ผู้เขียน | รัชตะ จึงวิวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาทฤษฎีสมคบคิดบนโลกใบนี้อันเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าค้นหา หากขาดหัวข้อเกี่ยวกับองค์กรลับต่างๆ ย่อมเสมือนขาดรสชาติหลายอย่างไป และเหล่าองค์กรลับที่ปรากฏชื่ออยู่ในลิสต์ทฤษฎีสมคบคิดที่ทำให้แวดวงผู้สนใจทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ได้เติมเต็มการสัมผัสรสชาติก็ต้องมีชื่อองค์กร “อิลลูมิเนติ” หรือ ออกเสียงว่า “อิลลูมินาติ” (Illuminati) ให้ได้พบเห็นกัน
“อิลลูมิเนติ” แรกเริ่มเดิมทีแล้วอาจไม่ใช่องค์กรแบบเต็มรูปแบบ หากจะใช้คำอธิบายคงต้องใช้คำว่า “สมาคม/ชุมชนลับ” เสียมากกว่า (ดังจะอธิบายเรื่องพัฒนาการต่อไป) นักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลุ่มสังคมอันลี้ลับนี้บอกตรงกันว่า “อิลลูมิเนติ” คือชุมชนบาวาเรียนแบบลับๆ ที่ทำการอย่างจริงจังอยู่แค่ทศวรรษเดียวเท่านั้น ระหว่างปี ค.ศ. 1776-1785 (บางแห่งระบุวันที่ก่อตั้งคือ 1 พฤษภาคม 1776) กลุ่มนี้ก่อตั้งโดยคนเชื้อสายเยอรมันนามว่า “อดัม ไวส์เฮาฟ์” (Adam Weishaupt)
จุดเริ่มต้นในบาวาเรีย
แจสเปอร์ ริดลีย์ นักประวัติศาสตร์ที่เขียนงานทางวิชาการหลายชิ้น อธิบายว่า อดัม เป็นชาวยิวและเข้าเป็นโรมันคาทอลิก
เขาถูกเลี้ยงดูโดยลุงของเขา ต่อมาลุงก็นำเขาเข้าเรียนในโรงเรียนเยซูอิต ภายหลังมีตำแหน่งถึงศาสตราจารย์ด้านวินัยทางศาสนาที่มหาวิทยาลัยโรมันคาทอลิกแห่งอิงโกลด์-สตัด ในบาวาเรีย
ผู้ก่อตั้งเชื่อเรื่องการให้ความรู้แจ้ง มุ่งหวังสอนสมาชิกกลุ่มเรื่องตรรกะ และแนวคิดทำนองค่านิยมต่างๆ ทางโลกเพื่อให้สมาชิกมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักการเมืองเมื่อพวกเขาก้าวขึ้นมามีอำนาจ เชื่อว่า แนวคิดของกลุ่มได้รับอิทธิพลมาจากสภาพบริบทที่เรียกกันว่า ยุคเรืองปัญญา “Enlightenment” ซึ่งแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในยุโรป นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าอาจได้รับแนวคิดของคณะเยซูอิทส์ (ซึ่งอดัม เป็นอดีตสมาชิก) และกลุ่มฟรีเมสัน โดยอดัม เกณฑ์คนจากกลุ่มนี้ผ่านการเข้าแทรกซึมในองค์กรฟรีเมสัน เชื่อว่ามีจุดประสงค์เพื่อหากำลังคนที่มีฐานะร่ำรวยและมีอิทธิพลมากในยุโรปเข้ามาร่วมกลุ่ม
คลิกอ่านเพิ่มเติม : สยามประเทศสมัย ร.6 เคยมี “สมาคมลับ” ลักษณะเดียวกันกับกลุ่ม “ฟรีเมสัน”
แจสเปอร์ ริดลีย์ นักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับที่เขียนงานทางวิชาการหลายชิ้นเล่าว่า เดิมทีกลุ่มอิลลูมิเนติ มีสมาชิกเพียง 5 คนเท่านั้น
การรวมตัวกันมีเป้าประสงค์แง่มุมเชิงปัญญาและต่อต้านอิทธิพลทางศาสนา รวมถึงอิทธิพลของชนชั้นสูงที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้คน
