ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
“จิตรลดาสโมสร” สมาคมลับ ของสยามสมัย รัชกาลที่ 6 ต้นแบบจากกลุ่ม “ฟรีเมสัน” ?
แฟนๆ หนังสือของ แดน บราวน์ คงรู้จัก สมาคมลับ อย่าง “ฟรีเมสัน” (Freemasonry) เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องราวลี้ลับของสมาคมลับแห่งนี้ ซึ่งไม่น้อยเป็นเรื่องแต่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า หนังสือของ แดน บราวน์ ไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์ แต่เป็นนิยายที่จับเอาเรื่องราวที่เค้าโครงในประวัติศาสตร์มายำให้กลายเป็นเรื่องราวสนุกสนานน่าติดตาม
แต่ในขณะเดียวกัน “ฟรีเมสัน” ก็เป็นองค์กรลับที่มีตัวตนอยู่จริงๆ โดยวิวัฒนาการมาจากสมาคมของเหล่าช่างก่อสร้างวัดวาอารามในช่วงยุคกลาง ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง “มหาศาลาสมาคม” (Grand Lodge) เพื่อเป็นศูนย์กลางขององค์กรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาครั้งแรกในปี 1717 (พ.ศ. 2260) ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ และค่อยๆ แพร่หลายเติบโตไปทั่วโลกพร้อมกับการสยายปีกของจักรวรรดินิยมอังกฤษ
และในศตวรรษที่ 19 เรื่องราวและอิทธิพลของฟรีเมสัน “สมาคมลับ” ก็คงเป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายดีไม่เพียงแต่ในดินแดนเครือจักรภพเท่านั้น เพราะแม้แต่ในสยามก็มีการรับเอาธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าฟรีเมสันมาใช้ในการก่อตั้งองค์กรลับในสยามประเทศด้วย
บุคคลผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งสมาคมลับของกลุ่มชายล้วนในแผ่นดินสยาม มิได้เป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดา แต่พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อดีตนักเรียนอังกฤษ ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “จิตรลดาสโมสร” ขึ้นโดยรับเอาธรรมเนียมบางประการของฟรีเมสันมาใช้ รวมถึงสัญลักษณ์ประจำสมาคมก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับ “Eye of Providence” ของพวกฟรีเมสัน ดังที่ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อดีตอธิบดีศาลฎีกาที่เป็นสามัญชนคนแรก และหนึ่งในสมาชิกจิตรลดาสโมสร ได้กล่าวถึงความเป็นมาของสมาคมลับแห่งนี้ไว้ว่า
“จิตรลดาสโมสรเป็นที่รวบรวมบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือน ทั้งที่รับราชการในและนอกราชสำนัก ทรงหวังว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ป้องกันภัยให้พระองค์ทุกวิถีทาง จึงทรงตั้งสโมสรนี้ขึ้นเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสพบปะกันและเฝ้าแหนพระองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุที่บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ ‘วงใน’ จึงทรงนำวิธีการบางอย่างของพวกฟรีเมซัน (Free Mason) ซึ่งเป็นสมาคมลับของอังกฤษมาใช้ เช่นให้มีเสื้อครุยสำหรับสมาชิก มีผู้ถือไม้อาญาสิทธิสำหรับลงโทษสมาชิกที่ประพฤติผิดวินัย และมีนายทะเบียนเป็นต้น
ตราของสมาคมนี้เป็นรูปสามเหลี่ยม และสมาชิกมีสิทธิใช้กระดุมสามเหลี่ยมเป็นกระดุมเม็ดแรกของเสื้อแบบราชการ เจ้าพระยามหิธรทำหน้าที่นายทะเบียนของสมาคมนี้ เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสพบปะกันโดยไม่รู้สึกเบื่อ โดยปกติมักนัดพบกันอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งมีการรับประทานอาหารค่ำพร้อมกัน และบางทีก็มีการแสดงต่างๆ เช่น โขน ลคร ลำตัด ฯลฯ ต่อจากการรับประทานอาหารด้วย
เมื่อดูโดยผิวเผินจึงเห็นเป็นแต่สมาคมสำหรับการรื่นเริง ผู้ใหญ่ท่านเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเข้มงวดเรื่องผู้ที่จะเชิญเป็นสมาชิกมาก แม้แต่พระอนุบาลชั้นเจ้าฟ้าบางพระองค์แสดงพระประสงค์จะใคร่เป็นสมาชิกบ้าง ก็ยังไม่โปรดให้รับ จิตรลดาสโมสรนั้นนัดพบกัน ณ ที่ต่างๆ ตามพระราชอัทธยาศัย บางทีนัดพบและเลี้ยงกันที่บางปะอินก็มี”
สำหรับสมาชิกของสมาคมนี้ที่สำคัญๆ นอกจากเจ้าพระยามหิธรแล้วก็มี เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าพระยายมราช และ เจ้าพระยาศุภมิตร เป็นต้น ที่เหลือส่วนใหญ่แล้วก็ล้วนเป็นข้าราชการใกล้ชิด ส่วนที่เป็นชั้นเจ้านายมีเพียง กรมหลวงปราจีนกิติบดี กับ ม.จ. ปิยบุตร์ จักรพันธุ์ เท่านั้น
และจากคำบอกเล่าของ เจ้าพระยามหิธร การจัดตั้งจิตรลดาสโมสรได้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งนั่นน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สมาคมลับ” นี้ขึ้น เพื่อหาทางป้องกันและต่อต้านการคิดร้ายต่อพระองค์
อ่านเพิ่มเติม :
- เทศกาลกินเจ กับ สมาคมลับ เพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง
- สมาคมลับคนจีนระดมชัตดาวน์กทม. ผละงานทั่วเมืองล้มหมดท่า จุดจบอั้งยี่ในไทยหลังร.6
- เส้นทางผู้ตั้ง “อิลลูมิเนติ” กลุ่มลับที่น่ากลัวน้อยกว่า “ฟรีเมสัน” ทำไมโดนกวาดล้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เรื่องของเจ้าพระยามหิธร (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 15 พฤศจิกายน 2499)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2561