เผยแพร่ |
---|
ตำรวจ ในยุคแรก ๆ สมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อเรียกว่า โปลิศ หรือ พลตระเวน, กองตระเวน เป็นผู้ใช้อำนาจในการดูแลท้องถนน ตลอดไปจนถึงความปลอดภัยของราษฎร แต่กองตระเวนบางคนก็มักใช้อำนาจในทางมิชอบอยู่บ่อยครั้ง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของราษฎรด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ ร้องเรียน และล้อเลียน ผ่านสื่อต่าง ๆ
โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรและวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ กองตระเวนอยู่บ่อยครั้ง เช่น การไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์ในท้องถนนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของพลตระเวน ดังนี้
“พลตระเวรซึ่งเข้ายุนิฟอมรักษาท้องที่ต่าง ๆ แม้ประพฤติ์ตามข้อบังคับแล้วจะมีคุณแก่มหาชนเอนกคบรรยายทีเดียว นี่หาเปนเช่นนั้นไม่เวลาประจำน่าที่ 3 ชั่วโมง ได้เหนแต่พลตระเวรนั่งกับยืนแอบซุ่ม ๆ เสียโดยมาก มิฉนั้นถ้าจะยืนแล้วมักจะหันหน้าเข้าน่าห้องชาวร้านหันหลังออกบางทีพวกชาวร้านจะทำอะไรแล้วไปยืนดูแทบจะไม่กระพริบตาก็มี เหตุฉนั้นอยากจะถามหัวใจของผู้ที่รักษาน่าที่คิดรักษาการอย่างไรไม่นึกอดสูต่อข้อบังคับบ้างหรือ”
การตรวจสอบพฤติกรรมของพลตระเวนยังเป็นไปในเชิงล้อเลียนและประชดประชัน เช่น “พลตระเวนกลัวมีด” กล่าวถึงเหตุคนร้ายชิงทรัพย์บริเวณถนนวัดราชบพิธ พลตระเวนได้เข้าช่วยเหลือแต่คนร้ายมีอาวุธมีดทำให้ “พลตระเวนเหนมีดก็ขยาดไม่มีจะวิ่งตามต่อไปอ้ายคนร้ายก็หนีเอาผ้าไปได้สบายใจ” และ “พลตระเวรไม่ต้องธุระจะว่า” กล่าวถึงคนร้ายบริเวณถนนวรจักรข่มขู่ทำร้ายร่างกายราษฎรที่สัญจรในถนนวรจักร ซึ่งทางกองตระเวนทราบตัวคนร้ายแต่ไม่สามารถจับกุมได้ ซึ่งหนังสือพิมพ์ได้ตำหนิกองตระเวน ดังนี้
“กองรักษาไม่มีความสอดส่องจับกุมผู้กระทำผิดต่อข้อบังคับนั้นก็เปนที่น่าพิศวงษอย่างยิ่งเราเชื่อว่าพระราชทรัพย์ของหลวงคงจะเสียเปล่า พลตระเวรซึ่งรักษาน่าที่นั้นคงจะไม่มีความระวังราชการเลย มัวแต่ระวังอย่าให้ถนนหายเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังมีข้อเขียนของ “นายเมื่อไรหนอ” ในหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ผู้เขียนได้แสดงทัศนคติเชิงคาดหวังในรูปของคำถามจากข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของกองตระเวน ดังนี้
เมื่อไรหนอพลตระเวรแขกซิกจะเลิกการหยิบกล้วยน้ำว้าของชาวบ้านกิน
เมื่อไรหนอพลตระเวรในกรุงสยามจะมีความแขงแรงในการจับผู้ร้ายบ้าง
เมื่อไรหนอพลตระเวรจะมีแรงวิ่งไล่จับอ้ายคนร้ายให้ทันทุกๆ คราว
เมื่อไรหนอราษฎรที่เดินไปมาตามถนนในเวลากลางคืนจะไม่พบพลตระเวรนอนหลับบ้าง
เมื่อไรหนอพลตระเวนจะรู้จักข้อบังคับสำหรับตนเสียบ้าง
เมื่อไรหนอพลตระเวรในกรุงสยามจะมีแขนเช่นดังพระนารายณ์
เมื่อไรหนอพลตระเวรจะมีจักษุเพิ่มเติมขึ้นอิกข้างหลังบ้าง
เมื่อไรหนอพลตระเวรจะมีฤทธิ์ดังหนุมานบ้าง
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำรวจคนแรกในไทย(สมัยรัตนโกสินทร์) ตร.ยุคต้นโดนชาวบ้านล้อ-แกล้ง ก่อนเป็นกิจการเต็มสูบ
-
“ตำรวจ” มาจากไหน? ทำไมเรียก “ตำรวจ”? ฟังจาก “จิตร ภูมิศักดิ์”
อ้างอิง :
นนทพร อยู่มั่งมี. (กันยายน, 2558). สักวาฟ้าขาวเหล่าโปลิศ สิ้นคิดแล้วหรือเจ้าเฝ้าถนน : ภาพสะท้อนการใช้อำนาจของกองตระเวนในท้องถนนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 : ฉบับที่ 11.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2564