ขณะที่ทิศทางของเนื้อหาในการสอนในมหาวิทยาลัยของอดัม ก็ค่อนข้างน่าฉงนหากมองจากมุมมองหลักศาสนาโรมันคาทอลิกแบบดั้งเดิม แต่ที่ชัดเจนคือการเปิดเผยแนวคิดของเขาให้กับกลุ่มเฉพาะแบบเป็นส่วนตัว (แบบปิด) ซึ่งเขาเขียนเอกสารโดยใช้นามแฝงว่า “สปาร์ตาคัส” (กลาดิเอเตอร์ หรือนักสู้ในโรมันรายหนึ่งที่ปลุกระดมทาสให้ลุกฮือขึ้นในช่วงศตวรรษแรก) การสื่อสารภายในกลุ่มจะใช้ระบบรหัสลับด้วย สมาชิกแต่ละรายจะได้รับนามแฝง อาทิ ของอดัม ก็ใช้นามแฝงว่า “สปาร์ตาคัส”
สมาชิกและภารกิจ
คริส โฮแดปป์ (Chris Hodapp) ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Conspiracy Theories and Secret Societies for Dummies ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ว็อกซ์ (Vox) ระบุว่า ในช่วงแรก สมาชิกไม่ไว้ใจบุคคลที่อายุมากกว่า 30 ปี เนื่องจากคิดว่า คนวัยหนึ่งจะมีทัศนคติตายตัวเกินไป
ริดลีย์ อธิบายแนวคิดของอดัม ต่อไปว่า เขาเชื่อว่าตัวเองและสมาชิกกลุ่มอิลลูมิเนติที่มีเพียงหยิบมือสามารถมีอิทธิพลเหลือคณะผู้ปกครองอย่างกษัตริย์ และบิชอป ในรัฐและโบสถ์ จากนั้นจะเข้าควบคุมการปกครองในโลก
แนวคิดเรื่องการปกครองโลกนี้ นักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่า กลุ่มอิลลูมิเนติบรรลุเป้าหมายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ในแง่การเป็นอิทธิพลทางความคิดต่อบุคคล/กลุ่มอื่นๆ) แต่แน่นอนว่า หากมองจากมุมทฤษฎีสมคบคิด บางคนก็มองว่ากลุ่มอิลลูมิเนติประสบความสำเร็จและยังปกครองโลกอย่างลับๆ มาจนถึงวันนี้ กรณีหลังนี้ ฟิล เอ็ดเวิร์ด คอลัมนิสต์ที่เขียนบทความเกี่ยวกับอิลลูมิเนติในเว็บไซต์ ว็อกซ์ (Vox) ตั้งข้อสังเกตได้น่าคิดทีเดียวว่า หากพวกเขาทำสำเร็จ เราและท่านคงไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับองค์กรเหล่านี้หรอก
เมื่อรู้จุดตั้งต้น และแนวคิดของกลุ่มนี้แล้ว คำถามต่อมาคือ พวกเขาทำอะไรไปบ้าง?
การปฏิบัติงานของกลุ่มปรากฏในรายงานหลากหลายแบบ บางแห่งรายงานเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมซึ่งส่วนนี้อาจเชื่อถือได้ยากกว่าแง่ทั่วไป (ไม่ได้ปฏิเสธว่า กลุ่มอิลลูมิเนติปราศจากกิจกรรมเชิงพิธีกรรม คาดว่ามีบ้างแต่เป็นในแง่พิธีกรรมที่เชื่อมกับการปฏิบัติงาน เช่น การตั้งสัญลักษณ์นกฮูก หรือพิธีปฏิบัติที่ในปัจจุบันอาจเรียกว่า “กรรมวิธีแบบสายลับ” เพื่อปกปิดตัวตน ฯลฯ แต่คาดว่า ไม่ได้ยึดโยงกับพิธีกรรมเชิงจิตวิญญาณแบบฝังรากลึก)
ส่วนการปฏิบัติงานทั่วไปแล้ว พวกเขาเผยแพร่แนวคิดที่สะท้อนถึงหลักคิดแบบ “Enlightenment” อาทิ การปกครองตัวเอง หรือแนวคิดสุดโต่งต่างๆ ต่อต้านหลักคิดแบบศาสนา ราชวงศ์ เชื่อกันว่า พวกเขาแทรกซึมเข้าไปในสถาบันที่ทรงอำนาจอย่างระบอบกษัตริย์
เวลาต่อมา สมาคม/ชุมชนลับเฟื่องฟูและขยายตัวอย่างมาก จากสมาชิกยุคแรกเพียง 5 คน ต่อมา ในช่วงปี 1782 คาดว่า พวกเขามีสมาชิกราว 600 ราย
ปฏิสัมพันธ์กับ “ฟรีเมสัน”?
