยเอกเจนเสนหมายถึงไทยเมือง
3.. ในรายงานเจ้าหลวงลำปางเรียกตัวเองว่า เมือง และเรียกคนลาวว่าลาว เรียกคนกรุงเทพฯ ว่า สยามหรือไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2564