ริดลีย์ อธิบายว่า เวลาต่อมา ในยุคที่กลุ่มอิลลูมิเนติรุ่งเรืองน่าจะมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย (บางแห่งบอกว่าอยู่ระหว่าง 2,000-3,000 คน) กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญ อดัม ผู้ก่อตั้งกลุ่มอิลลูมิเนติ ตัดสินใจว่า พวกเขาควรแทรกซึมเข้าไปยังกลุ่มฟรีเมสัน
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์กรลับทั้งสองแห่งนี้ปรากฏค่อนข้างชัดเจน ทั้งแง่ข้อมูลความเชื่อมโยง และแนวคิดบางส่วนที่ใกล้เคียงกันอย่างไม่เห็นด้วยกับอิทธิพล/การลงโทษทางศาสนา แต่พวกเขาสนับสนุนการทำความเข้าใจกัน และทำความเข้าใจบุคคลที่มีแนวคิดทางศาสนาที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มฟรีเมสันหลายส่วนไม่เข้าใจหลักการของอิลลูมิเนติ หรือแม้แต่บางรายยังไม่เคยได้ยินชื่ออิลลูมิเนติ หรือบางรายเมื่อรับรู้ว่าอิลลูมิเนติ พยายามทำอะไรบ้าง พวกเขาปฏิเสธจะเข้ายุ่งเกี่ยวด้วย
บารอน อดอล์ฟ ฟอน นิก (Baron Adolf von Knigge) อดีตสมาชิกของฟรีเมสันที่มีฐานะสูงส่ง และเดิมทีนั้นยังเป็นเพื่อนของอดัม ไวส์เฮาฟ์ ผู้ก่อตั้งอิลลูมิเนติ บารอนมีบทบาทในการรับอิทธิพลจากฟรีเมสันเข้ามา แต่บารอน ไม่เห็นด้วยกับทิศทางที่กลุ่มฟรีเมสันต้องรับเข้าไปดำเนินการ และมีความคิดเห็นไม่ตรงกับอดัม หลายเรื่องทั้งในแง่ทิศทาง และกระบวนการของกลุ่ม บารอน ถอนตัวออกจากกลุ่มไป
ความไม่ลงรอยกันนี้เองนำมาสู่ความรุนแรงที่จะปิดฉากกลุ่มอิลลูมิเนติ ขณะที่เวลาเดียวกันนั้นเอง โจเฟซ อุตซ์ชไนเดอร์ (Joseph Utzschneider) อดีตสมาชิกของกลุ่มเขียนจดหมายไปถึงดัชเชสแห่งบาวาเรีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการบ่งชี้ตัวตนของกลุ่มชุมชนลับ แต่ข้อมูลในการเปิดเผยความลับนี้ก็ไม่แน่ชัด ยังสับสนปนเประหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องแต่ง ขณะที่ทางการบาวาเรีย ก็เริ่มมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับอิลลูมิเนติ เพราะดุ๊กแห่งบาวาเรีย ได้รับคำเตือนจากภรรยาจนออกคำสั่งห้ามตั้งชุมชนลับใดๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่ออกก่อนหน้านี้
สู่จุดเสื่อม
ในปี 1785 คาร์ล ธีโอดอร์ ดุ๊กแห่งบาวาเรีย ออกคำสั่งอีกครั้ง ครั้งนี้มีผลคือแบนกลุ่มชุมชนลับอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงอิลลูมิเนติด้วย และประกาศว่า จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมกลุ่มด้วยโทษหนัก
อดัม ถูกปลดจากตำแหน่งในมหาวิทยาลัยเนื่องจากถูกมองว่า กระทำการปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ เขาต้องเดินทางออกนอกบาวาเรีย เลี่ยงการถูกจับกุมและดำเนินคดี นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง รวมถึงริดลีย์ ด้วยเชื่อว่าระหว่างที่เขารีบเร่งเดินทาง อดัม ทิ้งเอกสารของเขาเองเอาไว้ รัฐบาลบาวาเรียมาพบเข้าและนำเอกสารนี้เผยแพร่ ความลับของอิลลูมิเนติ จึงถูกเปิดโปง
(เอกสารและงานของอดัม บางชิ้นยังหลงเหลือมาจนถึงวันนี้ และถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองอิงโกลด์สตัด)
เอกสารที่เผยแพร่กลายเป็นกระแสในทันที เนื่องจากเนื้อหาในเอกสารนี้บ่งชี้เรื่องแผนการของกลุ่มอิลลูมิเนติ ที่จะพยายามล้มระบบรัฐบาลที่มีในยุโรป แต่ในอีกแง่หนึ่ง เป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ซึ่งถูกมองว่าแทบเป็นไปไม่ได้ก็ถูกมองข้ามไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า อิลลูมิเนติ มีสมาชิกซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก (แต่อาจถูกลืมไปบ้างในยุคปัจจุบัน) มีบุคคลประเภทดุ๊ก หรือผู้นำระดับสูงในสังคม ในแง่ความสำเร็จของกลุ่มนี้ เป็นเรื่องยากที่จะชี้วัด ความสำเร็จในแง่การเผยแพร่แนวคิด หากเชื่อว่าแนวคิด(กึ่งทฤษฎีสมคบคิด)ว่าการปฏิวัติระบอบการปกครองของอิลลูมิเนติ เผยแพร่ไปสู่กลุ่มองค์กรอื่นในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสของกลุ่มจาโคแบง (Jacobin) หรือกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ก็อาจบอกได้ว่า อิลลูมิเนติ ประสบความสำเร็จ
แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนพอที่จะบ่งชี้ว่าข้อสันนิษฐานเรื่องความเกี่ยวข้องของกลุ่มอิิลลูมิเนติ กับการปฏิวัติฝรั่งเศสมีน้ำหนักพอให้เชื่อว่าเป็นความจริง
ทฤษฎีสมคบคิดระยะยาว
ความเชื่อมโยงกลุ่มอิลลูมิเนติ เข้ากับการปฏิวัติฝรั่งเศสปรากฏชัดขึ้นภายหลังการลบล้างกลุ่มอิลลูมิเนติ ข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับกลุ่มนี้ก็ปรากฏต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
ปี 1797 จอห์น โรบินสัน นักฟิสิกส์รายหนึ่งเป็นอีกคนที่กล่าวว่า กลุ่มอิลลูมิเนติแทรกซึมกลุ่มฟรีเมสัน ขณะที่ออกุสแต็ง บาร์รูเอล (Augustin Barruel) พระเยซูอิตก็เป็นผู้กระพือทฤษฎีสมคบคิดว่า กลุ่มองค์กรลับรวมถึงอิลลูมิเนติ อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในช่วงเวลานี้เองที่นักประวัติศาสตร์มองว่า ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับกลุ่มอิลลูมิเนติ ก่อตัวขึ้นเป็นระลอกแรก
ริดลีย์ แสดงความคิดเห็นว่า มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้อดัม และองค์กรของเขาถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการปฏิวัติหลายเหตุการณ์ระหว่าง 1776-1919 อาทิ เชื้อชาติยิวของอดัม และชื่อแฝงว่า “สปาร์ตาคัส” ซึ่งคำนี้ถูกใช้เป็นชื่อกลุ่มของฝ่ายคอมมิวนิสต์เยอรมัน โรซ่า ลักเซมเบิร์ก (Rosa Luxemberg) และคาร์ล ลิบคเนกท์ (Karl Liebknect) นำกลุ่มที่เรียกว่า “สปาร์ตาคัส ลีก” (Spartacus League) แต่การปฏิวัติในเบอร์ลินของพวกเขาในปี 1919 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่นี่เป็นเพียงข้อสังเกตของนักประวัติศาสตร์เท่านั้น
เนสต้า เว็บสเตอร์ (Nesta Webster) นักเขียนบริติชและเป็นอีกคนที่ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดจากอดัม และยังเป็นอิลลูมิเนติ ก็คือผู้ก่อตั้งกลุ่ม “บริติช ฟาสซิสต์” (British Fascists) เมื่อปี 1920
เวลาต่อมา มีบุคคลระดับชนชั้นนำอย่างจอร์จ วอชิงตัน ที่เขียนจดหมายเอ่ยถึงภัยคุกคามจากกลุ่มอิลลูมิเนติิ ในปี 1798
ภาพจำของกลุ่มอิลลูมิเนติ ที่เป็นองค์กรอันน่าหวาดหวั่นถูกปลุกคืนชีพกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ภายหลังการปฏิวัติรัสเซียเมื่อ 1917 และการปฏิวัติอีกหลายเหตุการณ์ปะทุขึ้น อันจะตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 1
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ชัยชนะของประชาชนในการปฏิวัติต่อการปกครองระบอบซาร์แห่งรัสเซีย
จะเห็นได้ว่า หลายเหตุการณ์ในช่วงเวลาข้างต้นมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับอิลลูมิเนติ หรืออิทธิพลของอิลลูมิเนติ ที่ไหลผ่านมาทางฟรีเมสัน กรณีหลังมักพบเห็นได้บ่อยในสหรัฐอเมริกา ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับฟรีเมสันในสหรัฐฯ เติบโตขึ้นมาจากความหวาดระแวงอิทธิพลขององค์กรเหล่านี้ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า บุคคลที่ถือเป็นต้นแบบของสหรัฐฯ หลายรายก็เป็นสมาชิกของฟรีเมสัน
หากพูดถึงสัญลักษณ์หลายชิ้นที่ปรากฏหรือถูกออกแบบในสหรัฐฯ ก็ถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจถูกถอดแบบมาจากกลุ่มฟรีเมสัน อาทิ ดวงตาในยอดสามเหลี่ยมพีระมิดบนธนบัตรของสหรัฐฯ ก็มีทฤษฎีสมคบคิดที่มองว่า มาจากกลุ่มฟรีเมสัน หรือบางแห่งก็โต้เถียงว่ามาจากสัญลักษณ์ของกลุ่มคริสเตียนต่างหาก
แต่ไม่ว่าข้อสรุปที่แน่ชัดจะเป็นอย่างไร สิ่งที่พอจะยืนยันได้แล้วคือสัญลักษณ์นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอิลลูมิเนติจากบาวาเรียเลย อิลลูมิเนติที่รับรู้กันหลังยุค 1960s เป็นต้นมา ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอิลลูมิเนติที่มีต้นกำเนิดจากบาวาเรียเลย
อิลลูมิเนติในยุคโมเดิร์น
เดวิด บรามเวลล์ (David Bramwell) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับตำนานอิลลูมิเนติ อย่างลึกซึ้งให้สัมภาษณ์กับคอลัมนิสต์ของบีบีซี แสดงความคิดเห็นว่า ในช่วงยุคโมเดิร์น อิลลูมิเนติ กลับมาคืนชีพและอยู่ในการรับรู้ของผู้คนสืบเนื่องมาจากกระแสวัฒนธรรมปรปักษ์ (counter-culture) หรือวัฒนธรรมที่ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมหลัก, ยาเสพติด และความสนใจในปรัชญาฝั่งตะวันออก กระแสของอิลลูมิเนติ ในยุคโมเดิร์น กลับมาพร้อมกับปรากฏการณ์แบบฮิปปีในปลายยุค 60s
ในช่วงเวลานั้นมีหนังสือเชิงจิตวิญญาณอย่าง Principia Discordia ตีพิมพ์ออกมา เนื้อหาโดยสังเขปมาจากแนวคิดแบบผู้นิยมอนาธิปไตยที่นำเสนอความเชื่อเรื่อง “Discordianism” โดยสรุปแล้วเป็นความเชื่อที่โน้วน้ามให้ผู้อ่านเคารพบูชาเอริส (Eris) เทพแห่งความขัดแย้ง-ไม่ลงรอยกัน บางคนมองว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดเชิงเสียดสี แต่มีนักเขียนที่นำอิทธิพลจากแนวคิดนี้มาเชื่อมโยงกับกิจกรรมในความเป็นจริง
ตามความคิดเห็นของบรามเวลล์ เขาอธิบายว่า นักเขียนชื่อโรเบิร์ต แอนตัน วิลสัน (Robert Anton Wilson) กับเคอร์รี ธอนลีย์ (Kerry Thornley) นักเขียนที่ร่วมเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ทั้งคู่มองว่าโลกนี้กลายเป็นลักษณะเผด็จการเกินไป ถูกควบคุมเข้มงวด พวกเขาต้องนำความปั่นป่วนมาสู่สังคมเพื่อเขย่าโครงสร้างบางอย่าง
ช่วงเวลานั้น วิลสัน ทำงานให้นิตยสารปลุกใจชายหนุ่มชื่อดัง พวกเขาเริ่มปั่นกระแสด้วยการปลอมจดหมายจากแฟนๆ ที่เขียนเกี่ยวกับองค์กรลับชื่ออิลลูมิเนติ ส่งเข้ามาเอง พอระลอกแรกผ่านไป พวกเขาก็ปลอมจดหมายอีกชุดที่โต้แย้งจดหมายชุดแรกที่พวกเขาเขียนกันขึ้นเอง
ภาวะเหล่านี้ (การสร้างสภาวะ “ความขัดแย้งทางความคิด”) เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ในทางทฤษฎีแล้ว เชื่อว่า มันจะทำให้คนเริ่มฉุกใจคิด และตั้งคำถาม เป็นกระบวนการที่มุ่งหวังให้คนตื่นตัวจากสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความจริง” ที่สัมผัสอยู่ แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขาคิดนัก
ความคิดที่สับสนและแสนโกลาหลเกี่ยวกับอิลลูมิเนติ แพร่กระจายและมีพลวัตไปไกลกว่านั้น วิลสัน และนักเขียนนิตยสารปลุกใจชายหนุ่มอีกรายเขียนหนังสือ “The Illuminatus! Trilogy” ซึ่งกลายเป็นตัวจุดประเด็นทฤษฎีสมคบคิดที่ชาวอเมริกันยุคใหม่ถกเถียงกันตลอดอย่าง ใครฆ่าจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F Kennedy) ไปจนถึงทำไมมีพีระมิดบนธนบัตร 1 ดอลลาร์สหรัฐ หนังสือประสบความสำเร็จจนถึงขั้นถูกดัดแปลงเป็นบทละครเวทีแสดงในลิเวอร์พูล
หลังจากนั้น “อิลลูมิเนติ” ไปปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการ์ดเกม ในปี 1975 จนไม่กี่ปีมานี้ ศิลปินอย่างเจย์ซี (Jay-Z) ทำมือเป็นสัญลักษณ์สามเหลี่ยมระหว่างแสดงบนเวที หรือสัญลักษณ์สามเหลี่ยมไปปรากฏเป็นรอยสักบนร่างกายศิลปินหลายราย ยิ่งในยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลเวียนกันอย่างบ้าคลั่ง ไม่แปลกที่หัวข้อนี้ไปปรากฏบนพื้นที่ต่างๆ ในสังคมออนไลน์จนกลายเป็นอีกหนึ่งสปริงที่ทำให้ประเด็นอิลลูมิเนติ กลายเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ยังคงปรากฏอยู่ในทุกวันนี้
ยังมีเรื่องราวของบุคคลอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับฟรีเมสัน และอิลลูมิเนติ ทั้งในช่วงศตวรรษที่ 18 มาจนถึงยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งอิลลูมิเนติ ถูกพาดพิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะในดนตรีฮิป-ฮอป แร็ปเปอร์ชื่อดังหลายรายถูกเชื่อมโยงเข้าไปด้วยจากผลงานและพฤติกรรมของพวกเขา ยิ่งบุคคลเหล่านี้ดังมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้กระแสแพร่สะพัดมากขึ้น และเชื่อมโยงกลับมาสู่ทฤษฎีสมคบคิดทางการเมืองวนเป็นวงจรต่อมาเรื่อยๆ
การสำรวจโดยนักวิทยาศาสตร์สายสังคมเมื่อปี 2015 พบว่า ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันรับเอาทฤษฎีสมคบคิดอย่างน้อย 1 เรื่องเข้าไปอยู่ในการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง
อีกข้อสังเกตคือ ในสหรัฐอเมริกาที่ทฤษฎีสมคบคิดกลายเป็นหัวข้อที่พูดคุยกันมาก ดูเหมือนว่า การรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มอิลลูมิเนติ ในความคิดคนทั่วไป กลุ่มนี้ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับฟรีเมสัน ดังเช่นตัวอย่างของการเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านองค์กรลับโดยเฉพาะกลุ่มฟรีเมสัน เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Anti-Masonic Party เมื่อปี 1828 แม้กลุ่มนี้จะสลายตัวไปในภายหลัง แต่ความวิตกหวาดหวั่นถึงอิทธิพลขององค์กรลับอย่างฟรีเมสันก็ยังคงอยู่ในสังคมอเมริกัน ประเด็นที่น่าคิดคือ คนจำนวนไม่น้อยมักสับสนระหว่างกลุ่มอิลลูมิเนติ กับฟรีเมสัน แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะทั้งคู่เกี่ยวเนื่องกันโดยอิลลูมิเนติ เข้าไปเกณฑ์สมาชิกในยุโรปผ่านกลุ่มฟรีเมสัน
“คนมักใช้ศัพท์อย่าง ‘อิลลูมิเนติ’ มาใช้นิยามทุกอย่างที่พวกเขาไม่ชอบ และเป็นสิ่งที่อาจท้าทายค่านิยมของพวกเขา” โจเซฟ อุสชินสกี นักวิทยาศาสตร์สังคมสายการเมืองจากมหาวิทยาลัยไมอามี่ และผู้ร่วมเขียนหนังสือ American Conspiracy Theories ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ว็อกซ์ (Vox)
บรามเวลล์ ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า หากวิลสัน ยังมีชีวิตในวันนี้ เขาคงรู้สึกดีใจ แต่อีกครึ่งหนึ่งคงรู้สึกช็อก ในยุค 60s วัฒนธรรมมันดูเข้มงวดเกินไป ปัจจุบันมันรู้สึกเหมือนหละหลวมไปหมด พวกมันถูกปลดปล่อยออก
“บางทีเสถียรภาพจะมีมากขึ้นถ้าผู้คนต่อสู้กับข่าวปลอม (fake news) และโฆษณาชวนเชื่อ เราเริ่มจะเข้าใจว่าสื่อสังคมออนไลน์ป้อนแนวคิดที่เราต้องการจะเชื่ออย่างไร มันคือ Echo Chambers (การทำซ้ำ ขยาย หรือสนับสนุนข้อมูล ความคิด ความเชื่อผ่านระบบนั้นๆ โดยที่ข้อมูล ความคิด ความเชื่อที่แตกต่างหรือขัดแย้งถูกปิดกั้น ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ หรือนำเสนอไม่ครบถ้วน-กองบก.ออนไลน์)” บรามเวลล์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี
อ้างอิง:
EDWARDS, PHIL. “9 questions about the Illuminati you were too afraid to ask”. Vox. Published 19 JAN 2019. Access 20 JAN 2020. <https://www.vox.com/2015/5/19/8624675/what-is-illuminati-meaning-conspiracy-beyonce>
Galer, Sophia Smith. “The accidental invention of the Illuminati conspiracy”. BBC. Online. Published 9 AUG 2017. Access 20 JAN 2020. <https://www.bbc.com/future/article/20170809-the-accidental-invention-of-the-illuminati-conspiracy>
HERNÁNDEZ, ISABEL. “Meet the Man Who Started the Illuminati”. National Geographic. Online. Published 2016. Access 20 JAN 2020. <https://www.nationalgeographic.com/history/magazine/2016/07-08/profile-adam-weishaupt-illuminati-secret-society/>
RIDLEY, JASPER. A Brief History of The Freemasons. London : Robinson, 2017
ROTONDI, JESSICA PEARCE. “Five Secret Societies That Have Remained Shrouded in Mystery”. History. Online. Published DEC 12 2019. Access 20 JAN 2020. <https://www.history.com/news/secret-societies-freemasons-knights-templar>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2563